>> จากมหาอุทกภัย ที่คนไทยต้องเผชิญร่วมกัน และเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าน้ำมาถึงแล้ว จะอพยพดี หรือจะอยู่กับน้ำดี แต่เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครอยากจะอพยพมาอยู่ข้างนอกบ้าน แต่สิ่งที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า แล้วเราจะอยู่กับน้ำได้จริงหรือ จากคำถามดังกล่าว ดับเบิล เอ จึงจัดงานเสวนา “อยู่กับน้ำ” Don’t let Flood STOP your Life ขึ้น โดยเชิญกูรูสาขาต่างๆ มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และแนะนำวิธีที่จะทำให้เราทุกคนอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข
โดยงานในวันนั้นเริ่มจากการร่วมฟังการบรรยายธรรม จาก พระมหาหรรษา ธมมหาโส ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ในหลายๆวัดแรก ๆ ที่ประสบภัยใน อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยการเตรียมความพร้อม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของคนกว่า 3,000 ครอบครัว แม้จะลำบากแต่พระมหาหรรษา บอกว่า “รู้สึกภูมิใจ เพราะการไม่ย้ายไม่อพยพของเรา ทำให้ทุกวันนี้ทุกคนในชุมชนสามารถต่อสู้ยืนหยัดจนวันนี้น้ำลดลงไปกว่า 60 ซม.แล้ว
แต่ประเด็นวันนี้ คือ ถ้าเราไม่หนีน้ำเราจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญคือ เราต้องปรับตัวเข้ากับน้ำให้ได้ เวลาสายน้ำเดินทางผ่านมาเรามักจะเป็นทุกข์ สโลแกนของพระมหาหรรษา คือ “ อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นความทุกข์ ” ซึ่งพระมหาหรรษา กล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่เวลาน้ำวิ่งเข้ามาหาน้ำไม่ได้ท่วมแค่กาย แต่น้ำได้ท่วมไปที่ใจ เพราะขณะนี้คนที่ประสบภัยไปแล้ว หรือคนที่กำลังจะประสบภัย จะมีความโกรธและความโลภ
ซึ่งหลังจากนี้อาตมาอยากให้ทุกคนที่เป็นผู้ประสบภัยแล้ว และคนที่กำลังจะเป็นผู้ประสบภัย ตั้งสติให้ดีและไล่เรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรควรเก็บควรทำก่อนหลัง ขอให้คิดว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง มีท่วมก็ต้องมีแห้ง ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันคงอยู่กับเราไม่นาน ขอให้อดทน และอาตมาไม่แนะนำให้คนที่มีบ้าน 2 ชั้น ย้ายบ้าน แต่ที่สำคัญคนที่รับผิดชอบอย่าไปตัดน้ำ ตัดไฟเขา เพราะเขาดูแลของเขาได้”
ขณะที่ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ พี่เชค โปรดิวเซอร์รายการคนค้นคน บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่จริงได้อย่างน่าสนใจ “น้ำท่วมครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่ชนบท ที่คนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ จนถึงใจกลางมหานคร คนที่อยู่ไม่มีทั้งความรู้ ไม่คุ้นชินและไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับน้ำ ดังนั้นการลงไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในบริบทมันมีความแตกต่างกัน และคนถูกน้ำท่วมยังถูกน้ำท่วมด้วยดีกรีที่แตกต่างกัน
