>>“รสนิยม” คือคำที่ว่าด้วยเรื่องของค่านิยมที่อยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ล้วนๆ โดยแทบจะไม่มีเหตุผลมารองรับ และสิ่งที่ตามมาสำหรับรสนิยมอันสูงส่งนั่นคือ ราคาที่ต้องใจเพื่อให้ได้สัมผัสและครอบครอง รสนิยมที่ว่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บรรดาสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมระดับหรู จะมีความต้องการทางตลาดมากมายมหาศาล แต่ผู้ที่จะสามารถสัมผัสของจริงได้นั้นมีเพียงหยิบมือ ส่วนความต้องการที่เหลือก็มีหนทางให้เลือกอยู่ไม่กี่ทางถ้าไม่อยู่กับความฝัน “ก็ลองมองหาของเลียนแบบที่คุ้นปากมาใช้สิ” ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้วในปริมาณของยอดขายจำนวนชิ้นย่อมขายได้ดีเป็นเทน้ำเทท่ากว่าของแท้ แบบเดียวกันหลายเท่าตัว
ภาพของสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมหรูระดับโลกนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราเห็นกันชินตา จนเรียกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในระยะสามถึงสี่ปีหลังนี้ก็คือสินค้าแฟชั่นทำเหมือนไม่ได้ทำ แค่ของแบรนด์เนมระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเลียนแบบแบรนด์ของไทยด้วยกันเองอีกด้วย
:: แบรนด์ไทยเริ่มมาก็ยิ่งน่าก๊อป
ย้อนเวลากลับไปช่วงสิบปีก่อนหน้านี้ ถ้าพูดถึงเสื้อผ้าที่ประสบความสำเร็จในบ้านเรานั้นล้วนแต่มาจากเมืองนอกแทบทั้งสิ้น แบรนด์ที่เกิดจากดีไซเนอร์ไทยแท้ๆ ถ้าหากอยากเติบโตโด่งดัง ก็ต้องไปนำเสนอเองที่ต่างประเทศ แต่แล้วในปี 2004 การปลุกกระแส “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” ที่รัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันผลักดันให้มหานครกรุงเทพกลายเป็นเมืองแห่งแฟชั่นโดยแท้จริง ซึ่งก็มีทั้งการโปรโมตแบรนด์เนมระดับโลกที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งการเฟ้นหาแบรนด์ไทยโดยดีไซเนอร์ฝีมือดีมาสนับสนุน
ถัดมาอีกหนึ่งปี ช่วงรอยต่อระหว่าง 2005-2006 สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS) ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการรวมเอาแบรนด์แฟชั่นไทยชื่อดังต่างๆ ที่ขณะนั้นสามารถไปสร้างชื่อเสียงในต่างแดนได้ดีพอสมควร แต่ยังไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในเมืองไทย มารวมตัวกันเพื่อสร้างกระแสแบรนด์ไทยให้เป็นที่นิยมมากขึ้น จากนั้นไม่นานชื่อของแบรนด์อย่าง เกรย์ฮาวนด์-เพลย์ฮาวนด์, โคลเซ็ต, สเรตซิส, และอีกหลายแบรนด์ก็เริ่มเป็นที่คุ้นหู คุ้นตา และได้รับความนิยมในคนไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ
กระแสคนไทยตอบรับแบรนด์ไทยมากขึ้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสมรภูมิรบระหว่างของแท้และของเทียมระหว่างคนไทยด้วยกันเอง เพราะเมื่อประโยคหนึ่งในการสนับสนุนแบรนด์ไทยบอกว่า “จะมีใครทำเสื้อผ้าให้คนไทยใส่ไปได้ดีกว่าคนไทยด้วยกัน” นั่นเท่ากับเป็นการการันตีว่าต่อไปนี้แบรนด์ไทยนั้น “ขายได้!” ลักษณะรูปทรงเสื้อผ้า เนื้อผ้า สีสัน ลวดลาย การออกแบบ คอนเซ็ปต์ ที่ตอบสนองคนไทย กลายเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ชวนให้เจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าหลายรายเริ่มหันมามองเทรนด์ของแบรนด์ไทย
:: ทำไมต้องก๊อป
