xs
xsm
sm
md
lg

“ชา”ชนิดใดดื่มแล้วชุ่มคอชื่นใจ แถมวิธีจิบอย่างดูดีมีวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

ในสภาพอากาศที่ร้อนมากถึงมากที่สุดในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงกำลังมองหาเครื่องดื่มดับร้อน มาสยบความกระหายอยู่เป็นแน่ และเครื่องดื่มยอดฮิต ซึ่งมีผู้นิยมดื่มมากที่สุดในโลก (รองจากน้ำเปล่า) อย่าง "ชา" คงเป็นตัวเลือกหนึ่ง ที่หลายคนคุ้นชิน รินดื่มกันเป็นประจำ

ทว่า "ชา" นั้นมีมากหลากชนิด จะเลือกดื่มชนิดไหน ถึงช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สดชื่นคลายร้อนได้? งานนี้เราคว้าตัว ธรรมรัตน์ จินดาพล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา แห่งออเธอร์ส เลาจน์ (The Authors' Lounge) โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล มาอธิบายให้ฟังแบบเจาะลึก ทั้งเรื่องราวของชาที่เหมาะจะดื่มในหน้าร้อน ไปจนถึงเกร็ดน่ารู้ ที่จะช่วยให้คุณดื่มชาอร่อยได้แบบดูดี และมีมารยาท

“แท้จริงแล้วชาที่มีหลากหลายชนิดนั้น ทำมาจาใบชาชนิดเดียวกันคือ คามิลเลีย (Camellia) แต่จะทำให้แตกต่างกันด้วยกรรมวิธีการผลิต เช่น ชาขาว มีวิธีการทำคือ พอยอดชาแตกยอดอ่อนขึ้นมา เขาก็จะเด็ดยอดชา แล้วนำไปตากแดดเลย ตากแดดเสร็จ ก็เข้าสู่กระบวนการของการเก็บรักษาชา เวลาจะนำมาชงดื่ม ก็สามารถใส่น้ำร้อนแล้วชงดื่มได้เลย

ส่วนชาเขียว จะนำใบชามาอบ หรือคั่ว เพื่อให้เอนไซม์ (Enzyme) ของมันหยุดการเจริญเติบโต หลังจากนั้นจึงนำไปทำให้แห้ง ขณะที่ชาดำ เมื่อเก็บใบชาได้ จะมีการนำใบชาไปบด เพื่อให้เอนไซม์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน (Oxygen) จนเกิดสี เกิดกลิ่นก่อน แล้วค่อยนำไปทำให้แห้ง” คุณธรรมรัตน์ เกริ่นนำ ในเรื่องความแตกต่างของชาแต่ละชนิด

ชาเขียว-ชาแดง จิบแล้วชุ่มฉ่ำ สู้อากาศร้อน!

กูรูด้านชาของเรา อธิบายต่อว่า แม้ชาแต่ละชนิด จะสามารถดื่มได้ในทุกฤดูกาล ซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ดื่ม แต่หากถามว่า ชาใดที่เหมาะจะดื่มในช่วงที่มีอากาศร้อนระอุแบบนี้ ฟันธง! ว่าชาเขียว และ ชาแดงเหมาะเป็นที่สุด

“ชาที่เหมาะจะทานในหน้าร้อน แนะนำเป็นชาเขียว กับชาแดง เพราะชาสองชนิดนี้จะมีวิตามินซี (VitaminC) สูง ทำให้ร่างกายสดชื่น ดื่มแล้วจะได้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า”

ส่วนจะเลือกดื่มชาร้อน หรือชาเย็นนั้น ผู้เชี่ยวชาญของเราระบุว่า ได้คุณประโยชน์เหมือนกันเป๊ะ ดังนั้นคุณๆ จึงเลือกดื่มได้ตามใจชอบเล้ย

“เรื่องของการดื่มชา มันขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลด้วยครับ เช่น ชาร้อนดื่มหน้าร้อนก็ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบดื่มชาร้อน ก็ดื่มเป็นชาเย็นได้ เพราะเครื่องดื่มตัวเดียวกันสามารถทำเป็นร้อน หรือเย็นได้ แต่ถ้าจะทำเป็นชาเย็น เวลาชง แนะนำให้ทำแบบเข้มข้นขึ้นนิดหน่อย เพราะเวลาเติมน้ำแข็งแล้ว ตัวชาจะเจือจางลงอีก ถ้าเราชงไม่เข้มเวลาเติมน้ำแข็งแล้วชาจะอ่อนไป”

