xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องรอแล้ว! รีวิวจริง Nikon Df ฟูลเฟรมย้อนยุคราคาเหยียบแสนบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




วันนี้ผม @dorapenguin หรือเป๋าเจ้าเก่าจะพาทุกท่านไปสัมผัสกับกล้องฟลูเฟรมรุ่นใหม่สุดจากนิคอนที่มีดีไซน์และแนวทางโดดเด่นเฉพาะตัวพร้อมคำจำกัดความสุดแสนจะไฮโซว่า "ของเล่นคนรวย ที่ช่างภาพมืออาชีพถวิลหา" กับ Nikon Df ที่ผมพยายามตบตีแย่งชิงฝ่าสื่อมวลชนหลายเจ้าในไทย ดึงตัวจริงมาทดสอบให้ผู้อ่านไซเบอร์บิซได้รับชมกันเป็นเว็บไซต์แรกๆ ของประเทศไทย



แต่ก่อนจะไปรับชมรีวิว ผมขอกล่าวถึงที่มาที่ไปของ Nikon Df กันก่อน โดยคำว่า Df ย่อมาจาก Digital Fusion บนคอนเซป "Pure Photography" หรือตีความง่ายๆ เลยก็คือ นิคอนต้องการสร้างกล้องที่ให้อารมณ์ภาพและการควบคุมเดียวกับกล้อง Nikon F3 ที่โด่งดังมากเมื่อปี 1980 จากการออกแบบของดีไซน์เนอร์ชาวอิตาเลียน Giorgetto Giugiaro แถม NASA เลือกให้เป็นกล้องที่ขึ้นไปเก็บภาพในอวกาศเมื่อในอดีต

ซึ่งเมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันนิคอนก็เหมือนเลือกนำบอดี้ F3 มาฟิวชันกับ D4 ที่ถือเป็น DSLR รุ่นท็อปสุดของยุคเช่นกัน ผลออกมาก็กลายเป็น Df อย่างที่ทุกท่านได้เห็นไปแล้ว เพื่อตอบรับกับกระแสย้อนยุคและเหล่าช่างภาพที่ถวิลหาอารมณ์ภาพเฉพาะตัวที่หาไม่ได้จากกล้องดิจิตอล


Nikon Df ก็คือ Nikon F3 ในปี 1980 มาถือกำเนิดใหม่โดยรวมร่างกับระบบของ Nikon D4

การออกแบบ



เริ่มจากการออกแบบกล้อง หลักๆ ยังคงรูปแบบกล้องมีกระจกสะท้อนภาพ ก็คือมีปริซึมสะท้อนภาพอยู่ภายในด้านบนและกระจกหักเหแสงเข้าสู่ช่องมองภาพ โดยนิคอนจงใจปรับการออกแบบให้เหมือนกล้องนิคอนไฮเอนด์ในยุค '80 ที่เน้นมุมแบบเหลี่ยมๆ ไปถึงโลโก้แบบเก่า และวัสดุแมกนีเซียมอัลลอยทั้งบอดี้พร้อมซีลยางรอบตัวเครื่อง ทำให้สามารถใช้งานในสภาพอากาศที่เลวร้ายได้แบบเดียวกับไฮเอนด์ DSLR อย่าง D4

แถมด้วยแนวคิดที่อยากให้กล้องฟูลเฟรมสามารถพกพาติดตัวไปท่องเที่ยวได้แบบไม่หนักกระเป๋า นิคอนจึงลดน้ำหนักของกล้องรุ่นนี้ลงเหลือเพียง 765 กรัม และขนาดมิติลำตัวกล้องที่ลดลงเหลือ 143.5 x 110 x 66.5 มิลลิเมตร ทำให้การพกพากล้องรุ่นนี้ทำได้สะดวกสบายมากขึ้นแบบเดียวกับการพกพามิร์เรอร์เลส

