วันนี้ถือเป็นวันดีที่ผม @dorapenguin ได้รับกล้องดิจิตอลคอมแพกต์รุ่นใหม่ล่าสุดส่งท้ายปี 2557 จากแคนนอนมารีวิวแบบจัดเต็มถึง 1 สัปดาห์กับ PowerShot G7X ที่หลายคนรอคอยมากที่สุดอีกหนึ่งตัว เพราะด้วยรูปร่างที่เล็ก น้ำหนักเบาและเรื่องของประสิทธิภาพภายในที่มาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพตัวใหม่ขนาด 1 นิ้วรวมถึงฟีเจอร์เด่นภายในอย่างวิดีโอที่ถูกปรับปรุงใหม่จะเป็นเช่นไร ติดตามอ่านต่อได้จากบทความรีวิวนี้
การออกแบบและสเปก
ก่อนหน้านี้แคนนอนวางผลิตภัณฑ์กลุ่ม PowerShot G-Series ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (มี WiFi, ชิปประมวลผลภาพ DiGiC 6 เป็นต้น) เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วกับ PowerShot G16 และก็ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องมาถึงปีนี้กับ PowerShot G1X II ที่จัดอยู่ในกลุ่มท็อปฟอร์มสุดของกล้องดิจิตอลคอมแพกต์
แต่ทั้งนี้ด้วยขนาดของไฮเอนด์คอมแพกต์ที่แคนนอนมองว่ายังไม่ลงตัวกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้หญิงและวัยรุ่นที่ชื่นชอบการพกกล้องติดตัวไปทุกที่ทุกเวลา ด้วยขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักที่มากถึง 500 กรัมและฟีเจอร์บางส่วนที่ผู้ใช้คอมแพกต์ไม่นิยมใช้มากนัก แคนนอนลองคิดใหม่และกำเนิดไฮเอนด์คอมแพกต์กลุ่มย่อยขึ้นมาอีกกลุ่มกับ PowerShot G7X ที่เน้นความเล็ก น้ำหนักเบาและมีความคล่องตัวในการใช้งานสูงมาก
ด้วยขนาดตัวเครื่อง 103 x 60.4 x 40.4 มิลลิเมตร (ประมาณฝ่ามือ) พร้อมน้ำหนักรวมแบตเตอรีและการ์ดความจำอยู่ที่ 304 กรัม สามารถใส่กระเป๋าเสื้อได้
ด้านวัสดุแคนนอนเลือกใช้บอดี้เป็นอะลูมิเนียม เลนส์ที่มากับตัวกล้องเป็นซูมเลนส์ 4.2 เท่าพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ Lens-shift ช่วงความยาวโฟกัสเลนส์อยู่ที่ 8.8 - 36.8 มิลลิเมตรเทียบกับฟูลเฟรมจะได้ระยะ 24-100 มิลลิเมตร รูรับแสงกว้างสุดอยู่ที่ f1.8-f2.8 แคบสุด f11 โฟกัสใกล้สุดตั้งแต่ 5-40 เซนติเมตร
ตัวอย่างภาพที่ได้ในช่วงความยาวโฟกัส 8.8 มิลลิเมตรและ 36.8 มิลลิเมตร
ZoomPlus ต่อเนื่องอีก 8.4 เท่าจากระยะภาพประกอบด้านบน 100 มิลลิเมตร
นอกจากนั้นทางแคนนอนก็ยังปรับปรุงฟีเจอร์ ZoomPlus หรือเรียกง่ายๆ ว่า ดิจิตอลซูมในแบบฉบับของแคนนอนใหม่ให้มีความคมชัดมากขึ้น (จากภาพตัวอย่างด้านบน) โดยผู้ใช้สามารถซูมภาพผ่านโหมด ZoomPlus ได้มากถึง 8.4 เท่า
