xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานเหยี่ยวข่าวที่ยังมีลมหายใจภายใต้กระแสสื่อยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางเทคโนโลยียุคดิจิตอล ทำให้การสื่อสารในยุคปัจจุบันเป็นไปด้วยความสะดวกง่ายดาย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ในซีกโลกใด ข่าวก็จะเดินทางไปถึงทุกมุมโลกด้วยความรวดเร็วว่องไว ต่างไปจากยุค 40-5 ปีก่อน ที่เทคโนโลยีต่างๆ ยังล้าหลัง เรื่องโทรศัพท์มือถือไม่ต้องพูดถึง นักข่าวมีเพียงปากกากับกระดาษ ช่างภาพเมื่อถ่ายรูปเสร็จก็จะต้องรีบนำฟิล์มไปล้าง-อัด ใช้เวลานานหลายชั่วโมง กว่าหนังสือพิมพ์จะเดินทางไปถึงมือผู้อ่านก็ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ไม่เหมือนกับปัจจุบัน ที่มีเพียงโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถส่งข่าว-ภาพได้แล้ว

แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปอย่างไรก็ตาม แต่หัวใจของการทำข่าวก็คือ “การทำความจริงให้ปรากฏ” ไม่มีอคติ หรือลำเอียง หรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลใดๆ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นข่าว แต่เป็นการ “โฆษณาชวนเชื่อ” เสียมากกว่า

รายงานพิเศษเรื่องนี้ จะเปิดเผยเรื่องราวของคนข่าวในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยที่นักข่าวยังต้องโหนรถรางไปตระเวนข่าว หรือบางรายใช้ ‘รถถีบ’ หรือปั่นจักรยานไปทำข่าว เพื่อบันทึกเอาไว้เป็นตำนาน ก่อนจะถูกกระแสสื่อยุคดิจิตอลกลืนหายไป

‘ไกรวัลย์ ชูจิตต์’ คือ ตำนานของคนข่าวที่ยังมีลมหายใจ และยังหลงเหลืออยู่ไม่กี่คนในเมืองไทย ไกรวัลย์เริ่มชีวิตคนข่าวหนังสือพิมพ์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเริ่มงานที่หนังสือพิมพ์ ‘เสียงไทยรายวัน’ ที่มีสุรีย์ ทองวานิช (ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของบริษัทซีพี) เป็นบรรณาธิการ และเจ้าของ เริ่มแรกก็เป็น ‘ออฟฟิศบอย’ คือ ส่งหนังสือพิมพ์ และงานอื่นๆ จิปาถะ จนกระทั่งได้เริ่มต้นเป็นคนข่าวในเวลาต่อมา

ไกรวัลย์ทำข่าวที่เสียงไทยรายวันนานหลายปี จนกระทั่งสุรีย์ ทองวานิช เจ้าของและบรรณาธิการ นสพ.ฉบับนี้ ถูกอำนาจเผด็จการส่งมือปืนมาปลิดชีวิตถึงหน้าโรงพิมพ์ในราวปี 2492 แต่คุณสุรีย์ดวงแข็ง แม้จะถูกคมกระสุนทะลวงท้ายทอยทะลุเพดานปาก แต่ก็ยังมีชีวิตรอด กิจการหนังสือพิมพ์จำต้องยุติลง เพราะไม่อาจต้านทานอำนาจเผด็จการได้

ต่อมา ไกรวัลย์จึงเบนเข็มมาเป็นคนข่าวที่ ‘เดลิเมล์รายวัน’ ของ “นายห้างแสง” หรือแสง เหตระกูล มีสำนักงานอยู่ที่ถนนสี่พระยา และไต่เต้าจนเป็นนักข่าวอาชญากรรมที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทำข่าวสำคัญๆ มามากมาย เช่น ข่าว 4 รัฐมนตรีถูกอุ้มฆ่า, ข่าวซีอุยกินตับเด็ก ฯลฯ

คติการทำงานข่าวของไกลวัลย์ที่ยึดถือติดตัวตลอดมา และยังใช้สั่งสอนนักข่าวรุ่นหลังๆ ก็คือ “คนข่าวต้องเป็นเสมือนผ้าขาวบางเนื้อดีหลายชั้น คอยกรองคำพูดท่าทีของนักการเมืองทุกฝ่าย เพราะผ้าขาวบางเนื้อดีจะทำให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง และประชาชน” พูดให้ง่ายก็คือ นักข่าวต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่พูดดีใส่ตัว โยนชั่วให้คนอื่น...นั่นเอง

