xs
xsm
sm
md
lg

3 คอลเล็กชั่นหรู คู่รสนิยม คนคลั่งไคล้ ศิลปะตะวันออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



หรูแรก คือ SACRED & SECULAR THE PICCUS COLLECTION OF TIBETTAN RUGS หนังสือรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ “พรมทิเบต” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งเพิ่งคลอดออกมาโดย สำนักพิมพ์เซรินเดีย

หรูที่ 2 คือ พรมทิเบต ระหว่างทศวรรษที่ 1980 และ1990” จำนวน 21 ผืน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาของสะสมของ โรเบิร์ต พิคคัส นักธุรกิจ ผู้คลั่งไคล้ในศิลปะตะวันออก และที่ผ่านมา คอลเล็กชั่นเซรามิกของเวียดนาม และเฟอร์นิเจอร์จีน สมัยราชวงศ์หมิง ที่เขาสะสม เคยถูกประมูลผ่านคริสตี้ที่ฮ่องกง

และหรูที่ 3 คือ “ตู้ญี่ปุ่น” จำนวน 12 หลัง ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นใหม่ โดยดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ ลามอนต์ เจ้าของสำนักดีไซน์ระดับนานาชาติ ที่มีผลงานตกแต่งภายในให้กับโรงแรมหรูหลายแห่งและมีผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านออกมาวางจำหน่าย ในช็อปทั่วกรุงเทพฯและภูเก็ต

ทั้ง 3 คอลเล็กชั่นหรู มาพบกันใน นิทรรศการ TRADITION & INNOVATION THE PICCUS COLLECTION OF TIBETAN RUGS & MATERIAL INNOVATIONS FROM LAMONT AN EXHIBITION AND BOOK LAUNCH ณ เซรินเดีย แกลเลอรี่

เริ่มมาจาก 2 ปีที่แล้ว โรเบิร์ต ได้ติดต่อให้ สำนักพิมพ์เซรินเดีย ทำหนังสือเกี่ยวกับคอลเล็กชั่น พรมทิเบต ที่เขาสะสมมามากกว่า 30 ปี ในฐานะเซรินเดีย เป็นสำนักพิมพ์ที่มุ่งเน้นนำเสนอศิลปวัฒนธรรมแถบประเทศทิเบตและเนปาล

เมื่อหนังสือเสร็จออกมาเป็นรูปเล่ม จึงต่อยอดมาเป็นนิทรรศการที่นำเอาคอลเล็กชั่น พรมทิเบต ของโรเบิร์ต ออกมาจัดแสดงให้ชมฟรี ไม่มีจำหน่าย วาระเดียวกันนี้ยังได้ชักชวนเพื่อนรักของเขาคือ อเล็กซานเดอร์ ลามอนต์ นำผลงานออกแบบตู้ญี่ปุ่น ที่ออกแบบขึ้นล่าสุด ยังไม่เคยจัดแสดงและจำหน่ายที่ไหน มาร่วมแสดงด้วย

ความน่าสนใจของ หรูแรก SACRED & SECULAR THE PICCUS COLLECTION OF TIBETTAN RUGS ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ศักดิ์สิทธิ์และสามัญ:คอกเล็กชั่นพรมทิเบตของพิคคัส” เจ้าของสำนักพิมพ์เซรินเดีย เชน สุวิกะปกรณ์กุล กล่าวว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่จะมาช่วยเสริมคลังความรู้เกี่ยวกับ พรมทิเบต ในยุคเก่าๆ เพราะในท้องตลาดยังมีหนังสืออยู่จำนวนไม่มาก

หนังสือบอกเล่าความเป็นมาของพรมในคอลเล็กชั่นของพิคคัส ผู้คนที่มีส่วนร่วม และพัฒนาการในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพรมด้วยภาพที่งดงาม แบ่งเนื้อหาตามแบบลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นลายสัตว์ เช่น เสือดาว มังกร ลวดลายตันตระ ลวดลายเลขาคณิต ลายเหรียญ ลายกลับหน้าหลัง และลายแบบชนเผ่าเร่ร่อน นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคที่ใช้ในการทอ รวมทั้งอภิธานศัพท์พร้อมรูปภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักสะสมและนักออกแบบทั้งหลาย

จากนั้นมาสัมผัสด้วยสายตาตัวเอง ผ่าน “หรูที่ 2” กับ พรมทิเบต 21 ผืน ที่โรเบิร์ตสะสมไว้ และถูกนำมาแสดงในพื้นที่ของเซรินเดีย แกลเลอรี่ ซึ่งพรมแต่ละผืนจะทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายของลวดลาย ของพรมทิเบตยุคเก่าและสัมผัสได้ถึงความปราณีตที่ช่างฝีมือได้ใช้วิธีการแบบธรรมชาติ ย้อมและทอขึ้น ไม่แต่เฉพาะ พรมลายเสือ ที่เราทราบว่าเป็นลายยอดนิยมและก่อนหน้านี้เคยมีหนังสือที่ตีพิมพ์ เรื่องราวเกี่ยวกับพรมลายเสือของทิเบต ออกมาแล้วเช่นกัน