ในส่วนสเปกเซ็นเซอร์รับภาพเป็น BSI CMOS รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 20.2 ล้านพิกเซล ขนาดเซ็นเซอร์อยู่ที่ 1 นิ้วเทียบเท่ากับไฮเอนด์คู่แข่ง Sony RX100 ประกบหน่วยประมวลผลภาพ DiGiC 6 ความไวแสงรองรับ ISO 125-12,800 ส่วนออโต้โฟกัสใช้ Contrast Detect 31 จุดโฟกัส ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/2,000 วินาที ช้าสุดใน Manual Mode ที่ 250 วินาที ถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็วสูงสุด 6.5 ภาพต่อวินาที รองรับ RAW File และ JPEG
สำหรับหน้าจอแสดงผลขนาด 3 นิ้วแบบสัมผัส ความละเอียดหน้าจอ 1,040,000 จุด จอสามารถพับขึ้นลงได้ 180 องศา รองรับเซลฟี ด้านข้างจอเป็นปุ่มคำสั่งหลักที่เพิ่มปุ่ม WiFi (กดขึ้น) สำหรับกดเพื่อส่งภาพที่กำลังพรีวิวเข้าสู่สมาร์ทดีไวซ์ได้ทันที (ต้องเชื่อมต่อครั้งแรกให้เครื่องรู้จักกันก่อน)
นอกจากนั้นวงแหวนที่ติดตั้งรอบเลนส์กล้องยังสามารถปรับการตั้งค่าได้ตามโหมดใช้งานเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการปรับค่ากล้องด้วย
มาดูที่ส่วนบนของกล้องถ่ายภาพด้านซ้ายสุดจะเป็นไฟแฟลช มีสวิตซ์เปิดปิดอยู่ด้านข้างซ้ายมือ ถัดไปเป็นช่องไมโครโฟนและลำโพงสำหรับวิดีโอพร้อมโลโก้ WiFi และชื่อรุ่น ขวาสุดเป็นปุ่มเปิดปิดตัวเครื่อง ปุ่มชัตเตอร์พร้อมสวิตซ์เลื่อนซ้ายขวาเพื่อซูมภาพเข้าออก ส่วนวงแหวนขวาสุดจะทำหน้าที่เปลี่ยนโหมดถ่ายภาพ มีให้เลือกใช้งานครอบคลุมตั้งแต่ Manual ปรับตั้งค่ากล้องเองไปถึงโหมดอัตโนมัติ Hybrid Auto ที่รวมภาพนิ่งกับภาพเคลื่อนไหวเพื่อเก็บบรรยากาศขณะถ่ายภาพและโหมดเอ็ฟเฟ็กต์ภาพต่างๆ เหมือนกับ PowerShot G-Series รุ่นใหม่ทุกรุ่น
นอกจากนั้นอีกหนึ่งวงแหวนที่ซ้อนอยู่ใต้วงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพก็คือ วงแหวนปรับชดเชยแสงสามารถตั้งค่าได้ตั้งแต่ +3 ถึง -3
ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องจะมีปุ่มสำหรับเข้าสู่โหมดเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อโอนภาพและเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นปุ่มชัตเตอร์กดถ่ายภาพพร้อม Live View ผ่าน WiFi ได้ผ่านปุ่มคำสั่งนี้เพียงปุ่มเดียว ส่วนใครที่ต้องการนำ G7X ไปเชื่อมต่อกับมอนิเตอร์แสดงภาพวิดีโอก็สามารถทำได้เพราะตัวกล้องให้พอร์ต micro-HDMI มาให้ด้วย
มาถึงด้านใต้ของตัวเครื่องบริเวณด้านซ้ายมือจะเป็นที่อยู่ของ NFC สำหรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่รองรับ เพียงแค่นำมาแตะระบบจะทำการเชื่อมต่อ WiFi และเข้าสู่แอปพลิเคชันอัตโนมัติ ส่วนขวามือสุดจะเป็นช่องใส่แบตเตอรีรหัส NB-13L และช่องใส่การ์ดความจำ SD Card รองรับมาตรฐาน SD/SDHC/SDXC (UHS-I compatible)
