xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจฮ่องกงเจอผลกระทบจาก‘ทั่วโลก’หดตัว

เผยแพร่:   โดย: โอลิเวีย ชุง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hong Kong economy shares global pain
By Olivia Chung
15/11/2011

เศรษฐกิจฮ่องกงกำลังเติบโตขยายตัวด้วยฝีก้าว 4.3% ต่อปี อัตราระดับนี้เพียงพอที่จะทำให้ประเทศส่วนใหญ่รู้สึกยินดีแล้ว ทว่ากลับยังไม่สูงพอที่จะปัดเป่าความมืดมัวที่กำลังแผ่ซ่านไปทั่วเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ สืบเนื่องจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์นิ่งงัน และยอดส่งออกหดตัวเพราะอุปสงค์จากจีน, สหรัฐฯ, และยุโรปต่างกำลังทรุดฮวบ ขณะเดียวกันวิกฤตการกู้ยืมบนผืนแผ่นดินใหญ่ก็กลายเป็นเชื้อเพลิงที่แพร่ระบาดความรู้สึกมองโลกในแง่ร้ายมายังฮ่องกงเช่นกัน

ฮ่องกง – ตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปี ซึ่งสามารถทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเกิดความปีติยินดีแล้ว กลับยังไม่สูงพอที่จะปัดเป่าความมืดมัวที่กำลังปกคลุมอยู่เหนือฮ่องกง ขณะเดียวกันพวกผู้วางนโยบายตลอดจนธุรกิจต่างๆ ในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ ก็กำลังเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มการค้าของโลกที่ไปในทางย่ำแย่ รวมทั้งสถานการณ์บนผืนแผ่นดินใหญ่จีนก็ไม่สู้จะดีเช่นกัน

“ผมมองโลกในแง่ร้ายเมื่อพูดถึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในระยะสั้น” โดนัลด์ จาง (Donald Tsang) ประธานบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าว ระหว่างที่ไปเยือนนครนิวยอร์กในสัปดาห์ที่แล้ว “ผมกลัวว่าการปะทุครั้งมหึมาในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือยุโรป กำลังจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงทุกๆ คนในโลก และฮ่องกงก็ไม่สามารถที่จะหนีรอดไปได้ปลอดภัยทั้งหมด”

จางบอกว่า เศรษฐกิจฮ่องกงยังไม่น่าที่จะถึงกับถดถอยกันทั้งปี แต่ “มีความเป็นไปได้ที่จะเจอช่วงเวลาเลวร้ายกัน 2-3 ไตรมาส”

เศรษฐกิจฮ่องกงนั้นเติบโต 0.1% ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เมื่อเทียบกับรอบ 3 เดือนก่อนหน้านั้น ภายหลังที่เกิดหดตัวลง 0.4% ในไตรมาส 2 เมื่อเปรียบเทียบกับรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ หากคำนวณกันเป็นอัตราต่อปี นั่นคือเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีอัตราเติบโตขยายตัวอยู่ที่ 4.3% ต่ำลงจากไตรมาส 2 ซึ่งตัวเลขที่ปรับปรุงแก้ไขล่าสุดอยู่ที่ 5.3% ทั้งนี้ตามการแถลงของรัฐบาลเขตปกครองพิเศษแห่งนี้เมื่อวันศุกร์(11)ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้ทบทวนแก้ไขตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีตลอดทั้งปีนี้ให้อยู่ที่ 5% เท่ากับให้อยู่ในข้างต่ำของประมาณการที่ทำไว้ในเดือนสิงหาคมที่ระบุว่าจะอยู่ระหว่าง 5 - 6% ในปีที่แล้วเศรษฐกิจฮ่องกงสามารถเติบโตขยายตัวได้ในระดับ 7%

