xs
xsm
sm
md
lg

Review: Nikon D610 เมื่อ D600 ขอแก้เกมใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ช่วงนี้ถือเป็นปีของนิคอนฟูลเฟรม (กล้อง DSLR เซ็นเซอร์ 35 มิลลิเมตร) เพราะหลังจากที่เรารีวิว Nikon Df ไปได้ไม่นาน มาวันนี้ทางนิคอนก็ส่งน้องเล็ก D610 มาให้ผม เป๋า @dorapenguin ทดสอบกันอีกครั้งกับการมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของ D600 และเป็นเหตุให้ D600 กลายเป็นกล้องที่มีอายุสั้นที่สุดเพียง 1 ปีเท่านั้น


ความแตกต่างระหว่าง D600 กับ D610

- กลไกลชัตเตอร์ใหม่หมดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นใน D600
- ความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องเพิ่มเป็น 6 ภาพต่อวินาที
- EXPEED 3 มีการปรับแต่งเรื่องสมดุลแสงขาวใหม่ (White Balance) ใหม่ให้เที่ยงตรงขึ้น
- เพิ่มโหมดภาพถ่ายภาพต่อเนื่องแบบเสียงชัตเตอร์เบา (Quiet Continuous Shot) ที่ความเร็ว 3 เฟรมต่อวินาที

การออกแบบและสเปก




ด้านการออกแบบภาพรวมทั้งหมดแทบไม่มีความแตกต่างกับ D600 วัสดุประกอบยังคงเลือกใช้แมกนีเซียมอัลลอยด์พร้อมซีลยางกันน้ำฝนกันฝุ่นเข้ามาภายในกล้องได้ระดับหนึ่ง พร้อมน้ำหนัก 850 กรัม

ในส่วนสเปกหลักของกล้อง Nikon D610 จัดเป็น DSLR ฟูลเฟรม FX-Format ใช้เช็นเซอร์รับภาพ CMOS ขนาด 35.9x24.0 มิลลิเมตร ความละเอียด 24.3 ล้านพิกเซล (6,016 x 4,016 พิกเซล) ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED 3 รองรับการถ่าย RAW FIle RAW+JPEG และ DX Crop ที่ขนาดไฟล์ประมาณ 8-10 ล้านพิกเซล (ใครมีเลนส์ DX อยู่สามารถใส่กับกล้องรุ่นนี้ได้ แต่จะถ่ายที่ความละเอียดไม่เกิน 10 ล้านพิกเซล) พร้อมค่าความไวแสง (ISO) ให้เลือกใช้ตั้งแต่ 50-25,600 (ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 100-6,400)

มาที่การถ่ายวิดีโอจะรองรับความละเอียดสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็วเฟรม 30 เฟรมต่อวินาทีแบบ Progressive ส่วนที่ความละเอียด 1,280x720 พิกเซลจะสามารถถ่ายที่ความเร็วเฟรมสูงสุด 60 เฟรมต่อวินาทีแบบ Progressive ได้พร้อมบาร์มอนิเตอร์เสียงที่หน้าจอสำหรับการเชื่อมต่อกับไมโครโฟนภายนอก

เรื่องของโฟกัสอัตโนมัติมากสุด 39 จุด รองรับการโฟกัสแบบเปลี่ยนพื้นที่โฟกัส 9,21,39 จุด พร้อมระบบโฟกัสแบบติดตามวัตถุ 3 มิติ และสามารถเลือกพื้นที่โฟกัสได้อย่างอิสระ



ด้านจอแสดงผล LCD TFT มีขนาด 3.2 นิ้วความละเอียด 921,000 จุด ครอบคลุมการมองเห็นภาพ 100% และด้วยการเป็นกล้องเน้นเรื่องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ทำให้ทางนิคอนมีการปรับย้ายปุ่มคำสั่งใหม่โดยเน้นหนึ่งปุ่มคำสั่งสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ เช่น ปุ่มเมนูถ้ากดหนึ่งครั้งจะเรียกเมนูขึ้นมา ส่วนถ้ากดค้างไว้และใช้วงล้อด้านขวาเลื่อนไปมาจะเปลี่ยนเป็นคำสั่งเลือก Picture Style เป็นต้น