ในช่วงที่ไกรวัลย์ทำข่าวอยู่ที่เดลิเมล์รายวันนั้น การเมืองไทยในยุคนั้นตกอยู่ภายใต้ท็อปบูตทมิฬของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหากไม่ถูกจับขังคุกก็ถูกอำนาจมืดอุ้มไปฆ่า นักวิชาการ ทนายความ นักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์เป็นว่าเล่น หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกสั่งปิด เดลิเมล์รายวันก็ถูกสั่งปิดในปี 2501 เช่นกัน ไกรวัลย์ต้องระเห็จไปเป็นคนข่าวที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ เช่น บางกอกเวิลด์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ

ต่อมา ในปี 2507 หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ขุนพลข่าวจากยุคเดลิเมล์รายวันที่ถูกจับไปขังคุกถูกปล่อยตัวออกมา จึงรวบรวมกำลังก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งไกรวัลย์ก็ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วย ใช้ชื่อว่า ‘แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์’ ฉบับแรกออกสู่ตลาดในวันที่ 28 มีนาคม 2507 มีสำนักงานอยู่ที่ถนนสี่พระยา หน้ากรมสรรพสามิต ภายใต้การนำทีมงานของนายสนิท เอกชัย ที่รับตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็คือ ‘เดลินิวส์’ ในยุคปัจจุบันนั่นเอง

ไกรวัลย์ เขียนบันทึกเป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กชื่อ ‘คนข่าวเล่าตำนาน’ (สำนักพิมพ์หลักไทช่างพิมพ์ ตีพิมพ์ปี 2548) ว่า วันปฐมฤกษ์ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ถือว่าเป็นฤกษ์ดีศรีวันนับแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงปี 2507 นี้ รวม 209 ปี มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่ฤกษ์นี้แหละเป็นฤกษ์ “ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” เรียกว่าฟาดฟันศัตรูแผ่นดิน พวกทุจริตคอร์รัปชันเบียดเบียนประชาชนราบเป็นช่องแน่

ผู้ที่ให้ฤกษ์คือ นายแพทย์ประจวบ วัชรปาน โหรประจำตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีชื่อระบือไกลในยุคนั้น ไกรวัลย์บันทึกไว้ว่า ที่สำคัญที่สุดคือ ฝ่ายผู้ทำ “มือสะอาด” ฝ่ายเจ้าของ “มือบริสุทธิ์” ไม่มีประวัติเอามือไปซุกถุงเงินของนักการเมืองพรรคใหน และได้กู๊ดวิลล์จากหนังสือพิมพ์ “เดลิเมล์” ที่ยืนหยัดทำหน้าที่ “หนังสือพิมพ์” ที่เป็น “หนังสือพิมพ์” โดยแท้จริงจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย ส่วนแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์นี้ใช้สัญลักษณ์เฉพาะ “ สีบานเย็น” เป็นสีนำโชค

ไกรวัลย์ บันทึกไว้ว่า เป็นครั้งแรกของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยที่มีการแบ่งกองบรรณาธิการอย่างชัดเจน เช่น บรรณาธิการพิสูจน์อักษร (ปรู๊ฟ) มีนายอารีย์ อิ่มสมบัติ เป็น บก., บรรณาธิการฝ่ายศิลป์มี ม.ล.เฉลิมจิตร คเณจร, บรรณาธิการข่าวในประเทศ คือ นายเชลง กัทลีย์ลดะพันธ์ (ถูกจับไปขังลืมที่เรือนจำลาดยาวบางเขน 5 ปีเศษ) กับนายสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช

บรรณาธิการข่าวอาชญากรรม นายไกรวัลย์ ชูจิตต์, หัวหน้ากองบรรณาธิการ (ใหญ่สุด) นายสนิท เอกชัย หรือเจ้าของนามปากกา “เรือใบ” (ถูกจับกุมคุมขังในยุคจอมพลสฤษดิ์ พร้อมกับนายเชลงเช่นกัน) ส่วนบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา คือนายประพันธ์ เหตระกูล ทายาทของ “นายห้างแสง” (แสง เหตระกูล) นั่นเอง