จางกล่าวว่าในปีหน้าอัตราเติบโตอาจจะเชื่องช้าลงไปอีกจนกระทั่งเหลือแค่ 2% ขณะเดียวกัน ทางด้านภาวะเงินเฟ้อของฮ่องกง ปรากฏว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.1% จากที่ยืนอยู่ในระดับ 5% ในไตรมาส 2 ทั้งนี้เป็นตัวเลขจากการเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับตลอดทั้งปีนี้ อัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่แถวๆ 5.3% เฮเลน ชาน (Helen Chan) นักเศรษฐศาสตร์รัฐบาลฮ่องกงแถลงในวันศุกร์(11)

ชานบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวในคราวเดียวกันนี้ด้วยว่า ตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า อุปสงค์ความต้องการสินค้าส่งออกของทางยุโรปและสหรัฐฯยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดทั้งสองแห่งนี้รวมกันแล้วเท่ากับประมาณ 20% ของยอดส่งออกโดยรวมของฮ่องกงทีเดียว “ความผันผวนภายนอกน่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่งออก ตลอดช่วงที่เหลืออยู่ของปี 2011 และขยายเข้าไปถึงช่วงเริ่มต้นของปี 2012 อีกด้วย” เธอกล่าว

ยอดรวมการส่งออกในรูปตัวสินค้าของรอบไตรมาส 3 ได้หดตัวลงมา 2.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการลดลงมาครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2009 เป็นต้นมา ทั้งนี้ยอดส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ตกลงมา 16% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกไปยุโรปก็ลดต่ำลงมา 3.1% สำหรับยอดการส่งออกไปแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 50% ของยอดรวมการส่งออกของฮ่องกงนั้น ก็ตกลงมา 6.9%

ชานชี้ว่า เศรษฐกิจของเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ ยังคงสามารถหลีกเลี่ยงไม่จมลงสู่ภาวะถดถอย (ตามคำนิยามทางวิชาการ เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสต่อเนื่องกันจะถือว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย) เรื่องนี้ต้องขอบคุณการบริโภคในภาคเอกชน, การท่องเที่ยว, และการลงทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความแข็งแกร่ง การบริโภคภายในฮ่องกงในไตรมาส 3 นั้นเพิ่มสูงขึ้น 8.8% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากผู้คนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.2% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี ส่วนจำนวนผู้เดินทางมาเยือนฮ่องกงในไตรมาส 3 ก็ทะยานขึ้นไป 19% เป็น 11 ล้านคน และจำนวนผู้มาเยือนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ก็พุ่งขึ้น 27.9% อยู่ที่ 7.7 ล้านคน

เงินสดจากแผ่นดินใหญ่นั้น ในขณะที่มีส่วนช่วยประคับประคองยอดขายปลีกในฮ่องกง ก็ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่นอีกด้วย ผู้ซื้อที่ข้ามมาจากอีกฟากหนึ่งของพรมแดนมีส่วนอยู่ถึง 51% ในยอดขายบ้านหลังใหม่ในฮ่องกงประจำไตรมาส 3 เมื่อคำนวณกันตามมูลค่า สัดส่วนดังกล่าวนี้สูงขึ้นมากจากระดับ 37% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้จากการเปิดเผยของบริษัท เซ็นทาไลน์ พร็อบเพอร์ตี เอเจนซี (Centaline Property Agency Ltd) กิจการนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของฮ่องกงเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาบริษัทประเภทนี้ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน กระนั้นตัวช่วยนี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นไม่ให้ราคาอสังหาริมทรัพย์หล่นลงมา 2% ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยที่ถือเป็นการตกลงมาครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2008 ขณะเดียวกันจำนวนตัวเลขของการทำธุรกรรมก็หดตัวลงมาถึง 41%

สำหรับทิศทางแนวโน้มในไตรมาสนี้ก็ยังไม่สดใส ตามข้อมูลของเซ็นทาไลน์ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 มูลค่าของการทำธุรกรรมด้านที่อยู่อาศัยได้หล่นฮวบลงมา 50% จากช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 22,500 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 90,000 ล้านบาท)