มาดูด้านบนของกล้อง จะเป็นการออกแบบตามแนวทางกล้องฟูลเฟรมขนาดเล็กยุคใหม่ของนิคอนตั้งแต่ D600 เมื่อปีที่แล้ว กล่าวคือนอกจากกะโหลกกล้องจะมีขนาดเล็กเหมือน DSLR ระดับกลางแล้ว วงล้อปรับโหมดถ่ายภาพมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยจะเน้นวงล้อปรับโหมถ่ายภาพเป็นหลักซ้อนทับกับวงล้อปรับรูปแบบการถ่ายภาพตั้งแต่ ถ่ายแบบ Single Shot, ภาพต่อเนื่อง, ตั้งเวลาถ่ายภาพ เป็นต้น ส่วนจอแสดงค่ากล้องยังคงมีอยู่เหมือนเดิมพร้อมไฟส่องสว่างเวลาใช้งานกลางคืน (สามารถเปิดไฟส่องสว่างได้โดยเลื่อนสวิตซ์จาก On ไปทางขวาหนึ่งครั้ง ไฟจะติดเป็นสักครู่ก่อนจะดับลง)



ด้านช่องใส่การ์ดความจำยังคงเอกลักษณ์ของกล้องนิคอนราคาระดับ 4-5 หมื่นบาทอยู่เพราะนิคอนให้ช่องใส่การ์ดความจำมาสองช่อง (Dual Slot) ซึ่งผู้ใช้สามารถเก็บไฟล์ภาพแยกการ์ดหนึ่งเป็น RAW อีกการ์ดหนึ่งเป็น JPEG หรือจะตั้งให้เป็นการสำรองภาพถ่ายเผื่อการ์ดใดการ์ดหนึ่งเสียหายไป ไฟล์ภาพก็ยังคงอยู่



อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจและถือว่า D600/610 เป็นโมเดลต้นๆ ของนิคอนที่ให้ช่องเสียบหูฟังสำหรับมอนิเตอร์เสียงเมื่อใช้โหมดวิดีโอได้พร้อมช่องต่อไมโครโฟนก็มีมาให้อย่างครบครัน

นอกจากนั้นตัวกล้องยังรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง GPS หรือ Mobile Adapter สำหรับใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ด้วย



ในส่วนชุดเลนส์คิทที่มากับกล้อง D600/610 จะเป็น Nikon 24-85 f3.5-4.5 VR และในบทความรีวิวนี้ภาพถ่ายทุกภาพจากกล้อง D610 เป็นผลผลิตของเลนส์ชิ้นนี้

สำหรับรายละเอียดของสเปกอื่นๆ สามารถติดตามชมต่อได้โดย >คลิกที่นี่<

ทดสอบประสิทธิภาพ



ถือเป็นบทความรีวิวกล้องไม่กี่ชิ้นที่ผมตัดเข้าสู่ช่วงทดสอบประสิทธิภาพเร็วที่สุด เพราะความจริงแล้วด้านฟีเจอร์ของ Nikon D610 แทบไม่มีความแตกต่างจาก D600 แต่อย่างใด ถึงแม้ความเป็นจริงผมจะไม่เคยหยิบยก D600 มารีวิวอย่างจริงจังเพราะช่วงนั้นผู้จัดการไซเบอร์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของรีวิวกล้องถ่ายภาพ แต่ด้วยระยะเวลาร่วม 1 ปีที่ D600 วางตลาดมาจนถึง D610 ผมเชื่อว่าหลายคนอยากเห็นคุณภาพไฟล์มากกว่าจะมานั่งอ่านเรื่องที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบรรดาผู้ใช้ที่เจอปัญหาแสนปวดหัวกับ D600 ล็อตแรกๆ