สำหรับชาชนิดแรกที่กูรูหนุ่มแนะนำ คือ "ชาเขียว" ซึ่งมีกลิ่นหอม ดื่มแล้วชุ่มฉ่ำ

“ชาเขียวก็คือ ชาที่ทำจากใบชาคามิลเลียเช่นกัน ซึ่งชาเขียวมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชาเขียวกรรมวิธีแบบจีน และชาเขียวกรรมวิธีแบบญี่ปุ่น ซึ่งชาเขียวจีนกับญี่ปุ่นต่างกันที่กรรมวิธีทำให้ชาเขียวแห้ง สำหรับกรรมวิธีแบบจีนนั้น เวลาเขาเด็ดใบชาแล้ว เขาจะทำให้สลด (นำไปผึ่งลม) จากนั้นจึงหยุดการเจริญเติบโตของเอนไซม์ใบชา ด้วยการนำไปคั่วในกระทะ แล้วค่อยนำไปทำให้ใบชาแห้ง ส่งผลให้ชาเขียวของจีน จะมีสีค่อนข้างเหลืองทอง กลิ่นจะคล้ายกับชาอู่หลง แต่รสชาติยังมีกลิ่นชาเขียวอยู่ และจะมีกลิ่นของควันไฟปนอยู่บ้างเล็กน้อย

ส่วนชาเขียวญี่ปุ่น เมื่อเก็บใบชา และนำไปทำให้สลดแล้ว จึงนำไปหยุดการเจริญเติบโตของเอนไซม์ด้วยการนึ่ง ทำให้ชาเขียวที่มีกรรมวิธีการทำแบบญี่ปุ่น จะมีสีเขียวสด กลิ่นและรสชาติของใบชา ยังคงมีความสดชื่นอยู่ เวลาเปรียบเทียบกัน สีของชาเขียวจีน จะออกสีเหลืองทอง แต่ของญี่ปุ่นจะออกเขียวมรกต แต่ประโยชน์ที่ได้ก็เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบ ถ้าชอบความเข้มนิดๆ ได้กลิ่นของควันไฟบ้างก็ต้องชาเขียวจีน แต่ชาเขียวญี่ปุ่นดื่มแล้วจะได้ความสดชื่นชุ่มชื่น”

สำหรับ “ชาแดง” ชาอีกชนิดที่เหมาะจะทานในหน้าร้อนนั้น กูรูชาคุณธรรมรัตน์ให้รายละเอียดว่า

“ชาแดง ถือเป็นฟิวชั่น (Fusion) ตัวใหม่ที่เพิ่งมีมาไม่นานนัก โดยชาแดงทำมาจากต้นรอยบอส (Rooibos) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่เจริญเติบโตได้ดีในแถบแอฟริกาใต้

เวลาชงออกมาแล้ว สีของมันจะใกล้เคียงกับชามากเลย

แต่ข้อดีของตัวชาแดงก็คือ ไม่มีคาเฟอีน (Decaf) และมีวิตามินซีเยอะ เวลาดื่มแล้วสดชื่น เหมาะกับหน้าร้อนมาก ยิ่งทำเป็นชาแดงเย็น ดื่มแล้วก็จะมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดชื่น”

เคล็ดลับชงชาให้อร่อย แบบฉบับโรงแรมหรู “โอเรียนเต็ล”

ไหนๆ ได้มาเยือนห้องอาหารสวย บรรยากาศดี ภายในโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ทั้งที เห็นแขกเหรื่อจิบชาทานขนมกันอย่างมีความสุข เราจึงถือโอกาสถามเคล็ดลับการชงชาให้อร่อยเสียหน่อย ว่ายุ่งยากแค่ไหนกัน

“การชงชาของที่นี่จะมีขั้นตอนง่ายๆ เหมือนกันทุกตัว คือ นำใบชามาแช่ไว้ในน้ำร้อน ประมาณ 3-5 นาที ขึ้นอยู่กับลักษณะของใบชา อย่าง ชาเขียวก็แช่ไว้ 3 นาที ถ้าชาดำก็ 5 นาที รินน้ำแรกทิ้งก่อน แล้วค่อยชงอีกครั้งถึงนำไปเสิร์ฟ (serve) เพราะถ้าเรานำใบชามาใส่น้ำร้อน แล้วเสิร์ฟเลย ใบชาจะยังไม่คลายตัว รสชาติของมันจะออกมาไม่เต็มที่”

