ในจังหวะที่ไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ ยังไม่มีสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์เข้ามาทำตลาด การผลักดันโนเกีย ลูเมีย 930 (Lumia) ให้กลายมาเป็นเรือธงกวาดตลาดในช่วงกลางปี จึงเป็นทางเลือกเดียวที่จะทานกระแสของแอนดรอยด์โฟนในระดับไฮเอนด์ได้
ถ้านับเฉพาะในประเทศไทย Lumia 930 ถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ 2 ถัดจาก Lumia 630 ที่ทำตลาดหลังการเข้าซื้อธุรกิจมือถือของโนเกีย และเปลี่ยนชื่อเป็น ไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ และก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกาศอย่างชัดเจนว่าแพลตฟอร์ม X ของโนเกียจะไม่มีการพัฒนาต่อไป เพื่อมาโฟกัสกับสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟนเพียงอย่างเดียว
โดยจุดเด่นหลักของ Lumia 930 จะอยู่ที่กล้องที่ใช้เทคโนโลยี PureView ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล พร้อมกับฟังก์ชันการจัดการภาพจาก Nokia Creative Stuidio เป็นหลัก ไม่นับรวมกับในแง่ของหน่วยประมวลผลที่นำซีพียูสมัยนิยมอย่าง Snapdragon 800 มาใช้งาน และแน่นอนว่าตัวเครื่องรองรับการใช้งาน 4G ด้วย
การออกแบบและสเปก
ในมุมของดีไซน์ยังคงความโดดเด่นของสินค้าในตระกูล Lumia ที่เน้นวัสดุและงานประกอบแข็งแรง แต่ก็ยังแฝงไปด้วยสีสรรที่สดใส อย่างในรุ่นนี้มีสีให้เลือกทั้งหมด 4 สี คือ เขียว ส้ม ดำ และขาว ที่เป็นพลาสติกคุณภาพสูง ผสมกับอะลูมิเนียมรอบตัวเครื่อง ขนาดรอบตัวอยู่ที่ 137 x 71 x 9.8 มิลลิเมตร น้ำหนัก 167 กรัม
ด้านหน้า - จะมีหน้าจอ ClearBlack Sensitive Touch ที่ใช้กระจก Gorilla Glass 3 ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) ที่ให้ความละเอียดเม็ดสี 441ppi โดยมีขอบรอบจอเป็นสีดำ เพื่อขับความโดดเด่นของหน้าจอขึ้นมา ส่วนบนจอมีช่องลำโพงสนทนา กล้องหน้าความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล และโลโก้โนเกีย ถัดลงมาส่วนล่างเป็น 3 ปุ่มหลักของวินโดวส์โฟน คือ ย้อนกลับ หน้าแรก และค้นหา
ด้านหลัง - จะพบกับฝาหลังสีสดใส ที่ไม่สามารถถอดออกได้ ภายในมีแบตเตอรีขนาด 2,420 mAh โดยมีกล้อง PureView ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล ที่ใช้เลนส์ ZEISS F2.4 พร้อมไฟแฟลชคู่ และช่องลำโพง
ด้านซ้าย - จะถูกปล่อยว่างไว้เป็นขอบอะลูมิเนียม ด้านขวา - เป็นที่อยู่ของปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มชัตเตอร์
ด้านบน - มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. อยู่กึ่งกลาง และถาดสำหรับใส่นาโนซิมการ์ด ที่มีพลาสติกระบุรายละเอียดตัวเครื่องอยู่ด้วย ด้านล่าง - เป็นพอร์ตไมโครยูเอสบี และสัญลักษณ์มาตรฐานต่างๆ
สำหรับสเปกภายในของ Lumia 930 จะใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 800 ที่เป็นซีพียูควอดคอร์ 2.2 GHz RAM 2 GB พื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อง 32 GB ที่ไม่สามารถเพิ่มไมโครเอสดีการ์ดได้ ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน 8.1 (Cyan)