ผู้อ่านท่านใดต้องการรับชมรายละเอียดไฟล์ภาพ รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ช่วงระยะที่ถ่ายสามารถกดชมรายละเอียดที่รูปได้เลยเพราะลิงค์กับ flickr ไว้และถ้าต้องการย้อนกลับมาอ่านบทความรีวิวอีกครั้งให้กดปุ่มย้อนกลับที่บราวเซอร์ของท่าน



เริ่มเรื่องแรกกับการตรวจสอบสัญญาณรบกวนที่ค่าความไวแสงในแต่ละช่วงกันก่อน จะเห็นว่า D610 สามารถดรอป ISO ให้ตกลงมาที่ 50 ได้จนไปถึงค่า ISO 6,400 ตามมาตรฐานที่นิคอนระบุไว้ ถือว่าใช้งานได้จริง สัญญาณรบกวนค่อนข้างต่ำ

ในขณะที่ช่วงค่า ISO ตั้งแต่ 8,000-12,800 ก็ยังนับว่าหน่วยประมวลผลภาพยังทำหน้าที่ได้ดี สามารถเลือกใช้เวลาจำเป็นได้คล้ายกับตอนทดสอบ Nikon Df อย่างใดอย่างนั้น

และค่า ISO สุดท้ายแบบ High Boost ที่ 25,600 จะเริ่มเห็นสัญญาณรบกวนเป็นเม็ดสีแตกๆ มาแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าเยอะมาก และดูเหมือนว่านิคอนจะแก้ปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนได้เสียที ยินดีไปพร้อมๆ กับ Nikon Df เลย






และก็มาถึง 3 ภาพที่เรียกได้ว่าเป็นภาพถ่ายที่มีสภาพแสงแวดล้อมซับซ้อนเพื่อดูเรื่องการจัดการ White Balance ซึ่งทั้ง 3 ภาพนี้ผมตั้ง AUTO WB และยิงภาพอัตโนมัติ (AUTO) แบบ JPEG ไฟล์กันเลย พบว่าสมดุลแสงสีขาวใน D610 มีการปรับเล็กน้อยจาก D600 ที่ผมเคยทดลองใช้มา โดยโทนผิวผมมองว่าเหมือน Nikon Df เล็กๆ และภาพที่ผมประทับใจมากก็คือภาพคุณพี่ขายผัดหมี่ฮ่องกงซึ่งในสภาพแวดล้อมจริงคือหน้าพี่เหลืองมาก แต่กล้องจัดการให้ดีมากจนภาพที่ได้แทบไม่ต้องตกแต่งเพิ่มเติมใดๆ



ก่อนหน้านี้ตามกระทูปัญหาของ D600 ในเว็บไซต์ต่างประเทศหลายเว็บไซต์มีผู้ใช้บ่นถึงเรื่องระบบออโต้โฟกัสที่ทำงานได้ช้ามาก โดยเฉพาะเมื่อโฟกัสผ่านหน้าจอ Live View แต่สำหรับ D610 ปัญหาเหล่านั้นน่าจะถูกแก้ไขแล้วครับ เพราะภาพนี้ผมถ่ายได้โดยการทำงานทุกอย่างเป็นปกติดี



ส่วนภาพนี้เป็นภาพที่ครอปมาจากภาพใหญ่ 24.3 ล้านพิกเซลเหลือประมาณ 14-15 ล้านพิกเซล จะเห็นว่าคุณภาพไฟล์ค่อนข้างดีแม้จะเป็นภาพที่ถูกครอปมามากพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีอาการภาพแตกให้เห็นแต่อย่างใด



มาถึงภาพนี้ตั้งใจทดสอบ ISO โดยเฉพาะ โดยผมเลือกค่าความไวแสงที่ 10,000 ความเร็วชัตเตอร์ 1/100 วินาที ถ่ายเป็น RAW File และใช้ซอฟต์แวร์ Lightroom 5 ลบสัญญาณรบกวนออกเล็กน้อย จะเห็นว่าภาพที่ได้ถือว่าสามารถนำไปใช้งานจริงได้แม้ ISO จะสูงเกินมาตรฐานที่นิคอนกำหนดสำหรับกล้องรุ่นนี้ไว้ที่ 6,400 ก็ตาม


