xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย "ชอว์บราเดอร์" ในวันที่ "รัน รัน ชอว์" เกษียณอายุ

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี




ในรอบปี 2011 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญกับวงการบันเทิงฮ่องกง กับการขายหุ้นของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง TVB จนในช่วงปลายปี "เซอร์ รัน รัน ชอว์" ก็ประกาศเกษียณอายุตัวเองอีกในวัย 104 ปี ปิดฉากอาชีพในวงการบันเทิง ที่ทรงอิทธิพลต่อทั้งวงการหนัง และโทรทัศน์ตลอด 70 ปี ที่ผ่านมา

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนมีข่าวใหญ่ในแวดงวงบันเทิงฮ่องกงเกิดขึ้นเมื่อ เซอร์ รัน รัน ชอว์ ผู้บริหารแห่งสถานีโทรทัศน์ทีวีบีได้ประกาศตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานของบริษัท ซึ่งจะมีผลทันทีหลังจากวันที่ 31 ธ.ค. ที่จะทำให้เขาสิ้นสุดหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และคณะผู้บริหารระดับสูงด้วย หลังจากนั่งกุมบังเหียนสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของฮ่องกงแห่งนี้มาหลายสิบปี

ด้วยวัย 104 ปี การลาออกจากตำแหน่งของ เซอร์ รัน รัน ชอว์ ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากความคาดหมายของใคร อันที่จริงแล้วถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อด้วยซ้ำ ที่เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งมาได้ยาวนานขนาดนี้ โดยเขาได้ทยอยขายหุ้นส่วนใหญ่ที่ตนเองถืออยู่ออกไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้ว ถึงปัจจุบัน เซอร์ชอว์ และภรรยา โมน่า ฟง เหลือหุ้นอยู่ในมือเพียง 3% เท่านั้น

แม้ตลอดหลายสิบปีหลังมานี้เขาจะมีบทบาทอยู่ในวงการโทรทัศน์ฮ่องกง หรือไม่ก็ที่หลาย ๆ คนคงจะคุ้นเคยกัน กับภาพของชายชรารูปร่างผอม ที่ห้อมล้อมไปด้วยสาว ๆ ในการประกวดมิสฮ่องกงเสียมากกว่า แต่ชื่อของ เซอร์ รัน รัน ชอว์ คงไม่สามารถแยกออกจากบริษัทผลิตภาพยนตร์อย่าง "ชอว์ บราเดอร์" ได้เลย แม้ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังตัวนี้จะเรียกว่าหยุดนิ่งแทบไม่มีความเคลื่อนไหวเลยในหลายสิบปีหลัง แต่ชื่อของ "ชอว์" ก็ยังยิ่งใหญ่คลาสสิกในโลกภาพยนตร์โดยเฉพาะฝั่งเอเชียอยู่เสมอ

รัน รัน ชอว์ หรือ "เส้าอี้ฝุ" ลูกชายของตระกูลพ่อค้าสิ่งทอในเมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง เป็นน้องคนเล็กในหมู่พี่น้องร่วม 10 ชีวิต เขาเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น ทั้งกิจการนำเข้าส่งออกสินค้า และยังเคยเปิดกิจการโรงงิ้วโดยมีพี่ชายเป็นหุ้นส่วนที่ยังทำหน้าที่กำกับและเขียนบทละคร แต่สุดท้ายธุรกิจก็ไปไม่รอด

จนกระทั่งต่อมาในปี 1925 รัน รัน ชอว์ ก็พบกับความสำเร็จจนได้ เมื่อเขามีโอกาสก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ Unique Film Productions ร่วมกับพี่ชายคนที่ 3 เส้าเหรินเหมย อันเป็นจุดเริ่มต้นของพี่น้องชอว์กับธุรกิจหนัง ที่ค่อย ๆ สร้างชื่อขึ้นมาเรื่อย ๆ จากหนังเงียบ ต่อมาจึงเริ่มผลิตหนังเสียง และก้าวเข้าสู่ความรุ่งเรื่อง พร้อม ๆ กับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ชอว์บราเดอร์ (Shaw Brothers) ที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหยิบยืมการออกแบบมาจากเครื่องหมายของ Warner Bros. แห่งฝั่งฮอลลีวูด แต่กลับกลายเป็นโลโก้ที่ยิ่งใหญ่ทรงอิทธิพลตลอดหลายสิบปีต่อมา

