จำได้ว่าเมื่อปีก่อน ผม (เป๋า @dorapenguin) เคยวิจารณ์นิคอน 1 ไปค่อนข้างหนักในเรื่องจุดขายที่ไม่อาจสู้แบรนด์อื่นได้ มาวันนี้นิคอนนำ Nikon 1 กลับมาปรับปรุงใส่ฟีเจอร์ใหม่หมดอีกครั้งกับชื่อรุ่น AW1 ที่ในครั้งนี้นิคอนขออัดจุดขาย Nikon 1 AW1 ให้หนักแน่น ชัดเจนด้วยการเปลี่ยนรูปแบบกล้องจากมิร์เรอร์เลสสำหรับท่องเที่ยวใช้งานทั่วไปเป็นกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพสำหรับกิจกรรม Outdoor Adventure สมบูรณ์แบบและถือเป็นกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ตัวแรกของโลกที่สามารถกันน้ำลึก 15 เมตร แบบไม่ต้องใช้ Camera Housings
การออกแบบและสเปก
ต้องบอกว่าแรกสัมผัสที่ได้จับ Nikon 1 AW1 ความรู้สึกที่เกิดคืองานประกอบเลิศมาก ทุกส่วนประกอบกันแน่นหนา รอยต่อ กริปจับถือ ปุ่มกดต่างๆ ดูแน่นจนทำให้กดยากไปนิด (เข้าใจว่าเป็นเพราะทุกส่วนลงยางกันน้ำภายในไว้) ส่วนบอดี้ภายนอกเป็นพลาสติก แต่ภายในเป็นโครง magnesium alloy ทำให้น้ำหนักอยู่ที่ 313 กรัมเฉพาะบอดี้กล้อง
ในส่วนเลนส์กล้องเนื่องจากกล้องรุ่นนี้สามารถกันน้ำลึก 15 เมตร (มาตรฐาน JIS/IEC Class 8 (IPX8)) ได้ทำให้เมาท์เลนส์ต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้รองรับเลนส์ที่สามารถใส่ร่วมกับยางกันน้ำรอบเมาท์เลนส์ได้ในชื่อ Nikon Waterproof 1 Mount (AW) ที่ตอนนี้มีอยู่ 2 รุ่นได้แก่ 1 NIKKOR AW 11-27.5mm (ซูมเลนส์) f/3.5-5.6 และ 1 NIKKOR AW 10mm (เลนส์มุมกว้าง) f/2.8 ส่วนเลนส์นิคอน 1 เก่าสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้แต่จะทำให้กล้องไม่กันน้ำ
ด้านสเปกของตัวกล้องจะไม่ต่างจาก Nikon 1 รุ่นก่อนหน้านัก โดยเซ็นเซอร์รับภาพที่ใช้ยังเป็น Nikon CX-Format ขนาดเซ็นเซอร์ 13.2x8.8 มิลลิเมตร ไม่มี low-pass filter ความละเอียดภาพสูงสุด 14.2 ล้านพิกเซล (4,608x3,072 พิกเซล) มีกระจกกันฝุ่นเข้าไปเกาะที่เซ็นเซอร์ รองรับการถ่ายภาพคุณภาพไฟล์ RAW (12-bit) JPEG และ RAW+JPEG
ส่วนวิดีโอสามารถถ่ายที่ความละเอียดสูงสุด FullHD 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็ว 60i รองรับการถ่าย Slow-motion ความเร็ว 400 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 640x240 พิกเซล และ 1,200 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด 320x120 พิกเซล
ด้านความรวดเร็วของการถ่ายภาพต่อเนื่องที่เป็นจุดเด่นของ Nikon 1 มานานยังคงถูกปรับปรุงความสามารถให้ดีขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น โดยความเร็วของการถ่ายภาพต่อเนื่องอยู่ที่ 15 ภาพต่อวินาทีและสูงสุด (แบบล็อคโฟกัสที่เฟรมแรก) คือ 30/60 ภาพต่อวินาที