ไกรวัลย์ บันทึกไว้ด้วยว่า ยังมีคนสำคัญอีกคือ นายแถมสิน รัตนพันธุ์ ถนัดข่าวซุบซิบพวกลูกท่านหลานเธอคนมีสตางค์ สำหรับนายแถมสินนี้เป็นเจ้าของปากกา “ลัดดา” ผู้มีชื่อเสียงเป็นตำนานของข่าวประเภทซุบซิบไฮโซมาก่อนใครๆ แม้กระทั่งนายสุขสันต์ สมพงษ์ ผู้เจาะข่าวดารา ส่วนช่างภาพฝีมือสุดยอดยามนั้นคือ นายสุมิตร สิทธิประเสริฐ นายประสิทธิ์ เกตุอธึก นายหยด อ่อนอารีย์ หัวหน้าข่าว นายนพพร ตุงคะรักษ์ นายเสถียร เกตสัมพันธ์ ฯลฯ แต่การกลับมาค่ายสี่พระยารอบสองนี้ไม่มี นายสวัสดิ์ ตัณฑสุทธิ์ บก.คนก่อน ซึ่งเป็นที่เคารพของทุกๆ คน ด้วย “พี่หวัด” เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในยุคของจอมพลสฤษดิ์

ข่าวสกู๊ปแต่ละข่าวของแนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์สี่พระยามีความเข้มข้น เช่น สกู๊ปข่าวปฏิบัติการเปิด “วิมานสีชมพู” ที่ผ่อนคลายพิเศษ พล.1 รอ.ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งกองบัญชาการชั่วคราวที่สนามเสือป่ารับเรื่องราวร้องทุกข์ มีเรื่องหนักๆ ร้องกันเข้ามาที่ศูนย์ฯ อย่างมากมาย จึงมีการจับเรื่องราวร้องมาทุกข์มาเป็นประเด็นข่าว เช่น คดีฉ้อฉลเอาป่าสงวนแห่งชาติเกือบสามพันไร่มาเป็นเครื่องล่อแลกเป็นเครื่องเพชรเงินทอง เป็นที่ฮือฮาด้วยผู้ถูกกล่าวหา เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร พล.อ.สุรจิตร จารุเศรณี

“แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์” จับเรื่องนี้นำเสนอเป็นข่าว กระทั่งพล.อ.สุรจิตรลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาจากพ่อค้าเพชรบ้านหม้อทำเรื่องขอเช่าที่ดินป่าสงวน จ.ยะลา จำนวน 2,800 ไร่ และมีการจ่ายสินบนจำนวน 1 ล้าน 5 แสนบาท ให้แก่พล.อ.สุรจิตร และภรรยา จึงมีการร้องเรียนกัน และฟ้องร้องกันในที่สุด เรื่องนี้ทางผู้ว่าฯ ไม่ยอมอนุมัติเพราะเห็นว่าเอกสารขั้นตอนผิดระเบียบ ต่อมา ในปี พ.ศ.2510 ศาลตัดสินจำคุก พล.อ.สุรจิตรกับภรรยา ต่อมาอีก 1 ปี พล.อ.สุรจิตรเสียชีวิตในคุกด้วยโรคหัวใจ

เดลินิวส์ยุคนั้น มีข่าวสกู๊ปมากมาย ต้องต่อสู้ขุดคุ้ยเรื่องความไม่เป็นธรรมต่อสังคมอีกมากอย่างเช่น คดีประวัติศาสตร์ซื้อที่ดิน 207 ล้านในปี พ.ศ.2511 กลายเป็นคดีฟ้องร้องระหว่างเทศบาลกรุงเทพมหานครกับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นเรื่องซื้อที่ดินสุดซอยเสนานิคม..ต่อมา เดลินิวส์ชนะคดีนี้ จากการว่าความของทนายทองใบ ทองเปาด์ เป็นตำนานเป็นประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์

ไกรวัลย์ ชูจิตต์ จากวันที่เป็น บก.ข่าวอาชญากรรม สั่งงานกำกับข่าวให้เดินตรงแนวไม่ออกนอกทางจนมีผลงานข่าวมากมาย สั่งสมประสบการณ์มาจากการทำงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เคยทำงานกับนายกำพล วัชรพล ที่ นสพ. “ไทยรัฐเที่ยงห้านาที” บางสกู๊ป ไกรวัลย์ลงมือไปทำข่าวด้วยตัวเองเช่น “แกะรอยนักฆ่าตามใบสั่งการเมือง” อันโด่งดัง ไปตามหา “ลุงสด ศรีสุขภู่” หรือ ร.ต.อ.สด นักฆ่าตามใบสั่งที่สนิทคุ้นเคย และไกรวัลย์ให้ความเคารพนับถือ เจาะเรื่องราวออกมาให้ได้อ่านกัน

