xs
xsm
sm
md
lg

‘Theatre’ โรงละครแห่งนี้...มีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
-เปิดม่าน-
 
     ปลายปีพุทธศักราช 2527 บาร์แห่งหนึ่งถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ห้องเสื้อจำเป็น’ เพื่อจำหน่ายเสื้อผ้าของดีไซเนอร์หน้าใหม่หมาดแห่งวงการแฟชั่นไทยที่คอลเลกชั่นแรกในชีวิตซึ่งเขาจัดร่วมกับเพื่อนรัก ได้รับความนิยมอย่างสูงจากเหล่าแฟชั่นนิสต้าแห่งยุค 80s นำไปสู่การตามซื้อ ตามหา ตามล่าคอลเลกชั่นเปิดตัวของดีไซเนอร์วัยเพียง 25 ปีผู้นั้น มาเก็บสะสมไว้ในตู้เสื้อผ้าส่วนตัว
                         .....….

 
     “ฮัลโหล ซื้อเสื้อเหรอฮะ งั้นเจอกัน 2 ทุ่มคืนนี้ที่บาร์...”
     ยุคนั้นยังไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เหล่าแฟชั่นนิสต้าผู้ปรารถนาครอบครองเสื้อผ้าจากคอลเลกชั่นเดบิวต์ของดีไซเนอร์หน้าใหม่ จึงต่างโทรศัพท์มาถามไถ่ตามเบอร์โทรศัพท์บ้าน เพื่อทั้งลูกค้า และดีไซเนอร์เจ้าของห้องเสื้อจำแลงจะได้ทำการนัดหมายสถานที่สำหรับจำหน่ายสินค้า
 
     เพราะเขายังไม่มีร้าน ยังไม่มีห้องเสื้อที่เปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จึงจำต้องระเหระหน ทำตัวคล้ายดีไซเนอร์เร่ร่อนแบกเสื้อผ้าไปขออาศัยบาร์ของเพื่อนผู้มากน้ำใจให้เจียดพื้นที่เป็น ‘หน้าร้านชั่วคราว’
 
     ห้องเสื้อปรกติทั่วไปย่อมเปิดให้บริการตามเวลาปรกติ แต่เพราะห้องเสื้อแห่งนี้ยังไร้หลักแหล่งถาวร การเปิดจำหน่ายจึงเป็นไปในเวลาเดียวกับ ‘บาร์’ ที่ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์มาขออาศัย
กลายเป็นห้องเสื้อยามวิกาลที่เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม ตามเวลาปิด-เปิดของบาร์ สร้างสีสันและความคึกคักให้เป็นที่กล่าวขานในแวดวง
 
     แต่แม้ร้านชั่วคราวจะให้ความรู้สึกขบขันเพราะผิดที่ผิดทางชอบกล กระนั้น สไตล์การออกแบบที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็ทำให้มีลูกค้าโทรศัพท์มาถามไถ่และแวะเวียนมาซื้อเสื้อผ้า ณ บาร์แห่งนี้ ในทุกๆ ค่ำคืน
 
     และเป็นเช่นนั้นอยู่นานนับเดือนกว่าที่แบรนด์ Theatre จะมีร้านเป็นของตนเองจริงๆ

-สีสันของวันวาน-

 
     เนื้อความข้างต้นคือเรื่องราวความหลังครั้งเก่าก่อนของ จ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์ ดีไซเนอร์ผู้ให้กำเนิด ‘เธียเตอร์’
แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย ห้องเสื้อคุณภาพที่ได้รับการกล่าวขานมานับแต่ยุค 80s อันเป็นยุคสมัยที่เธคดิสโก้ชื่อดังระดับตำนานอย่าง The Palace ยังเป็น ‘ศูนย์กลาง’ แห่งโลกวัยรุ่นบางกอกที่ในทุกค่ำคืนเหล่าหนุ่มเหน้าสาวสวยล้วนพกความเก๋ เท่ห์ สมาร์ท แรง และ ‘เจ็บถึงใจ’ มาประชันกันอย่างครื้นเครงสนุกสนาน
 