ส่วนปุ่มคำสั่งด้านหน้ากล้องทางนิคอนก็ใส่มาให้แบบจัดเต็มเหมือนรุ่นพี่อย่าง Nikon D4 ตั้งแต่วงแหวนหมุนปรับค่ากล้อง ปุ่มเช็คระยะชัดลึก ปุ่ม Function อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการตั้งค่าแบบรวดเร็ว รวมถึงมีช่องต่อสายซิงค์แฟลช (ISO 518) ติดตั้งอยู่บริเวณเหนือปุ่มปลดล็อคเลนส์ด้วย



มาถึงเรื่องเลนส์ที่รองรับ สำหรับรุ่นที่ทีมงานได้รับมาจะเป็นชุดคิทเลนส์ AF-S 50 f1.8G Special Edition ที่ดีไซน์รูปทรงใหม่ให้เข้ากับตัวกล้อง และยังรองรับเลนส์เมาท์ F แบบไม่มี CPU ได้ด้วย รายละเอียดเพิ่มเติม >คลิกที่นี่<



มาชมส่วนบนของกล้อง จะเป็นตำแหน่งของปุ่มควบคุมการถ่ายภาพทั้งหมด โดยนิคอนทำการแยกปุ่มปรับค่าต่างๆ ออกมาเป็นวงล้อแบบกล้องสมัยก่อน (ต้องกดปุ่มปลดล็อควงล้อค้างไว้ก่อนถึงจะหมุนได้) ตั้งแต่ค่า ISO 100-204800 ชดเชยแสง +/- ความเร็วชัตเตอร์ที่ให้มาสูงสุดที่ 1/4,000 วินาที ไปถึงปุ่มชัตเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสายลั่นแบบเก่าได้และช่องต่อไฟแฟลชปกติ

ส่วนวงล้อปรับโหมดถ่ายภาพจะถูกเปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ด้านขวาสุดพร้อมลดบทบาทหน้าที่ลงเพราะมีให้เลือกปรับได้แค่ 4 โหมดหลักเท่านั้นได้แก่ M (แมนวล) A (ปรับรูรับแสง) S (ปรับความเร็วชัตเตอร์) และ P (โปรแกรมกึ่งอัตโนมัติ)

ด้านจอแสดงผลจะมีขนาดเล็กลงมากเหลือให้แสดงผลได้เพียงแค่ค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง จำนวนภาพที่ถ่ายได้จนการ์ดความจำเต็มและปุ่มกดเรียกไฟหน้าจอเวลาใช้งานกลางคืนเท่านั้น



มาถึงด้านหลังของกล้องที่ดูมีความเป็นดิจิตอลที่สุด เริ่มจากหน้าจอแสดงผลขนาด 3.2 นิ้ว รองรับการถ่ายภาพนิ่งและโฟกัสผ่าน Live View

ด้านปุ่มคำสั่งมีการจัดวางแบบเดียวกับ DSLR ของนิคอนรวมถึงระบบเมนูภายในทั้งหมดแทบถอดแบบมาจาก Nikon D4 อย่างใดอย่างนั้น




มาที่ช่องเชื่อมต่อต่างๆ ของกล้องจะมีให้แค่ 3 ช่องเท่านั้นได้แก่ ช่อง USB ที่สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมอย่าง Wireless Mobile Adapter WU-1a สำหรับใช้โยนภาพระหว่างกล้องกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผ่าน WiFi รวมถึงเชื่อมต่อ GPS ได้ ส่วนช่องต่อไปเป็น HDMI และช่องสุดท้ายคือช่องเชื่อมต่อรีโมทกล้องแบบดิจิตอล

ส่วนใครที่กำลังสงสัยว่าช่องเชื่อมต่อไมโครโฟนสำหรับงานถ่ายวิดีโอที่มักติดมากับ DSLR ทุกรุ่นหายไปไหน ผมต้องเรียนให้ทราบครับว่า Nikon Df ไม่สามารถถ่ายวิดีโอใดๆ ได้เพราะนิคอนต้องการให้ Df เป็นกล้องถ่ายภาพนิ่งแท้ๆ ตามสโลแกน "Pure Photography" อีกทั้งเพื่อจะได้ลดขนาดของแผงวงจรภายในให้เล็กลงเพื่อน้ำหนักที่เบาก็อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องตัดฟีเจอร์ถ่ายวิดีโอออกไป