ข่าว “เสือที ทุยโท” เสือร้ายภาคตะวันออกชื่อดังในป่าพนัสนิคม ที่ยิงหัวหน้าสถานีตำรวจตาย ข่าวเรื่องคดีแพะรับบาปที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ชลบุรีถูกกล่าวหาไปยิงบ้านพักหัวหน้าผู้พิพากษาศาลชลบุรี และอื่นๆ อีกมากมาย หาอ่านได้จากหนังสือ ‘คนข่าวเล่าตำนาน’ ที่พิมพ์ไปเมื่อปี 2548

“แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์” ของค่ายสี่พระยา เป็นตำนานของวงการหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยการทำงานเป็นทีมเร้าใจมาก หัวหน้าข่าวหลายคนเป็นคนดีมีจริยธรรมที่น่านับถือ เช่น นายกุศล ประสาร ที่ต้องกล่าวถึงไว้ รวมทั้ง “พี่เทพ”หรือสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช ทั้งมี “พี่อิศรา” หรืออิศรา อมันตกุล พี่เอื้อยของวงการหนังสือพิมพ์ เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาจากการคุมขังของจอมพลสฤษดิ์ มาอยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้ากองบรรณาธิการ คนข่าวคนใดใครช่วงนั้นได้อยู่ใกล้ พี่อิศรา จะรู้สึกอบอุ่นมาก หรือถูกชวนให้ไปนั่งทานข้าวด้วยกันที่ร้านข้าวต้มหน้าวัดเยื้องโรงพิมพ์สี่พระยา งานเขียนของพี่อิศราในนาม “เจดีย์ กลางแดด” มีผู้ติดตามอ่านกันอย่างมากในยุคนั้น

ส่วนไกรวัลย์ก็ถือว่าเป็นแหล่งพึ่งพิงของเพื่อนร่วมงาน ที่บางวันก็ต้องใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนโรงพิมพ์สี่พระยา นอนในห้องช่างเรียงบ้าง หรือกลับไปนอนที่บ้านอัศวินฝั่งธนบุรีของไกรวัลย์ ซึ่งจะมีห้องครัวขนาดใหญ่ ผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดที่มาส่งข่าวแล้วยังไม่ได้กลับบ้าน หรือแม้แต่นักข่าวสายตระเวนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็จะแวะเวียนไปกินข้าวหลับนอนกันที่บ้านของไกรวัลย์เป็นประจำ เพราะบ้านที่ซอยอัศวิน นี้มีห้องพักหลายห้อง มีห้องอาบน้ำอาบท่าดุจที่พักชั้นดี

จากวันนั้นจนถึงปี 2540 พิษเศรษฐกิจลดค่าเงินบาทด้วยความริยำของนักการเมือง ทำให้ไกรวัลย์ต้องตกงาน จากผู้จัดการตะวันออกปี 2542 นี่ก็ตกงานมาแล้วเข้าปีที่ 13 แต่ไกรวัลย์หรือ “อาจารย์ไกรวัลย์” ที่นักข่าวรุ่นหลังเรียกขานไม่ได้ปริปากบ่น ถือเป็นตำนานของคนข่าวรุ่นเก่าที่หยิ่งทะนง เป็นตัวอย่างของคนข่าว อดีต บก.ข่าวผู้มีประวัติที่งดงาม ไม่แสวงหาความร่ำรวย ไม่เคยผลาญเงินของนายทุนหนังสือพิมพ์คนใด

จากปี 2507 เป็นต้นมา จนถึงปี 2517 ในที่สุด ไกรวัลย์ก็จากลาออกมาจากเดลินิวส์และไม่ย้อนกลับไปอีกเลย จากนั้น จึงไปทำงานให้เสียงปวงชน ออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ที่สุดก็มาใช้ชีวิตอยู่กับนายสุรัตน์ บัณฑิตย์ ควบคุมดูแลสั่งสอนนักข่าวรุ่นใหม่อยู่ที่หนังสือพิมพ์เสียงตะวันออกรายวันนานมาก จนเสียงตะวันออกรายวันโอนกิจการให้หนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการ” สำนักงานภาคตะวันออก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในปี 2534