จากการลงพื้นที่ผมพบว่า ในกลุ่มคนที่ถูกน้ำท่วม เป็น 5 ประเภท คือ 1. เดือดร้อน 2.ลำบาก 3.ยากเย็น 4.เข็ญใจ และ 5.ไม่ไหวแล้วโว้ย คือ เดือดร้อน ลำบาก ยากเย็น เข็ญใจ ทำให้วิธีที่เราจะต้องลงไปช่วยเหลือจะแตกต่างกัน ประกอบกับการมีต้นทุนบางอย่าง บางพื้นที่ที่มีทุกข์กับน้ำท่วมมาก เพราะไม่มีต้นทุน มีความแตกแยก ไม่มีความสามัคคี แต่บางพื้นที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง รวมกลุ่ม และจัดการทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เมื่อถูกน้ำท่วมต่างคนต่างคิดจะเอาตัวรอด ทำให้ทั้งตัวเองและชุมชน ไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข … เล่าถึงประสบการณ์จากฐานะผู้ประสบภัยกลับมาเป็นผู้ช่วยเหลือว่า “ผมอยู่ในเขตบางบัวทอง จึงถือเป็นผู้ประสบภัยลำดับแรกๆ หรือ ผู้ประสบภัยรุ่นที่ 1 โดยที่ผ่านมาผมเตรียมสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลายๆ คนบอกอาจารย์หนีเถอะ เพราะน้ำเยอะจริงๆ และไม่มีทางรอด แต่ผมเริ่มจากความไม่ประมาท ตระเตรียมทุกอย่างในการดำรงชีวิต
แต่สาเหตุที่ต้องออกมาอยู่ข้างนอก เพราะบังเอิญรายการโทรทัศน์ได้ชวนออกไปอยู่ข้างนอก เลยตัดสินใจออกมากับทางรายการ และปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ประสบภัยมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยลงพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ไปพบว่า ชาวบ้านตั้งใจว่าเขาจะอยู่ และทาง กทม. ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้ที่โรงเรียนคลองมหาสวัสดิ์ และที่วัดปุณณาวาส ผมจึงเริ่มกระบวนการกับชุมชน และเราเตรียมเป็นขั้นเป็นตอน และทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ก็มีความขัดแย้งกัน แต่อย่างที่บอก ในสถานการณ์แบบนี้ อยู่ที่ต้นทุนและผู้นำชุมชนว่าเป็นอย่างไร เราจะจัดระบบอย่างไรให้เกิดผู้นำ และความสามัคคีขึ้น ซึ่งจากความสามัคคี ทำให้ชุมชนดังกล่าวอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง โดยย้ำว่า ถ้าเราฝ่าวิกฤตได้ เราก็จะแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า”
:: สำหรับการดูแลบ้านหลังโดนน้ำท่วม แยกเป็นส่วนๆ
อาคาร : ยืนยันว่าโครงสร้างสามารถแช่น้ำเป็นเวลา 2 เดือน ไม่พังอย่างแน่นอน เว้นแต่อยู่ใกล้บึง ใกล้บ่อ ดินสไลด์ ซึ่งจะส่งผลต่อรากฐานได้
ผนัง : ขัดและล้าง และทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้น้ำและความชื้นระเหย เชื่อว่าราคาสีใหม่ ไม่เท่ากับราคากระสอบทรายที่ซื้อมากั้นบ้าน
พื้น : พื้นหินอ่อน หินขัด กระเบื้อง รีบทำความสะอาดอย่าให้เกาะนาน และถ้ากระเบื้องล่อน สามารถใช้กาวเพื่อซ่อมแซมได้ ส่วนพื้นไม้ ถึงน้ำไม่เข้าบ้าน แต่ความชื้นอาจจะทะลุขึ้นมาได้ ซึ่งหากเกิดอาการบวม ซ่อมแซมโดยการตัดออกและซ่อม
ปั๊มน้ำ /คอมเพรสเซอร์แอร์ : ควรหาถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันโคลน และยกขึ้นให้พ้นรัศมีน้ำ แต่สำหรับคนที่น้ำท่วมแล้ว หลังน้ำลดควรทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ รอให้แห้ง
ถังบำบัด : พอน้ำลดน้ำจะไหลลงไปเอง ให้เอาแบคทีเรียสำเร็จรูปใส่เข้าไป
การเสวนาในครั้ง คงจะช่วยทำให้ทั้งผู้ประสบภัยและผู้ที่กำลังจะประสบภัย ได้กำลังใจและแนวทางที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ปล่อยให้น้ำมาหยุดวิถีชีวิตของเรา ขอแค่รัฐบาลอย่าตัดน้ำตัดไฟ คนที่ตั้งใจจะสู้อยู่กับน้ำ ก็จะอยู่ได้ ในช่วงท้ายเสวนาดั๊บเบิ้ล เอ ผู้จัดเสวนาได้นำร่องมอบเรือเมล์ และไม้ต้นกระดาษให้แก่นพ.โกมาตร เพื่อนำไปสร้างสะพานต้นแบบสำหรับการสัญจรของชุมชนที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำ และขอฝากคำดีๆ ของพระมหาหรรษา ไว้ด้วยว่า “ แม้ว่าน้ำจะพัดพาทุกอย่างไปจากชีวิตเรา แม้ว่าจะพัดพาบางอย่างไปจากสังคมของเรา แต่น้ำจะไม่พัดพาสยามเมืองยิ้ม กำลังใจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปจากสังคมไทย เราจะสู้ไปด้วยกัน”
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net