โดยทั่วไปในยุคนั้นบริษัทหนังในฮ่องกงมักจะผลิตงานที่พูดกันด้วยภาษากวางตุ้ง อันเป็นภาษาถิ่นของชาวฮ่องกง แต่ ชอว์บราเดอร์ เลือกที่จะลงทุนสร้างหนังภาษาจีนกลางเป็นหลัก เพราะเชื่อว่ามันจะไปได้ดีกว่าในตลาดต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะผลงานของบริษัทกลายเป็นสินค้าส่งออกขายดีไปยังไชน่าทาวน์ทั่วโลก มากไปกว่านั้นยังสร้างฐานแฟนคลับในหมู่ชาวต่างชาติมากมาย เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้หนังจีนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้



นับจากหนังรักโรแมนติก, หนังงิ้ว และงานอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในยุค 50s - 60s ต่อมา ชอว์บราเดอร์ คือหัวหอกแห่งการสถาปนายุคสมัยแห่งหนังกำลังภายในด้วยงานอย่าง "หงส์ทองคะนองศึก" และ "เดชไอ้ด้วน" ในปลายยุค 60s

พอยุค 70s ก็มีหนังที่ดัดแปลงจากนิยายกำลังภายในทั้งของ กิมย้ง และโกลเล้ง ก่อนจะปิดฉากด้วยหนังกังฟูในต้นยุค 80s

ความโดดเด่นเป็นพิเศษของหนังจากชอว์บราเดอร์ก็คืองานสร้างการลงทุนที่ "เหนือชั้น" กว่าหนังจีนในยุคเดียวกันแบบเปรียบเทียบไม่ได้ นักแสดงแต่งตัวกันสวยงามเต็มยศ เครื่องแต่งกายดูหรูหราภูมิฐาน ฉากอันหลากหลายจนสามารถสร้างภาพจากจิตนาการทั้งในเรื่องราวพื้นบ้าน, พงศาวดาร หรือนิยายกำลังภายในให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา

ซึ่งความสำเร็จทุกประการของชอว์บราเดอร์ ก็ต้องกล่าวว่า เซอร์ รัน รัน ชอว์ มีส่วนร่วมด้วยในทุก ๆ ก้าว เขาเป็นซีอีโอที่ได้ชื่อว่าขยันทำงานอย่างหนัก ทั้งยังคิดคำนวณต้นทุนทุกเม็ด และทุ่มเทเต็มที่กับงานหนังเสมอ

ในเวลาเดียวกันความตระหนี่ถี่เหนียวของเขาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชามานาน ว่ากันว่าครั้งหนึ่งเขาไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่กองถ่ายจ่ายเงิน 20 ดอลล่าร์ฮ่องกง เพื่อซื้อซาละเปา 100 ลูกแจกคนงานในกอง เพราะเห็นว่าแพงเกินไป เป็นผลให้คนงานไม่มีอาหารเช้ากินจนพากันประท้วงหยุดงานสร้างความเสียหายให้บริษัทไปกว่าหมื่นดอลล่าร์ฮ่องกงเลยทีเดียว

นอกจากนั้นก็ต้องไม่ลืม โมน่า ฟง อดีตนักร้องสาว ที่เข้าสู่บริษัทชอว์บราเดอร์ตั้งแต่ปี 1969 ในฐานะพนักงานฝ่ายจัดซื้อ แต่ใคร ๆ ก็คงรู้ว่าเธอเป็นคู่รักนอกสมรสของ รัน รัน ชอว์ ถึงกระนั้น โมน่า ฟง ยังมีบทบาทกับการบริหารงานของบริษัทอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ดี และแง่แห่งเสียงซุบซิบนินทา ว่าเธอเป็นสาเหตุที่ทำให้ ชอว์บราเดอร์ แทบจะไม่ผลักดันนักแสดงหญิงเลยในระยะหลัง