สุดท้ายกับส่วนใต้ของกล้องที่ยังคงเป็นตำแหน่งของช่องใส่แบตเตอรีและการ์ดความจำ (มีซีลยางหุ้มกันน้ำ ฝุ่นเข้าภายในตัวเครื่องด้วย) โดยการเปิดฝาจะไม่ได้เป็นสวิตซ์พลาสติกเหมือนทั่วไป แต่ Df จะใช้เป็นก้านอะลูมิเนียมแบบหมุนแทน

สเปก



มาถึงสเปกของกล้องเริ่มจากเซ็นเซอร์รับภาพฟูลเฟรมเทียบเท่าฟิล์ม 35 มิลลิเมตร FX CMOS (36.0 x 23.9 มิลลิเมตร) 16.2 ล้านพิกเซล (4,928x3,280 พิกเซล) ประกบหน่วยประมวลผลภาพรุ่นใหม่ EXPEED 3 รองรับการถ่ายไฟล์ RAW (NEF) ขนาด 14 บิต และ JPEG พร้อมรองรับ DX Crop Mode มี Picture Control และสามารถใช้ซอฟต์แวร์ NEF RAW Processing จัดการภาพหลังกล้องได้ทันทีเมื่อถ่ายเสร็จ

ด้านความเร็วการถ่ายภาพต่อเนื่อง ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 5.5 ภาพต่อวินาที ระบบออโต้โฟกัส Nikon Multi-CAM 4800 สูงสุด 39 จุด พร้อมระบบวัดแสง RGB แบบ 2016 พิกเซล สามารถวิเคราะห์ฉากที่ถ่ายได้อัตโนมัติ ความเร็วในการเปิดเครื่องพร้อมใช้งานอยู่ที่ 0.14 วินาที Shutter Lag ต่ำเพียง 0.05 วินาทีเท่านั้น และช่องมองภาพผ่านปริซึมห้าเหลี่ยมครอบคลุมองค์ประกอบภาพครบ 100%

ส่วนผู้อ่านที่กังวลว่าการปรับตั้งค่ากล้องก่อนถ่ายจะต้องทำผ่านวงแหวน Analog อย่างเดียวหรือไม่ ผมขอตอบว่าไม่จำเป็นครับ ในสถานการณ์เร่งรีบผู้ใช้ยังสามารถใช้วงล้อปรับค่ากล้องหน้า-หลังหมุนเลือกความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงแบบดิจิตอลเหมือน DSLR ทั่วไปได้เหมือนเดิม และเท่าที่ผมทดสอบตลอด 2 อาทิตย์ กล้องรุ่นนี้ปรับตั้งค่าต่างๆ ได้คล่องตัวกว่า D800 และ D4 เสียอีก



และเรื่องสุดท้ายก่อนเข้าสู่หัวข้อทดสอบประสิทธิภาพ สำหรับ Nikon Df ยังมาพร้อมเซ็นเซอร์วัดระดับความลาดเอียงของพื้นที่สามารถวัดได้ทั้งเอียงซ้าย-ขวา ก้ม เงย ได้ครบเกือบ 3 มิติเลย (ช่วยได้มากสำหรับการถ่ายภาพมุมต่ำหรือสูงกว่าสายตาแล้วจอไม่สามารถพลิกปรับองศาได้ เจ้าระบบวัดความลาดเอียงแบบนี้จะช่วยให้เราคาดคะเนตำแหน่งกล้องได้ถูกต้อง)

ทดสอบประสิทธิภาพ

ก่อนไปเรื่องทดสอบ ISO ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกการทดสอบกล้องของผม ผมขอเกริ่นถึงความรู้สึกที่ผมได้ใช้งาน Nikon Df กับเลนส์คิท 50 f1.8G Special Edition ตลอด 2 อาทิตย์กันก่อน