D610 - Nikon Lens 24-85 - 24mm - ISO250 - 1/125 - f13


D610 - Nikon Lens 24-85 - 85mm - ISO500 - 1/320 - f4.5


D610 - Nikon Lens 24-85 - 85mm - ISO800 - 1/800 - f6.3


D610 - Nikon Lens 24-85 - 24mm - ISO160 - 1/500 - f8


D610 - Nikon Lens 24-85 - 24mm - ISO50 - 1/100 - f8


D610 - Nikon Lens 24-85 - 48mm - ISO2200 - 1/50 - f4.5


D610 - Nikon Lens 24-85 - 85mm - ISO1000 - 1/320 - f4.5

ในส่วนการถ่ายภาพนิ่งถือว่า Nikon D610 เป็นกล้องรุ่นแก้เกมของ D600 ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกปัญหาที่หลายคนพบเจอถูกแก้ไขให้เข้าที่เข้าทางแล้วใน D610 จนกลายเป็นฟูลเฟรมระดับเริ่มต้นที่สมบูรณ์แบบเสียที ช่างภาพนิ่งที่กำลังเริ่มต้นอาชีพถ่ายภาพไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง



แต่ในขณะที่งานถ่ายภาพนิ่งถูกแก้ไขปัญหาหลายส่วนจนสมบูรณ์แล้ว แต่งานถ่ายวิดีโอกลับยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการควบคุม ถึงแม้นิคอนจะเริ่มหันมาใส่ใจงานวิดีโอมากกว่าแต่ก่อน ตั้งแต่การใส่ช่องหูฟังมอนิเตอร์เสียงไปถึงคุณภาพไฟล์วิดีโอที่ดีขึ้นมาก แต่กลับมาตกม้าตายในเรื่องการควบคุมที่ยังให้ความรู้สึกว่าเลนส์กล้องกับตัวกล้องไม่ไปด้วยกัน แถมระบบถ่ายวิดีโอผ่าน Live View ก็ทำงานเพี้ยนพอสมควร ตั้งแต่เรื่องการปรับรูรับแสงผ่าน Live View ที่ยังทำไม่ได้เหมือน D600 แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยการปิด Live View ก่อนแล้วค่อยปรับรูรับแสงจากนั้นค่อยเปิด Live View อีกทีรูรับแสงถึงจะเป็นไปตามค่าที่กำหนด ไปถึงระบบออโต้โฟกัสให้โหมดวิดีโอที่ทำงานได้ช้า ไม่แม่นยำ และการโฟกัสแบบต่อเนื่องเมื่อต้องใช้ถ่ายรายการยังทำได้ไม่ดีเลย

สรุปสำหรับงานถ่ายภาพ Nikon D610 ถือว่าสมบูรณ์แบบและใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาจาก D600 นิดๆ หน่อยๆ ถือว่าเป็นของขวัญจากนิคอนที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ คยที่มี D600 อยู่แล้วไม่เจอปัญหาเรื่องฝุ่นหรือได้รับการแก้ไขให้หายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องขายตัวเก่าแล้วมาซื้อ D610 เพราะไม่มีอะไรต่างกันเลย

ส่วนงานวิดีโอ นิคอนยังต้องฝึกทำการบ้านอีกมากโดยเฉพาะเรื่องของระบบออโต้โฟกัสผ่าน Live View ที่ยังทำได้ไม่ดีเลย คนที่คิดจะซื้อมาใช้งานวิดีโอจริงจัง โดยเฉพาะพวกถ่ายทำรายการขอให้มองข้ามไปเลยครับ

สำหรับราคาค่าตัว Nikon D610 เฉพาะบอดี้อย่างเดียวอยู่ที่ 59,900 บาท ถ้าเป็นชุดพร้อมคิทเลนส์ 24-85 VR จะอยู่ที่ 75,900 บาท

Company Related Link :
Nikon

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket




กำลังโหลดความคิดเห็น