อย่างไรก็ตามบทบาทความยิ่งใหญ่ในช่วง 30 ปีหลังของ เซอร์ รัน รัน ชอว์ น่าจะเกิดขึ้นจากสถานีโทรทัศน์ที่ชื่อว่า "ทีวีบี" ที่อยู่ให้ความบันเทิงกับคนฮ่องกง และชาวเอเชียมาแล้วถึง 44 ปีเต็มมากกว่า

เซอร์ รัน รัน ชอว์ ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น CBE ของอังกฤษเมื่อปี 1976 ได้รับการยกย่องว่าเป็น "หัวใจ" และ "จิตวิญญาณ" ของสถานีโทรทัศน์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1967 แห่งนี้มาโดยตลอด โดยเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานของทีวีบี อย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นยุค 1980s เป็นต้นมา

เขาเป็นผู้ริเริ่มทั้งการประกวดความงามเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฮ่องกงอย่าง "มิสฮ่องกง" แต่ที่โดดเด่นและให้ความบันเทิงกับคนมากมายรวมถึงชาวไทยมานานก็คือผลงานประเภททีวีซีรีส์ที่เรียกติดปากกันว่า "หนังจีน"

ซึ่งต้องยอมรับว่าในยุคสมัยหนึ่ง "หนังจีน" ก็คือความหมายเดียวกันกับผลงานซีรีส์ของทีวีบีไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็น "เจ้าพ่อเซียงไฮ้", "มังกรหยก", "เจ้าพ่อตลาดหุ้น" ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ยังอยู่ในความประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน

งานของทีวีบีเป็นของฮิตที่ได้รับความนิยมไปไกลในหลายประเทศ ในบ้านเราก็ได้รับความนิยมทั้งในการฉายทางโทรทัศน์ และในรูปแบบม้วนวิดีโออยู่หลายปี จนเริ่มเสื่อมความนิยมกันไปตามกาลเวลา

ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ สำหรับความเสื่อมถอยของผลงานจากทีวีบี ที่ไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จเดิม ๆ ได้อีกแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นข้อวิจารณ์ที่ว่า งานของทีวีบีไม่สนุกดึงดูใจเหมือนเดิมอีกแล้ว ดาราก็ดูไม่หล่อไม่สวยเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งมันคงไม่ได้มีเหตุผลที่ชัดเจนเพียงแต่อย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยหลายประการที่เกิดพร้อม ๆ กันทั้ง ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของคู่แข่งอย่างเกาหลีใต้ ส่วนวงการบันเทิงฮ่องกงโดยรวมไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือภาพยนตร์ ก็ตกลงไปจากช่วงรุ่งเรืองที่สุดเช่นเดียวกัน

อันที่จริงแล้วความตกต่ำของทีวีบี ก็แทบจะเป็นภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ ชอว์บราเดอร์ มาแล้ว

ความซ้ำซากจำเจของสูตรสำเร็จที่ใช้ต่อเนื่องเป็นสิบ ๆ ปี นั่นเองที่ทำให้ผลงานทางโทรทัศน์ของทีวีบีเริ่มจะน่าเบื่อหน่าย เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของ ชอว์บราเดอร์ ที่ทำหนังซ้ำ ๆ แนวเดิมออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน นักแสดงซ้ำหน้าหมุนเวียนอยู่อย่างนั้น แม้แต่ฉากในโรงถ่ายงานสร้างอันเป็นเอกลักษณ์ที่เคยเป็นจุดแข็งก็กลายเป็นจุดอ่อนได้อย่างง่าย ๆ

