xs
xsm
sm
md
lg

‘ของก๊อบฯแบรนด์เนม’ ความแปลกปลอมในโลกมายา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การดูละครโทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นความบันเทิงยอดนิยมที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน คงเป็นเพราะว่าเรื่องราวพาฝันในละครนั้น ช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายจากเรื่องเครียดในชีวิตจริง และในหลายครั้งหลายหน เรื่องราวในละครยอดนิยมก็มักจะเดินเรื่องด้วยตัวละครที่เป็นชนชั้นสูง มีฐานะร่ำรวย อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ใช้รถคันโต และแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบรนด์เนมเดินเฉิดฉายไปมา

อันที่จริงมันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะคนส่วนใหญ่น่าจะแยกแยะโลกความจริงกับโลกของละครออกจากกันได้ แต่บางครั้งปัญหาของโลกสมมติมันก็ส่งผลกระทบมาถึงโลกความจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เนื่องมาจากในกระบวนการถ่ายทำละครนั้น บางครั้งตัวละครตามท้องเรื่องเป็นคนที่ฐานะร่ำรวย ดังนั้นเสื้อผ้าและของใช้ จึงต้องเป็นของแบรนด์เนมราคาแพงเพื่อให้สมบทบาท ซึ่งแน่นอนว่าของที่เอามาเข้าฉากก็คงจะไม่ใช่ของจริงที่มีราคาแพงทุกชิ้น นั่นทำให้ภาพของดาราใช้เสื้อผ้ากระเป๋าของปลอมในละครทีวีมีให้เห็นบ่อยครั้ง

และการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ก็ได้สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ หรือบีเอฟเอส (BFS- Bangkok Fashion Society) ซึ่งเป็นกลุ่มของเจ้าของแบรนด์ดังๆ หลายแบรนด์ในไทย ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้ทำการยื่นหนังสือไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าหากคนเห็นดาราที่เขาชื่นชอบ ใช้ของปลอมออกทีวีบ่อยๆ มันอาจจะเป็นเหตุให้ผู้ชมเหล่านั้นอยากใช้ของปลอมตามดาราไปด้วย!!!

ทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกละเมิด

ปัญหาเรื่องดาราใช้ของเทียมที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ได้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา ก็เพราะทางสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มของแบรนด์ไทยที่โดนละเมิด ได้ร้องเรียนไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้ามาจัดการโดย ปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กล่าวถึงที่มาที่ไปและหนทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวว่า

“สมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์ฯ เขาเป็นสมาคมร่วม ที่ออกแบบเสื้อผ้าที่มียี่ห้อของเมืองไทยออกมาอยู่แล้ว และก็เป็นธรรมดานะที่งานดีไซน์ราคาก็จะสูงนิดหนึ่ง พอออกวางจำหน่ายก็มักจะถูกละเมิด ถูกทำเลียนแบบออกมาขาย ต่อมาเสื้อผ้าเหล่านี้ก็กลายมาเป็นเสื้อผ้าที่ดาราใส่ออกทีวี บีเอฟเอสเขามองเห็นว่าตรงนี้ ไม่น่าจำเป็นจะต้องใช้ของปลอม ถ้าจะเอาเสื้อของเขามาใส่เขาก็จะให้ยืมได้ ทางสมาคมก็เลยมาร้องเรียนทางท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเรื่องก็มาถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา”

โดยหนทางในการแก้ไขเบื้องต้นนั้น ก็คือการส่งหนังสือเตือนไปยังผู้จัดรายการและผู้จัดละครให้ใส่ใจกับปัญหาการใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในรายการและละครโทรทัศน์ของตน ซึ่งขอบเขตอำนาจที่ทำได้ตอนนี้ก็คงจะเป็นเพียงการเตือนและขอความร่วมมือเท่านั้น