เริ่มจากเรื่องแรก "น้ำหนัก การจับถือและการพกพา" ที่ผมมองว่า Df ทำได้ดีมากจนผมรู้สึกเหมือนถือมิร์เรอร์เลสมากกว่า DSLR ไฮเอนด์ราคาเหยียบแสนบาท ซึ่งผมขอเปรียบเทียบกับ Nikon D4 ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพระดับเดียวกัน ความรู้สึกทุกครั้งที่ได้จับ D4 คือ "หนักมาก" ทั้งใช้แขวนคอและถือถ่ายสไตล์สตรีทโฟโต้ที่ผมชื่นชอบ ผมไม่สามารถทนกับน้ำหนักและความใหญ่ของ D4 ได้นานนัก แต่สำหรับ Df นี่คือสวรรค์ของผมที่จะได้ใช้กล้อง FX แบบเบาๆ และเหมาะกับงานสตรีทโฟโต้ เดินไปถ่ายไป ยิ่งประกบกับเลนส์ 50 มิลลิเมตรด้วยแล้วค่อนข้างลงตัวทีเดียว



เรื่องที่สอง "การปรับค่ากล้อง" เห็นหลายคอมเมนต์ในเว็บกล้องทั่วประเทศไทยดูจะเกรงกลัวว่า Df จะปรับใช้งานได้ไม่คล่องตัวสมราคา เพราะนิคอนเล่นออกแบบปุ่มปรับค่าต่างๆ เป็น Analog แบบโบราณทั้งหมด แต่ความจริงแล้ว ผมต้องบอกว่าถึงแม้นิคอนจะเน้นการปรับค่ากล้องด้วย Analog แบบเก่าก็ตาม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วการทำงานด้านซอฟต์แวร์ทั้งหมดมีความเป็นดิจิตอลที่สูงอยู่ (พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ ภายใน Df คือ D4 ตัดฟีเจอร์บางส่วนออก) เพราะฉะนั้นการปรับค่าแบบดิจิตอลที่ใช้การหมุนปุ่มคำสั่งแบบ DSLR ทั่วไปก็สามารถทำได้คล่องตัวเหมือนเดิม

แถมการทำงานของ Nikon Df ยังตอบสนองค่อนข้างไว ตั้งแต่เปิดกล้อง โฟกัสทั้งจากช่องมองภาพปริซึมหรือ Live View ทำได้เร็วพอๆ กันตามเทคโนโลยียุคใหม่ (แต่ความแม่นยำช่องมองภาพปริซึมจะเหนือกว่า) ไปถึงการโปรเซสภาพหลังกล้อง ระบบเชื่อมต่อ WiFi, GPS ก็มีมาให้ครบครันเหมือนดิจิตอลทั่วไป

เรื่องสุดท้าย "ผลลัพท์ทั้งหมด" เป็นอะไรที่สร้างความประทับใจให้กับผมมากเพราะนิคอนยอมแหวกแนวแบบไม่สนตลาดดิจิตอลที่กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดในตอนนี้ และหันไปพัฒนาสิ่งที่ทำตลาดได้ยากแต่มีคุณค่าทางงานศิลปะสูงแบบเดียวกับกล้องหลายรุ่นของ Fuji หรือ Olympus ผมยอมรับในจุดนี้นะ

"...เพราะ Df เป็นกล้องที่มีจิตวิญญาณของยุค '80 เมื่อได้จับถือ สัมผัส และควบคุม จากนั้นเมื่อคุณบรรจงกดชัตเตอร์ลงไป คุณจะรับรู้การทำงานของดิจิตอลที่ยังอยู่ ก่อนที่สุดท้ายผลลัพท์ของภาพจะออกมาแบบผสมผสานแนวทาง Analog + Digital ที่ลงตัวและเป็นตัวของตัวเองที่สุด..."