สุดท้ายอีกหนึ่งจุดเด่นที่ปัจจุบันเริ่มหาได้ยากสำหรับไฮเอนด์คอมแพกต์เกือบทุกแบรนด์ที่ขายในท้องตลาดก็คือ Battery Charger ที่มักไม่ให้มาด้วยเพราะต้องการลดต้นทุน และแบตเตอรีกล้องประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ชาร์จเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่จะให้มาเฉพาะสาย USB มาเสียบชาร์จร่วมกับคอมพิวเตอร์หรืออะแดปเตอร์เท่านั้น แต่สำหรับ PowerShot G7X แคนนอนจัด Battery Charger มาให้ด้วย ใครที่ซื้อกล้องแล้วต้องการแบตเตอรีก้อนที่สองมาสำรองไว้ การมี Battery Charger แบบนี้สร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้ที่สุด
ฟีเจอร์เด่น
ต้องบอกว่าฟีเจอร์หลายส่วนของ PowerShot G7X จะไม่แตกต่างจาก PowerShot รุ่นก่อนหน้าเลยไม่ว่าจะเป็นการจัดวางอินเตอร์เฟส ฟีเจอร์อย่าง ND Filter ก็มีให้เลือกใช้ Creative Shot มีให้เหมือนเดิมหรือแม้แต่ตัววัดระดับความลาดเอียงกล้องใน G7X ก็มีมาให้อย่างครบครัน
ส่วนฟีเจอร์ที่มีให้เลือกใช้เพิ่มเฉพาะ PowerShot G7X มีดังต่อไปนี้
Manual Movie with 60fps ถือเป็นกล้องตระกูล PowerShot รุ่นแรกที่สามารถถ่ายวิดีโอที่ความเร็วเฟรม 60 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล ที่ดูจากสเปกแล้วจะแพ้คู่แข่งในเรื่องความละเอียดของไฟล์ภาพที่คู่แข่งทำได้มากถึง 50Mbps ในขณะที่ G7X อยู่ที่ 34Mbps แต่ตัวกล้องสามารถปรับตั้งค่าวิดีโอแบบ Manual ได้ทุกส่วนตั้งแต่ รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสงรวมถึงการล็อคโฟกัสและด้วยหน้าจอที่รองรับการสัมผัสทำให้การจับโฟกัสทำได้ง่ายกว่ารวมถึงโหมดวิดีโอ iFrame 1080p ก็มีให้เลือกใช้ใน G7X ด้วย
ชัตเตอร์ช้า 250 วินาที ด้วยการที่ตัวกล้องมีฟีเจอร์ถ่ายภาพดาวยามค่ำคืนที่มีให้เห็นครั้งแรกใน G16 มาในครั้งนี้ทางแคนนอนก็เลยใส่ความเร็วชัตเตอร์ช้ามาให้ปรับได้ตามใจชอบเฉพาะใน Manual Mode ด้วย สำหรับผู้ใช้ท่านใดอยากนำความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 40-250 วินาทีไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ถ่ายภาพแม่น้ำให้นุ่มนวลยามค่ำคืนหรือจะไปประยุกต์ใช้กับฟิลเตอร์ ND ทำมือเอง เป็นต้น
Smart Shutter ออกแบบมาเพื่อคนชอบถ่ายเซลฟี โดยโหมดนี้สามารถปรับการทำงานของชัตเตอร์แบบอัตโนมัติได้ 3 รูปแบบคือ 1.เมื่อยิ้มกล้องจะจับโฟกัสจากสีขาวของฟันแล้วชัตเตอร์จะลั่นอัตโนมัติ 2. Wink Self-Timer จับจากการกระพริบตา และ 3.FaceSelf Timer จับจากใบหน้า
ทดสอบประสิทธิภาพ
การทดสอบประสิทธิภาพ Canon PowerShot G7X จะใช้รูปแบบไฟล์ JPEG ความละเอียด Super fine เป็นหลัก โดยหนึ่งไฟล์จะใช้พื้นที่ (JPEG) 4-9 MB ส่วน RAW ไฟล์จะอยู่ที่ 19-23MB ภาพทั้งหมดที่จะได้ชมต่อไปนี้ไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ ยกเว้นครอปภาพเท่านั้น
