จุดเด่นหลักของ Lenovo S90 Sisley นอกจากจะเป็นแอนดรอยด์สเปกคุ้มน่าในระดับราคาต่ำกว่าหมื่นบาทแล้ว เรื่องของดีไซน์ก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่งบน้อย แต่อยากได้เครื่องที่ดูดีละม้ายคล้ายกับไอโฟน 6 ก็ถือเป็นทางเลือกที่ไม่เลวร้าย
ขณะที่ในแง่ของการใช้งานต้องยอมรับว่า เลอโนโว ทำออกมาได้ค่อนข้างครบ จากทั้งสเปกที่เลือกใช้ Snapdragon 410 พร้อมกับอัดแรมมา 2 GB กับขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว ความละเอียด 720p เรียกได้ว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ 9,990 บาท แล้วคุ้มค่าเลยทีเดียว
การออกแบบและสเปก
วูปแรกที่เข้ามาหลังจากเปิดตัวกล่อง Lenovo S90 คงหนีไม่พ้นความคิดที่ผ่านเข้ามาในสมองว่า เหมือนกับ ไอโฟน 6 อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ว่าด้วยขนาดหน้าจอที่แตกต่างกัน กับวัสดุ และสัญลักษณ์ต่างๆ ทำให้ Lenovo S90 มีจุดที่แตกต่างกับไอโฟน พอให้เลือกสังเกตได้ไม่ยากนัก
เพียงแต่ว่าถ้าเป็นคนที่ไม่เคยได้สัมผัสไอโฟน 6 มาก่อนก็ไม่แน่ เพราะขณะนำมาทดสอบก็มีคนทักว่าเป็นไอโฟนอยู่หลายครั้ง โดยขนาดรอบตัวของ S90 จะอยู่ที่ 146 x 71.7 x 6.9 มม. น้ำหนัก 129 กรัม โดยเมื่อสัมผัสดูจะรู้ว่าวัสดุที่เป็นโลหะจะไม่ได้แข็งแรงมากนัก แต่ก็ช่วยทำให้เครื่องดูหรูหราขึ้นมาได้อย่างแน่นอน
ด้านหน้า - พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD (1280 x 720 พิกเซล) ความละเอียดเม็ดสีอยู่ที่ 294 ppi โดยส่วนบนหน้าจอจะมีช่องลำโพงสนทนา ที่มีกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล และไฟแฟลชขนาบข้างอยู่ กับเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง และตรวจจับใบหน้า
ส่วนล่างของหน้าจอจะเป็นปุ่มเมนู ปุ่มโฮม และปุ่มย้อนกลับ ซึ่งถ้าต้องการกดเรียนกดูแอปที่เปิดใช้งานก่อนหน้า (Recent Apps) จะใช้วิธีกดปุ่มเมนูค้างแทน ส่วนถ้าต้องการเรียกใช้งาน Google Now ก็กดปุ่มโฮมค้างไว้แทน
ด้านหลัง - จุดที่คล้ายกับไอโฟนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นข้างหลังเครื่อง ที่มีการวางตำแหน่งกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ไว้ที่มุมซ้ายบน พร้อมกับไฟแฟลช ทรงกลม ถัดลงมามีสัญลักษณ์เลอโนโวอยู่ตรงกลาง และแถบเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่พาดข้ามบริเวณส่วนล่างเครื่อง ภายในมีแบตเตอรีขนาด 2,300 mAh ติดตั้งอยู่
ด้านซ้าย - จะมีถาดใส่ซิมการ์ดอยู่ โดยต้องใช้เข็มจิ้มซิมดึงออกมา ภายในจะสามารถใส่ซิมการ์ดได้ 2 ช่อง ช่องแรกเป็นซิมการ์ดที่รองรับทั้ง 4G/3G/2G ส่วนซิมที่ 2 รองรับเพียง 2G เท่านั้น ด้านขวา จะเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง