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง ก็ได้รับมอบหมายให้ส่งหนังสือตรงถึงสถานีโทรทัศน์ ถึงบรรดาผู้จัดละครว่าขอความร่วมมือในการไม่ใช้สินค้าของปลอมในการออกทีวี ในขณะนี้จะเป็นการเตือนก่อน แต่เนื่องจากกฎหมายไทยเองไม่ได้เอาผิดแก่ผู้ใช้ เพราะฉะนั้นคนใช้ไม่มีความผิดทางกฎหมาย อันนี้คงจะต้องใช้มาตรการในการขอความร่วมมือก่อน ที่ผ่านมาเราก็ได้รับแจ้งจากเจ้าของสิทธิ์ทั้งในไทยและต่างประเทศว่ามีจำนวนหลายช่องที่ใช้สินค้าละเมิดลิทธิ์ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ในต่างประเทศก็พบว่า มีคนใช้ของปลอมในทีวีเช่นกัน”

ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องของการใช้เสื้อผ้ากระเป๋าทำเทียมที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น มีให้เห็นอยู่ในวงการโทรทัศน์ของไทยจริง และไม่จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะสินค้าแบรนด์ไทยเท่านั้น เพราะเท่าที่เห็นแบรนด์ระดับโลกก็มีให้เห็นกันอยู่

และอาจจะเนื่องมาจากผู้จัดละครเล็งเห็นแล้วว่าเครื่องแต่งกายแบรนด์เนมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยสร้างความสมจริงและช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ละคร แต่ด้วยงบประมาณที่มีไม่มาก จึงต้องหาของปลอมมาเข้าฉากแทน

'แบรนด์ปลอม' ตัวเพิ่มมูลค่า สร้างค่านิยม?

ในประเด็นของการใช้สินค้าแบรนด์ในการเพิ่มมูลค่าและสร้างความสมจริงให้แก่ละครนั้น เดชาวุฒิ ฉันทากะโร หรือ เดย์ ฟรีแมน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวในวงการบันเทิงให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องปกติและมันก็มีนานแล้ว เนื่องจากเรื่องการใช้ของแบรนด์เนมนั้น เป็นค่านิยมที่ผู้ผลิตรายการพยายามนำเสนอ เพราะเชื่อว่าการใช้ของพวกนี้จะทำให้ภาพลักษณ์นั้นดูดีมากขึ้น

"เรื่องการใช้ของปลอมเป็นสิ่งเข้าใจกันได้ เพราะบางทีงบประมาณของการถ่ายละคร จะมาซื้อแบรนด์หมด และต้องมาเปลี่ยนบ่อยๆ โดยเฉพาะบทของตัวละครที่เป็นไฮโซ หรือมีฐานะคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกฝ่ายเสื้อผ้าก็อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เลยซื้อของเลียนแบบมา ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมของคนที่สร้างดารา คือบางทีตัวดาราอาจจะไม่อยากใส่แบรนด์หรอก แต่ด้วยความที่คนรอบข้าง หรือแม้แต่ตัวผู้จัดการดาราเองพยายามยกระดับดาราตัวเองให้ดูดีมีสกุลกว่าคนอื่นก็มี ยิ่งหากเป็นในละคร ตอนนี้ทุกคนจะรู้สึกว่า ถ้ามีสกุลก็ต้องใส่แบรนด์อย่างเดียว"

และเมื่อลองไปถามเรื่องนี้กับผู้ที่รับผิดชอบด้านเสื้อผ้าของกองถ่ายละคร ก็ได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“มันก็ต้องเป็นไปตามความสวยงามของละครที่ต้องมีเสื้อผ้าที่ดูดี แต่บางครั้งงบประมาณมันก็ไม่พอนะ”

ปริฉัตร วรพันธุ์ ฝ่ายดูแลและจัดหาเสื้อผ้าของละครเรื่อง ‘เซน สื่อรักสื่อวิญญาณ’ เอ่ยถึงปัญหาในการใช้เสื้อแบรนด์ดังในการเข้าฉากละครซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ

“ส่วนมากในการทำงานแล้ว จะอาศัยหยิบยืมจากสปอนเซอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเขาก็จะได้โฆษณาเสื้อผ้าของเขาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร แต่เสื้อแบรนด์ดังส่วนใหญ่จะไม่ให้ยืม”