เกริ่นความประทับใจมายาวยืด ส่วนต่อไปจะเข้าสู่เรื่องของไฟล์ภาพกันบ้างว่าจะเลิศสมคำคุยโวที่ผมให้ไว้ด้านบนหรือไม่ โดยส่วนแรกเริ่มจากการทดสอบความไวแสง (ISO) กันก่อน



กดที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่



และแล้วนิคอนก็ทำได้สำเร็จเสียทีกับปัญหาเรื่องการจัดการ Noise ที่ไม่ว่ากี่รุ่นต่อกี่รุ่นก่อนหน้านี้มักจะสู้กับคู่แข่งอย่างแคนนอนไม่ได้ มาใน Nikon Df เรื่องการจัดการ Noise ทำได้ดีขึ้นมาก ซึ่งผู้อ่านจะเห็นว่าที่ค่า ISO ตั้งแต่ 100-12,800 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนที่ 25,600 ถือว่าพอใช้ สามารถใช้งานจริงในเวลาจำเป็นโดยถ่ายภาพเป็น RAW แล้วไปจัดการ Noise ด้วยซอฟต์แวร์ภายนอกได้ ส่วนค่า ISO 204,800 อันนี้ขอบอกว่าเละไม่เหลือชิ้นดี นิคอนไม่ต้องใส่มาก็ได้นะครับ

ส่วนต่อไปจะเป็นการทดสอบถ่ายภาพด้วยเลนส์คิท 50 f.18G Special Edition เลนส์เดียวทั้งหมด




เริ่มทดสอบภาพชุดแรกกับภาพบุคคลที่เข้ากันได้ดีกับเลนส์คิท 50 f1.8G มาก โดยอารมณ์ต้องบอกว่าถึงแม้เลนส์จะพาดข้อความด้านท้ายว่า Special Edition ก็ตามแต่เอาเข้าจริงแล้วอารมณ์ภาพก็มาแบบเดียวกับเลนส์รุ่นปกติที่วางขายกันในราคาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเลย แถมบอดี้เลนส์คิทก็เป็นพลาสติกกลวงๆ ดูไม่แข็งแรงเหมือนกับรุ่นปกติด้วย

แต่อาจพิเศษตรงถ้าจับคู่กับ Nikon Df แล้วเปิดฟังก์ชัน Nikon Active D-Lighting (ADL) ไว้จะทำให้ภาพถ่ายบุคคลที่ได้ค่อนข้างใสและคมชัดเป็นพิเศษกว่า ADL ในกล้องรุ่นอื่นที่เคยทดสอบ (และแปลกเข้าไปอีกที่ภาพดูดีกว่า D4 และ D800 ทั้งๆ ที่หน่วยประมวลผลตัวเดียวกัน) โดยสองภาพนี้ถ่ายเป็น JPEG แบบดิบๆ ไม่ผ่านการตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ภาพที่ได้ถือว่าเคลียร์มาก





จากนั้นลองมาขยี้เอฟต่ำๆ อย่างภาพนี้ใช้ f2.0 ISO 100 ความเร็วชัตเตอร์ 1/160 จะเห็นว่าภาพดิบที่ได้ออกโทนนุ่มๆ แบบฟิล์มลุ๊คกว่าพวก D4 ประกบเลนส์รุ่นนี้เสียอีก




ลองเพิ่ม f เป็น 8.0 ISO 320 สำหรับภาพแรก และ f7.1 ISO 64 สำหรับภาพที่สอง จะเห็นถึงความคมชัดและรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นมากพอสมควร





มาถึงสวรรค์คนใช้ FX Format ประกบเลนส์ 50 มิลลิเมตรที่ให้ระยะ 50 มิลลิเมตรและความชัดลึกแบบเลนส์ 50 กันบ้าง ก็ถือว่า Nikon Df ให้ผลงานที่ยอดเยี่ยมสมกับไส้ในเป็น Nikon D4 กันเลยทีเดียว ยิ่งชุดภาพนี้ผมถ่ายเป็น RAW และมาโปรเซสผ่าน Lightroom อีกครั้งก็ถือว่าคุณภาพ RAW ไฟล์สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆ





ส่วนชุดภาพนี้เน้นทดสอบในเรื่อง High ISO โดยภาพที่ 1 ถ่ายที่ ISO 3,200 ภาพที่ 2 ถ่ายที่ ISO 1,000 และภาพที่ 3 ถ่ายที่ ISO 8,000 จะเห็นว่าไฟล์ภาพที่ได้ยังคมชัดถึงแม้จะมี Noise เกิดขึ้นบ้าง แต่สีสันยังไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 125 - 1/100sec - f11