เริ่มการทดสอบแรกตามธรรมเนียมก็คือการทดสอบค่าความไวแสงในแต่ละช่วง ISO 125-12,800 ดูจากสเปกชิปประมวลผล DiGiC 6 แล้วแทบไม่แตกต่างจาก G16 หรือ G1X II แต่อย่างใด แต่ในเรื่องคุณภาพที่ได้กลับค่อนข้างแตกต่าง ไฟล์ตั้งแต่ ISO 125-6,400 ค่อนข้างเนียนตา Noise น้อยมากและถือเป็นคอมแพกต์ไฮเอนด์ที่จัดการเรื่องสัญญาณรบกวนได้ดีเทียบเท่า DSLR APS-C ได้เลย
อีกหนึ่งบทพิสูจน์เรื่องการจัดการ Noise เพราะนี่คือการเปิดหน้ากล้องรับแสงนานถึง 80 วินาที หลายคนที่สงสัยว่ากล้องตัวจิ๋วหน้าตาดูบ้านๆ ไม่ดูมืออาชีพแบบนี้ ไฟล์ภาพจะเละเทะหรือไม่ คำตอบอยู่ที่รูปแล้วครับ (ลองกดไปรับชมแบบเต็มความละเอียดกันได้) โดยจะเห็นว่าหน่วยประมวลผล DiGiC 6 กับเซ็นเซอร์ 1 นิ้วรวมกันในชื่อ HS System ทำได้ดีมาก ดีกว่า G16 ที่เคยทดสอบไปมาก เนื้อไฟล์ที่ได้ค่อนข้างคมชัด แม้เมื่อซูมดูใกล้ๆ แบบ 100% แล้วจะเห็นความไม่เรียบของพิกเซลที่เกิดขึ้นบ้างแต่โดยภาพรวมแล้วถือว่าทำได้ค่อนข้างน่าประทับใจ
และถ้าเพิ่มความยากในการทดสอบกับลักษณะการถ่ายแบบ Snapshot เดินกดถ่ายอย่างเดียวด้วยโหมดอัตโนมัติจำลองการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไปกับช่วงเวลากลางคืนและในที่แสงน้อย คุณจะได้เห็นประสิทธิภาพของ G7X ที่ทำได้ดีและน่าสนใจมาก Noise ที่ได้ไม่ถึงกับน้อยมากแต่เรื่องความผิดเพี้ยนของสีไม่เกิดขึ้น รูรับแสง f1.8-2.8 ทำงานได้ดีประกอบกับน้ำหนักกล้องและขนาดด้วยแล้ว ผมขอเรียนตามตรงเลยครับว่า “นี่คือกล้องที่ถ่ายสนุกมากทั้งกลางวันและกลางคืนแบบที่ผมไม่เคบพบเห็นใน PowerShot G-Series” โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ด้วยขนาดตัวกล้องที่เล็กเวลาจะเดินไปถ่ายหน้าใครหรือถ่ายในสถานที่ใดๆ ก็ไม่ตกเป็นที่สนใจของผู้คน ทำให้เราได้อารมณ์ภาพถ่ายที่ดีมาก
ส่วนเรื่องโบเก้ (Bokeh) ด้วยขนาดเซ็นเซอร์ 1 นิ้วกับเลนส์รูรับแสง f1.8-2.8 ครั้งนี้ถือว่าทำโบเก้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่พบเจอเป็นข้อสังเกตก็คือ บางครั้งที่ตั้งใจจะโฟกัสเฉพาะวัตถุในระยะเทเลมักพบปัญหาโฟกัสไม่เข้าทำให้ออโต้โฟกัสวิ่งหาระยะชัดไปมากว่าจะเข้าจุดที่ตั้งใจโฟกัสบางครั้งใช้เวลานานแม้ผมจะลดขนาดจุดโฟกัสลงและใช้มือจิ้มจุดที่ต้องการโฟกัสแล้วก็ตามปัญหาก็ยังคงอยู่ แต่ก็โชคดีที่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง (ทุกครั้งที่เกิดปัญหาสามารถปิดแล้วเปิดกล้องจะช่วยแก้ไขได้) ตรงนี้คาดว่าอาจเกิดจากเฟริมแวร์ยังมีข้อผิดพลาด อย่างไรถ้าทีมแคนนอนได้เข้ามาอ่านอยากให้ลองทดสอบและแก้ไขเฟริมแวร์น่าจะช่วยได้
