xs
xsm
sm
md
lg

สสว. แนะปรับระบบภาษี SMEs สอดคล้องความเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว. ร่วมกับ TDRI เผยผลศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี SMEs ไทย ระบุควรมีการกำหนดขอบเขต SMEs ที่ได้รับประโยชน์และเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเก็บข้อมูลการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เป็นระบบ ปรับปรุงดัชนีชี้วัดหน่วยงานส่งเสริม SMEs ปรับปรุง พ.ร.ฎ 396 และกำหนดมาตรการภาษีเพื่อจูงใจ SMEs เข้าสู่ในระบบ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่าจากการที่ สสว. ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินการศึกษาข้อมูลด้านกฎหมาย กฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะกฎหมาย กฎระเบียบด้านภาษี ในการส่งเสริม SMEs ของไทย กับต่างประเทศนั้น ขณะนี้การศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาและให้ความรู้ด้านภาษีรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของการเข้าสู่ระบบภาษี จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ SMEs” ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs นำไปเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ

“ที่ผ่านมาเราพบว่าผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ไม่ทราบหรือไม่มีความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐมีให้ เช่น การยกเว้นภาษี การลดอัตราภาษี รายจ่ายที่หักได้มากกว่า 1 เท่า ขณะเดียวกันยังขาดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้เงื่อนไขหลักเกณฑ์บางส่วนของภาครัฐเป็นอุปสรรคให้ SMEs ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้จะมุ่งศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เพื่อให้ได้แนวทางในการทบทวน ปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย และกฎระเบียบด้านภาษีที่เหมาะสม เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งผลักดันให้ SMEs เข้าสู่ระบบมากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับผลการศึกษาของ TDRI ภายใต้โครงการศึกษาวิเคราะห์กฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญ พบว่า มาตรการส่งเสริมทางด้านภาษีในต่างประเทศ มีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าประเทศไทย เช่น มีการใช้ฐานในการคำนวณรายได้ที่แตกต่างเพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่อง หรือลดภาระในการจัดทำบัญชีของ SMEs และการเก็บภาษีของรัฐ มีการกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างสำหรับ SMEs มีการกำหนดอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่แตกต่างสำหรับเจ้าของ SMEs มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรพิเศษสำหรับ SMEs ในการนำเข้าสินค้า Know How มีการให้ Tax Credit ในอัตราพิเศษสำหรับการวิจัยและพัฒนาของ SMEs ฯลฯ โดยสามารถพิจารณาเป็นรายประเทศ ดังนี้

ประเทศเกาหลีใต้ พบว่า มาตรการด้านภาษีส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน หรือขยายกิจการในพื้นที่นอกเขตเมืองหลวงและปริมณฑล และเน้นมาตรการในการลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การลงทุนในพลังงานและเครื่องจักรสีเขียว และการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ฯลฯ ด้วยการให้เครดิตภาษีแก่ธุรกิจ SMEs ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำ R&D ในเทคโนโลยีที่กระทรวงกำหนด และใน 17 อุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีพลังน้ำชั้นสูง การขนส่งที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า การบริการด้านการศึกษา การพัฒนาซอฟแวร์ ฯลฯ ซึ่งมีการให้เครดิตภาษีในอัตราร้อยละ 35 และ 30 ตามลำดับ รวมทั้งธุรกิจ SMEs ที่เป็น Energy service Companies และติดตั้งเครื่องจักรประหยัดพลังงาน ที่มีการให้เครดิตภาษีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 30 เป็นต้น

ในส่วนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา พบว่า มีการให้สิทธิพิเศษกับการย้ายธุรกิจออกนอกเขตเมืองหลวงและปริมณฑล ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเป็นเวลา 6 ปี และลดลงอัตราร้อยละ 50 ต่อไปอีก 3 ปี ขณะที่การก่อตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่และสาขาธุรกิจที่กำหนด จะได้รับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาร้อยละ 50 ในช่วง 4 ปีแรก

ประเทศไต้หวัน ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็น “อาณาจักร SMEs” เนื่องจาก SMEs มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจมากที่สุด แต่แนวคิดส่วนใหญ่ของการพัฒนา SMEs ไม่ใช่การให้สิทธิประโยชน์หรืออภิสิทธิ์ใดๆ แต่เน้นการฝึกอบรมและการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้แก่ SMEs เห็นได้จากมาตรการทางภาษี ส่วนใหญ่จะให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจโดยทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงธุรกิจ SMEs

ทั้งนี้ มีการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ในส่วนต่างๆ อาทิ บริษัทต่างชาติที่มีเพียงสาขาในไต้หวัน รายได้จากส่วนต่างของการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน รายจ่ายเกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายให้กับบริษัทต่างชาติ สำหรับค่าลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า การรับอนุญาตสำหรับการพัฒนาสินค้า และการใช้เทคโนโลยีใหม่ตามที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน รวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในไต้หวันน้อยกว่า 90 วัน ในเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังมามาตรการอื่นๆ เช่น เครดิตภาษีร้อยละ 35 สำหรับบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา เครดิตภาษีร้อยละ 20 สำหรับผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่เข้าร่วมทุนกับธุรกิจภายในประเทศ เป็นต้น

ประเทศสิงคโปร์ พบว่า โครงสร้างภาษีรายได้นิติบุคคลทั่วไปมีอัตราที่ยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ การให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs จะเน้นการยกระดับมาตรฐาน (upgrading enterprise) ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนจะผูกโยงกับโครงการด้านการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเน้นดำเนินการผ่านธนาคารหรือแหล่งทุนเอกชนมากกว่าของรัฐ โดยรัฐให้แรงจูงใจหรือร่วมรับภาระความเสี่ยงเท่านั้น โดยสิทธิประโยชน์ผ่านภาษีเงินได้นิติบุคคล พบว่า ปี 2554 ผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 20 ของเงินได้ หรือขอรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการให้สิทธิประโยชน์ผ่านการทำธุรกิจร่วมทุนกับ SMEs โดยบริษัทที่ทำธุรกิจร่วมทุนอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในปีภาษี 2553-2558 จะได้รับสิทธิในการขอหักภาษีหลังจากสิ้นสุดปีที่สอง ในอัตราร้อยละ 50 ของต้นทุน ซึ่งต้นทุนในแต่ละปีต้องไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศไทย พบว่า ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริม SMEs แบบพื้นฐาน โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีสำหรับนิติบุคคลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ ที่รัฐเอื้อให้แก่ SMEs และเอกชนทั่วไป โดยพบว่าการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของ SMEs ไทย ยังมีข้อจำกัดในการกำหนดขอบเขต SMEs ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ทำให้มาตรการความช่วยเหลือไม่สามารถไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กได้ เงื่อนไขในการให้สิทธิไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ขณะที่หน่วยงานส่งเสริมบางแห่งมีเงื่อนไขในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ คือ ควรมีกำหนดขอบเขต SMEs ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน ควรเก็บข้อมูลวิสาหกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นระบบ ควรแยกวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย ออกจากกัน ควรมีการประเมินการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของ SMEs ทุกมาตรการอย่างเป็นระบบ ควรมีการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกา 396 ในเรื่องเกี่ยวกับการร่วมลงทุน (venture capital) ควรมีการปรับปรุงดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานส่งเสริม ควรมีการกำหนดมาตรการด้านภาษี โดยการกำหนดโครงสร้างภาษีที่เหมาะสม และคำนึงถึงการจูงใจให้ SMEs เข้ามาในระบบ ขณะเดียวกันควรนำมาตรการส่งเสริม SMEs จากทั่วโลก มาปรับใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อ SMEs ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น