ด้วยวาระในโอกาสที่ “อาจารย์ไกรวัลย์” จะมีอายุครบ 83 ปี ในวันที่ 28กรกฎาคมนี้ จึงมีผู้ที่เคยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาในสายงานของไกรวัลย์ ชูจิตต์ คนหนึ่งได้เป็นหัวแรงรวบรวมน้ำใจ นำเงินไปฝากธนาคารกสิกรไทย สาขาชลบุรี แล้วทำบัตรเอทีเอ็มให้อาจารย์ไกรวัลย์นำติดตัวไว้ เพื่อจะได้นำออกมาใช้จ่ายยามจำเป็น ขณะที่ยังหางานทำอยู่ในวัย 83 ปี สุขภาพแข็งแรง สมองความจำดี เพียงแต่มีความสมถะ มีความยากจนเป็นเพื่อน

สมุดเงินฝากให้นายไกรวัลย์นั้น ศิษย์เก่าที่รู้จักกันมาได้ส่งน้ำใจมาให้เข้าบัญชีเงินฝาก เช่น นายอุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์ นายเชิดศักดิ์ ถนัดภาษา อดีตรองหัวหน้าข่าวกีฬา นายอัมพร พิมพ์พิพัฒน์ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ รายละสองพันบาท นายปราโมทย์ สังขะไพ อดีตนักข่าว ปัจจุบันเป็นทนายความมีชื่อเสียง ว่าความอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่งมาสมทบก่อน 900 บาท และจะส่งมาสมทบอีกวันที่มีการมอบสมุดเงินฝากให้แก่นายไกรวัลย์ (ก่อนวันครบวันเกิด 28 ก.ค.นี้)

อดีตได้บอกผลงานที่ภาคภูมิใจไว้เบื้องหลังของคนหนังสือพิมพ์แต่ละคนที่มีชีวิตยิ้มให้แก่ความตาย และมิใช่ผู้แสวงหาความร่ำรวย ทุกข์สุขของคนหนังสือพิมพ์กับความยากจนเป็นเพื่อนกันเสมอ นี่เป็นชีวิตของคนข่าวหนุ่มในอดีตอีก 1 คนที่เข้าสู่วัยสูงอายุ อดีต บก.ข่าวอาชญากรรมผู้โด่งดังที่ต่อสู้ให้แก่ความไม่เป็นธรรมให้สังคมไทยมาแล้วมากมาย เพียงแต่ขณะนี้ ต้องต่อสู้กับการดำรงชีวิต เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ให้มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และพร้อมทำงานนสพ.หากมีใครว่าจ้างให้งานที่ถนัดทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดูแลข่าวต่างๆ มิให้ถูกฟ้อง การเชื่อมประโยคข่าว ทั้งการรู้จักข่าวทุกชิ้นของบุคคลในข่าวในอดีตอย่างมากมาย สามารถเติมเต็มข่าวแต่ละชิ้นให้มีความสมบูรณ์ดี เช่น อาจารย์ไกรวัลย์ท่านนี้

นี่เป็นตำนานคนข่าวรุ่นเก่าที่กำลังจะถูกกาลเวลากลืนหายไป แต่ประสบการณ์ของอาจารย์ไกรวัลย์ยังมีคุณค่า นักข่าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอลสมควรศึกษาเรียนรู้อุดมคติของคนรุ่นเก่า ไม่ใช่ทันสมัยเพียงแค่เทคโนโลยี แต่ตกเป็นทาสของอามิสสินจ้าง เหมือนดั่งเพลงชื่อ นกน้อยในไร่ส้ม ท่อนหนึ่งที่ว่า “พวกเราสูงศักดิ์สูงนักสูงหนา ร่อนเร่เคหาไม่มี ค่ำไหนนอนนั่น ไม่หวั่นไม่หวาด รักษาเอกราชเสรี...หรือดั่งเพลงของ “คนหนังสือพิมพ์” ท่อนสุดท้ายที่ว่า...

“คนหนังสือพิมพ์มีปากกาจิ้มหมึกนี้ เป็นเช่นอาวุธชั้นดีอุดมคติยึดมั่นศรัทธา เหน็ดเหนื่อยไม่กลัวทุ่มตัวมิใช่เงินตรา ยอมเสี่ยงถึงแม้ชีวา เพียงเพื่อได้มา..สัจจังเวอนันตตา..ซึ่งความจริง”
.....................

โดย สุรัตน์ บัณฑิตย์






กำลังโหลดความคิดเห็น