มาถึงเรื่องที่น่าสนใจและปกติผมจะไม่ค่อยกล่าวถึงในรีวิวก็คือคุณภาพ JPEG ที่ใน G7X มีความพิเศษอย่างมากเมื่อตั้งคุณภาพเป็น Super fine เพราะเนื้อไฟล์ค่อนข้างดีมาก โดยเฉพาะการบีบอัดและแสดงผลรายละเอียดภาพ เช่น ภาพด้านบนผมถ่ายติดอันเดอร์มาค่อนข้างมากจนหน้าแบบมืดมิดแต่เมื่อผมนำไฟล์ยิงเข้าแท็บเล็ตและดึงส่วนของ Shadow +5 Midtone +3 รายละเอียดภาพที่จมอยู่กลับแสดงผลออกมาได้ดีมาก เหมือนเรากำลังจัดการ RAW File อยู่และน่าจะเป็นจุดขายสำคัญของ G7X ที่เหนือกว่าไฮเอนด์คอมแพกต์เกือบทุกตัวที่วางขายอยู่ในตลาดตอนนี้
(ชมภาพขนาดใหญ่กรุณาคลิกภาพที่ต้องการ)
(ชมภาพขนาดใหญ่กรุณาคลิกภาพที่ต้องการ)
ในส่วนภาพรวมของคุณภาพไฟล์ภาพที่ได้จาก Canon PowerShot G7X หลังจากทดสอบอย่างจริงจังในทุกสภาพแสงผมเรียนตามตรงว่า G7X ให้ผลลัพท์ภาพที่ดีมาก ในช่วงเวลากลางวันไฟล์ภาพจะไม่ต่างจาก G-Series รุ่นก่อนหน้า แต่พอในที่แสงน้อยและช่วงเวลากลางคืน G7X จะแสดงประสิทธิภาพและจุดเด่นที่ชัดเจนกว่ารุ่นก่อนหน้ามากที่สุด โดยเฉพาะการไม่กลัวความมืดด้วย ISO ที่ตั้งได้กว้างตั้งแต่ 125-6,400 และสูงสุด 12,800 โดยไม่ต้องกลัว Noise ใดๆ เลย
ส่วนโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติที่ถือเป็นโหมดถ่ายภาพสำคัญสำหรับกล้องคอมแพกต์ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่สนใจเพราะช่วยให้กล้องใช้งานง่ายขึ้น สำหรับ PowerShot G7X ก็ถือว่าการทำงานฉลาดใช้ได้ ไม่ถึงกับอัจฉริยะแบบคู่แข่งโซนี่ที่มีโหมด Superior Auto ซึ่งยอดเยี่ยมกว่า แต่โดยภาพรวม โหมดอัตโนมัติของแคนนอนก็ให้ผลลัพท์ภาพที่ดีแล้ว โดยเฉพาะการปรับ ISO ที่แม่นใช้ได้และเลือกความเร็วชัตเตอร์ได้สอดคล้องกับความต้องการของระบบป้องกันภาพสั่นไหวเมื่อใช้งานตอนกลางคืนที่ผมมองว่า G7X ถ่ายภาพกลางคืนได้มันกว่าคู่แข่งทุกเจ้า
แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่า G7X จะดีเลิศขนาดไม่มีข้อสังเกตใดๆ เพราะปัญหาหลักตั้งแต่ PowerShot รุ่นเก่ายังคงมีอยู่คือเรื่องขอบม่วง (Purple Fringing) เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดหรือถ่ายย้อนแสง ถึงแม้จะถือเป็นเรื่องปกติของไอเอนด์คอมแพกต์ที่มักเป็นกันมากจากชุดชิ้นเลนส์ที่ถูกจำกัดในเรื่องของขนาดและการออกแบบ แต่ทุกค่ายก็พยายามลดความผิดพลาดนี้ด้วยชุดซอฟต์แวร์ แต่ทั้งนี้สำหรับ Canon PowerShot G7X ต้องยอมรับว่าเหมือนไม่มีซอฟต์แวร์มาจัดการตรงส่วนนี้หรือมีแต่ทำงานได้ไม่ดี ขอบม่วงที่เกิดจึงชัดเจนและมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งพอสมควร