ส่วนการเชื่อมต่อตัวเครื่องรองรับทั้ง 3G ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 42.2 อัปโหลด 5.76 Mpbs และ 4G ที่ระดับความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 150 Mbps อัปโหลดสูงสุด 50 Mbps ไวไฟมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac บลูทูธ 4.0 NFC GPS และมีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวด้วย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
จากรูปแบบการแสดงผลที่เป็นมาตรฐานของวินโดวส์โฟน 8.1 ที่มีการนำ Live Tile ที่ต้องการมาจัดเรียงไว้ที่หน้าแรก เพื่อที่จะแสดงข้อมูลอัปเดตตลอดเวลา ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนธีมเป็นไปตามสีที่ต้องการ รวมไปถึงสามารถย่อขยายขนาดของสี่เหลียม ตามความสำคัญก็ได้เช่นกัน
เมื่อเลื่อนจากขอบจอด้านบนลงมาจะมีแถบการตั้งค่าลัด อย่างการเปิด-ปิด ไวไฟ บลูทูธ โหมดเครื่องบิน และเสียง พร้อมการแจ้งเตือนต่างๆ ส่วนหน้าจอล็อกสกรีน จะมีแสดงผลวัน เวลา และเตือนสายที่ไม่ได้รับ หรือข้อความที่ยังไม่ได้เปิดอ่าน
จากนั้นเมื่อปาดหน้าจอจากขวาไปซ้ายจะเข้าสู่หน้ารวมแอปฯ โดยแอปฯที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องจะประกอบไปด้วย กระเป๋าสตางค์ กล้อง การเงิน ตั้งค่า กีฬา เกม ข้อความ ข้อมูลอัจฉริยะ ข่าว เครื่องคิดเลข โทรศัพท์ นาฬิกาปลุก ปฏิทิน ระบบประหยัดพลังงาน รายชื่อ แผนที่ พยากรณอากาศ พ็อดแคสต์ เพลง โฟลเดอร์แอป ภาพถ่าย วิดีโอ วิทยุ ระบบนำทาง เบราว์เซอร์
แล้วก็แอปเฉพาะของโนเกียอย่าง Here Drive+ Here Maps Nokia Camera Nokia Beamer Nokia Cinemagraph Nokia Creative Studio Nokia Glam Me Nokia Storyteller Nokia Care MixRadio ตัวแอป Offoce OneDrive OneNote Outlook และ Store ไว้เข้าไปดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติม
มาดูกันตั้งแต่ระบบการใช้งานโทรศัพท์ ตัว Lumia 930 จะมาในหน้าจอที่เป็นปุ่มตัวเลขเหลี่ยมๆ ไม่มีระบบสุ่มเดารายชื่อขึ้นมาให้ใช้งานจากการกดตัวเลข หน้าจอสายเรียกเข้าจะมีให้กดรับสาย ไม่รับ และตอบกลับด้วยข้อความ ขณะสนทนาจะมีแสดงเวลาที่คุย ชื่อ เบอร์ พร้อมกับปุ่มเปิดลำโพง ปิดเสียง บลูทูธ พักสาย เพิ่มสาย ต่อเข้าสไกป์ วางสาย และเรียกปุ่มกด
มาถึงจุดสำคัญที่สุด ด้วยความที่ตัวกล้องให้ความละเอียดมา 20 ล้านพิกเซล แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่รองรับการถ่ายวิดีโอระดับ 4K แต่ก็สามารถบันทึกวิดีโอระดับ 1080p ในโหมดกล้องผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่าสมดุลแสงขาว ปรับความสว่าง ปรับค่าความไวแสง ปรับความเร็วชัตเตอร์ และเลือกโฟกัสได้ โดยการใช้นิ้วลากจากบริเวณปุ่มชัตเตอร์ออกมาทางซ้าย เพื่อเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่าด้วยตนเอง
หรือถ้าต้องการความสะดวกในการใช้งานก็สามารถกดที่ไอคอนด้านบนเพื่อปรับโหมดการถ่ายภาพให้เหมาะกับการใช้งานก็ได้ หรือถ้าต้องการปรับตั้งค่าอื่นๆก็สามารถกดเข้าไปที่มุมขวาบน โดยมีโหมดที่น่าสนใจคือฟังก์ชันการบันทึกภาพก่อนกดชัตเตอร์ ทำให้ภาพที่แสดงในแกลอรีมีการเคลื่อนไหวขึ้นมา