มาที่ระบบออโต้โฟกัสใน AW1 เลือกใช้โฟกัสแบบ Hybrid แบบ 73 จุดเฉพาะ phase-detection AF จากจุดโฟกัสทั้งหมด 135 จุด รองรับ Subject tracking และระบบออโต้โฟกัสตรวจจับใบหน้า
ส่วนค่าความไวแสง (ISO) เริ่มต้นที่ 100-6,400 ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/16,000 วินาที ต่ำสุดชัตเตอร์ B และ 30 วินาที
จากสเปกมาดูในส่วนประกอบอื่นๆ ของ Nikon 1 AW1 กันต่อ เริ่มจากด้านบนของกล้องจากซ้ายจะเป็นไฟแฟลชที่สามารถใช้ใต้น้ำได้ ถัดไปเป็นสัญลักษณ์ GPS ที่ติดตั้งมาให้พร้อมใช้ในกล้อง ปุ่มเปิด-ปิด (ON/OFF) เครื่อง ปุ่มชัตเตอร์และปุ่มบันทึกวิดีโอขนาดใหญ่
จอภาพ Live View ด้านหลังขนาด 3 นิ้วแบบ TFT-LCD ความละเอียด 921,000 จุด ส่วนปุ่มคำสั่งด้านหลังถูกลดจำนวนลงให้เหลือเฉพาะปุ่มคำสั่งสำคัญเพื่อให้ผู้ใช้สามารควบคุมกล้องด้วยมือเดียวสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งตำแหน่งของปุ่มจะถูกจัดวางอยู่ด้านขวาทั้งหมด (ยกเว้นปุ่มไฟแฟลช) สามารถใช้นิ้วโป้งนิ้วเดียวควบคุมการทำงานของปุ่มคำสั่งได้
และถ้าสังเกตบริเวณด้านหลังให้ดีจะเห็นว่าวงแหวนเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพและวงแหวนที่ปกติจะมีเพื่อปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ถูกถอดออกไปทั้งหมด แต่ผู้อ่านก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพได้ เพราะระหว่างถ่ายภาพ ผู้อ่านสามารถกดปุ่ม F เพื่อเข้าสู่หน้าเมนูลัดเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพได้ หรือถ้าอยากปรับแต่งค่ากล้องอื่นๆ ก็สามารถกดปุ่ม Menu ก็จะพบกับหน้าปรับแต่งค่ากล้องที่มีกราฟิกแสดงการใช้งานอย่างชัดเจน (หน้าเมนูคล้าย Sony NEX)
แต่ทั้งนี้ถ้าระหว่างใช้งานใต้น้ำแล้วไม่ถนัดจะเลื่อนนิ้วมาปรับปุ่มต่างๆ ผู้อ่านสามารถกดปุ่มตรงยางรองนิ้วโป้ง (Action Control) ค้างไว้แล้วเอียงกล้องเพื่อเลือกโหมดใช้งานได้ตามต้องการ
ในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่องจะถูกปิดไว้ด้วยฝาพลาสติกและยางกันน้ำอย่างดี รวมถึงส่วนของช่องแบตเตอรีและช่องใส่ SD Card ด้านล่างด้วย โดยบริเวณฝาปิดทั้งสองถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจะมีสวิตซ์ล็อค 2 ส่วน ซึ่งก่อนนำกล้องไปลงน้ำควรดันสวิตซ์ล็อคให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องก่อนทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นน้ำอาจเข้าได้
สำหรับแบตเตอรีที่ใช้กับ Nikon 1 AW1 จะเป็นรุ่น EN-EL20 สามารถถ่ายได้ 220 ภาพต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง
สเปกกล้องอื่นๆ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์ http://www.nikonusa.com/en/Nikon-Products/Product/Nikon1/V27669.27669/Nikon-1-AW1.html#tab-ProductDetail-ProductTabs-TechSpecs
