xs
xsm
sm
md
lg

ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ผู้ปรุง “รสชาติ” และ “ศิลปะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>> วันนี้เรามีนัดกับ อาจารย์สาวคณะอักษรศาสตร์ ผู้รักการเข้าครัวทำขนม ที่ไม่ได้สวมวิญญาณครูแค่ในคลาสเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่หยิบยกเอาความรักในการทำอาหารมาผสมผสานกับการชอบสอนเปิดคลาสเรียนทำอาหารให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิง ที่ตอนนี้กำลังสนใจด้านการทำอาหารไม่แพ้กิจกรรมไหนๆ

ปริดา มโนมัยพิบูลย์ เติบโตมาในตระกูลนักธุรกิจที่เหล่าเครือญาติล้วนแต่ทำกิจการค้าขาย โดยคุณแม่ “ดารานิตย์ (ศรีเฟื่องฟุ้ง) มโนมัยพิบูลย์” ก็ช่วยธุรกิจครอบครัวซึ่งก่อตั้งโดยคุณตา (บุญทรง ศรีเฟื่องฟุ้ง) ที่มีทั้งกิจการเกลือปรุงทิพย์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ฯลฯ ด้วยคุณพ่อ “ปิติ มโนมัยพิบูลย์” มีโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ รถเครื่องไฟฟ้า อย่างรถกอล์ฟ รถสามล้อ ขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

แต่โชคดีที่ครอบครัวของเธอให้อิสระเสรีในการเลือกดำเนินชีวิตด้วยตนเองมาโดยตลอด สาวบัวที่ถึงแม้จะเป็นพี่สาวคนโต จึงได้สามารถฉีกแนวมารับราชการเป็นอาจารย์สอนเขียนบทละคร อันเป็นสายอาชีพที่เธอรัก เป็นศาสตร์แห่งศิลป์ที่เธอหลงใหลและมุมานะศึกษาจนจบระดับปริญญาเอก

โดยเธอจบปริญญาตรี จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาอังกฤษ และวิชาโทศิลปการละคร ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการเขียนบทละคร จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ

“ตอนแรกที่เข้าเรียนอักษร เพราะบัวอยากเรียนภาษา ชอบเขียน ชอบวรรณกรรม จึงเลือกเอกภาษาอังกฤษ แต่พอได้เรียนวิชาต่างๆ ในคณะ ทำให้เริ่มรู้ว่าชอบด้านการละคร แต่มารู้ตัวช้า เปลี่ยนเอกไม่ทันแล้ว จึงเลยเลือกเรียนด้านการแสดง การเขียนบท การละคร เก็บเป็นวิชาโทแทน”

พอเรียนจบมาทำด้านเขียนบทเต็มตัว เพราะตอนปี 4 บัวชนะการประกวดบทละคร ก็เลยได้เข้าไปทำเบื้องหลังละครเรื่องน้ำพุ และทำทำงานอิสระเขียนบทหนัง มิวสิควิดีโอ ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครทีวี ช่วยประสานงานเป็นล่ามให้พวกละครเวทีและศิลปินต่างประเทศอยู่ปีกว่า จากนั้นจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านเขียนบทโดยตรงที่อังกฤษ”

:: ศิษย์เก่า Gordon Bleu

เธอใช้เวลาศึกษาด้านการเขียนบทละครที่อังกฤษอยู่เกือบ 5 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง เธอได้สานต่ออีกหนึ่งความฝันด้วยการทำอาหาร โดนเข้าคอร์สเรียนทำขนมที่กอร์ดอน เบลอ (Gordon Bleu)

“หลังจากเรียนปริญญาโท 1 ปี และทำโปรเจ็กต์ปริญญาเอกมาได้ 3 ปีที่เอ็กซีเตอร์ บัวก็เริ่มเบื่อ เพราะที่นั่นมันเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ พอพรีเซนต์โปรเจ็กต์ผ่าน เหลือแค่เขียนวิทยานิพนธ์ และเป็นช่วงเวลาที่น้องชายไปเรียนต่อปริญญาโทที่ลอนดอนพอดี ก็เลยเก็บกระเป๋าเข้าเมืองไปอยู่กับน้องชาย

ในตอนแรกบัวกะจะไปพักสมอง หากิจกรรมทำระหว่างการเขียนวิทยานิพนธ์ จึงไปลงเรียนทำขนมที่กอร์ดอน เบลอ ซึ่งเราใฝ่ฝันอยากเรียนอยู่แล้ว เพราะเป็นคนชอบทำขนม อบเค้ก ทำคุกกี้ มาตั้งแต่เด็ก โดยอาศัยเรียนรู้ทดลองเอง เปิดตำราทำตาม มีแค่เตาอบเล็กๆ อันเดียว ก็ทำผิดบ้าง ถูกบ้าง สนุกสนานไป