นอกนั้นในเรื่องความไวของออโต้โฟกัส หน้าจอที่สัมผัสได้และการใช้งานถือว่าสอบผ่านและทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้ามาก
มาถึงเรื่องการออกแบบที่เน้นความเล็ก น้ำหนักเบาและการตัดฟีเจอร์บางส่วนออกเพื่อทำให้ G7X ตอบรับกับผู้ใช้ทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้หญิงและมือใหม่ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือกล้องพกพาสะดวกขึ้นและคนที่จะนำไปต่อกับ Housing ดำน้ำก็สามารถทำได้ในราคาระดับหมื่นบาทเท่านั้น แต่ข้อเสียสำหรับช่างภาพที่ชอบเล่นอุปกรณ์ G7X จะตอบสนองได้ไม่ดีเพราะถูกตัดทั้ง Hot Shoe ต่ออุปกรณ์ภายนอกออก ไม่มีกริปและไม่สามารถสวมใส่อุปกรณ์ต่อเลนส์เพิ่มเติมได้ ถ้าต้องการสิ่งเหล่านั้นอาจต้องโดดไปเล่นรุ่นสูงกว่ากับ G1X II ที่มาพร้อมเซ็นเซอร์ 1.5 นิ้วแต่สเปกฟีเจอร์บางส่วนจะไม่สดใหม่เท่ากับ G7X
วิดีโอนี้บันทึกแบบ 60 เฟรมต่อวินาที อย่าลืมเปลี่ยนความละเอียดในการรับชมเป็น 720p60 หรือ 1080p60
ในส่วนการถ่ายวิดีโอ G7X ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้การถ่ายภาพนิ่ง และถือเป็นโหมดวิดีโอที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับไฮเอนด์คอมแพกต์ในปัจจุบัน แม้คู่แข่งจะให้เนื้อไฟล์วิดีโอที่ดีกว่าตามที่เกริ่นไปแล้ว แต่เรื่องความยืดหยุ่นของไฟล์ในแบบแคนนอนถือว่าทำได้ดีกว่ามาก การบันทึกแบบ iFrame ที่ทำได้ใน G7X แบบเดียวกับ DSLR Canon ให้คุณภาพไฟล์ที่ดีและยืดหยุ่นเมื่อนำไปตัดต่อผ่านซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์
ส่วนความลื่นไหลและการเก็บรายละเอียดภาพ ด้วยโหมดวิดีโอที่สามารถบันทึกแบบแมนวลได้ทำให้การถ่ายวิดีโอทำได้ดั่งใจมากขึ้น หน้าจอที่สัมผัสเพื่อโฟกัสก็ทำงานได้ดี ความรู้สึกในการถ่ายวิดีโอทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนถ่ายด้วย DSLR อย่างใดอย่างนั้น
เรื่องสุดท้ายกับแบตเตอรีส่วนนี้ถือว่าผิดหวังอย่างแรงที่แคนนอนให้แบตเตอรีมาก้อนเล็กมาก (ถ่ายได้ประมาณ 210 ภาพ) และเหมือนการจัดการพลังงานในตัวจะทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะการใช้งานในโหมดชัตเตอร์ช้ากว่า 40 วินาทีลงไปบางครั้งถ่ายต่อเนื่องแค่ 5-10 ภาพแบตเตอรีก็ขึ้นขีดแดงฟ้องแบตเตอรีอ่อนแล้ว แต่เมื่อลองปิดกล้องทิ้งไว้สัก 10 นาทีแล้วเปิดขึ้นมาใหม่ขีดแบตฯจะกลับมาเต็มและถ่ายต่อเนื่องได้ 90-100 รูป ส่วนการใช้งานทั่วไปจากที่แคนนอนเครมไว้ว่าแบตฯหนึ่งก้อนถ่ายได้ประมาณ 210 ภาพ แต่จากการทดสอบใช้งานจริงด้วยสภาพอากาศที่แตกต่างและการใช้งานที่ต่างกัน เช่น มีการส่งภาพผ่าน WiFi เป็นต้น แบตฯหนึ่งก้อนผมสามารถใช้ถ่ายได้แค่ 150-180 ภาพเท่านั้น
