xs
xsm
sm
md
lg

กิจการเอสเอ็มอีของ‘จีน’ประสบภาวะกำไรหล่นหาย

เผยแพร่:   โดย: โอลิเวีย ชุง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China’s small firms see profits disappear
By Olivia Chung
13/10/2011

บรรดาบริษัทขนาดเล็กที่มิใช่กิจการของรัฐ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศจีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” เวลานี้กำลังประสบความยากลำบากสาหัส เนื่องจากต้นทุนด้านต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์จากต่างแดนกลับลดต่ำลง พวกกิจการประเภทนี้ที่ตั้งอยู่ในดินแดนอุตสาหกรรมของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ทางภาคใต้ของแดนมังกร มีถึงกว่า 70% ทีเดียวที่แสดงการคาดหมายว่า พวกเขาจะไม่มีกำไรเลยในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้านี้

ฮ่องกง – พวกวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small-and medium-sized enterprises หรือ SMEs) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ทางภาคใต้ของจีน เกินกว่าสองในสามทีเดียวที่คาดหมายว่าคงจะไม่สามารถทำกำไรอะไรได้ในระยะแวลา 6 เดือนข้างหน้านี้ สืบเนื่องจากต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานกำลังขยับขึ้นสูง ขณะที่ออร์เดอร์สั่งซื้อจากต่างประเทศกำลังหดลดลง ทั้งนี้ตามผลของการสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำกันเมื่อเร็วๆ นี้

เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ถือเป็น 1 ใน 2 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศจีน โดยที่อีกแห่งหนึ่งคือ เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหยางจื่อ (แยงซี) ซึ่งก็กำลังประสบภาวะสินเชื่อตึงตัวอย่างหนัก จึงเป็นเหตุให้พวกเจ้าของบริษัทจำนวนมากในเมืองเวินโจว อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญในบริเวณดังกล่าว พากันหนีหนี้ทิ้งกิจการ

การสำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอีในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงคราวนี้ ครอบคลุมกิจการที่มีรายรับต่ำกว่าปีละ 30 ล้านหยวน (น้อยกว่า 150 ล้านบาท) จำนวนประมาณ 3,000 แห่ง โดยมีทั้งบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองกว่างโจว (กวางเจา), ฮ่องกง, มาเก๊า, เซินเจิ้น, และ จู๋ไห่ ผลการสำรวจที่เพิ่งสรุปเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผลกำไรโดยเฉลี่ยของกิจการเอสเอ็มอีเหล่านี้ได้ลดต่ำลงกว่าระยะเดียวกันของปี 2010 ประมาณ 30% - 40% ทั้งนี้ถึงแม้กิจการขนาดเล็กๆ เหล่านี้มีบทบาทอันสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกร ทว่าในสภาพแวดล้อมที่การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรง ทำให้โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะต้องพยายามอยู่ให้รอดโดยที่มีอัตราผลกำไรต่ำมากๆ แต่เมื่อกำไรกำลังหดหายลงไปอีก พวกเขาจึงเดือดร้อนกันสาหัส

โจว ฉีเหริน (Zhou Qiren) คณบดีคณะการพัฒนาแห่งชาติ (National School of Development) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งจัดทำการสำรวจคราวนี้ร่วมกับกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group) บริษัททางด้านอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของแดนมังกร บอกว่าผู้ตอบคำถามจำนวนกว่า 70% ทีเดียวคาดหมายว่าจะมีกำไร 0% หรือติดลบเล็กน้อยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 3.29% คาดการณ์ว่าจะต้องขาดทุนหนัก หรือกระทั่งต้องปิดกิจการกันเลย

กิจการเอสเอ็มอีที่ตอบแบบสอบถามต่างกล่าวโทษว่า การที่กำไรหดสืบเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบกำลังสูงขึ้น และคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็ลดลง ทั้งนี้พวกเขาได้รับออร์เดอร์สั่งซื้อน้อยลงจากเมื่อ 1 ปีก่อนถึง 30% ทีเดียว สืบเนื่องจากอุปสงค์อ่อนตัวจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในภาวะยากลำบาก และยูโรโซนก็ตกอยู่ในวิกฤตหนี้ภาคสาธารณะอย่างชนิดหาทางออกไม่เจอ นอกจากนั้นพวกเขายังเผชิญการท้าทายแข่งขันจากบรรดาซัปพลายเออร์ในเวียดนามและอินเดีย ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

