นับว่าเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของเลอโนโว ในการที่ Lenovo Yoga 3 Pro ได้มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีว่า จุดเด่นอย่างการหมุนหน้าจอได้ 360 องศา เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในยุคปัจจุบัน
เมื่อนับรวมไปกับการพัฒนาทางด้านหน่วยประมวลผลของอินเทล ที่มีการคิดค้น Intel Core M เพิ่มขึ้นมา ชูจุดเด่นเรื่องประสิทธิภาพในการประมวลผล แต่ใช้พลังงานต่ำ ยิ่งเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการใช้งานโน้ตบุ๊กเป็นอุปกรณ์พกพาได้มากขึ้น
การออกแบบและสเปก
ในแง่ของการออกแบบต้องยอมรับว่า Yoga 3 ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของวัสดุที่ใช้งาน ความบาง น้ำหนัก บนจุดแข็งหลักคือการที่หน้าจอหมุนได้ 360 องศา โดยในรุ่นนี้ได้มีการเพิ่มความแข็งแรงของข้อต่อบานพับเข้ามาด้วยการนำเทคโนโลยีของข้อต่อนาฬิกาเข้ามาใช้งานร่วมกับแบบเดิม เพื่อให้ได้ความแข็งแรงในการพับจอได้มากขึ้น
ถัดมาในส่วนของวัสดุภายนอกจะใช้เป็นอะลูมิเนียมสีเงิน เพิ่มความหรูหราให้กับตัวสินค้ามากยิ่งขึ้น โดยจะมีเพียงสัญลักษณ์ของเลอโนโวติดอยู่ที่ขอบซ้ายบนเท่านั้น เช่นเดียวกับล่างเครื่องที่แทบจะถูกปล่อยโล่งไว้ทั้งหมด มีเพียงสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐาน และสติกเกอร์ระบุรายละเอียดต่างๆของตัวเครื่อง กับยางไว้รองเครื่องเท่านั้น
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาภายใน ส่วนของหน้าจอจะใช้กระจกแบบกอลิล่ากลาส ร่วมกับหน้า Full HD ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 3800 x 1200 พิกเซล ที่สำคัญคือเป็นจอแบบ IPS ด้วย โดยมีสัญลักษณ์เลอโนโวสีเงินที่มุมซ้ายบน กล้องเว็บแคมตรงกลาง และสัญลักษณ์วินโดวส์ที่ล่างหน้าจอเท่านั้น แต่ก็น่าเสียดายที่บริเวณขอบจอยังค่อนข้างหนา ทำให้ดูแล้วตัวเครื่องจะค่อนข้างใหญ่ขึ้นมา
ในส่วนของบริเวณตัวเครื่อง จะมีการบุด้วยพลาสติกที่มีพื้นผิวคล้ายกับยางๆ ให้สัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่าแข็งจนเกินไป โดยจะมีลวดลายจุดๆที่พื้นผิวด้วย ประกอบกับสัญลักษณ์แสดงการใช้เทคโนโลยีด้านเสียงของ JBL ที่มุมซ้ายบน และสติกเกอร์รบุหน่วยประมวลผลที่ใช้เป็น Intel Core M เครื่องแบบ UltraBook
เมื่อเจาะลึกเข้ามาที่บริเวณคีย์บอร์ด เลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดจะเป็นแบบ 4 แถว ทำให้ในการใช้งานเบื้องต้นอาจงงเล็กน้อย อย่างปุ่มเปลี่ยนภาษา (`) ไปอยู่ที่มุมขวาสุดแทน ทำให้การเปลี่ยนภาษาที่คุ้นชินอาจลำบากไปบ้าง ต้องใช้การเปลี่ยนภาษาแบบกดปุ่มวินโดวส์และสเปซบาร์แทน
ตัวคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่ได้ตามมาตรฐาน รองรับการพิมพ์สัมผัสได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่รุ่นที่นำมาทดสอบยังไม่มีการสกรีนภาษาไทยเข้าไป แต่ถ้าคุ้นกับเลย์เอาท์คีย์บอร์ดแล้วก็สามารถใช้งานได้อย่างปกติ ที่สำคัญคือที่คีย์บอร์ดมีไฟ Backlit ด้วย ทำให้สามารถใช้งานในที่มืดได้อย่างสบายๆ
ส่วนของตัวแทร็กแพด จะให้สัมผัสที่ค่อนข้างลื่นไหล มีการแบ่งส่วนคลิกซ้าย-ขวาอย่างชัดเจน รองรับการใช้งานแบบมัลติทัช กล่าวคือการใช้ 2 นิ้วพร้อมกันเพื่อเลื่อนหน้าจอ ร่วมไปกับการใช้ 3 นิ้ว และ 4 นิ้ว ในบางแอปพลิเคชัน
อีกจุดเด่นที่สำคัญของ Yoga 3 Pro คือเรื่องของพอร์ตการเชื่อมต่อที่ให้มาค่อนข้างครบ โดยทางฝั่งซ้ายจะมี พอร์ตยูเอสบี 3.0 2 พอร์ต โดย 1 ในนั้นจะเป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จด้วย ถัดมาเป็นพอร์ต miniHDMI และช่องเสียบการ์ดเอสดี