     และแน่นอน...เสื้อผ้าจากห้องเสื้อ ‘เธียเตอร์’ คือหนึ่งในพร็อพสำคัญที่สาวๆ ผู้ปรารถนาเฉิดฉายยามราตรีมักมีติดกายไม่น้อยไปกว่าเสื้อผ้าจากห้องเสื้อชื่อดังอื่นๆ ในยุคเดียวกัน
 
     แต่ยังหรอก มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะก่อนจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางมีร้านเป็นหลักแหล่ง สวรรค์ยังทำราวกับว่าต้องการวัดใจเขาให้ละเอียด พระเจ้าคงอยากรู้ว่า ใจเขาจะยังสู้อยู่ไหม? หากร้านที่ควรจะถึงกำหนดเปิดตามที่ระบุไว้อย่างเป็นทางการ กลับต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปไม่น้อยกว่า 3 เดือน เนื่องจาก ‘ตึกชาญอิสระ’ ตึกหลังใหญ่ที่ร้านเล็กๆ นี้เช่าพื้นที่อยู่ ยังไม่มีทีท่าจะแล้วเสร็จตามที่สัญญากันไว้ ตึกยังไม่เสร็จเรียบร้อย แล้วร้านจะเปิดได้อย่างไร?

 
     บางคนอาจหาทางออกด้วยการ ‘ทำใจ’ แล้วรอต่อไป แต่ไม่ใช่เขาคนนี้
     เพราะสำหรับ จ๋อมการเสียเวลาไปอีกแม้เพียง 1 วัน นั่นหมายถึงการทำให้เหล่าแฟนคลับเสื้อผ้าของเขาต้องนั่งรอจนเคว้ง ดังนั้น เขาจึงเลือกวิธี ‘วีนแตก’ เพื่อให้ได้มาซึ่งการเปิดร้านตามสัญญา
 
     “พี่ก็ไปวีนที่ตึกชาญอิสระนี่แหละ ว่า คุณบอกคุณจะเปิดวันที่ 1 ธันวา แต่ตึกคุณไม่เสร็จ แล้วจ๋อมจะไปขายใคร ไม่ได้นะ ยังไงก็ต้องทำให้ฉันขายของให้ได้ ไม่งั้นฉันก็ไม่มีค่าตึกจ่ายให้คุณ”
 
     แล้วเขาก็ได้มา...ในสภาพที่น่าขบขันยิ่งกว่าการขายเสื้อในบาร์เสียอีก แต่เขาก็ยอม เพื่อให้ลูกค้ามีความสุขกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เขาออกแบบ...แม้จะอยู่ท่ามกลางซากสิ่งก่อสร้างและฝุ่นกองโตของตึกชาญอิสระที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จก็ตามที่ แต่ใครจะสน? โมงยามนั้น คอลเลกชั่นของเขาน่าดึงดูดจนใครต่อใครต่างก็มองข้ามซากปรักที่กองพะเนินอยู่รอบข้างแทบทั้งนั้น
 
     “สรุปว่าเจ้าของตึกเขาก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ร้านของ ‘อีเด็กคนนี้’ เสร็จทันกำหนดให้ได้ เพราะว่าพี่ไปวีนเขาไง ทั้งที่ตึกชาญอิสระยังไม่เสร็จนะ แต่เขาก็ต้องรีบทำให้ร้านของพี่พอขายได้ อย่างน้อยเขาก็รีบติดแอร์ให้ สรุปว่า ห้องเราเสร็จแล้วแต่สภาพรอบข้างยังไม่เสร็จ ยังเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง โทรศัพท์ก็ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้เปิดร้านของตัวเองอย่างเป็นทางการ เป็นระยะเวลา 3 เดือนที่เปิดร้านโดยที่สภาพรอบข้างยังเต็มไปด้วยซากตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เชื่อไหม มีคนมาซื้อเสื้อพี่ทุกวัน”

 
     จ๋อมบอกว่าเขาต้องวีนเพื่อให้ร้านได้เปิดตามกำหนดการณ์ที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากเขาวางแผนไว้แล้วว่าเมื่อทำแฟชั่นโชว์ชุดแรกจบและถูกตีพิมพ์เป็นแฟชั่นเซตในนิตยสาร เมื่อนั้น ผู้อ่านก็จะได้เห็นข้อความที่ประกาศไปเรียบร้อยว่า
ห้องเสื้อ ‘เธียเตอร์’ เปิดจำหน่ายที่ตึกชาญอิสระในวันหนึ่งของปลายปี พ.ศ.2527 
 
     “เราลงรายละเอียดในหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องเปิดให้ได้ และพี่ว่าการบอกกล่าวกันปากต่อปากก็คงไม่เกิดในปัจจุบันหรอก เมื่อก่อนพี่ก็จะเรียกแขกไปเรื่อยบอกเขาไปว่า ‘ร้านเปิดแล้วนะคะ ไปได้เลยๆ’ เป็นบรรยากาศที่สนุกและมันมากนะ คือสภาพรอบข้างเยินมากเพราะตึกยังสร้างไม่เสร็จ ฝุ่นเฝิ่นเต็มไปหมดแต่ในร้านติดแอร์เย็นฉ่ำ แล้วทุกคนก็มุ่งหน้ามาเพื่อซื้อเสื้อจริงๆ ซื้อเสร็จก็หอบหิ้วถุงพะรุงพะรังออกไปกลางกองฝุ่นนั่นแหละ จะเป็นสภาพแบบนี้อยู่นาน 3 เดือน กว่าตึกจะเสร็จ”

-บทละครชีวิต ลิขิตเอง-

     “ชื่อ ‘เธียเตอร์’ มันครอบคลุมกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน เธียเตอร์ในความหมายของพี่ก็คือ มันเป็นโรงละครที่มีเรื่องราวกว้างไกลไม่สิ้นสุด ไม่ว่าเรื่องราวในอดีตหรือเรื่องราวในอนาคต เป็นเรื่องราวที่เปรียบได้กับเสื้อผ้าในแต่ละคอลเลกชั่น มันเป็นเธียเตอร์ เป็นโรงละคร แล้วในโรงละครนี้ก็มีเรื่องราวหลากหลายผสมผสานกัน
 
     “ความชอบและสนุกกับการแต่งตัว สนุกกับแฟชั่นนี่แหละ คือสิ่งที่บ่มเพาะให้เราเป็นดีไซเนอร์… การที่เราจะเป็นดีไซเนอร์สักคนหนึ่ง เราต้องมีทั้งใจที่รักศิลปะและมีมุมมองเรื่องคอมเมอร์เชียล ( Commercial ) ด้วย และตัวพี่เป็นแบบนั้น เมื่อเราสร้างเสื้อขึ้นมาสักตัวในดีไซน์หนึ่ง พี่คิดโปรเซส (Process) ไว้แล้วเรียบร้อยว่าเราจะทำยังไงกับมัน คิดไว้แล้วว่าเราจะทำจำนวนมากน้อยแค่ไหน เรามีตาที่ ‘มอง’ เห็นชัดว่า ‘ตลาด’ จะเปิดรับเสื้อดีไซน์นี้แค่ไหน?"



 
     จ๋อมอธิบายว่าในดีไซน์หนึ่งๆ เขาไม่ได้ทำเยอะ เพราะฉะนั้น เสื้อผ้าของเธียเตอร์จะเป็นเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นมาในจำนวนที่น้อย ลูกค้าของเธียเตอร์หากซื้อเซตนี้ไม่ทันเพราะสินค้าหมด เมื่อรอเซตต่อไปดีไซน์ก็จะเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
 
     “เพราะเราไม่มีสต๊อกเก็บไว้ หมดแล้วหมดเลย เนื่องจากว่าดีไซน์เราเยอะมาก แต่ตัวจำนวนสินค้าไม่ได้มีมาก แล้วราคาที่เราตั้งไว้ก็ย่อมเยา พี่คิดว่านี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ทั้งในเรื่องของราคา ดีไซน์ และคุณภาพ จะเห็นได้ว่าฟีดแบ็คที่เราได้รับจากลูกค้าเสมอมาก็คือ เขามักจะบอกว่า เรา ‘ให้เยอะ’ เหมือนคุณซื้อก๋วยเตี่ยวแล้วเราให้ชามพิเศษ”
 