บัวไม่เคยเรียนเป็นเรื่องเป็นราว เคยแค่ไปเข้าคลาสเล็กๆ ของ “ครูปิ๋ม-พวงผกา บุนนาค” ซึ่งครั้งนั้นทำให้เราเข้าใจศัพท์ทั้งหลายที่เคยอ่านมาว่ามันคืออะไร อย่างการตีไข่ขาวให้ตั้งยอด หรือ ตีเนยจนขึ้นขาว เพราะแต่ก่อนมันไม่ได้มีรายการอาหารมากมายอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้มีเว็บไซต์ที่เปิดเข้าไปก็มีคลิปวิดีโอให้ดูว่าทำอย่างไร ตอนนั้นมันมีแค่หนังสือ อ่านแล้วมันก็ไม่เข้าใจ ไม่ได้เห็นภาพ นั่นคือ ครั้งแรกที่ได้เห็นของจริงว่าที่ในตำราเขียนมันคืออะไร”

เธอใช้เวลา 9 เดือนศึกษาเรื่องทำขนมจากกอร์ดอน เบลอ ตั้งแต่ขั้นเบสิกจนจบคอร์สทำขนมระดับสูงสุด ได้เรียนรู้พื้นฐานและขั้นตอนการทำขนมอย่างจุใจ

“เรียนหนักมากๆ จากที่ตั้งใจว่าช่วงกลางวันเรียนทำอาหาร ตอนเย็นจะกลับมานั่งเขียนงาน กลายเป็นทิ้งวิทยานิพนธ์ไปเลย เพราะตารางเรียนโหดมาก มีทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เรียนเต็มวัน พอกลับบ้านมาก็เหนื่อยแล้ว แต่เรามีความสุขมาก เพราะมันทำให้เราเข้าใจเรื่องการทำขนม ที่เราเคยแต่มั่วเองมาตลอด

เพราะการทำขนมไม่เหมือนทำอาหาร พอทำพลาดเวลาก็พอบอกได้ว่า มันสุกน้อยไป หรือจืดไป เปรี้ยวไป ต้องเติม ต้องแก้ไขอย่างไร แต่สำหรับขนมถ้าไม่ได้เรียนจะไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่าพลาดตรงไหน ทำไมอบเค้กแล้วไม่ฟู หรือปั้นช็อกโกแลตแล้วไม่เป็นก้อน การไปเรียนครั้งนั้น ทำให้เราเข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการทำ เราจะได้รู้ว่ามันผิดที่ขั้นไหน ต้องแก้ตรงไหน หรือว่าเกินว่าจะแก้ได้ ก็ต้องทิ้งมันไป”

:: ภาคภูมิในความเป็นครู

สนุกสนานกับการเรียนทำขนมอยู่จนจบคอร์ส ก็ถึงเวลาที่เธอต้องกลับมาสานต่อวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ ซึ่งหลังจากมุมานะอยู่หลายเดือน ปริดาก็คว้าดีกรี Ph.D. ได้สำเร็จและกลับมาเป็นอาจารย์สอนการละครให้กับรุ่นน้องที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“บัวตั้งใจจะกลับมาเป็นอาจารย์ ตั้งแต่ตอนคิดจะไปเรียนต่อแล้ว เพราะตอนนั้นหลังจากได้คลุกคลีกับงานเบื้องหลัง มันเหมือนทำให้เราค้นพบตัวเองว่า เราไม่ชอบอะไรที่มันต้องมีโจทก์ทางการตลาดมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราเข้าใจนะว่า จะทำละคร ทำงานแบบนั้นมันต้องให้ขายได้ด้วย แต่มันทำให้เราไม่สนุกเมื่อมีกรอบมากำหนด คือ ทำเป็นครั้งคราวก็พอไหว แต่จะให้อยู่ตรงนั้นไปตลอดชีวิต บัวว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ทำไปก็ไม่แฮปปี้เต็มที่

ก็เลยคิดว่ามาสอนดีกว่า ถึงแม้จะรู้ว่าเมื่อลูกศิษย์จบไปเขาก็ต้องไปสนองเรื่องการตลาดอยู่ดี แต่ตอนที่เขาเรียนก็อยากให้เขาได้สนุกกับศิลปะได้เต็มที่ แบบไม่มีข้อแม้พวกนั้น และอีกอย่างคือบัวชอบเรื่องการสอน อยากเป็นอาจารย์มานานแล้ว”

