เรียวคิ้วที่เรียงตัวยาวได้รูปดูรับกันดีกับดวงตาคมเข้มทอประกายสวย ริมฝีปากสีแดงเลือดนกนั้นก็ส่งให้เจ้าของดวงหน้างามสง่าสมวัย
เหนืออื่นใด คือ ‘ฮิญาบ’ สีครีมละมุนตา ที่ยิ่งขับเน้นให้สุภาพสตรีผู้นี้แลดูน่าค้นหา ในความงามมีความสำรวม ในรอยยิ้มของเธอมีความสงบ ในท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว น้ำเสียงของเธอชวนให้คนฟังรู้สึกใจเย็นชื่น
เธอคือ พนิดา นานา ทายาทตระกูล ‘นานา’ ตระกูลมหาเศรษฐีเชื้อสายมุสลิมที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยนับแต่ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 'นายห้าง' นานายุคนั้นดำรงชีพด้วยการค้าขายผืนแพรนานาพรรณ ก่อนในกาลต่อมาจึงได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ถ้าจะถามว่าพี่น้องมุสลิมผูกพันกับประเทศไทยแค่ไหนและมีพี่น้องมุสลิมจากต่างประเทศเข้ามาอาศัยในไทยมากแค่ไหน ดิฉันเชื่อว่ามีเยอะมาก ตามที่ได้ยินได้ฟังมา ชาวอิสลามก็เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่หากเอ่ยเพียงเฉพาะตระกูลดิฉันเอง ก็ต้องถือว่าตระกูลนานาเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
"ต้นตระกูลนานาคนแรกที่เข้ามาในประเทศไทย คือ อาลี ฮามัด นานา ซึ่งเป็นคุณชวดของดิฉัน ท่านอพยพมาจากประเทศอินเดีย เป็นพ่อค้าที่ตั้งใจเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ตอนนั้นคุณชวดเข้ามาอาศัยอยู่ที่ฝั่งธนบุรี แถววัดอนงคารามซึ่งเป็นย่านที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ก่อนแล้ว”
ดวงตาใต้ฮิญาบของ นานา รุ่นที่ 5 ฉายประกายสวยซึ้ง ยามเมื่อเธอบอกเล่าถึงเรื่องราวของบรรพบุรุษ ก่อนที่รอยยิ้มจะแจ่มชัดขึ้นเมื่อความทรงจำพาเธอเดินทางมาถึงช่วงที่ต้นตระกูลได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
เพราะเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ หากเมื่อเอ่ยถามถึงความเป็นมุสลิมของบรรพชนต้นตระกูล ‘นานา’ ที่หลอมรวมเป็นหนึ่งกับวัฒนธรรมไทย พนิดายืนยันหนักแน่นว่าความเป็นมุสลิมของเธอ ไม่ต่างอะไรจากความเป็นไทย เพราะสำหรับเธอ ไม่ว่าคุณเป็นใคร ชาติไหน ศาสนาใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความแผกแตกต่างทางความเชื่อ ยังอาศัยร่วมกันได้อย่างร่มเย็นบนผืนแผ่นดินนี้...นั้นแล คือนิยามความหมายแห่งความเป็นไทยที่เธอรู้จัก และเธอก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีดวงใจที่มอบศรัทธาต่อองค์อัลลอฮ์ เช่นเดียวกัน ในศรัทธาต่อองค์อัลลอฮ์ สิ่งหนึ่งที่เต็มเปี่ยมในใจเธอก็คือความรักในผืนแผ่นดินนี้
“เนื่องจากคุณชวดดิฉันเป็นชาวอินเดีย เป็นพ่อค้า ค้าขายผ้า ผ้าที่นำเข้ามาในสมัยนั้น เป็นดิ้นเงินดิ้นทองซึ่งถือว่าคนไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังไม่มีใครรู้จักนัก การค้าขายผ้าที่ว่านี้จึงค้าขายอยู่ในวังเป็นหลัก เพราะมีราคาสูง เนื่องจากดิ้นเงินดิ้นทองที่ใช้เป็นของแท้ เป็นเงินจริง เป็นทองจริง ซึ่งเป็นศิลปะที่คนอินเดียทำมานานแล้ว แต่สำหรับเมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้น ยังเป็นของใหม่
"แต่นอกจากค้าขายในวังแล้ว คุณชวดท่านก็มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่ดี เพราะท่านเป็นชาวอินเดีย ซึ่งในอินเดียใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารอย่างแพร่หลาย ไม่นานนักคุณชวดของดิฉันท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาสรรพาณิชย์”
ความรักความผูกพันที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ก่อเกิดเป็นรากเหง้าอันหยั่งลึกบนผืนแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ถิ่นฐานย่านที่อยู่อาศัยอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในวันนี้ เมื่อเธอก้าวเข้ามารับหน้าที่ดูแลธุรกิจโรงแรมของครอบครัว ในนาม ‘NOUVO CITY HOTEL’ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ซอยสามเสน 2 อันถือเป็นใจกลางแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวพระนคร ธุรกิจโรงแรมของเธอจึงสะท้อนผ่านภาพของความเป็นเมืองเก่าที่ ‘โมเดิร์น’ และคงความเป็นโมเดิร์นท่ามกลางเมืองเก่า ซึ่งผู้คนพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกัน กลิ่นอายวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทยก็ยังคงมีให้พบเห็นได้ตามรายทาง