แผ่นดินใหญ่จีนเวลานี้กำลังเกิดวิกฤตการปล่อยกู้ โดยบริเวณที่เกิดปัญหาโด่งดังที่สุดก็คือเมืองเวินโจว (Wenzhou ) ทางภาคตะวันออกของแดนมังกร วิกฤตนี้กำลังบีบบังคับให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากต้องปิดกิจการออกจากวงการธุรกิจไป สภาพการณ์เช่นนี้ยังกำลังทำให้พวกนักวิเคราะห์ในฮ่องกงเกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า นักลงทุนที่จำเป็นต้องชำระเคลียร์หนี้สินในเวินโจวตลอดจนเมืองอื่นๆ ที่ประสบปัญหาทำนองเดียวกัน อาจจะตัดสินใจเทขายอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่พวกเขาถือครองอยู่อย่างขนานใหญ่

ยิ่งกว่านั้น พวกนักธุรกิจฮ่องกงเองยังกำลังรู้สึกถึงแรงบีบคั้นที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากโรงงานของพวกเขาในแผ่นดินใหญ่กำลังดิ้นรนหนักเพื่อหาผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของโรงงาน ตามการประมาณการของ พอลลีน หลุง (Pauline Loong) นักวิจัยด้านการเมือง นโยบายและความเสี่ยงของจีน ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี ซีเคียวริตีส์ (ฮ่องกง) จำกัด (CIMB Securities (HK) Ltd ) อาจจะมีโรงงานที่คนฮ่องกงเป็นเจ้าของซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ถึง 12,000 แห่งทีเดียว คงจะทนแรงบีบคั้นไม่ไหวและต้องยุติการทำธุรกิจไปภายในสิ้นปีนี้ “พวกเจ้าของโรงงานชาวฮ่องกงจะเป็นคนแรกเลยที่บอกคุณว่า โรงงานในจีนของพวกเขากำลังถูกบีบคั้นหนักเหลือเกินถึง 2 ด้านพร้อมๆ กัน นั่นคือ ค่าแรงกำลังแพงขึ้นเรื่อยๆ แถมเจอปัญหาสินเชื่อตึงตัวในแผ่นดินใหญ่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งออร์เดอร์สินค้าจากต่างประเทศก็กำลังตกวูบเนื่องจากการเจริญเติบโตชะงักงันทั้งในสหภาพยุโรปและในสหรัฐฯ” เธอบอก

ทั้งนี้มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมากของชาวฮ่องกง มีแผนการที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 16% ถึง 20% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้ นับเป็นการขยับเพิ่มครั้งที่สองแล้วในรอบระยะเวลา 10 เดือน ถ้าหากมีการเดินหน้าตามแผนการนี้ ย่อมหมายความว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะทะยานขึ้นไปกว่า 42% ทีเดียวภายในช่วงเวลาเพียง 10 เดือน

“ถึงแม้เจ้าของโรงงานชาวฮ่องกงจำนวนมากจ่ายค่าจ้างให้แรงงานของพวกเขาเกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่แผนการนี้ก็จะมีผลกระทบในเชิงจิตวิทยาอยู่ดี” โดยกระตุ้นให้คนงานที่มีรายได้เกินค่าจ้างขั้นต่ำต้องขอขึ้นเงินเดือนบ้าง สแตนลีย์ เหลา ชินโฮ (Stanley Lau Chin-ho) รองประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (Federation of Hong Kong Industries) บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

เหลาคาดการณ์ว่า โรงงานของชาวฮ่องกงราว 50,000 แห่งในเขตสามเหลี่ยนปากแม่น้ำจูเจียง จะมีประมาณ 30% ทีเดียวที่จะถูกบีบให้ต้องออกจากธุรกิจไปภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ เดวิด ชิว (David Chiu) นายกสมาคมเพื่อความก้าวหน้าและการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งฮ่องกง (Hong Kong Small and Medium Enterprise Progress and Investment Association) บอกว่า เนื่องจากออร์เดอร์จากต่างประเทศลดน้อยลงมาก ตัวเขาเองจึงได้ตัดลดพนักงานที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่ของเขาลงมาเหลือราว 100 คนแล้วในเวลานี้ จากที่เคยมีมากกว่า 300 คนในปีที่แล้ว

โอลิเวีย ชุง เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น