คำถามคาใจของเจ้าของ รวมไปถึงสาวกของแบรนด์ที่ถูกก๊อปก็คือ “ทำไม?” จากการสอบถามแหล่งข่าวเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นที่ไม่ขอเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบอกกับเราว่า ในยุคก่อนคนที่เข้ามาเปิดร้านขายเสื้อผ้าตามแหล่งต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นดีไซเนอร์โดยตรงและไม่ได้ไปรับของมาขาย ก็จะเป็นรูปแบบของการเปิดหนังสือแฟชั่นเมืองนอก แล้วเลือกดูว่าแบบไหนน่าจะขายได้ จึงไปสั่งตัดแล้วนำมาวางขายที่ร้าน
แต่มายุคนี้มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างแฟชั่นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น คู่แข่งในตลาดก็มากขึ้น ใครวางก่อนก็ขายได้ก่อน รวมถึงเรื่องของค่าเช่าที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกปี โดยแหล่งข่าวรายนี้ ยกตัวอย่าง กรณีห้างดังย่านประตูน้ำ ช่วงปีแรกค่าเช่าอยู่เพียงหลักหมื่น แต่ล่าสุดนี้ค่าเช่ามากกว่าหนึ่งแสนบาทเข้าไปแล้ว ดังนั้น บรรดาเจ้าของร้านเอง จึงต้องแสวงหาหนทางที่จะทำให้ร้านตัวเองอยู่รอด
ดังนั้น การลอกเลียนของที่มีกระแสตอบรับที่ดีอยู่แล้วจึงเป็นหนทางที่น่าสนใจที่สุด ซึ่งการทำเลียนแบบนั้นก็จะมีทั้งก๊อปมาแบบทุกกระเบียดนิ้ว แต่ถ้าหากเจ้าของร้านคนไหนอยู่ในวงการมานานก็อาจจะก๊อปเฉพาะทรง เฉพาะสี เฉพาะจุดขายเด่นๆ แล้วนำมามิกซ์แอนด์แมตช์กับของในร้านตัวเองอีกระดับหนึ่ง
:: ก๊อปอย่างเป็นระบบ
แหล่งข่าวรายเดิมให้ข้อมูลว่า เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าเหล่านี้ยังมีระบบ และวิธีคัดเลือกดีไซน์ในการก๊อปอย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งประสบการณ์ที่ขายเสื้อผ้ามาหลายปีก็พอจะมองออกว่า เสื้อผ้าแบบไหน สีสันเฉดใด จะสามารถขายได้ดี รวมทั้งในยุคปัจจุบันที่หลายแบรนด์มีเว็บไซต์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นของตนเองนั้น ก็ยิ่งกลายเป็นดาบสองคมที่นอกจากจะโปรโมตคอลเลกชั่นล่าสุดของตัวเองแล้ว ยังเป็นช่องทางให้บรรดาเจ้าของร้านเหล่านี้ได้เห็นกระแสตอบรับแต่ละคอลเลกชั่นอีกด้วย
โดยเจ้าของร้านบางรายก็จะแฝงตัวไปอยู่ท่ามกลางแฟนคลับ (แฟนเพจของแบรนด์) แล้วเมื่อแบรนด์มีการโปรโมตสินค้าตัวไหนขึ้นมา ก็จะมีการบันทึกสถิติดูว่า ชิ้นไหนบ้างที่มีการตอบรับดีก็จะเลือกสั่งทำเลียนแบบเฉพาะชิ้นนั้น และเจ้าของร้านเหล่านี้ ก็จะรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่า ตนเองมีรูปแบบไหนบ้าง หากตรงกันก็จะยิ่งมั่นใจว่าขายได้อย่างแน่นอน
:: ลัดฟ้าสู่แดนมังกร
แหล่งข่าวรายเดิมพูดถึงการผลิตสินค้าเลียนแบบนั้นมาจากแหล่งที่ทุกคนทราบกันดี นั่นคือ ประเทศจีน ซึ่งหลายคนคิดว่าเซินเจิ้นคือแหล่งใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วเซินเจิ้นเป็นเพียงแค่แผงวางจำหน่ายของก๊อปแบรนด์เนมดังๆ เท่านั้น แต่ถ้าลงลึกถึงการผลิตแล้วจะต้องไปที่กว่างโจวซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก ซึ่งการบินไปสั่งผลิตแล้วสั่งลงเรือกลับมาขายในเมืองไทยก็ยังถูกกว่าการตัดเย็บในปริมาณที่เท่ากันที่เมืองไทยเสียอีก