เปล่าหรอก กลิ่นอายเหล่านั้น มิใช่แลเห็นได้ผ่านการนุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ร้อยมาลัยที่ผันผ่านไปแล้วนานนับนาน แต่มันแฝงฝังอยู่ในความเรียบง่ายที่ผนวกกลมกลืนมาพร้อมกับความวุ่นวายของโลกยุคโลกาภิวัฒน์
เหนืออื่นใด มันคือความหลากหลายที่ผนึกเอาเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของบรรพชนนานา ทั้งผนึกดวงใจทายาทอย่างเธอไว้ ให้รักและผูกพันในแผ่นดินนี้อย่างแนบแน่น
“จากพ่อค้าขายผ้าในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ก็มาถึงยุคเปลี่ยนผ่านในรุ่นที่ 3 ของตระกูล ซึ่งก็คือคุณปู่ของดิฉัน” อันเป็นยุคสมัยที่ตระกูลนานาเริ่มทำธุรกิจส่งออกและนำเข้าสินค้า ซึ่งการค้าที่รุ่งเรืองของธุรกิจนี้เอง นับเป็นปัจจัยหนุนส่งให้คน ‘นานา’ รุ่นที่ 3 กลายเป็น ‘เศรษฐีที่ดิน’ ในเวลาต่อมา
“ในรุ่นที่ 3 คุณปู่ของดิฉัน ท่านทำธุรกิจนำเข้า สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘นายห้าง’ ท่านนำน้ำตาลจากอินโดนีเซียเข้ามาขายในเมืองไทย แล้วก็นำข้าวจากเมืองไทย ส่งไปขายต่างประเทศ ซึ่งในยุคนั้น การส่งออกและนำเข้าสินค้าต่างๆ ยังไม่แพร่หลายนัก กล่าวได้ว่าคุณปู่เป็นผู้บุกเบิก และถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะธุรกิจของท่านตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย สินค้าต่างๆ เป็นที่ต้องการ และช่วงนี้เองคุณปู่ท่านก็เริ่มค้าขายที่ดิน นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตระกูลนานาเริ่มมีที่ดินมากขึ้นเพราะสมัยสงครามโลกนั้น ราคาที่ดินไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ ท่านก็สะสมมาเรื่อยๆ
"หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อซอย ‘นานา’ ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นที่ดินที่คุณปู่ยกให้หลวง หลวงท่านเลยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติ แล้วคุณปู่ท่านก็เป็นคนแรกที่ริเริ่มพัฒนาถนนสุขุมวิท สมัยนั้น ไม่มีใครรู้จักถนนสุขุมวิท ไม่มีความเจริญเลย แต่คุณปู่ท่านเป็นคนที่ค่อนข้างมองการณ์ไกล
“ส่วนรุ่นที่ 4 คือรุ่นคุณพ่อดิฉัน แม้ไม่มีอะไรโดดเด่นนัก แต่ท่านก็พยายามรักษาสิ่งที่คุณปู่ทำมาอย่างดีที่สุด หรือหากจะมีโดดเด่นบ้างก็คือคุณลุง ‘เล็ก นานา’ ที่หันมาเล่นการเมือง ซึ่งก็เป็นการทำงานที่ฉีกออกไปจากต้นตระกูล ส่วนตัวดิฉันเอง เป็นนานา รุ่นที่ 5 แล้วค่ะ”
สำหรับพนิดา เธอมองเห็นความผูกพันในผืนแผ่นดินไทยผ่านดวงตาและดวงใจ...ผ่านเรื่องราวเล่าขานของบรรพบุรุษ
แต่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด เธอได้เรียนรู้ผ่านลมหายใจผู้คนที่ยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่รอบกาย ผ่านความหลากหลายที่ดำเนินอยู่รอบข้างโรงแรมที่เธอสร้างขึ้นและบริหารภายใต้ขนบจารีตของชาวมุสลิม ทั้งการเคร่งครัดในอาหารฮาลาล ไม่มีเนื้อหมู ไม่มีแอลกอฮอล์ ดูแลและผลิตทุกขั้นตอนภายใต้จารีตของชาวมุสลิม มิพักต้องเอ่ยถึงห้องละหมาดที่หันหน้าไปทางทิศของมหานครศักดิ์สิทธิ์ นามเมกกะฮ์ ผสานกับการออกแบบที่ชวนให้สัมผัสได้ถึงรัตนโกสินทร์และความเป็นไทย ผ่านภาพเขียนที่เรียงรายอย่างสวยงาม ผ่านภาพจำลองที่รังสรรค์ขึ้นให้แลดูคล้ายการลงรักปิดทอง ผ่านผืนผ้าที่ถักทออย่างสวยงามละเมียดละไมราวกับต้องการสื่อถึงจิตวิญญาณเดิมแท้ของแผ่นดินไทยที่เริ่มเลือนหาย
ตราบที่โลกสมัยใหม่ยังเคลื่อนไหวด้วยลมหายใจของชุมชนเมืองในย่านเก่าแก่ ดวงใจใต้ฮิญาบของเธอผู้นี้จึงทั้งน่าค้นหาและท้าทายให้ก้าวเข้ามาทำความรู้จัก ในฐานะที่เธอเฝ้ามองสิ่งเหล่านั้นด้วยความผูกพันที่มีต่อผืนแผ่นดินไทย คนไทย และลมหายใจแห่งรัตนโกสินทร์
แผ่นดินที่ครั้งหนึ่ง บรรพชนต่างชาติเชื้อ ต่างความเชื่อ ต่างศรัทธา ล้วนดำรงอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น
และเธอ ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลนานา ก็ยังคงเชื่อมั่น ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทย...แม้ในวันนี้
เรื่องโดย : นางสาวยิปซี
ภาพโดย : ไชยวัฒน์ สมพรมทิพย์ / ณัฐพันธ์ ครุธทิน