ด้านบน - จะมีช่องไมโครโฟนจุดที่ 2 และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - หลักๆจะเป็นพอร์ตไมโครยูเอสบี กับช่องลำโพง และรูน็อต ที่ออกแบบมาคล้ายกับในไอโฟนเช่นเดียวกัน
สำหรับสเปกภายในของ Lenovo S90 จะมาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 410 ที่เป็นควอดคอร์ 1.2 GHz RAM 2 GB พื้นทีเก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 32 GB เนื่องจากไม่สามารถใส่การ์ดไมโครเอสดีเพิ่มได้ ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอดย์ 4.4.4 รองรับการอัปเดตเป็น 5.0 ในอนาคต
ด้านการเชื่อมต่อรองรับการใช้งาน 2 ซิมดังที่กล่าวไป คือ ซิมแรกรองรับ 4G/3G/2G ส่วนซิมที่ 2 รองรับเพียง 2G ส่วนไวไฟ รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n บลูทูธ จีพีเอส และ วิทยุFM
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
นอกจากเรื่องของฮาร์ดแวร์แล้ว การนำ Vibe UI v.2 ของเลอโนโว มาครอบ ก็ช่วยทำให้ S90 ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะ ได้มีการรวมแอปต่างๆที่ใช้งานมาไว้ในหน้าหลัก ไม่ต้องกดเข้าไปหน้ารวมแอปอีก กับรูปแบบการดีไซน์ที่แปลกตา ไม่เหมือนกับแบรนด์อื่นๆในท้26องตลาด
ส่วนหน้าจอล็อก จะมี 3 ไอค่อนลัดให้เลือกใช้งานคือ โทรศัพท์ ข้อความ และกล้อง พร้อมกับมีการเพิ่มฟังก์ชันพิเศษ อย่างการสั่นเครื่อง เพื่อล็อกหน้าจออัตโนมัติ รวมไปถึงกรณีที่ปิดหน้าจออยู่ ถ้าต้องการเรียกใช้งานหน้าจอ สามารถใช้นิ้วลากบริเวณขอบล่างหน้าจอ ไปทางซ้าย หรือ ขวา หน้าจอก็จะติดทันที
กับฟังก์ชันลัดในการเรียกใช้งานแอป อย่างวาดนิ้วเป็นเครื่องหมายติ้กถูกที่หน้าจอ จะเข้าโหมดกล้องโดยอัตโนมัติ หรือ วาดลงกลมที่หน้าจอ จะเข้าเว็บเบราว์เซอร์ แน่นอนว่าผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนแอป ที่จะเรียกใช้งานได้ที่หน้าการตั้งค่า ส่วนคุณลักษณะ เข้าไปที่ ‘การทำงานของหน้าจอดำ’
ขณะที่หน้าจอการแจ้งเตือน ก็จะมีการแสดงปุ่มลัดสำหรับตั้งค่าเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไวไฟ ดาต้า ปิดเสียง เวลาปิดหน้าจอ และเปิดจีพีเอส กับแถบการตั้งความสว่างหน้าจอ หรือถ้าต้องการตั้งค่าเพิ่มก็สามารถลากลงมา เพื่อเลือกปรับการหมุนหน้าจอ บลูทูธ จับภาพหน้าจอ เปิดโหมดเครื่องบิน ไฟฉาย ส่งหน้าจอ ล็อกหน้าจอ ได้เพิ่มเติม แน่นอนว่าตรงจุดนี้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการเรียกปุ่มต่างๆได้ด้วยตนเอง
อีกจุดที่น่าสนใจคือ ตัวเครื่องจะมีระบบป้องกันการโทรออกเมื่ออยู่ในกระเป๋า คือ กรณีที่ไปโดยปุ่มตัวเครื่อง ขณะที่ถือเครื่องอยู่ในมือ หรือ ไว้ในกระเป๋า ถ้าเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้ายังทำงานอยู่ หน้าจอจะไม่สามารถสัมผัสใดๆได้ ช่วยให้ไม่ไปสัมผัสโดนโดยไม่ตั้งใจ