ฟีเจอร์เด่น
Outdoor Adventure จุดขายของ Nikon 1 AW1 คงไม่ได้อยู่ที่การกันน้ำลึก 15 เมตร เพียงอย่างเดียว แต่ตัวกล้องยังสามารถป้องกันการตกกระแทกที่ระดับความสูง 2 เมตร (ผ่านการทดสอบตามวิธี MIL-STD-810F 516.5) และสามารถทนอุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียสได้สบายๆ แถมการที่นิคอนเลือกใช้ปุ่มตั้งค่ากล้องเป็นแบบกดทั้งหมด (ไร้ระบบหน้าจอสัมผัส) ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการตั้งค่ากล้องได้สะดวกสบายแม้อยู่ในน้ำ
นอกจากนั้นระบบภายในกล้องยังมาพร้อมเซ็นเซอร์วัดระดับความสูง (สำหรับคนชอบปีนเขา)ระดับความลึกระหว่างดำน้ำ เข็มทิศและ GPS มาให้พร้อมบันทึกลงไฟล์ภาพที่ถ่ายได้ทั้งหมด
อีกทั้งในอนาคตนิคอนจะมีเคสกันน้ำวางขายเพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับแฟลชแยกกันน้ำ SB-N10 Speedlight ได้ รวมถึงฟิลเตอร์ AW 40.5 NC ที่จะช่วยให้กล้องสามารถกันน้ำได้ลึกถึง 20 เมตร
โหมดถ่ายภาพที่น่าสนใจ นอกจากฮาร์ดแวร์จะรองรับการกันน้ำ กันกระแทก และใช้ในอุณหภูมิติดลบได้แล้ว ตัวกล้องยังมาพร้อมซอฟต์แวร์ถ่ายภาพที่น่าสนใจมากมาย อย่างเช่น โหมดประดาน้ำ (Underwater) ที่ช่วยจัดการเรื่อง White Balance และสีสันของภาพให้อัตโนมัติ
ส่วนโหมด Best moment capture จะทำงานคล้ายกับ Best Shot บนสมาร์ทโฟน สำหรับใช้เก็บภาพกีฬาหรือสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วมาก แล้วผู้ถ่ายกลัวจะกดชัตเตอร์ไม่ทัน ระบบนี้จะบันทึกภาพล่วงหน้าไว้แล้วเล่นแบบสโลโมชั่นให้ผู้ถ่ายได้เห็นที่ละเฟรม 20 ภาพในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นเมื่อพอใจเฟรมใดก็กดชัตเตอร์ลงไปเต็มแรงหนึ่งครั้ง
สุดท้ายในกล้องยังมีโหมดสำเร็จรูปให้ใช้งานมากมายไม่ว่าจะเป็น Tilt-Shift เลือกสีเด่นหนึ่งสีแล้วฉากหลังเป็นขาวดำหรือแม้แต่ซีนโหมดต่างๆ เช่น HDR หรือถ่ายภาพกลางคืนแบบไม่ใช้ขาตั้งกล้องก็มีให้เลือกใช้ในกล้องรุ่นนี้
ทดสอบประสิทธิภาพ
ก่อนจะเข้าสู่ส่วนทดสอบประสิทธิภาพ ผมขอเรียนให้ทราบเล็กน้อยครับว่า เนื่องจากกล้อง Nikon 1 AW1 ที่ผมได้รับมานี่เป็นกล้องตัวแรกของประเทศไทยที่มีคิวเดินทางไปงานเปิดตัวต่างๆ ในเร็ววันนี้ทำให้ผมไม่สามารถนำกล้องไปทดสอบประสิทธิภาพได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบเดียวกับที่เคยทำมา เพราะเวลาที่เราอยู่กับ AW1 มีน้อยมาก และด้วยสภาพอากาศที่ไม่อำนวยเท่าใด ผมจึงได้จัดทำวิดีโอรีวิวแบบดิบๆ พร้อมภาพทดสอบคุณภาพไฟล์เล็กน้อยมาให้ชมกันก่อน แล้วเดี๋ยววันหน้าฟ้าใหม่ อากาศดี รวมถึงผมหาทริปไปดำสน็อคเกิลดูปะการังน้ำตื้นได้เมื่อใด ผมจะยืมเจ้า AW1 กับทางนิคอนมาทดสอบให้ดูอีกครั้ง วันนี้ทำได้แค่นี้เข้าใจกันด้วยนะจ๊ะ...