ชีวิตการเป็นครูของเธอเริ่มตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา โดยสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ไปจนถึงการสอนเปียโน “ทุกครั้งที่สอนแล้วได้เห็นลูกศิษย์สนุก หรือเห็นเขาทำสิ่งที่เราสอนสำเร็จ มันจะรู้สึกภูมิใจ มีความสุขกว่าเราทำสำเร็จอีกนะ โดยมีไอดอลเป็นครูคนเก่งๆ ที่เขาสอนสนุก สอนแล้วเราอยากเรียน เราจะรู้สึกว่าเขาเจ๋งมากกกก

พอกลับมาก็เริ่มจากเป็นอาจารย์พาร์ตไทม์ก่อน เพราะตอนนั้นที่จุฬาฯ ยังไม่มีตำแหน่งว่าง เราก็เริ่มติดใจว่าสอนแบบพาร์ตไทม์ก็ดี เพราะมันอิสระกว่าเราไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องมีประชุม ทำหลักสูตร ทำวิจัย เริ่มไม่อยากเป็นอาจารย์ประจำ แต่พอคุยกับอาจารย์รุ่นพี่ เขาก็บอกว่ารอให้เธอได้เห็นลูกศิษย์รับปริญญาก่อน แล้วจะเปลี่ยนคำพูด ซึ่งมันก็เป็นความจริง

เพราะพอมาถึงวันที่เราเป็นอาจารย์ประจำ และได้เห็นเด็กที่เราสอน ใส่ชุดครุยในวันรับปริญญา มันสุดยอดเลย เป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก ภูมิใจมาก อาจจะมากกว่าตอนเรารับปริญญาอีก ได้เห็นความสำเร็จของเขาที่มีเราเป็นส่วนหนึ่งในนั่นด้วย ซึ่งถ้าเป็นอาจารย์พาร์ตไทม์ก็คงไม่รู้สึกเท่าไร เพราะเราไม่ได้คลุกคลีกับเขามาก ไม่ได้ดูแลเขามาทั้งเทอมแบบนี้ มันทำให้เรายิ่งตกหลุมรักการเป็นอาจารย์มากขึ้นไปอีก”

อาจารย์บัวแอบเผยเคล็ดลับการสอนให้ฟังว่า “ที่จริงบัวไม่ได้เป็นเด็กเรียนอะไรมากมาย ไม่ได้ว่าท่องตำราอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ที่เราเรียนได้เกรดดีๆ เพราะเราสนุกในการเรียน เวลาเจออาจารย์ที่สอนสนุกๆ เราจะรู้สึกว่าเขาเจ๋งมาก รู้เยอะจัง ทำให้เราสนใจอยากเรียนรู้ไปด้วย ก็เลยจะมีไอดอลในดวงใจเป็นอาจารย์ ซึ่งพอเรามาเป็นคนสอนเอง เราก็เอาประสบการณ์ที่เคยเป็นนักเรียนมาประยุกต์ใช้

คือ เราสอนไปไม่ใช่พูดๆ อย่างเดียว ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ต้องฟังเขาด้วย ใส่ใจเขา ถึงแม้จะสอนห้องใหญ่แต่ถ้าเราทำให้เขารู้สึกได้ว่า คลาสนี้ เราcustomize เพื่อเขา ไม่ใช้สอนกี่ปีก็แบบนี้ เนื้อหาเหมือนเดิม เด็กก็ไม่อยากเรียนหรอก เราดึงเรื่องราวในสังคม เหตุการณ์ปัจจุบันเข้ามาใส่ด้วย

และก็โชคดีที่บัวสอนวิชาเขียนบท มันมีความสนุก มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวอยู่แล้ว ก็ไม่อยากเท่าไร แต่วิชาอย่างเรื่องประวัติการละคร มันเป็นทฤษฎี ตอนแรกที่ต้องมาสอนก็เครียดหน่อย เพราะมันยากที่จะทำให้วิชาแห้งๆ เหล่านี้ น่าสนใจ