     ใช่เพียงรายละเอียดและคุณภาพของเนื้องานที่มัดใจลูกค้า หากยังมีเอกลักษณ์และกลิ่นอายบางอย่างในแฟชั่นโชว์แบบเธียเตอร์ ที่เหล่าสาวกยังสัมผัสได้เสมอมานับจากวันวานจนถึงวันนี้
     บรรยากาศที่ว่านั้น ก็คือ
 
     “เบื้องหลังแฟชั่นโชว์โดยปรกตินะ เมื่อก่อนนี้ เมื่อเราจบโชว์แล้ว คนดูหรือลูกค้าก็จะเข้ามาจองเสื้อกันหลังเวทีเลย บอกว่า ‘ฉันเอาตัวนั้น ฉันเอาตัวนี้’ ลักษณะการทำแฟชั่นโชว์ยุคก่อนกับปัจจุบันมันแตกต่างกัน เมื่อก่อนไม่ได้มีการวางขั้นตอนอะไรมากมาย เสื้อดีไซน์นี้ ถ้ามีแค่ 2-3 ตัว แล้วมีลูกค้ามาซื้อ เราก็ขายไปเลย คือมีการจองเสื้อข้างหลังแคตวอล์คกันเลย
 
     “แต่ปัจจุบันการทำงานแตกต่างไปคนละอย่าง ทุกวันนี้ เสื้อที่เราเห็นในแฟชั่นโชว์เป็นเพียง ‘เสื้อต้นแบบ’ ที่ถูกทำขึ้นมาโดยยังไม่ได้ผลิตขึ้นมา ตัวที่เห็นในแฟชั่นโชว์จึงเป็นเพียงตัวต้นแบบ เพราะฉะนั้น ตัวต้นแบบนี้ เราไม่สามารถขายได้ เป็นเพียงแค่ต้นแบบให้ลูกค้าที่สนใจได้สั่งจอง

 
     “โชว์ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้หรือโชว์อื่นจะเป็นอย่างไรพี่ก็ไม่ทราบ แต่สำหรับโชว์ของพี่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอารมณ์เดียวกับวันแรกที่พี่จัดแฟชั่นโชว์ เป็นอารมณ์เดียวกับวันแรกที่พี่เปิดร้าน คือทุกวันนี้ลูกค้ายังมาหาที่หลังเวทีแล้วจองได้เลย บอกได้เลยว่า ‘พี่จ๋อม หนูเอาตัวนั้น หนูเอาตัวนี้นะ’
 
     “โชว์อื่นอาจโชว์แล้วจบ แต่ของพี่ เมื่อโชว์จบจะมีลูกค้าแฟนคลับมาแล้ว
‘นี่ตัวนี้ พี่ต้องให้หนูนะ หนูจอง พี่ห้ามให้ใครเด็ดขาด หนูรู้ว่าพี่ทำไว้แค่ตัวเดียว’
พี่ก็ ‘โอเค แต่เดี๋ยวพี่ขอเอาไปถ่ายรูปก่อนนะ’ คือเขาเป็นระดับแฟนพันธุ์แท้ของเราตั้งแต่นมนาน นี่ยังเป็นภาพดั้งเดิมที่มีให้เห็นแม้จะผ่านมาเนิ่นนาน”

-เสาหลักอันมั่งคง-

     นับแต่ห้องเสื้อผู้แอบอิงนัยนามความหมายเดียวกับ ‘โรงละคร’ ถือกำเนิดขึ้น กระทั่งเดินทางวันนี้ ในยุคสมัยที่แฟชั่นสไตล์มินิมอลลิสม์กำลังแผ่ขยายครอบคลุมและดีไซเนอร์หน้าใหม่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด กระนั้นเธียเตอร์ ที่จัดว่า ‘แรงตัวแม่’ และมีดีเทลซึ่งเรียกได้ว่า ‘เยอะแบบไม่ธรรมดา ’ ก็ยังคงได้รับการยอมรับจากผู้คนในแวดวงนักออกแบบเสื้อผ้า ทั้งยืนหยัดอยู่บนเวทีแห่งโลกแฟชั่นเมืองไทยได้อย่างสง่างาม
     สิ่งใด? คือแกนหลักที่ทำให้โรงละครแห่งนี้ก้าวข้ามกาลเวลามาได้เนิ่นนาน
     จ๋อมอธิบายข้อสงสัยนั้นว่า
 