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 1,250 - 1/100sec - f10


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 80 - 1/640sec - f2.8


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 50 - 1/800sec - f2.2


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 50 - 1/320sec - f2.8


Nikon Df + 50mm f1.8G Special Edition - ISO 64 - 1/1,000sec - f2

ชมภาพทั้งหมดคลิกที่ http://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157641095079423/

สรุป

ข้อดี
- การออกแบบลงตัว ปุ่มคำสั่งต่างๆ ใช้งานง่ายมากเพราะถูกแยกออกมาไว้ข้างนอกหมด
- วัสดุ งานประกอบยอดเยี่ยม แถมแกะกล่องใหม่มีกลิ่นยางและหนังแบบกล้องฟิล์มสมัยก่อนให้ผู้ใช้ได้หวนรำลึกกันด้วย
- มี Quiet Shutter Mode (Q Mode) เหมือนเดิม
- โฟกัสเร็ว ชัตเตอร์ตอบสนองไวตามเทคโนโลยีสมัยใหม่

ข้อสังเกต

- งานประกอบเลนส์คิท 50 f1.8G Special Edition เป็นพลาสติกธรรมดา เลนส์มี CA
- แบตเตอรีหมดเร็วเกินไป เพราะใช้ก้อนเล็ก EN-EL14a << มีคอมเมนต์จากผู้อ่านว่าใช้ได้ 900 ภาพแบตเตอรีถึงหมด แต่สำหรับตัวทดสอบนี้ใช้ได้ประมาณ 400-500 ภาพแบตฯถึงหมดครับ อาจเป็นไปได้ว่ากล้องตัวนี้เป็นเดโมที่ผ่านมาหลายมือแล้ว ใครสนใจต้องลองพิจารณากันเองนะครับ

สำหรับราคาค่าตัว Nikon Df เฉพาะบอดี้อยู่ที่ 87,900 บาท ส่วนถ้าเพิ่มเลนส์คิท 50 มิลลิเมตร f1.8G ไปด้วยราคาจะอยู่ที่ 95,900 บาท เรียกว่าเป็นราคาที่สูงมาก แน่นอนในเรื่องประสิทธิภาพและผลลัพท์ที่ได้ถ้าใช้งานตามคอนเซปที่นิคอนวางไว้ Df สามารถแสดงพลังที่ยอดเยี่ยมและสามารถใช้งานในระดับมืออาชีพได้ดี โดยเฉพาะช่างภาพที่ชอบผจญภัยเดินทางไปถ่ายภาพนิ่งตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมีค่าตัวระดับหลายหมื่น-หลายแสนบาทขึ้นไป Nikon Df คือคำตอบที่ดีไม่น้อย

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ชื่นชอบความคุ้มค่า ซื้อกล้องมาแล้วต้องมีฟีเจอร์ครบครัน ถ่ายวิดีโอ FullHD ผลิตคลิปวิดีโอ ทำงานด้านดิจิตอลเป็นหลัก แบบนี้จงหันไปหา D800 หรือ D4 จะคุ้มค่าที่สุดครับ

เพราะถ้าเทียบแล้ว Nikon Df ก็เป็นเหมือนแค่ส่วนเติมเต็มของช่างภาพมืออาชีพเพราะด้วยขนาด น้ำหนัก ประสิทธิภาพที่โดดเด่น บุกน้ำลุยป่าทำได้คล่องตัวกว่ากล้องตัวใหญ่ ในขณะที่อีกหน้าที่ Df ก็ทำหน้าที่เป็นหน้าตาของผู้ใช้ที่มีเงิน ที่รักรูปทรงกล้องแบบย้อนยุคให้นึกถึงวันวานที่เคยหวานชื่นกับกล้องฟิล์มที่นานๆ ทีมีหนึ่งหนเท่านั้น

Company Related Link :
Nikon

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket






แท่นชาร์จแบตเตอรีสไตล์แบตฯ ก้อนเล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น