นอกจากนี้ ในการถ่ายภาพของ Lumia 930 ยังสามารถนำไปปรับแต่งใน Creative Studio ได้ โดยสามารถใช้เพื่อเลือกสี (ป็อปอัปสี) ตัดแปะ ปรับแต่งสี ความสว่าง ความคมชัด แก้ไขภาพ จากการหมุนภาพคร็อปภาพ รวมไปถึงเบลอวัตถุ หรือใช้เอฟเฟกต์แบบโฟกัสเป็นวงกลม และ Tilt Shift ได้ด้วย
ถ้าชอบการถ่ายภาพ Selfie Nokia Glam Me ก็เป็นอีกแอปฯที่น่าสนใจ ตัวแอปฯสามารถสั่งให้ใช้การจับภาพด้วยเสียงได้ พร้อมกับเลือกโทนสีของภาพที่ต้องการ หรือถ้าต้องการนำภาพนิ่งมาตัดแปะเป็นวิดีโอก็จะมี Nokia Storyteller ให้เลือกใช้งาน โดยแอปฯจะให้ผู้ใช้เลือกรูปภาพที่ต้องการ และเพลงประกอบ หลังจากนั้นจะแปลงออกมาเป็นคลิปวิดีโอให้แชร์ได้ทันที
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นเสมอมาใน Lumia คือเรื่องของแผนที่ และระบบนำทางอย่าง Here Maps ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแผนที่แต่ละประเทศมาเก็บไว้ในเครื่อง เพื่อนำมาใช้งานแบบออฟไลน์ (ไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) หรือถ้าต้องการข้อมูลรายละเอียดสถานที่ ตัวแผนที่ก็จะทำการค้นหาให้ทันที ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้เป็นอย่างดี
ที่มีเพิ่มมาและดูน่าสนใจคือ ระบบจดจำสถานที่จอดรถ โดยตัวแอปฯจะทำการบันทึกพิกัดของรถไว้ เมื่อเดินออกจากตัวอาคาร หรือห้างสรรพสินค้าก็สามารถเปิดแอปฯเพื่อให้ระบุสถานที่จอดรถได้ทันที โดยจะมีทั้งในรูปแบบแผนที่ให้ดู และอีกแบบหนึ่งคือให้กล้องระบุสถานที่แบบ AR แต่น่าเสียดายว่าใช้ได้กับลานจอดรถในสถานที่เปิดเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับอาคารจอดรถได้
ด้วยการที่ตัวเครื่องมีเซ็นเซอร์นับจำนวนก้าว เมื่อนำมาใช้งานคู่กับ Bing Health & Fitness จะสามารถดูตั้งเป้าหมายการเดินในแต่ละวัน รวมถึงดูว่าเดินเป็นระยะทางเท่าใด ผลานแคลอรีไปเท่าไหร่ รวมระยะเวลาในการเดินกี่นาที คิดเป็นกี่ก้าวต่อนาที ซึ่งถ้าใช้ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ก็จะช่วยลดน้ำหนักสำหรับคนรักสุขภาพได้
ในเรื่องของความบันเทิง Lumia 930 จะมีทั้งเครื่องเล่นเพลงปกติ Nokia MixRadio และ Podcast มาให้เลือกใช้งาน ซึ่งถ้าชื่นชอบการฟังเพลง ก็ต้องยอมรับว่าคลังเพลงใน MixRadio นั้นมีความน่าสนใจในระดับหนึ่ง และถ้าชื่นชอบการฟังเพลงผ่านพ็อดแคสก็สามารถเลือกดาวน์โหลดมาเก็บไว้เพื่อฟังทีหลังได้ด้วย
การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ถือว่าพัฒนาขึ้นมาได้ค่อนข้างดี การตอบสนองในการใช้งานทำได้อย่างลื่นไหล ประกอบกับหน้าจอแสดงผลที่ให้มาระดับ 5 นิ้ว ถือว่าโอเคกับการใช้งาน และที่สำคัญคือสามารถเล่นไฟล์แฟลชได้ด้วย
คีย์บอร์ดที่ให้มาในส่วนของภาษาไทยอาจจะแปลกไปสักหน่อย เพราะเป็นแบบ 4 แถว ทำให้มีตัวอักษรอย่าง ผ ฝ ล ลงมาอยู่ข้างๆปุ่มเว้นวรรคแทน แต่ถ้าใช้งานไปสักพักจนเกิดความเคยชินก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ส่วนภาษาอังกฤษเป็นไปตามมาตรฐาน