ส่วนทางฝั่งขวาจะมีพอร์ตยูเอสบี ที่มีโหมดสามารถเสียบชาร์จอุปกรณ์อื่นๆได้แม้ปิดเครื่องอยู่ ช่องเสียบหูฟัง ปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอ ปุ่มรีสตาต ไฟแสดงสถานะ และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง
สำหรับขนาดโดยรวมของตัวเครื่องจะอยู่ที่ 330 x 228 x 12.8 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.18 กิโลกรัม
สเปกภายในจะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผลที่เป็น Intel Core M 5Y70 ความเร็ว 1.1 GHz แต่สามารถเร่งประสิทธิภาพไปได้ถึง 2.6 GHz (เครื่องขายจริงเป็น Core M 5Y71 1.2 GHz สูงสุด 2.9 GHz) RAM 8 GB พื้นที่เก็บข้อมูลเป็น SSD 256 GB กราฟิกเป็น Intel HD 5300 ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8.1
ขณะที่แบตเตอรีภายในตัวเครื่องให้มา 44Wh 5,900 mAh ระยะเวลาการใช้งานจะอยู่ที่ราว 4-8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยในตัวเครื่องก็จะมีโหมดประหยัดพลังงานอย่างการตัดการเชื่อมต่อ ลดความสว่างหน้าจอ ปรับการทำงานของซีพียู
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
จุดเด่นหลักของ Yoga 3 Pro คงหนีไม่พ้นการที่เป็น 2-1 โน้ตบุ๊ก ที่สามารถปรับหมุนได้ 360 องศา ทำให้สามารถเลือกใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Tent ที่คว่ำตัวเครื่องลง เพื่อแสดงหน้าจออย่างเดียว Stand คือการใช้โน้ตบุ๊กในแนวปกติ และ Tablet ด้วยการพับหน้าจอลงไปแนบกับคีย์บอร์ด
โดยภายในเครื่องจะมีแอปที่คอยบอกรายละเอียดการใช้งานอย่าง Harmony ที่แสดงรูปแบบการใช้งานออกเป็นเปอเซนต์ และเทียบกับการใช้งานทั่วโลก โดยผู้ใช้สามารถเลือกดูสถิติได้แบบรายวัน สัปดาห์ เดือน และปี
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลแอปพลิเคชันที่ใช้งานบ่อยในเครื่อง รวมไปถึงเทรนด์ในการใช้งานของเครื่องอื่นๆ พร้อมกับเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหดลแอปพลิเคชันเพิ่มเติมจากวินโดวส์สโตร์มาติดตั้งเพื่อใช้งานได้ทันที
ยังสามารถเข้าไปตั้งค่าในส่วนของ Harmony Setting สำหรับควบคุมการใช้งานในโหมดต่างๆ เช่นเมื่อเปิดไฟล์เอกสาร จะปรับสีหน้าจอให้กลายเป็นสีเหลืองนวลพร้อมปรับลดความสว่างลงให้เหมือนอ่านหนังสือในโหมด Paper Display มีการปรับระบบเสียงเมื่อใช้งานโปรแกรมเล่นเพลง ภาพยนต์ เกม ในโหมด Intelligent Audio
Motion Control สำหรับการใช้ท่าทางในการควบคุมตัวเครื่อง อย่างการสั่งหยุดเล่นหนัง Full Screen ในการสลับโหมดการแสดงผลปกติเข้าสู่การแสดงผลแบบเต็มหน้าจออัตโนมัติ Energy Manager ในการปรับการใช้งานพลังงานโดยอัตโนมัติ และ Touch เพื่อปิดการสัมผัสหน้าจอการพรีเซนต์เมื่ออยู่ในโหมดการใช้งานแบบโน้ตบุ๊ก
มี PC App Store สำหรับแนะนำแอปพลิเคชันที่น่าใช้งาน ซึ่งสามารถกดเข้าไปเพื่ออ่านรายละเอียด และเข้าไปดาวน์โหลดได้ทันทีเช่นเดียวกัน
ส่วน Motion Control อย่างที่กล่าวไปว่าเป็นระบบที่ใช้การตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ เพื่อสั่งงานตัวเครื่องผ่านกล้องหน้า โดยผู้ใช้สามารถทำนิ้วชี้ชูขึ้นมาเพื่อสั่งปิดเสียง ยกนิ้วโป้งขึ้นมาเพื่อหยุดเล่นภาพยนต์ที่รับชมอยู่ ปาดซ้าย-ขวา เพื่อเปลี่ยนรูปเป็นต้น ถือเป็นกิมมิคเล็กๆน้อยๆที่เพิ่มเข้ามาให้ใช้งานกัน
ด้วยการที่เลอโนโวเองก็มีการทำสมาร์ทโฟนด้วย ภายในจึงมีการติดตั้ง Phone Companion เพื่อเข้ามาให้ใช้ควบคุม และจัดการแอนดรอยด์โฟน อย่างการส่งข้อความ รับสาย จากโน้ตบุ๊ก พร้อมไปกับแอปอย่าง Share It ที่ใช้ในการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องผ่านไวไฟได้ทันที
