xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” มั่นใจมาตรการรัฐหนุน “จีดีพี” ปีหน้าโตได้ต่อเนื่อง “ส่งออก” คงเป้าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระอง รองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวพาณิชย์ เสวนาแลกเปลิ่ยนมุมมองทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2555 เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแพร่มีแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลต่อไป ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีวันที่ 28 กันยายน 2554
“กิตติรัตน์” เผยมุมมอง ศก.ไทยปี 55 ยังเดินหน้าได้ โดยใช้นโยบายกระตุ้น ศก. จากภายในประเทศ มั่นใจ “จีดีพี” โตได้ต่อเนื่อง พร้อมมองว่า ปัญหา ศก.สหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลกระทบไม่มาก แต่อาจโดนหางเลขบ้าง โดยเฉพาะด้านการส่งออก แต่จะไม่มีการปรับเป้าที่ 15% ด้านประธานแบงก์กรุงเทพ เตือนการกระตุ้นโอเวอร์ฮีตในช่วงที่มีความเสี่ยง อาจกลายเป็นยาจกที่มีหนี้ท่วมหัว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2555” โดยมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปในปี 2555 แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง เพราะการส่งออกตลาดดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยมาก แต่การส่งออกไปประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เพราะตลาดเหล่านี้จะนำเข้าเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ และยุโรปอีกทอดหนึ่ง

ภาพรวมการส่งออกปีหน้าจะได้รับผลกระทบบางส่วน แต่กระทรวงพาณิชย์จะไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกปี 2555 ที่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 15% เท่ากับปี 2554 เพื่อไม่ให้กระทบแผนการส่งออกที่กำหนดไว้ ซึ่งปี 2554 พบว่าสำเร็จเกินคาดโดย 8 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวถึง 26% ซึ่งยืนยันได้ว่า ตัวทั้งปีจะเติบโตทะลุเป้าที่ 15% ได้ไม่ยากนัก

ขณะที่กำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลทั้งการรับจำนำข้าวที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้เติบโตขึ้นอีกร้อยละ 2.5 จากจีดีพีของประเทศที่เติบโตได้ในระดับที่ไม่แตกต่างไปจากปีนี้และปีก่อน

อย่างไรก็ตาม จีดีพีที่จะเติบโตขึ้นจะต้องขึ้นอยู่กับราคาพลังงานด้วย หากราคาพลังงานปีนี้ปรับตัวลดลง ก็ช่วยลดต้นทุนการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ปีหน้าการส่งออกยังมีความกังวลปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่มีปัญหาต่อเนื่อง

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น หากยังคงเดินหน้าเศรษฐกิจในทิศทางนี้ต่อไปแรงงานต่างชาติคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ออกแบบไว้รองรับคนเหล่านี้ที่เกิดบุตรในไทย ส่วนคนไทยเองก็ยังมีปัญหาการกระจายรายได้ไม่ดีขึ้น ผู้ที่อยู่ระดับล่างของสังคมไทยที่มีระดับรายได้ไม่สูงพอ จึงไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

ดังนั้น การที่รัฐบาลเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นรายได้ที่เพิ่มขึ้นกลุ่มล่างของสังคมจะแปรเปลี่ยนเป็นการบริโภค ในลักษณะทานข้าวแกงจานที่ 2 ซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิตมากขึ้น ในที่สุดจะกลายเป็นคุณค่าและรัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตรา เพราะรายจ่ายที่เพิ่ม ภาษีจะเก็บได้มากขึ้น และมีผลให้ผู้ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นจากมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

ด้านปัญหาเงินเฟ้อนั้น กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วง แต่จะพิจารณาว่าเงินเฟ้อเท่าใด เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งและความสามารถทำรายได้ของประชาชน ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่า เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ค่าครองชีพไทยใกล้เคียงกับฮ่องกง แต่ปัจจุบันฮ่องกงสูงกว่าไทย การที่คนฮ่องกงยังอยู่ได้ เพราะคนประเทศนั้นสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นกับผลิตผลและประสิทธิภาพของคนในประเทศนั้นๆ

ขณะที่ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลก ที่ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จึงทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ยังเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปัจจัยเหล่านี้ประเทศไทยจะสามารถรองรับได้ แต่อาจได้รับผลกระทบ และได้รับแรงกระทบจากความผันผวนบ้าง ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันภายในประเทศ และป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอาจใช้ไม่ได้ผล

นายโฆสิต ยังแสดงความเป็นห่วงการใช้มาตรการเร่งและกระตุ้นการบริโภคที่เร็วและมากเกินไป บางครั้งอาจไม่เหมาะสมกับภาวะในขณะนี้ เพราะไม่ว่าประเทศใดก็ตาม หากไม่มีการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ แล้วประเทศไทยก็จะตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเจริญต่ำแต่หนี้สูง สุดท้ายก็จะเดือดร้อนเหมือนประเทศที่มีปัญหาภาวะเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ และย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องเน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น