ดังนั้นเมื่อไม่มีทางเลือก จึงเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายเสื้อผ้าของละครจะต้องประหยัดงบประมาณ ซึ่งเธอเผยว่า ส่วนใหญ่แล้วจะไปเอาของแพลทินัม ประตูน้ำ

“ฝ่ายเสื้อผ้าของหลายที่ก็มาเอาของที่นี่ ราคาค่อนข้างถูกและดูดี คือจริงๆ ตอนอยู่บนไม้แขวนมันก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอเอาไปใส่ให้ดาราแล้วมันดูดี นางเอกหลายคนที่เห็นในทีวีก็แพลทินัมทั้งนั้น”

อย่างไรก็ตาม ปริฉัตรกล่าวว่าในวงการคอสตูมบางที่อาจใช้ของแท้อย่างเดียวก็เป็นได้ ถ้าค่ายละครนั้นๆ มีงบประมาณสูงพอ ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าการที่ดาราใส่แบรนด์เนมเทียมออกทีวีนั้น เป็นการสร้างค่านิยมในการใช้ของปลอมให้แก่แฟนๆ ละคร เดชาวุฒินั้นมองว่าเรื่องค่านิยมการใช้ใส่เสื้อผ้าตามดารานั้นมีจริง

“ถ้าไปตามประตูน้ำเขาจะมีแบบเลยว่า คุณอั้ม-พัชราภา (ไชยเชื้อ) ใส่แบบนี้ แล้วคนก็ซื้อมาใส่ โดยไม่สนใจเลยว่าจะเป็นแบรนด์จริงหรือแบรนด์ประตูน้ำ เพราะเขาถือว่าดาราเป็นต้นแบบ เรื่องพวกนี้เอาเข้าจริงๆ ประเด็นสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ของจริงของปลอม แต่อยู่ที่ว่าเรากำลังสร้างกระแสอะไรขึ้นมามากกว่า"

ส่วนทางปริฉัตรนั้น มองว่าการเห็นดาราใช้ของปลอมแล้วคนดูก็อยากจะใช้ของปลอมตามนั้น มันไม่เป็นความจริง เพราะคนคนหนึ่งจะใช้เสื้อผ้าแบรนด์ปลอมหรือแท้นั้นมันขึ้นอยู่กับเงินกระเป๋าของเขามากกว่าว่ามีมากพอหรือไม่

“คิดว่ามันอยู่ที่กำลังซื้อของคนมากกว่า บางทีดาราใส่ของก๊อบฯเข้าฉาก มันก็แล้วแต่คน ดูคนรู้ว่าแบรนด์ไหน ถ้าเขามีกำลังซื้อเขาก็อาจจะไปซื้อของแท้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่แปลกที่จะเลือกของก๊อบฯ”

ไม่มีใครอยากใช้ของปลอม

แน่นอนว่าในระดับนโยบายแล้วการใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องแน่นอน แต่ในระดับของคนที่ปฏิบัติงานแล้ว เรื่องแบบนี้บางทีก็ยากจะหลีกเลี่ยง

ในฐานะของนักแสดง เป้ย-ปานวาด เหมณี เล่าว่า เท่าที่ผ่านมาตนเองก็พอรู้อยู่บ้างเหมือนกันว่าทีมงานฝ่ายเสื้อผ้าของกองถ่ายละครบางเรื่อง ได้นำเอาเสื้อผ้าก๊อบปี้แบรนด์เนมทั้งแบรนด์ไทยและเทศมาใช้ในการทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งผู้จัด, ทีมงาน, และตัวนักแสดงเองก็ไม่มีใครสนับสนุนการกระทำดังกล่าว เพียงแต่ในบางฉากด้วยคาแร็กเตอร์ของตัวละครจะต้องเป็นคนมีฐานะ ทางทีมงานก็อาจจะจำใจต้องเซตขึ้นมาด้วยของเท่าที่พอจะหาได้