ใครที่ต้องพกกล้อง G7X ไปเที่ยวควรหาซื้อแบตเตอรีสำรองไว้อีกหนึ่งก้อนจะดีที่สุดครับ
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- ขนาดเล็ก พกพาสะดวก
- เซ็นเซอร์ขนาด 1 นิ้วประกบ DiGiC 6 ให้ผลลัพท์ที่ดี โดยเฉพาะในที่แสงน้อยและการถ่ายภาพกลางคืน
- JPEG Superfine ให้คุณภาพดีมาก
- โหมดถ่ายดาวและโหมดเอ็ฟเฟ็กต์ภาพมีให้เลือกใช้งานหลากหลาย
- เลนส์ครอบคลุมทุกการใช้งาน ZoomPlus ทำงานได้ดี
- มีฐาน Battery Charger มาให้
- วิดีโอแมนวลโหมด คุณภาพไฟล์วิดีโอดี
ข้อสังเกต
- แบตเตอรีก้อนเล็ก ใช้งานได้ไม่นานต้องพึ่งแบตฯก้อนที่สองเวลาท่องเที่ยว
- ปัญหาระบบการทำงานบางส่วน เช่น ออโต้โฟกัสทำงานผิดพลาดต้องปิดเปิดกล้องใหม่ถึงหาย
- ขอบม่วงจากแคนนอนซูมเลนส์มีมาก ควรมีเฟริมแวร์ออกมาแก้ไขในอนาคต
กับราคาค่าตัว 22,040 บาทถือว่าอยู่ในช่วงราคากำลังดีเมื่อเทียบกับสเปก ความสามารถและฟีเจอร์ที่ได้จากไฮเอนด์คอมแพกต์เซ็นเซอร์ใหญ่ 1 นิ้ว ในขณะที่คู่แข่งราคากระโดดไปสองหมื่นบาทปลายๆ สิ่งที่คุณได้จาก PowerShot G7X คือไฟล์ภาพที่ดีมากโดยเฉพาะ JPEG Superfine ที่สะดวก ส่งไฟล์ผ่าน NFC ทำได้เร็วแถมเนื้อไฟล์ดีจนนึกว่าเป็น RAW File พร้อมการถ่ายภาพในที่มืด-แสงน้อยทำได้ว่องไวให้ผลลัพท์ภาพที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้คู่แข่ง ถึงแม้จะมีปัญหาใหญ่อยู่ที่แบตเตอรีก้อนเล็กและหมดเร็วมาก แต่คุณก็สามารถหาซื้่อแบตเตอรีก้อนที่สองได้
ทีนี้กับคำถามฮิตว่าระหว่างคู่แข่งอย่าง Sony Cybershot RX100 III กับ Canon PowerShot G7X ตัวไหนดีและน่าซื้อกว่ากัน อย่างแรกต้องยอมรับกันตามตรงก่อนว่า RX100 เลนส์ดีกว่าแคนนอนมาก ZEISS ขอบม่วงน้อยกว่า โหมดอัตโนมัติ Superior Auto ทำได้ดีกว่า สเปกรูรับแสงเลนส์ เซ็นเซอร์ไม่ต่างกัน (เรียกว่าออกมาฆ่ามาทับกันให้ตายไปข้างกันเลย) ถ่ายภาพกลางคืนไม่ต่างกันมาก ถ้าคุณกระเป๋าหนักจ่ายไหว และซีเรียสกับเรื่องขอบม่วงและความคมชัดแบบดิจิตอลที่มากกว่า วิ่งไปหา RX100 III ด่วน แต่สำหรับคนที่กำลังมองหาความคุ้มค่า ชอบนำไฟล์มา Process ผ่านแท็บเล็ตลองมองดู G7X กับ JPEG Superfine ที่ทำได้ดีกว่ามากจนคุณต้องหลงรัก รวมถึงหน้าจอสัมผัสรองรับ Touch Focus ที่ใช้งานจริงแล้วแม่นและเร็วกว่าเวลาต้องรีบกดโฟกัส ไปถึงโหมดวิดีโอที่แคนนอนทำได้ดีกว่าในเรื่องรูปแบบไฟล์ที่บันทึกนำมาเข้าโปรแกรมตัดต่อ ไฟล์ของแคนนอนทำงานได้เร็วกว่า AVCHD ของโซนี่
และสุดท้ายเรื่องสำคัญก็คือช่วงราคาที่เทียบกับความคุ้มค่าแล้ว Canon PowerShot G7X ตั้งราคาได้ดีกว่าและน่าจะถูกใจตลาดผู้ใช้ทั่วไปมากกว่า RX100 III ที่ดูจะจับตลาดมืออาชีพไปเล็กน้อย
Company Related Link :
Canon