เคล็ดลับชาอร่อยของที่นี่อีกอย่าง คือ การชงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย... ไม่มีรีฟิล (refill)

“ชาของที่นี่จะไม่มีการเติมน้ำเพิ่มอยู่แล้ว เพราะการเสิร์ฟชาของเรา จะชงเสร็จแล้วนำเฉพาะน้ำชาไปเสิร์ฟ โดยไม่มีการแช่ใบชาทิ้งไว้ในกา เพราะการแช่ใบชาไว้นานเกิน 3-5 นาที ความเข้มของตัวใบชาก็จะออกมาเรื่อยๆ ทำให้ชาเข้มเกินไป พอเข้มเกินไป ตัวแทนนิน (Tannin) หรือสารที่ทำให้มีรสฝาด มันออกมาเยอะ จนทำให้รสชาติชาไม่ค่อยอร่อย และฝาดเกินไป

นอกจากนี้การที่ชาร้อนต้องทานตอนอุ่นๆ เราก็จะมีการจุดเทียนไว้ใต้กา เพื่อให้ชาอุ่นอยู่ตลอดเวลา ชาของที่นี่ จึงควบคุมปริมาณของน้ำ ความอุ่น และคุณภาพชาได้ทุกถ้วย ไม่ว่ามาทานกี่ครั้งรสชาติและกลิ่นจะยังคงเหมือนเดิม” ผู้เชี่ยวชาญบอกถึงเคล็ดลับ ให้ได้รู้กันว่ากว่าจะได้ชารสดี ต้องควบคุมรายละเอียดกันทุกขั้นตอนจริงๆ

ทานอะไรคู่กับ "ชา" ถึงอร่อยเลิศ!

กูรูธรรมรัตน์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการชง "ชา" มานับ 10 ปี อธิบายต่อถึงเรื่องอาหารว่างที่ทานคู่กับชาว่า หากเลือกได้เหมาะเจาะ จะยิ่งเสริมรสชาติ "ชา" ให้อร่อยล้ำ

“เวลาเลือกขนม ต้องคำนึงด้วยว่า ตัวชากับขนม มันต้องเข้ากันได้ดี ไม่ใช่ว่า รสของขนมกับชา ไปคนละทิศคนละทาง อย่างนั้นมันก็ทำให้ทานออกมาแล้วรสชาติไม่อร่อย

หลักการเลือกง่ายๆ ก็คือ ตัวชาจะต้องเติมเต็มให้ เมื่อทานขนมคู่กับน้ำชาแล้ว ทั้งสองอร่อยยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าตัวชารสแรง แล้วรสชาติขนมอ่อน เวลาเราทานไป ก็จะได้แต่รสชาติชา รสชาติขนมไม่ได้ หรือบางทีรสชาติขนมแรงไป แต่ชารสอ่อนไป มันก็ทำให้ขนมเด่นไป ไม่ได้กลิ่นหอมของชา เหมือนกินขนมกับน้ำร้อนเท่านั้นเอง”

แม้จะอธิบายว่า ทานขนมรสชาติแรงกับชาแล้ว จะส่งผลให้ชาจืดชืด แต่ขนมไทย อย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ที่มีรสชาติหวานเด่น กลับเป็นอีกเมนูที่ห้องออเธอร์ส เลาจน์ มีไว้บริการให้เลือกทานคู่กับชา เช่นกัน

“ขนมหวานมากๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด เราก็มีให้บริการ เพราะเรามีตัวชา ที่ทานแล้วเข้ากันให้บริการด้วย เวลาที่ลูกค้าสั่งเซต (set) ขนมไทย พนักงานของเราก็จะแนะนำว่า ทานกับชาตัวไหนถึงจะเหมาะ อย่าง ขนมไทยนี้อาจจะทานกับชาเขียว หรือชาดำก็ได้ แต่ถ้าลูกค้าสั่งเซตไทย มาทานคู่กับชาขาว เราก็อาจจะบอกว่า ทานได้นะครับ แต่เวลาทานตัวขนมกับชาแล้ว จะไม่ค่อยได้รับรส และกลิ่นของชาอย่างเต็มที่ เพราะชาที่สั่งมีกลิ่นค่อนข้างอ่อน พนักงานก็อาจแนะนำเป็นชาเขียว หรือชาดำ เพื่อให้เวลาทานคู่กันแล้ว มันจะได้เติมเต็มให้รสชาติของชาและขนมกลมกล่อมยิ่งขึ้น”