“อย่างเป้ยเองที่รับบทเป็นสาวเซ็กซี่ และมีฐานะนิดหนึ่ง ทีมงานก็ต้องเซตของประกอบในบางครั้ง ในความคิดเป้ยมองเป็นสองแง่ อย่างแรกเป้ยเองก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะสนับสนุนที่จะให้ใช้ของเลียนแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องพิจารณา มันคือละครนะคะ ซึ่งเป้ยเชื่อว่าทางค่ายละครก็ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ด้วยบทบาทนั้นจะต้องแต่งตัวอย่างนั้น อารมณ์ที่ต้องใช้ของแบรนด์เนม จะให้ซื้อของจริงๆ มาใช้ งบในกองก็คงไม่พอ แต่เป้ยมองว่าไม่มีใครเจตนาที่จะสนับสนุนทางอ้อม ถ้าเราเป็นคนดูก็ต้องแยกแยะนิดหนึ่ง ถ้าตัวละครนั้น เป็นเพียงคนธรรมดา ฐานะไม่ดี แต่ถือของแบรนด์เนมนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง คนที่จะใช้ต้องเป็นคนที่มีฐานะตรงตามคาแร็กเตอร์ในตัวละคร”

แต่ทั้งนี้ละครไทยในปัจจุบันได้ออกสู่สายตาของต่างชาติมากขึ้น หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรที่จะใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์มาเข้าฉาก ซึ่งปานวาดนั้นให้ความเห็นว่า อยากให้ทางผู้จัดแสดงคำอธิบายอย่างไรก็ได้ เพื่อแก้ไขให้คนดูเห็นว่า ผู้จัดไม่ได้ตั้งใจใช้ของลอกเลียนแบบเพียงแต่มีความจำเป็นจริงๆ

“ถ้าต้องสวมบทบาทที่เป็นคนมีฐานะหน่อยก็จะเจอบ้าง แต่มันก็ไม่ใช่ในทุกกรณีหรือทุกครั้งไปนะคะ เป้ยว่าของบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์เนมมันก็ดูดีได้ ไม่แพงก็ถือได้ ทางกองก็จะหามา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์นอกมากกว่าเท่าที่สังเกตเห็น แต่ก็ไม่ใช่ทุกชุด เสื้อผ้า กระเป๋า หัวจรดเท้าอย่างนั้นก็ไม่ไหว กระเป๋าอาจจะใช้ของแบรนด์ เสื้อผ้าอาจไม่ใช้ แต่ใช้วิธีเลือกให้ดูดี สลับกันไปกับของจริง แต่เป้ยเชื่อแน่นอนว่าไม่ได้มีใครจงใจสนับสนุนให้ใช้ของปลอมหรอกค่ะ”

ทั้งหมดที่ได้อ่านผ่านตามานั้น ล้วนเป็นความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจตนาในการรณรงค์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และข้อจำกัดหลายๆ อย่างของคนในวงการบันเทิง แต่ในส่วนของผู้ชม อย่าง ดวงใจ ฉลองกิตติศักดิ์ แฟนละครตัวยงกลับแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“มันก็ไม่ผิดอะไรนะ เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งการแสดงละคร ซึ่งเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าใช้ของจริงประกอบการแสดงแล้วเกิดเสียหายขึ้นมามันก็แย่ การใช้ของก๊อบฯในการละครก็เลยเป็นเหมือนการเซฟ มันก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่ผิดอะไร อีกอย่างดูผ่านทีวีมันก็คงไม่รู้ว่าของจริงหรือเปล่า คนดูละครเขาก็ไม่ได้ใส่ใจกันหรอก เขาดูที่ดารานักแสดงมากกว่า”

...........


จริงอยู่ว่าการใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ในการถ่ายทำละครโทรทัศน์นั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง กองถ่ายละครก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงเรื่องแบบนี้ไปได้ ซึ่งความจริงทั้ง2 ข้อ ที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมันยังไม่มีทางออกที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจ

แต่ทั้งนี้ก็นับเป็นเรื่องดี ที่ทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้อง หันมามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเริ่มคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะถ้ามันมีการเริ่มต้นร่วมมือกันเกิดขึ้น การเดินไปสู่จุดมุ่งหมายก็ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินไป.

>>>>>>>>>>>>
……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น