“เศรษฐกิจที่ทรุดตัวในสหรัฐฯและวิกฤตหนี้ในยูโรโซน บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จึงกำลังกลายเป็นเมฆดำทะมึนลอยอยู่เหนือทิศทางอนาคตของพวกโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกที่เน้นการส่งออก ด้วยเหตุนี้เองแนวโน้มอนาคตสำหรับภาคธุรกิจที่เราทำการสำรวจ จึงออกมาเลวร้ายมาก โดยเลวร้ายยิ่งกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกเมื่อตอนสิ้นปี 2008 เสียด้วยซ้ำ” โจวกล่าว

เขาชี้อีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงแค่ 33% เท่านั้นที่ระบุว่ากำลังเดินเครื่องจักรทำการผลิตอย่างเต็มกำลังความสามารถ ขณะที่มี 27% ที่ในปีนี้เดินเครื่องจักรเพียงครึ่งหนึ่งของความสามารถ

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ราคาเฉลี่ยของวัตถุดิบที่พวกเอสเอ็มอีต้องซื้อหามาใช้ทำการผลิต ได้พุ่งสูงขึ้นไประหว่าง 20% ถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนทางด้านค่าจ้างแรงงานได้ปรับขึ้นไป 20% ถึง 30% โดยเฉลี่ย ทั้งนี้รายงานการสำรวจได้หยิบยกตัวอย่างการปรับขึ้นค่าจ้างแบบสุดๆ ซึ่งได้แก่พวกช่างเทคนิคไฮเทค ที่เอสเอ็มอีทั้งหลายต้องจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นจากปีที่แล้วมากกว่า 100%

“ราคาวัตถุดิบสำหรับทำชุดชั้นในผ้าฝ้ายชนิดหนา เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2010 ราวๆ 80% เป็น 45 หยวนทีเดียว และเป็นตัวการทำให้กำไรหดลดลงมา 40%” เฝิง เจียง (Feng Jiang) ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทตงกวน สี่ชิ่ง แฟชั่น (Dongguan Xiqing Fashion Co.) บอก “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องลดขนาดกำลังความสามารถในการผลิตลงมาในปีนี้ และต้องเที่ยวหาออร์เดอร์ที่ใช้วงจรในการผลิตสั้นลง”

บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองตงกวน อันเป็นนครใหญ่ที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมในมณฑลกวางตุ้ง บริษัทมียอดขายปีละประมาณ 10 ล้านหยวน โดยที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทราว 25% ทีเดียวเป็นสินค้าส่งออก “เนื่องจากต้องลดการผลิตลงมา เราจึงต้องตัดลดชั่วโมงทำการผลิตลง และกำลังคิดพิจารณาว่าอาจจะต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน” เฝิงกล่าว

อุตสาหกรรมการผลิตของจีนโดยภาพรวม อยู่ในสภาพหดตัวเป็นเดือนที่ 3 แล้วในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้กลายเป็นการหดตัวต่อเนื่องครั้งยาวนานที่สุดนับแต่ปี 2009 ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่สุดคืออุปสงค์ในสินค้าออกของแดนมังกรลดต่ำลง เมื่อดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC Purchasing Managers' Index) ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ดัชนีนี้ยืนอยู่ที่ 49.9 ในเดือนกันยายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนสิงหาคม ทำให้กลายเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแล้วที่ดัชนีนี้อยู่ต่ำกว่าขีด 50 ซึ่งมีความหมายว่ากำลังเกิดการหดตัวนั่นเอง

ชีว์ หงปิน (Qu Hongbin) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทางด้านจีนของธนาคารเอชเอสบีซี พูดไว้ในรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งว่า วิกฤตในสหรัฐฯและยูโรโซนกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการจับจ่ายซื้อหา สินค้าจีนจึงเป็นที่ต้องการน้อยลง และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกของแดนมังกรลดต่ำลง กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ การส่งออกแทบไม่มีส่วนเลยในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน ถึงแม้ในระยะเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของแดนมังกรจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 9.7% ก็ตามที

