ART EYE VIEW ---การเป็นคนเชื้อสายจีนแต่ไม่ได้เกิดและอาศัยในจีนแผ่นดินใหญ่มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?
ความรู้สึกถูกตัดขาดจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง เป็นเหตุให้ศิลปินนาม Wei Leng Tay(เหว่ย เหลง เท) ใช้สื่อภาพถ่ายและการสัมภาษณ์เสียง สำรวจประเด็นเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีนและอัตลักษณ์ของชาวเอเชียในบริบทของสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายอาณาเขตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Wei Leng Tay เป็นคนเชื้อสายจีนที่ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์และขณะนี้พำนักอยู่ที่ฮ่องกง
เธอมีความสนใจในการมองดูว่าผู้คนดำเนินชีวิตในถิ่นที่อยู่ของตนอย่างไรและอิทธิพลที่สถานที่อาศัยมีต่อวิธีที่คนมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ระหว่างปี 2552 และ 2553 Wei Leng Tay ได้เดินทางไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์ผู้คนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ และอีก 3 เมืองของมาเลเซีย ได้แก่ ปีนัง อิโปห์ และ กัวลาลัมเปอร์
จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายชุด Convergence ที่ล่าสุดมีมาจัดแสดงให้ชมที่ประเทศไทย
กิจกรรม Artist Talk ในวันเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Wei Leng Tay บอกเล่าว่า
ระยะเวลานาน 15 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกง คนจีนที่เติบโตในสิงคโปร์และได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เช่นเธอ มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกตลอด แม้ว่าคนฮ่องกงก็คือคนจีนเช่นเดียวกันกับเธอ
การที่เธอทำงานภาพถ่ายและสัมภาษณ์เสียง ชุดนี้ขึ้นมา เพราะอยากจะรู้ว่า การเป็นคนจีน จริงๆแล้วมันมีหมายความว่าอย่างไร แล้วคนอื่นๆรู้สึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
คนจีนในสิงคโปร์ที่ถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และคนจีนใน 3 เมืองของมาเลเซีย ที่ถือเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ คือกลุ่มคนเป้าหมายที่มีภาพและเสียงมาปรากฏในงานภาพถ่ายและสัมภาษณ์เสียง
เวลาส่วนใหญ่ของการทำงานภาพถ่ายชุดนี้ ถูกใช้ไปเพื่อการเสาะแสวงหาผู้คนที่จะมาเป็นแบบ ทำงานร่วมกับเธอ เพราะนอกจากจะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เธอยังต้องถือวิสาสะเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่ส่วนตัวของคนเหล่านั้นด้วย
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับทุกๆคนในภาพ ก็ไม่ได้แปลกหน้าต่อกันซะทีเดียว เพราะมีการแนะนำให้รู้จัก ผ่านญาติ เพื่อน และคนรู้จัก
ผลลัพธ์ที่ได้ คือการได้มาซึ่ง ภาพถ่าย portrait และภาพถ่าย still life ที่มีการจัดองค์ประกอบและแสงเงาอย่างสวยงามราวกับภาพนิ่งจากภาพยนตร์
และเสียงสัมภาษณ์ของพวกเขาเหล่านั้น ที่บอกเล่าต่อเธอว่า ตั้งแต่แรกเริ่มพวกเขาเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไร และมีเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับชีวิต ของการเป็นคนเชื้อสายจีน เช่นพวกเขา
ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือเสียงสัมภาษณ์ จึงต่างเชื้อเชิญให้ผู้ชมนิทรรศการได้รับรู้ถึงชีวิตของผู้คนเชื้อสายจีนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
ดร.ประพล คำจิ่ม อาจารย์ประจำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และหัวหน้าหอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของ Wei Leng Tay ว่าเป็นมากกว่า ภาพถ่ายไลฟ์สไตล์
“ศิลปินเป็นคนจีนที่เกิดในสิงคโปร์และช่วงเวลาหนึ่งเรียนหนังสือที่แคนนาดา ในเมืองมอนทรีออลที่พูด 2 ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นความพลัดถิ่นคือธรรมชาติของชีวิตเขา
ชื่อนิทรรศการ Convergence มันว่าด้วยเรื่องของการหลอม การผสมผสาน การเจอกันของ 2 สิ่ง หรือมากกว่า ที่มัน Converse กัน แล้วถูกนำมาผสมผสาน และหล่อหลอมให้เป็น
ครั้งแรกนั้น ผมเห็นภาพถ่าย ก่อนที่จะเข้าใจลงลึกไปที่เนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อ ภาพเหล่านี้ถ้าจะอธิบายให้บุคคลที่ 3 ฟัง โดยที่ไม่เห็นภาพ หรือว่าเล่าให้ช่างภาพคนอื่นๆฟัง เขาคง อ๋อ..เป็นภาพไลฟ์สไตล์ แต่เวลามองงานของศิลปินคนนี้ ผมเห็นอะไรบางอย่างในภาพ ซึ่งมันเป็นมากกว่าไลฟ์สไตล์
มันเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ ความเปราะบาง และความเปราะบางสำหรับผม มันว่าด้วยเรื่องของความหวัง ความเขิน ความอาย ความมีความสุขบ้าง ไม่มีความสุขบ้าง และอะไรต่างๆที่มันแฝงอยู่ในก้อนเดียวกัน งานสามารถที่จะสะท้อนเรื่องนี้ได้เด่นที่เดียว”
นิทรรศการภาพถ่ายชุด Convergence โดย Wei Leng Tay เปิดแสดง วันที่ 20 เมษายน — 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกิจกรรม Artist Talk รับฟังศิลปิน พูดถึงผลงานภาพถ่ายชุด Convergence
**วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2555 เวลา 16.30 -18.00 น. ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (และเชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการ)
**วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2555 เวลา 14.00 - 15.00 น. ณ RMA (อาม่า) Institute ซ.สายน้ำทิพย์ 2 ถ.สุขุมวิท 22 สอบถาม โทร.0 - 2663 - 0809
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 - 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net