ในกรณีของ ชอว์บราเดอร์นั้น มีเรื่องล้อเลียนกันว่า แม้แต่พรมฝืนเดียวก็ยังถูกวนเวียนใช้ในหนังแทบจะทุกเรื่องของที่นั่น เช่นเดียวกับการยัดเยียดบทคนแก่ให้กับนักแสดงที่อายุยังไม่ถึงวัย หรือ ก้อนหินโฟม, ต้นไม้เทียม, บ่อน้ำปลอม ๆ และการประดับฉากด้วยกระดาษแก้ว ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่คนดูส่วนใหญ่ยอมรับได้อีกต่อไป ดาราแม่เหล็กเริ่มหนีหายย้ายค่าย หน้าใหม่ที่ปั้นขึ้นมาก็ไม่สามารถทดแทนรุ่นเก่าได้

ในกลางยุค 80s ชอว์บราเดอร์ต้องดิ้นรนอย่างหนัก มีความพยายามในการให้โอกาสกับผู้กำกับรุ่นใหม่ และการลองผิดลองถูกกับหนังแนวที่บริษัทไม่เคยสร้าง แต่ในที่สุดก็ไม่เป็นผล เช่นเดียวกับงานของทีวีบีในยุคปัจจุบัน ที่แม้จะมีงานดี ๆ ออกมาให้เห็น บางเรื่องก็สร้างเรตติ้งสูง ๆ ในการฉายที่ฮ่องกง แต่ก็แทบจะสร้างฐานคนดูใหม่ ๆ ในต่างประเทศไม่ได้เลย

ก้าวต่อไปหลังจากนี้ของ ทีวีบี จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามกันต่อไป กับการถูกขนาบข้างด้วยคู่แข่งสุดหินทั้ง เกาหลี, ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ที่งานพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร สำหรับอดีตที่ผ่านมา กับสิ่งที่ “เซอร์ รัน รัน ชอว์” สร้างเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ, ล้มเหลว, รุ่งเรือง หรือ ตกต่ำ ทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก