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทางด้านจีนของเอชเอสบีซีผู้นี้ คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปีนี้จีดีพีของจีนน่าจะมีอัตราเติบโตระหว่าง 8.5% ถึง 9% และทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปในอีกสองสามปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9.5% (เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2010) และไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 9.7% โดยที่ตลอดทั้งปีที่แล้วอยู่ที่ 10.4%

สำหรับการส่งออกของจีนในครึ่งแรกของปีนี้ สามารถเติบโตได้ในอัตราเท่ากับปีละ 24% คิดเป็นมูลค่า 874,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2010 ซึ่งขยายตัวในอัตราเท่ากับปีละ 35.2% ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขของ สำนักงานใหญ่บริหารภาษีศุลกากร (General Administration of Customs) ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ อัตราการเติบโตของการส่งออกยังทรุดตัวลงมากเมื่อเปรียบเทียบในแบบเดือนต่อเดือน โดยที่ตกลงมาเหลือระดับ 17.9% ในเดือนมิถุนายน จากที่เคยอยู่ในอัตรา 37.7% ในเดือนมกราคม

ปัญหาการส่งออกที่ทรุดตัวลงเช่นนี้ หนทางแก้ไขดีที่สุดคือการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงมา ขณะที่ยังต้องใช้นโยบายการเงินแบบสุขุมรอบคอบต่อไป เพราะนโยบายดังกล่าวสามารถช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อได้ โจวแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People's Bank of China แบงก์ชาติของแดนมังกร) บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์

โจวไม่เห็นด้วยกับเสียงเรียกร้องให้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือพวกเอสเอ็มอี เขาชี้ว่าการผ่อนคลาย ซึ่งในภาวะปัจจุบันย่อมหมายถึงการทำให้มีสภาพคล่องในระบบจนล้นเกิน จะไปทำให้ระดับราคาต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อหนักหน่วงมากขึ้น ขณะเดียวกันเงินที่เพิ่มขึ้นมาในระบบ น่าที่จะถูกพวกวิสาหกิจขนาดใหญ่คว้าเอาไป ไม่ใช่ตกมาอยู่กับบรรดาเอสเอ็มอี

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เป็นเสียงเรียกร้องของผู้คนไม่น้อย สืบเนื่องจากภาวะสินเชื่อตึงตัวกำลังทำให้บริษัทจำนวนมากย่ำแย่ ต้องไปหากู้เงินนอกระบบ และเมื่อเห็นว่าไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้ โดยเฉพาะหนี้ที่ติดค้างพวกนายเงินนอกระบบ บรรดาเจ้าของกิจการก็พากันหนีหนี้ทิ้งกิจการไปดังที่เกิดขึ้นในเมืองเวินโจว ศูนย์กลางโรงงานอุตสาหกรรมของภาคเอกชนในมณฑลเจ้อเจียง บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหยางจื่อ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ ไชน่า ซีเคียวริตีส์ เจอร์นัล (China Securities Journal) ได้รายงานข่าวในวันอังคาร(11) โดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีการระบุชื่อผู้หนึ่งบอกว่า เมืองเวินโจววางแผนจะเปิดกองทุนมูลค่า 200 ล้านหยวน เพื่อใช้สนับสนุนกิจการเอสเอ็มอี ภายหลังที่ผู้ประกอบการซึ่งติดหนี้สินรุงรังจำนวนราว 100 คนได้พากันหนีหนี้ในระยะ 9 เดือนแรกของปีนี้

ทางด้าน เฝิง ก็มีความคิดเห็นทำนองเดียวกับโจว โดยเขากล่าวว่าพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับท้องถิ่นควรที่จะลดภาษีชนิดต่างๆ ลงมา “นอกเหนือจากต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 17% และภาษีนิติบุคคล 25% แล้ว เรายังต้องเสียภาษีเพื่อการก่อสร้างต่างๆ ของนคร, ภาษีโรงเรือน, และอื่นๆ อีก ภาษีเหล่านี้คือปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เอสเอ็มอีทำกำไรได้น้อยนิดเหลือเกิน” เฝิงบอก

โอลิเวีย ชุง เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น