และจำนวนของเจ้าของร้านที่บินไปแดนมังกรเพื่อสั่งผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่สามสี่ราย เท่านั้น แต่มีถึงหลักสิบรายด้วยกัน และพวกนี้เมื่อสั่งผลิตที่เดียวกัน ทำธุรกิจแบบเดียวกัน ก็จะสนิทสนมคุ้นเคยกัน ดังนั้น จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล สินค้าที่ได้ จึงไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อถูกส่งกลับมายังเมืองไทย จึงไม่น่าแปลกใจว่า สไตล์ที่ถูกเลียนแบบนั้นจะแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว
:: ก๊อปรายใหญ่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รายย่อย มือใหม่ต้องยอมตาม
เมื่อของก๊อปล็อตใหญ่กลายเป็นกระแสที่ขายดิบขายดี บรรดารายย่อย หรือเจ้าของร้านมือใหม่ ที่เลือกผลิตสไตล์มาคนละแบบ บางครั้งก็ต้องจำใจกัดฟันหั่นกำไรยอมซื้อมาขายต่อ เพราะเห็นแล้วว่า อย่างไรก็ยังขายได้ ดีกว่านั่งรอลูกค้าที่มาชอปของในร้าน ที่นานๆ จะผ่านมาสักคน
:: ลือปากต่อปาก กระแส Kloset ที่แท้มาจากคนใน
ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการแฟชั่นไทยเมื่อกลางปีที่แล้ว คือ แบรนด์เสื้อผ้าไทยชั้นนำ อย่าง Kloset นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับและยึดของกลางร้านจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่แพลทินัม พร้อมทั้งดำเนินเรื่องการฟ้องร้องที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของ Kloset ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายย่อย
แหล่งข่าวของเราเล่าให้ฟังว่า ข่าวที่เกิดขึ้นในกลุ่มเจ้าของร้านด้วยกันนั้นคือ ดีไซน์ของ Kloset หลุดลอดออกมาผ่านทางพนักงานฝึกงานภายใน ที่แอบเอาบางส่วนในคอลเลกชั่นมาทำการผลิตแล้วนำออกขายจนได้รับความนิยม
:: ท็อปลิสต์แบรนด์ไทยขวัญใจขาก๊อป
ช่วงระยะ 5-6 ปีหลังที่ผ่านมานี้ มีแบรนด์ไทยที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งแบรนด์ใหม่ และแบรนด์เก่าที่ไปประสบความสำเร็จอยู่ในต่างแดนมาหลายปี แต่เรื่องของเก่าใหม่ไม่สำคัญ สำหรับบรรดานักก๊อปทั้งหลาย เพราะพวกเขาจะเลือกก๊อปของที่มีความต้องการในตลาดสูง และสามารถปลุกกระแสได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โดยแบรนด์ไทยที่มักจะถูกนำมาทำเลียนแบบอยู่เป็นประจำก็มีดังต่อไปนี้
Kloset แบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องของการใช้สีสันสร้างลวดลาย เป็นที่ชื่นชอบของสาวๆ วัยเริ่มต้นทำงาน เพราะมีความโดดเด่น แต่ไม่แรง และไม่หวานจนเกินไป
Sretsis ความน่ารัก สดใส ปนเซ็กซี่ ของเครื่องแต่งกายแต่ละชิ้น เป็นที่ชื่นชอบของสาวๆ วัยรุ่น อย่างเดรสสั้น และกางเกงขาสั้นจะเป็นที่นิยมมาก
Disaya บุคลิกที่เน้นความเป็นผู้หญิงอย่างชัดเจน ทำให้หลายคนชื่นชอบ และสินค้าของ Disaya ที่ถูกนำไปทำลอกเลียนแบบมากที่สุดก็คือ เครื่องประดับ และชุดเดรสแบบต่างๆ
Boyy แบรนด์กระเป๋าที่ถูกใจสาวๆ แนวสตรีตร็อก ด้วยเหตุผลของการประสบความสำเร็จอย่างสูงในต่างประเทศ ทำให้กระเป๋าหลายรุ่นของ Boyy ถูกถามหาพอๆ กับกระเป๋าแบรนด์เนมชื่อดัง
Tu’i แบรนด์กระเป๋าอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการออกแบบ ที่โดนใจสาวๆ ประเภทแฟชั่นนิสต้าแต่งตัวเก่ง จาก รูปทรง ลูกเล่นของลวดลายและวัสดุ รวมทั้งราคาที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง ยิ่งทำให้กระแสความต้องการของเลียนแบบมีสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน :: Text by FLASH
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net หรือ App Store ได้แล้วที่ celeb online ipad edition