แต่ด้วยความตั้งใจแต่แรกแล้วว่า เราไม่อยากสอนให้เขาท่องจำ เพราะเราผ่านมาแล้ว มันไม่ได้อะไร ออกจากห้องสอบก็ลืม เราก็เลยปรับว่า ให้คุณเลือกเองว่าสนใจยุคไหน เรื่องใด แล้วหยิบมันมาเป็นตัวอย่างว่าถ้าเอามาทำในยุคนี้คุณจะทำให้มันเป็นแบบไหน เด็กเขาจะได้มีส่วนร่วมได้ทำสิ่งที่เขาสนใจอยากทำ ซึ่งมันก็เป็นเหมือนกุศโลบายอย่างหนึ่ง เพราะกว่าที่เด็กเขาจะเลือกยุค เลือกบทละครที่ชอบได้ เขาต้องอ่านและศึกษามันทั้งหมดแล้ว เขาถึงจะรู้ว่าจะเลือกอันไหนดีทำให้เขาได้อ่านหนังสือ ศึกษาเรื่องต่างๆ ไปโดยปริยาย(หัวเราะ) ”

ปัจจุบันนี้นอกจากเป็นอาจารย์สอนปริญญาตรีและโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ปริดายังเป็นอาจารย์พิเศษด้านเขียนบทละครที่ มหาวิทยาลัยอัญสัมชัญ (ABAC) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกวดวิชาอีกด้วย

:: สนุกกับการเข้าครัว

นอกจากการสอนความรู้ด้านการเขียนบทละครที่เธอเชี่ยวชาญแล้ว เธอยังนำเอางานอดิเรกอย่างการทำอาหาร มาผสานกับการชอบสอน เปิดเป็นคลาสสอนทำอาหารขนาดเล็กๆ ที่บ้านของเธอเอง

“ไอเดียการทำคลาสสอน มันมาจากการที่เราชอบทำอาหาร ซึ่งถ้าจะให้ไปเปิดทำเป็นธุรกิจ อย่างพวกร้านอาหาร บัวก็ไม่อยากทำ เพราะเคยได้ชิมลางมาหน่อยตอนกลับมาใหม่ๆ ได้มีโอกาสไปช่วยดูแลร้านอาหารของเพื่อนในสุวรรณภูมิ ทำให้เรารู้เลยว่ามันไม่เหมาะกับเรา เพราะพอทำเป็นร้าน แทบจะไม่ได้ลงครัวเอง เพราะเขามีแม่ครัว มีคนงานพร้อม เราได้เข้าครัวไม่กี่ครั้ง ตอนสอนพวกเมนู สอนสูตรต่างๆ ที่เหลือก็หัวหมุนกับเรื่องบริหาร บัญชี การตลาด สต็อก และการบริการมากกว่า เราเลยมองแล้วว่า มาเปิดเป็นคลาสสอนดีกว่า เราจะได้สนุกกับการทำ และสนุกกับการสอนไปพร้อมๆ กัน”

ปริดาเปิดคลาสสอนทำอาหารมากว่า 2 ปีแล้ว โดยเธอจัดเป็นคอร์สสั้นๆ 3 ชั่วโมง สอนทำขนม และอาหารฝรั่งเมนูง่ายๆ ให้กับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ ซึ่งก็มีทั้งคนรู้จัก ลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัย ที่ช่วยแนะนำกันแบบปากต่อปาก

“มีลูกศิษย์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาเรียนหลากหลายวัย บางครั้งก็มาเป็นกลุ่ม มาสนุกสนานกัน หรือบางที่ก็จะมีหนุ่มๆ มาเรียนไปเพื่อจะทำขนม ทำอาหาร เป็นวาระพิเศษให้กับแฟนสาว อย่างวันเกิด วันครบรอบ หรือขอแต่งงานก็มี บางรายก็มาแบบทำอะไรไม่เป็นเลย แต่อยากทำของขวัญวันเกิดให้แฟน ก็มาให้เราสอนแบบแนะนำที่ละขั้นเลย แล้วก็ให้ช่วยถ่ายวิดีโอให้ด้วย ยืนยันว่าเขาทำเองจริงๆ กลัวแฟนไม่เชื่อ(หัวเราะ)”

นอกจากสอนทำอาหารแล้ว ปริดายังทำขนมส่งให้กับร้านของเพื่อนๆ และรับออเดอร์ สำหรับเทศกาลพิเศษ หรือวันพิเศษอย่าง เค้กของขวัญ หรือเค้กแต่งงานด้วย ตามแต่เวลาเอื้ออำนวย

“ที่จริงบัวเคยรับทำ Catering นะ แต่จะเป็นสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มมาก เพราะบอกได้เลยว่าสินค้าบัวราคาค่อนข้างสูง ทุกอย่างเราเลือกใช้ของดี ใส่เต็มที่ ซึ่งถ้าจะให้ทำแบบจำกัดงบประมาณบัวทำให้ไม่ได้ เพราะพอทำออกมาแล้ว เราก็ไม่แฮปปี้ เพราะรู้เลยว่ามันทำให้อร่อยกว่านี้ได้...