ถัดมา เข้ามาดูในส่วนของการตั้งค่า จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของระบบ ที่เป็นการตั้งค่าแอนดรอยด์ตามที่คุ้นเคยกัน แบ่งเป็นการเชื่อมต่อ ปรับแต่งตัวเครื่อง ที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิด รวมถึงตั้งเวลาให้มีการแจ้งเตือน จัดการบัญชีผู้ใช้ ตั้งค่าต่างๆของอุปกรณ์ และตั้งค่าระบบ
ส่วนของคุณลักษณะจะเป็นการตั้งค่าในส่วนของฟังก์ชันพิเศษ อย่างเช่น การเปลี่ยนปุ่มปรับระดับเสียง เป็นปุ่มปรับระดับความสว่างหน้าจอ เรียกใช้งานปุ่มลัดบนหน้าจอ การตั้งให้เสียงเลือกเข้าดังขึ้นเมื่ออยู่ในกระเป๋า หรือเสียงเบาลงเมื่อหยิบเครื่องขึ้นมาเป็นต้น
นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนของแอปพลิเคชันที่เลอโนโว ติดตั้งมาให้ใช้งานโดยเฉพาะ อย่างตัว Security ที่มาช่วยรักษาความปลอดภัย และจัดการแอปภายในตัวเครื่อง SYNCit ที่ไว้ใช้สำรองข้อมูลผู้ติดต่อ ข้อความ บันทึกการโทร SHAREit ไว้ใช้รับ-ส่ง ข้อมูลระหว่างแอนดรอยด์เครื่องอื่น โดยต้องโหลดแอปมาติดตั้งไว้ทั้งคู่ และ CLONEit จะจะส่งข้อมูลจากสมาร์ทโฟนเครื่องเก่ามาไว้ในเครื่องนี้แทน
ยังมีส่วนของศูนย์ธีม ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกธีมเพื่อใช้งานได้ ตามความต้องการ โดยจะมีให้เลือกทั้งธีม ภาพพื้นหลัง ภาพล็อกหน้าจอ และภาพขณะเปิดเครื่อง โดยเบื้องต้นจะมีธีมมาให้เลือก 6 แบบ ภาพล็อกหน้าจอ 8 แบบ และภาพขณะเปิดเครื่อง 3 แบบ
ในส่วนของโหมดกล้อง ต้องยอมรับว่าเลอโนโว เน้นการใช้งานง่ายเป็นหลัก ทำให้ไม่มีปุ่มให้ปรับตั้งค่ามากนัก บนอินเตอร์เฟสจะมีปุ่มสลับกล้องหน้าหลัง ตั้งค่าแฟลช เปิดโหมด HDR และเลือกวิธีการจับภาพ ทั้งกดปุ่มชัตเตอร์บนหน้าจอ สัมผัสบนหน้าจอ ตั้งเวลา ใช้เสียง และจับภาพจากรอยยิ้ม
ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนมาใช้กล้องหน้า ก็จะมีรูปแบบการจับภาพให้เลือกทั้ง นับเวลาถอยหลัง 3 วินาที สัมผัสหน้าจอ ใช้เสียง จับการกระพริบของตา และจับรูปแบบมือ ที่สามารถใช้การชูสองนิ้ว หรือ โบกมือไปมาในการสั่งถ่ายภาพได้ แน่นอนว่ามีโหมดหน้าสวย (Beauty) มาให้เลือกใช้ พร้อมกับแฟลชด้วย
ขณะที่โหมดถ่ายภาพที่ให้มาจะมีแค่ โหมดปกติ ที่จะมีฉากให้เลือกตามทั่วไปอย่างถ่ายภาพบุคคล กลางคืน ทิวทัศน์ กีฬา โหมดพาโนรามา และเอฟเฟกต์สี ส่วนการตั้งค่าก็จะมีให้ตั้งขนาดภาพ สัดส่วนภาพ สมดุลแสงขาว ปรับความไวแสงสูงสุดที่ 800 ตั้งเส้นนำสายตา
หน้าจอโทรศัพท์ จะมีการแสดงผงประวัติการโทรล่าสุด 3 รายการ ในหน้าปุ่มกด ที่รองรับการเดารายชื่อ หน้าจอขณะสนทนาจะแสดงชื่อ เบอร์ เวลาในการโทร กับปุ่มเพิ่มสาย พักสาย ปิดเสียง บันทึกการสนทนา เรียกปุ่มตัวเลข เปิดลำโพง และวางสาย กรณีมีสายเข้าใช้การลากนิ้วเพื่อรับ และตัดสายตามปกติ
เว็บเบราว์เซอร์ที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องเป็น โครม เบราว์เซอร์ ซึ่งด้วยความสามารถในการซิงค์บุ๊กมาร์ตจากคอมพิวเตอร์มาด้วย ทำให้สะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น การใช้งานเป็นไปตามปกติไม่มีสิ่งใดพิเศษ