*กูรูแนะ วิธีจิบชาให้อร่อย ดูดี มีวัฒนธรรม

-เลือกถ้วยชาที่ไม่หนาเกินไป และอาจใช้น้ำร้อนเทลงที่ถ้วยชา เพื่อให้ถ้วยอุ่นก่อน เพราะหากถ้วยชาเย็น เมื่อเทน้ำชาลงไปแล้ว จะถูกถ้วยดูดความร้อนไปหมด ทำให้ชาเย็นเร็ว จนส่งผลให้รสชาติของชาไม่กลมกล่อม

-เลือกถ้วยชาที่ปลายปากบานออกเล็กน้อย เพื่อให้ดื่มง่าย และเวลายกดื่มจะได้กลิ่นชาหอมๆ ระเหยออกมาติดปลายจมูก

-การรินน้ำชา ควรรินให้อยู่ในปริมาณ 3 ใน 4 ส่วนของถ้วย เพื่อให้ปริมาณชาที่ริน กับเวลาที่ดื่มพอดีกัน เมื่อจิบชาจึงได้ความอุ่นกำลังพอเหมาะ ไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป

-เวลายกชาดื่ม ตามธรรมเนียมอังกฤษ มักใช้แค่ 3 นิ้ว คือ นิ้วโป้ง, ชี้, กลาง จับที่หูแก้ว แล้วยกขึ้นจิบทีละนิด แต่หากจะยกแก้วชา โดยการประคองด้วยมือทั้งสองข้าง ก็ไม่ถือว่าผิดมารยาท เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่านั้น

-เมื่อจิบชาเข้าไปแล้ว ควรอมไว้ในปากสักครู่แล้วค่อยกลืน เพื่อให้ได้สัมผัสกับกลิ่นหอม ของชาอย่างเต็มที่

-ห้ามนำช้อน (ที่ใช้คนชา) วางคาไว้ในถ้วยชา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกำลังดื่ม หรือดื่มเสร็จแล้ว เพราะชาวอังกฤษจะถือว่า ถ้วยชาและช้อนที่คาอยู่เปรียบเสมือนหลุมศพที่มีไม้กางเขนปักอยู่ บ้างก็ถือเป็นการดูถูกกัน ฉะนั้นเมื่อคนชาเสร็จแล้ว ให้วางช้อนไว้ที่จานรองข้างถ้วยชา

-การวางถ้วยชาที่เหมาะสมคือ เมื่อตั้งถ้วยชาอยู่ด้านหน้า ควรให้หูของถ้วยอยู่ประมาณเลข 4 นาฬิกาบนหน้าปัดนาฬิกา เพื่อให้หยิบขึ้นมาดื่มได้สะดวกยิ่งขึ้น

-การเติมน้ำตาล หรือนม สามารถทำได้ แต่ควรคำนึงว่า เมื่อใส่เพิ่มแล้วจะต้องเติมเต็มรสชาติของชาให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น และไม่ทำให้รสชาติชาเสียไป เช่น การเติมนม ในชาดำ จะช่วยให้ชาอร่อยและทานง่ายขึ้น

-มะนาว สามารถเพิ่มลงในชาได้เช่นกัน โดยมักเติมลงใน ชาเอิร์ล เกรย์ (Earl Grey) เพื่อเสริมให้รสชาติชากลมกล่อมและอร่อยยิ่งขึ้น

-ไม่ควรบีบมะนาว และ ใส่นม ลงไปในชาแก้วเดียวกัน เพราะกรดในมะนาวจะทำปฏิกิริยากับโปรตีน(Protein) ในนม จนทำให้นมจับตัวกันเป็นก้อน จนดูเหมือนชาถ้วยนั้น คือ ชาเสีย ถือเป็นการเสียมารยาทในการดื่มชา


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น