ที่ทำแบบนี้ เพราะต้องเข้าใจนะว่าบัวทำคนเดียว อาจจะมีคนงานที่บ้านมาช่วยบ้าง ก็แค่แพ็กใส่ห่อ และทำขนมไม่ได้มีกำไรอะไรมาก สมมุติชิ้นละ 5 บาท 10 บาท บัวทำไม่กี่สิบชิ้น ได้กำไรนิดหนึ่ง เสียเวลาไปครึ่งวัน แต่มันคุ้มค่าถ้าทำออกมาอร่อย คนกินมีความสุข ได้ความประทับใจ ก็คือว่าได้อย่างเสียอย่างก็ยังดี แต่ถ้าทำแล้วต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ออกมาไม่อร่อยเต็มที่ มันไม่ได้อะไรได้เลยนะ เสียทั้งสองอย่าง เสียทั้งเวลา เสียทั้งความรู้สึก บัวเลยเลือกทำอย่างที่เราพอใจดีกว่า”

:: สร้างศิลปะในแบบของ “บัว”

สาวบัวมองว่า ละครเวทีและการทำอาหารสองสิ่งที่เธอรักและมีความสุขในการทำนั่น มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ทั้งคู่เป็นงานศิลปะ

“ละครเวทีมันประกอบด้วยศิลป์หลายแขนงที่ต้องสอดประสานกันอย่างลงตัว ทั้งการแสดง แฟชั่นเสื้อผ้า แสง เสียง วรรณกรรม ฯลฯ ส่วนการทำอาหารก็ต้องอาศัยหลากทักษะ และการเลือกหยิบวัตถุดิบหลากหลายรสชาติมาประกอบกัน และต้องได้ส่วนผสมที่จัดสรรอย่างลงตัว จึงออกมาเป็นผลงาน

ซึ่งของเหล่านี้เป็นงานที่มีชิ้นเดียวในโลก ให้ทำอีกครั้งแม้จะสูตรเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิมมันก็ไม่มีทางจะเหมือนกันได้ มันเป็นงานแฮนเมดที่ต้องสอดใส่ความเป็นตัวเราลงไปด้วย บัวมั่นใจว่าเราจะไม่สามารถทำอะไรไกลตัว หรือสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ทาน แล้วจะออกมาดีได้ อย่างจะเขียนบทถ้าคุณไม่ได้รู้เรื่องลึกซึ้งถึงแก่น มันก็ไม่มีทางออกมาดี อย่างถ้าคนไม่กินฟักทองอย่างบัว ให้ไปทำขนมด้วยฟักทอง มันก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเราทำไป แล้วไม่ได้ชิม จะทำออกมาให้อร่อยมันยาก มันเหมือนเป็นการฝืนตัวเองด้วย”

ปริดาตั้งใจที่จะทำสองสิ่งที่เธอรักควบคู่กันไป เมื่อไรที่เบื่อจากการเขียนบท ก็หันมาอบขนม เป็นการพักสมองไปในตัว ซึ่งเธอวางแผนสำหรับชีวิตตัวเองไว้ว่า จะมุ่งมั่นทำงานด้านวิชาการไปอีกสัก 10 ปี โดยหวังไว้ที่ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ก่อนที่หันไปทุ่มเวลาให้กับความสนใจด้านอื่นๆ

“ถ้าบัวทำตามความฝันและได้ตำแหน่งทางวิชาการอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว ก็คงจะมีเวลาหันมาสนใจเรื่องอาหารมากกว่านี้ ซึ่งบัวมองไว้ว่าอาจจะเปิดร้านหรือสตูดิโอสอนทำอาหารอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และอีกหนึ่งความตั้งใจคือ บัวฝันไว้ว่าอยากนำสองสิ่งที่รักอย่างการละครและอาหาร มาผสมผสานกัน ทำเป็น Perfomance Art สักชิ้นที่เกี่ยวกับอาหาร ให้ได้ชมกัน แต่จะออกมาเป็นรูปแบบไหนนั้น บัวขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์หาไอเดียก่อน” ปริดากล่าวทิ้งท้าย :: Text by FLASH mag.

นางแบบ :: ปริดา มโนมัยพิบูลย์
แต่งหน้า :: ภัทรภูริต ประกอบบุญ จากเครื่องสำอางบลูม (Bloom)
ประสานงาน :: พรรณพิมล แดงรัศมีโสภณ
ช่างภาพ :: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
วีดีโอ :: ภาสกร โตวณะบุตร



 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น