นอกจากนี้ ก็ยังมีฟังก์ชันการจัดการพลังงาน OneKey Optimizer ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้เครื่องทำงานในโหมดประสิทธิภาพสูงที่สุด โหมดประหยัดแบตเตอรี รวมไปถึงในขณะชาร์จก็จะมีโหมดช่วยยืดอายุแบตเตอรีเข้ามาให้เลือกใช้ด้วยการรักษาประจุแบตเตอรีไว้ที่ 55-60%
ถัดมาก็คือเรื่องของการแสดงผลภาพที่ให้มากับหน้าจอความละเอียดสูง พร้อมไปกับลำโพงจาก JBL Audio ที่ช่วยเพิ่มพลังเสียงของ Yoga 3 Pro ให้สามารถใช้งานด้านมัลติมีเดียได้แบบเต็มรูปแบบ หรือถ้าใช้งานร่วมกับหูฟัง หรือลำโพง ก็จะมีตัวควบคุม MaxxAudio ขึ้นมาให้ปรับตั้งค่าอีควอไลเซอร์ต่างๆได้
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการนำจุดเด่นของวินโดวส์ 8 ที่รอการอัปเดตเพิ่มเติมเป็นวินโดวส์ 10 ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า Yoga 3 Pro สามารถอัปเกรดเพื่อใช้งานได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจุดเด่นการใช้งานไมโครซอฟท์อย่าง โปรแกรมออฟฟิศ 365 ก็จะติดมาให้ใช้กันอย่างแน่นอน
ทั้งนี้เมื่อทำการทดสอบด้วยโปรแกรมทดสอบ PCmark8 Home Conventional ได้ 1,525 คะแนน Creative Conventional ได้ 1,599 คะแนน Work Conventional 2,139 คะแนน Storage ได้ 4,927 คะแนน
ส่วน 3Dmark Fire Strike 358 คะแนน Sky Driver 1,359 คะแนน Cloud Gate 2,577 คะแนน Ice Storm 28,499 คะแนน
จุดขาย
- โน้ตบุ๊ก 2-1 ที่หมุนจอได้ 360 องศา
- ตัวเครื่องมีความบาง และน้ำหนักเบา แม้จะมีขนาดหน้าจอ 13.3 นิ้ว ความละเอียด 3800 x 1200 พิกเซล
- แป้นคีย์บอร์ดมาพร้อมไฟ LED ทำให้สามารถใช้งานในเวลากลางคืนได้
- มีกิมมิคเล็กๆน้อยๆอย่าง Motion Control มาช่วยเพิ่มความน่าสนใจ
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ราว 4-8 ขั่วโมง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
- การย้ายปุ่มเปลี่ยนภาษา (-) ไปอยู่ที่มุมขวา อาจส่งผลกระทบกับผู้ที่ชินกับการเปลี่ยนภาษาแบบเดิมๆ ทำให้ต้องใช้การกดปุ่มวินโดวส์ และสเปซบาร์แทน
- ปุ่มทัชแพดยังไม่ฉลาดเท่าที่ควร อย่างการใช้มัลติทัช
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ด้วยการที่เลอโนโววาง Yoga 3 Pro มาเป็นโน้ตบุ๊กที่เน้นการพกพาออกไปใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาเป็นหลัก ประกอบกับการเลือกใช้หน่วยประมวลผลที่เป็น Intel Core M ที่มีจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงาน และให้ความร้อนน้อย ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะ Yoga 3 Pro เหมือนเป็นโน้ตบุ๊กที่ออกมาไว้ให้พกพาไปใช้งานได้ทุกที่
แต่ถ้ามองในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้งาน การประมวลผลของ Intel Core M ยังแรงสู้กับ Core i5 หรือ Core i7 ไม่ได้ ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จึงจบลงที่การใช้งานทั่วไปอย่างงานเอกสาร ทำรูป เล่นเน็ต ดูหนัง ฟังเพลง แต่ถ้าจะนำไปเล่นเกม หรือประมวลผลอะไรหนักๆ คงต้องมองข้ามไป
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า Yoga 3 Pro ที่ 59,990 บาท ถือว่าเปิดราคามาค่อนข้างสูง แม้ว่ารุ่นที่ขายจริงจะใช้หน่วยประมวลผลเป็น Core M 1.2 GHz ก็ตาม แต่ถ้ามองในแง่ของความสะดวกสบายในการพกพา กับความหลากหลายที่ได้ทั้งโน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ตที่ปรับรูปแบบการใช้งานได้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือถ้างบไม่ถึงจะรอ Yoga 3 ทางเลอโนโวก็มีแผนจะนำเข้ามาจำหน่ายเช่นเดียวกัน
Company Related Links :
Lenovo
CyberBiz Social