“ในบ้านคนทิเบตส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีเฟอร์นิเจอร์ และผู้คนชอบนั่งกับพื้น ดังนั้นพรมที่ทอขึ้นจะถูกนำมาใช้สำหรับปูนั่ง ปูนอน และปูประดับบ้าน

เมื่อก่อนคนทิเบต เขาชอบเอาหนังเสือจริงๆมาทำเป็นพรมปูนั่ง แต่เมื่อเสือกลายเป็นสัตว์หายากต้องอนุรักษ์ไว้ พรมซึ่งทำเลียนแบบลายของเสือจึงเป็นที่นิยม

พรมทิเบตที่ทอขึ้นในยุคหลัง ที่เป็นของใหม่ๆ ตามตลาดจะสีแช๊ดๆ ย้อมด้วยสีเคมี ทำออกมาขายจะดูไม่มีราคาเท่าไหร่ ไม่เหมือนพรมเปอร์เซียหรือพรมตะวันออกกลาง พอต้นปี 80 ประเทศจีนเปิดให้คนต่างชาติเข้าไปเที่ยวทิเบต จึงทำให้คนได้เห็นว่าพรมทิเบตเก่าๆ ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ Natural Wool (ขนสัตว์ธรรมชาติ) แบบนั้น แบบนี้ ในการทอ และมีวิธีการย้อมแบบธรรมชาติ

เมื่อก่อนคนทิเบต เขาไม่เคยเห็นโลกภายนอก การทำพรมจึงเป็นเหมือนการทำงาน Hand Made และการที่เขาทำพรมออกมาได้สวย ก็แสดงว่าเขาค่อนข้างจะมีความเป็นศิลปินพอสมควร”



มาถึง “หรูที่ 3” อเล็กซ์เจ้าของคอลเล็กชั่น กล่าวถึงที่มาของการเลือก "ตู้ญี่ปุ่น" มาออกแบบ เพื่อสร้างคอลเล็กชั่นหรูล่าสุดให้กับแบรนด์ LAMONT ของเขาว่า

“ก่อนที่แบรนด์ของผมจะมาเติบโตที่เมืองไทย ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานด้วยการเปิดร้านขายของเก่าที่ฮ่องกง นานถึง 5 ปี ขายพวกเฟอร์นิเจอร์จีน เกาหลี ญี่ปุ่น

ผมชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะว่าเป็นประเทศที่รักษางานฝีมือไว้ได้มากกว่าประเทศอื่นในโลก และส่วนใหญ่เขายังใช้วิธีการโบราณในการทำเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น”

อเล็กซ์สะสมตู้ญี่ปุ่น ที่ทำขึ้นด้วยวิธีการแบบโบราณ ไว้ที่บ้าน 2 หลัง ซึ่ง 1 ในจำนวนนั้นเขาซื้อมาด้วยราคา เกือบ 1 ล้านบาท

ด้วยถนัดในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ด้วยเทคนิคใหม่ ตู้ญี่ปุ่นที่เคยมีหน้าตาแบบเดิมๆจึง ถูกอเล็กซ์และช่างฝีมือในทีม ร่วมกันเปลี่ยนโฉมให้มันมีความหรูหรามากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น ตู้หลังที่ ช่างฝีมือต้องใช้เวลามากกว่า 600 ชั่วโมง บรรจงติดเปลือกไข่ทีละชิ้นและเคลือบด้วยรักธรรมชาติ,ตู้หลังที่ใช้เงินเปลวมาทำปฏิกิริยากับอากาศ เพื่อตอบสนองแรงบันดาลจากการได้เห็น สระบัวสะท้อนแสง,ตู้หลังที่ทำจากปล้องข้าวสาลี ซึ่งทำให้หวนนึกถึงบรรยากาศของห้องในปารีส ช่วง 1920 - 1930 ,ตู้หลังที่ต้องใช้หนังปลากระเบนทั้งตัวผสานเข้ากับโลหะที่เป็นเอกลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่น ฯลฯ

และที่ดูเหมือนผู้ออกแบบจะภาคภูมิใจเป็นพิเศษ คือ ตู้หลังที่ สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของทั้งตะวันออกและตะวันตก ด้วยการให้ช่างฝีมือบรรจงปิดต้นข้าวสาลีลงบนตู้ก่อนจะเคลือบด้วยเงินแท้อีกชั้น

อเล็กซ์กระซิบบอกเบาๆ (แต่ทำเอาคนฟังตกใจ) ถึงมูลค่าของตู้ใบโปรดใบนี้ ว่า .... เกือบครึ่งล้าน!!

ชม 3 คอลเล็กชั่นหรู ระหว่าง 18 ส.ค - 18 ก.ย. 54 ณ เซรินเดีย แกลเลอรี่ โอ.พี.การ์เด้นท์ เจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ โทร.0-2238-6410

Text by ฮักก้า









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 - 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น