ข้อมูลอัจฉริยะ เป็นแอปฯที่เอาไว้ควบคุมปริมาณการใช้งานดาต้า ที่จะแสดงว่าได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และไวไฟไปปริมาณเท่าใดแล้ว โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปกำหนดปริมาณการใช้งานดาต้าสูงสุดได้ รวมถึงเข้าไปดูว่าแอปใดมีการใช้งานดาต้าเท่าไหร่บ้างด้วย
ระบบประหยัดพลังงาน จะแสดงแบตเตอรีที่เหลืออยู่ คำนวนออกมาเป็นระยะเวลาใช้งานโดยประมาณ พร้อมระบุเวลาที่ชาร์จครั้งสุดท้าย และตั้งให้ตัวเครื่องเปิดใช้งานระบบประหยัดพลังงานได้ว่า เมื่อแบตเตอรี่ต่ำ จนกว่าจะชาร์จครั้งต่อไป และตลอดเวลา
ในส่วนของโฟลเดอร์แอป จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สร้างโฟลเดอร์ส่วนตัวเพื่อให้เข้าถึงแอปฯที่ใช้งานเป็นประจำ โดยสามารถแบ่งประเภทของการเรียกใช้งานได้ หลังจากนั้นเข้าไปเลือกว่าในแต่ละโฟลเดอร์จะให้มีแอปใดบ้าง ซึ่งในที่นี้จะรวมถึงการตั้งค่าต่างๆของเครื่องด้วย
สุดท้ายในส่วนของการตั้งค่าจะแบ่งออกเป็นหลักคือตัวระบบ และตัวแอปพลิเคชัน ภายในระบบก็จะมีให้ตั้งค่า หน้าจอ เสียงเรียกเข้า อีเมล การล็อกหน้าจอ การแจ้งเตือน เชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ โทรศัพท์ NFC VPN ที่ทำงาน โหมดเด็ก ประหยัดพลังงาน ข้อมูลอัจฉริยะ ที่เก็บข้อมูล ความสว่าง การหมุนหน้าจอ DLNA ระบบค้นหาโทรศัพท์ การสำรองข้อมูล
การซิงค์ข้อมูลต่างๆ โหมดขับขี่ ตำแหน่ง การเชื่อมต่อยูเอสบี วันเวลา แป้นพิมพ์ ภาษา ภูมิภาค สั่งงานด้วยเสียง ความง่ายในการเข้าถึง การอัปเดตโทรศัพท์ การตั้งค่าเพิ่มเติม บัญชีโนเกีย ระบบสัมผัส และตัวกรองสาย และข้อความ
จุดขาย
- กล้อง PureView ความละเอียด 20 ล้านพิกเซล พร้อมแอปฯถ่ายภาพ
- รองรับการเชื่อมต่อ 4G
- มีระบบวัดก้าวภายในตัวเครื่อง
- ระบบนำทาง Here Maps
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ไม่สามารถเพิ่ม ไมโครเอสดีการ์ดได้
- ตัวเครื่องใช้นาโนซิมการ์ด
- แอปพลิเคชันยังไม่ค่อยหลากหลาย
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ที่บอกว่า Lumia 930 ยังถือเป็นรุ่นในระดับรองไฮเอนด์ ก็เพราะว่าในซีรีส์ Lumia ยังมีสินค้าในตระกูล 10xx ที่อัดกล้อง PureView ความละเอียด 41 ล้านพิกเซล ค้ำอยู่ ทำให้ในอนาคตยังมีโอกาสที่โนเกียจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาทำตลาดในเครื่องระดับไฮเอนด์ที่ราคาสูงกว่านี้
แต่ด้วยระดับราคาที่ 19,890 บาท ก็เชื่อได้ว่าไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใดในท้องตลาดที่ให้กล้องคมชัดเท่ากับ Lumia 930 ประกอบกับความสามารถโดยรวมของวินโดวส์โฟน 8.1 เริ่มพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงตอบสนองการใช้งานได้ครอบคลุมมากมยิ่งขึ้น
ดังนั้น ถ้าไม่ยึดติดกับระบบของ iOS และ แอนดรอยด์แล้วนั้น Lumia 930 น่าจะเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจในระดับราคาต่ำกว่า 20,000 บาท แต่ก็เช่นกันว่าต้องทำความเข้าใจ และยอมรับข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน 8.1 ที่ยังคงอยู่ในช่วงการพัฒนาอยู่เช่นกัน
Company Related Links :
Nokia
CyberBiz Social
http://instagram.com/cbizonline