     “อะไรก็ตามที่เราจะใส่เข้าไปในคอลเลกชั่น เราจะหยิบเทรนด์มาแค่นิดเดียว เป็นส่วนผสมแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกนั้นเป็นตัวเราหมด เพราะเรารู้ว่า ‘แฟชั่น’ มันวนเวียนกันอยู่ แต่เราอาจจะทำให้รู้สึกว่ามันแปลกตาไปด้วยสีสันที่แปลกกว่าเดิม ทำรูปทรงและการนำเสนอให้มันดูใหม่ ซึ่งมันจะดูใหม่ได้ยังไง? นี่แหละ! เป็นเรื่องที่ยากมาก…เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็คือเราไม่ได้นำเสนอเทรนด์ใหม่ แต่เรานำเสนอการแต่งตัวของฤดูกาลนี้ ในแบบ ‘เธียเตอร์’ มากกว่า"
 
     “ถามว่าทำอย่างไร? จึงจะสามารถทำให้ดีไซน์เหล่านั้นมันยังดูเป็นปัจจุบันอยู่ได้ นี่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะขึ้นชื่อว่าแฟชั่น เมื่อมันผ่านไปสัก 3-5 ปี มันก็เริ่ม ‘เช้ย...เชย’ แต่ถ้ากลับมาดูงานของเราเอง เราก็ยังรู้สึกได้ว่าแม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย มันก็ยังเป็น ‘ปัจจุบัน’ อยู่ ไม่ได้ล้ำสมัยและไม่เชย แต่ยังเป็นปัจจุบัน มันไม่ได้อินเทรนด์มากๆ หรือจี๊ดจ๊าดอะไรมากมาย นั่นก็เพราะเราใส่ความคลาสสิก ใส่ความ ‘ลงตัว’ ไว้ในแต่ละคอลเลกชั่นของเรา”

 
 
     เมื่อ ‘เสาเอก’ แห่งเธียเตอร์คือ ‘สไตล์’ เฉพาะตัวที่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับทุกยุคสมัย
จึงไม่แปลกที่ ‘โรงละคร’ แห่งนี้ยังก้าวย่างไปบนแคตวอล์คแห่งยุคมิเลนเนียมได้อย่างมาดมั่นตามแบบฉบับของตนเอง
     เปี่ยมลีลา มีชั้นเชิง มากความเก๋า และมิเพียงคงอยู่ได้ด้วยรากฐานคือพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ หากในขณะเดียวกัน เขายังเฝ้ามองทุกยุคสมัยของวงการแฟชั่นไทยอย่างมีส่วนร่วมเสมอมา

 
     เป็นรุ่นใหญ่ที่ไม่ยอมแก่ เป็น ‘รุ่นเดอะ’ ที่ยังสนุกกับการเฝ้ามองคนรุ่นใหม่เพื่อนำมาสร้างแรงบันดาลใจในงานออกแบบที่เหมาะสมกับคนหนุ่มสาว พ.ศ.นี้
     ‘เธียเตอร์’ ไม่เคยทอดทิ้งหรือหนีห่างจากลมหายใจของปัจจุบัน
สมคำกล่าวของศิริชัยที่ว่า “พี่ต้องอยู่รอดให้ได้ ในโลกใบนี้”
 
     และนั่นคือคำตอบว่าทำไม? โรงละครแห่งนี้จึงยังมีชีวิตและเปี่ยมชีวาอย่างไม่เคยโรยราตลอด 27 ปีที่ผันผ่าน
 
                                 ..............
                        เรื่องโดย : นางสาวยิปซี 
                           ถ่ายภาพศิริชัย โดย : วรงค์กรณ์ ดินไทย 
                           กราฟิกโดย : เปเล่


*ขอบคุณภาพแฟชั่นเสื้อผ้าเธียเตอร์
จากนิตยสาร ‘ดิฉัน’ ฉบับ 821
กำลังโหลดความคิดเห็น