ไม่บ่อยนักที่จะมีโอกาสได้เห็น ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยานายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ปรากฏกายให้เห็นในแวดวงสังคม ยกเว้นพิธีสำคัญที่ต้องออกงานเคียงข้างสามีเท่านั้น
หากแต่ในงานฉลองครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ร่วมกับ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสัคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาในหัวข้อ “สิทธิโอกาสที่เสมอภาค เป็นปัจจัยให้โลกก้าวหน้า” ซึ่งมี ดร.พิมพ์เพ็ญ ผู้นำ “หลังบ้าน ครม.” เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
บรรยากาศในห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มี.ค.53 อบอุ่นไปด้วยบรรดาสตรีจากหลากหลายวงการ ที่ตบเท้ามาร่วมแสดงสิทธิความเสมอภาคระหว่างชายหญิง
คุณหญิงณัฐิกา กล่าวว่า วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากล และในโอกาสที่ปี 2553 เป็นวันครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล สภาสตรีแห่งชาติฯ จึงได้เชิญ 8 องค์กรภาคี ร่วมจัดงานเสวนา “สิทธิโอกาสที่เสมอภาค เป็นปัจจัยให้โลกก้าวหน้า” เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้สิทธิโอกาสเสมอภาคระหว่างชายหญิง และตระหนักถึงปัญหาอุปสรรคที่ยังคงมีอยู่ โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนของสังคม เห็นความสำคัญของสตรีและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรี
ขณะเดียวกัน ดร.พิมพ์เพ็ญ ในฐานะผู้นำ “หลังบ้าน ครม.” ได้กล่าวถึงบทบาทของสตรีภาคภาษาอังกฤษขนาดยาวเป็นครั้งแรกว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา สตรีได้สร้างความก้าวหน้าทั้งต่อสถานภาพทางสังคมและความเป็นอยู่ของตน ซึ่งแตกต่างจากบทบาทของสตรีในสมัยก่อน ที่มีหน้าที่หลักคือการเป็นภริยา มารดา ดูแลครอบครัวและบุตร แต่สตรีในปัจจุบันสามารถยืนหยัดและเลี้ยงดูตนเองได้ สตรีบางคนได้กลายเป็นผู้นำของสังคมในหลายแขนง และส่วนตัวก็เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่ทั่วโลกด้วย
สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญกำหนดให้เพศหญิงและเพศชายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความรับผิดชอบที่จะออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงใดๆ ต่อสตรี แต่อันที่จริงแล้ว ทุกคนมีความรับผิดชอบในการนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ นอกจากนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบหรือ CEDAW รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามพันธะของอนุสัญญาฯ ในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้ว นโยบายการพัฒนาเพื่อสตรีก็ได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว นอกจากนั้น ทุกกระทรวงได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารด้านการเส่งสริมบทบาทหญิงชาย และศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อช่วยส่งเสริมความสำคัญของเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
นอกจากนี้ ภริยานายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยยังกล่าวด้วยว่า เธอเองในฐานะสตรีที่ต้องทำงาน และเป็นทั้งภริยาและมารดาในเวลาเดียวกัน ก็ได้ตระหนักดีถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์ และยุคแห่งการแข่งขัน แต่ถ้าเราทำงานร่วมกันเป็นทีม เธอเองก็เชื่อว่าเราจะมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จได้ และหากผู้หญิงและผู้ชายทุกคนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เราแน่ใจได้ว่าจะไม่มีสังคมใดที่จะถูกทอดทิ้งให้ล้าหลัง
ไฮไลต์สำคัญก่อนเลิกงาน ดร.พิมพ์เพ็ญ ยังได้นำข้อคิดของตัวเองไปติดบนบอร์ด “A Century of Women's Voices” โดยมีข้อความว่า “ผู้หญิงจะถือว่าตนเองประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อ เธอประสบความสำเร็จทั้งในชีวิต อาชีพ และครอบครัว” (A woman's success is a combination of the success in her life, her family and her career)