คีย์บอร์ที่ให้มาเป็นแบบมาตรฐานของ แอนดรอยด์ แน่นอนว่าถ้าไม่ชื่นชอบก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดตัวอื่นมาใช้งานได้จากเพลยสโตร์
ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 11,362 คะแนน และ 19,981 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 5 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo จากโครมเบราว์เซอร์ 1,676 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ (Metal) 835 คะแนน Multicore 1,035 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 59.8 fps และ Nenamark2 52.7 fps An3dBench 7,657 คะแนน และ An3dBenchXL 39,238 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 3,132 คะแนน CPU 9,651 คะแนน Disk 10,394 คะแนน Memory 2,497 คะแนน 2D Graphics 2,521 คะแนน และ 3D Graphics 1,043 คะแนน
การทดสอบ PCMark ได้ 2919 ส่วน 3D Mark ตัว Ice Storm Unlimited ได้ 4,281 คะแนน ส่วน Ice Storm Extream 2,648 คะแนน และ Ice Storm 5,210 คะแนน ขณะที่ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
ส่วนผลการทดสอบแบตเตอรีด้วย Geekbench 3 สามารถใช้งานได้ 4 ชั่วโมง 57 นาที คิดเป็น 1,980 คะแนน
จุดขาย
- ประสิทธิภาพ การดีไซน์ และวัสดุ กับราคา 9,990 บาท
- ตัวเครื่อง 2 ซิม ที่รองรับ 4G 1 ช่อง
- กล้องหลัก 13 ล้าน และกล้องหน้า 8 ล้านพร้อมไฟแฟลชทั้งคู่
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ไม่มีช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม
- การออกแบบที่ค่อนข้างคล้ายกับไอโฟน (กรณีที่ไม่ชอบ)
- ไม่มีแอปเล่นเพลงของตัวเอง ใช้แอปเดียวกับกูเกิล
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ถ้าไม่นับในแง่ของการออกแบบที่ไปเหมือนกับไอโฟนแล้ว ด้วยราคา เทียบกับประสิทธิภาพของ Lenovo S90 Sisley ต้องถือว่าทำออกมาได้คุ้มค่า เนื่องจากตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 4G ด้วย แม้ว่าจะไม่สามารถเพิ่มพื้นที่หน่วยความจำที่ให้มา 32 GB ได้จากไมโครเอสดีการ์ดก็ตาม
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ แม้ว่าแบตเตอรีที่ให้มา 2,300 mAh แต่ก็สามารถนำมาใช้งานแบบอยู่ได้ทั้งวัน ถ้าไม่ได้ใช้งานหนักแบบต่อเนื่อง ส่วนเรื่องของกล้องยังมีการโฟกัสที่พลาดบ้าง แต่โดยรวมถือว่าทำได้ดี
ไม่นับรวมกับการใส่ลูกเล่นพิเศษมาเพิ่ม อย่างการปลุกเครื่องจากการใช้นิ้วสัมผัสที่หน้าจอ หรือการสั่นเครื่องเพื่อล็อก ทำให้ไม่ต้องใช้งานปุ่มเปิด-ปิดเครื่องมากนัก อย่างไรก็ตามตัวเครื่องยังมีอาการหน่วงๆให้เห็นบ้าง แต่ก็ถือว่ารับได้เมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป
Company Related Links :
Lenovo
CyberBiz Social