New Leaf (Li Di Cheng Fo, 1925) หนังเรื่องแรกของ พี่น้องชอว์ ในนามบริษัท Tianyi Film Productions เข้าฉาย
เตียวเสี้ยน (Diau Charn, 1957) คว้ารางวัลสำคัญในเทศกาลหนังเอเซียครั้งที่ 5 รวมทั้งดารานำหญิงยอดเยี่ยมของ หลินไต้ และผู้กำกับยอดเยี่ยม หลี่ฮั่นเสียง
จอมใจจักรพรรดิ์ (The Kingdom and the Beauty / Jiangshan Meiren, 1959) ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่งานเทศกาลหนังเอเชียนครั้งที่ 6
หนังเพลงหวงเหมยตี้เรื่อง ม่านประเพณี (The Love Eterne / Liang Shanbo Yu Zhu Yingtai, 1963) ของ หลี่ฮั่นเสียง ทำลายสถิติได้ทั้งในไต้หวัน และฮ่องกง แต่ความขัดแย้งระหว่างการถ่ายทำส่งผลให้ผู้กำกับ หลี่ฮั่นเสียง ลาออกจากชอว์ บราเดอร์ ไปทำงานที่ไต้หวัน และก่อตั้งบริษัท Grand (Guolian) Motion Picture Company ขึ้นมาสร้างหนังของตัวเอง
หูจวินฉวน สร้างหนังเรื่อง หงศ์ทองคะนองศึก (Come Drink with Me / Da Zuixia, 1966) ที่ถือเป็นการเปิดฉากตำนาน หนังกำลังภายในหน้าใหม่ให้กับฮ่องกง
เดชไอ้ด้วน (One-Armed Swordsman / Du Bi Dao, 1967) ที่กำกับโดย จางเชอะ และมี หวังหยู่ เป็นพระเอกทำเงินมหาศาล ทั้งในฮ่องกง และทั่วเอเซีย กลายเป็นหัวหอกที่เปลี่ยนภาพพจน์ของ ชอว์บราเดอร์ จากที่เน้นสร้างหนังเพลง ที่มีผู้หญิงเป็นดาวเด่น มากลายเป็นบริษัทสร้างหนัง แอ็กชั่นขายความรุนแรงอย่างเต็มตัว
หลี่ฮั่นเสียง กลับจากไต้หวันสู่ ชอว์ บราเดอร์ อีกครั้ง ประเดิมหนังเรื่องแรกคือ ไอ้เฮงออกศึก (The Warlord, 1972) ได้ดาราตลกชื่อดังจากจอแก้ว ไมเคิล ฮุย มารับบทนำในหนังใหญ่ครั้งแรก
King Boxer (1973) ที่นำแสดงโดย หลอลี่ ถูกลิขสิทธิ์ซื้อไปฉายที่อเมริกาภายใต้ชื่อ The Five Finger of Death กลายเป็นหนังกังฟูเรื่องแรกที่ไปปักธงได้ที่นั้น และยืนโรงฉายในโรงหนังชั้นสองอีกหลายสิบปี เป็นหนึ่งในหนังจีนสุดโปรดของ เควนติน ตารันติโน
The House of 72 Tenants (Qishierjia Fangke, 1973) กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในฮ่องกง ทุบสถิติ Enter The Dragon ของ บรูซ ลี นอกจากนั้นยังเป็นหนังพูดภาษากวางตุ้งเรื่องแรกในช่วงหลังของชอว์บราเดอร์ด้วย
ชอว์ บราเดอร์ และ Hammer Film Productions บริษัทสร้างหนังจากอังกฤษ ร่วมกันสร้าง Dracula and the 7 Golden Vampires (1974) นำแสดงโดย เดวิด เจียง และ ซือซือ จากฝ่ายฮ่องกง และ ปีเตอร์ คุชชิ่ง จากฝ่ายอังกฤษ มี หลิวเจียเหลียง เป็นผู้กำกับคิวบู๊
กระบี่ ผีเสื้อ ดาวตก กลายเป็นนิยายของ โกวเล้ง เรื่องแรกที่ได้เป็นหนังชอว์ ภายใต้ชื่อ ศึกชุมนุมเจ้ายุทธจัก (Killer Clans / Liu Xing Hu Die Jian, 1976)
ชอว์บราเดอร์ลงเงินถึง 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ในหนังฮอลลีวูด Meteor (1979) ที่นำแสดงโดย ฌอน คอนเนอรี, นาตาลี วูด และ เฮนรี่ ฟอนด้า อีก 3 ปีต่อมาตัวของ รัน รัน ชอว์ ยังได้ร่วมทุนในหนังวิทยาศาสตร์ Blade Runner ของผู้กำกับ ริดลีย์ สก๊อตต มี แฮริสัน ฟอร์ด แสดงนำ
กองถ่ายหนังนักสู้กระบองกล (Eight-Diagram Pole Fighter / Wu lang ba gua gun, 1983) ระส่ำหนักเมื่อพระเอกคนดัง ฟู่เซิง เสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะที่หนังยังถ่ายไม่เสร็จ แต่ผู้กำกับ หลิวเจียเหลียง ก็ยังลุยถ่ายทำหนังต่อ และกลายเป็นงานที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา เนื้อเรื่องที่ว่าด้วยหายนะของ พี่น้องตระกูลหยาง ก็อธิบายความรู้สึกต่อยุคเสื่อมถอยของ ชอว์บราเดอร์ ได้ดีเหลือเกิน
หลังหนังเรื่อง Love in a Fallen City (1984) ของ แอน ฮุย ที่มี โจวเหวินฟะ แสดงนำออกฉาย ชอว์บราเดอร์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทจะยุติการสร้างหนัง โดยพื้นที่ของสตูดิโอจะถูกปล่อยให้เช่า และจำเป็นต้องให้ลูกจ้างของบริษัทออกจากงาน
ในปี 1999  ลิขสิทธิ์หนังของ ชอว์ กว่า 700 เรื่อง ถูกขายให้กับกลุ่มทุนจากเมเลเซีย Usaha Tegas Sdn Bhd ในราคา 600 ล้านเหรียญฮ่องกง ซึ่งในเวลาต่อมากลุ่มทุนนี้ได้ก่อตั้ง Celestial Pictures Ltd ในฮ่องกง เพื่อจัดจำหน่าย VCD และ DVD ของหนังทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น