จบจากวิดีโอก็มาดูภาพตัวอย่างที่ทีมงานพยายามตามเก็บระหว่างทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อให้เห็นคุณภาพไฟล์ของ Nikon 1 AW1 ที่มาพร้อมเลนส์ 1 NIKKOR AW 11-27.5mm (เลนส์ซูม) f/3.5-5.6
เริ่มจากทดสอบ ISO จะเห็นว่า AW1 อาจมีข้อสังเกตให้เรื่องการจัดการสัญญาณรบกวนที่อาจสู้คู่แข่งในปัจจุบันไม่ได้ เพราะช่วง ISO ที่ทำได้ดีอยู่แค่ 100-1,600 เท่านั้น ในขณะที่คู่แข่งปัจจุบันหลายตัวทำได้ดีที่ช่วง ISO 100-3,200 หรือ 6,400 ส่วน ISO 3,200-6,400 ของ AW1 อาจเจอปัญหา Noise มากจนหน่วยประมวลผล EXPEED 3A ทำการลบภาพให้สูญเสียรายละเอียดไปพอสมควร
มาถึงส่วนของการถ่ายภาพใต้น้ำ อย่างที่วิดีโอบอกไว้ว่าผมมีโอกาสแค่ทดสอบกับถังน้ำและทดสอบเพิ่มเติมที่บ่อเลี้ยงปลาเล็กน้อย โดยผมเลือกน้ำที่ใช้ทดสอบทั้งใสและขุ่น ผลปรากฏคือในน้ำใส (ใสมากๆ) เรื่องระบบโฟกัสในการจับวัตถุจะทำงานช้าลงเล็กน้อย แน่นอนว่าไม่ทันใจเหมือนถ่ายบนบก แต่ก็ไม่เลวร้ายอะไร แต่พอเจอน้ำขุ่นลงอีก ทีนี้แหละหายนะเลย กล้องจับโฟกัสไม่ค่อยติด ปกติเลนส์กล้องรุ่นนี้ก็หมุนโฟกัสช้าอยู่แล้ว เจอน้ำขุ่นเข้าไปถ่ายยากมาก แต่ก็ถือว่าด้วยข้อจำกัดที่ค่อนข้างมากกล้องก็ยังให้ผลลัพท์ที่ดี (อย่างน้อยก็ดีกว่าพวกคอมแพกต์ดำน้ำได้ที่ออกมาก่อนหน้าอยู่มากโข)
ส่วนไฟแฟลชทดลองใช้ใต้น้ำแล้วภาพที่ 3 ใหญ่สุด ถือว่าทำได้ดีครับ เพราะที่ผมถ่ายแสงค่อนข้างน้อยได้ไฟแฟลชช่วยใช้ได้เลย
ส่วนการทดสอบดำน้ำจริงผมขอติดไว้ก่อนนะครับ เดี๋ยวมีโอกาสจะยืมมาทดสอบใหม่ให้ชม...
เรื่องของไฟแฟลชยังไม่จบ เพราะด้วยการออกแบบให้ pop-up flash ใน Nikon 1 AW1 มีก้านยึดไฟแฟลชที่ยาวทำให้ผู้ใช้สามารถกดก้านไฟแฟลชลงมาเพื่อให้หัวแฟลชยิงสะท้อนเพดานได้ อย่างภาพด้านบนจะเห็นว่าความนุ่มของแสงใช้ได้เลย
ส่วนการทดลองถ่ายภาพวิวทิวทัศน์และคุณภาพไฟล์ต่างๆ ผมมองว่าไม่ต่างจาก Nikon 1 รุ่นก่อนหน้าเลย อารมณ์ภาพ สีสันยังคงความเป็น Nikon 1 อยู่ไม่ผิดเพี้ยน ยกเว้นเรื่องการประมวลผลภาพ โฟกัส ความรวดเร็วต่างๆ ทำได้ดีขึ้นจากรุ่นก่อน รวมถึงความคมชัดที่ดีขึ้นจากการตัด lowpass filter ออก แต่เมื่อซูม 100% ดูภาพที่ใช้ ISO สูงอย่างน้องหมาหมักขมินที่ค่า ISO 1,100 ภาพจะแตกๆ รายละเอียดเสียไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งถ้าต้องการแค่เก็บภาพไว้โชว์หรืออัดขยายไว้รับชมภายในครอบครัวก็ถือว่าโอเคไม่น่าเกลียด
สำหรับเรื่องแบตเตอรีอาจถือเป็นจุดอ่อนของ AW1 โดยเฉพาะถ้าเปิด GPS ทิ้งไว้ตลอด แบตเตอรีหมดลงค่อนข้างเร็ว ผู้ใช้ที่เน้นใช้งานท่องเที่ยวแบบจริงจังคงต้องหาแบตเตอรีสำรองอีกสักหนึ่งก้อนจะดีที่สุด
ส่วนใครอยากชมภาพขนาดใหญ่สามารถกดรับชมได้จาก http://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157636534669126/with/10265268285/
จุดขาย
- กันน้ำ กันฝุ่น กันตกกระแทก กันอุณหภูมิติดลบ
- หน้าเมนูใช้งานแบบใหม่ ใช้งานง่ายขึ้น
- ใส่เลนส์ Nikon 1 เดิมได้ รวมถึง F-mount NIKKOR (ใช้ร่วมกับ Mount Adapter FT1) แต่ไม่กันน้ำ
- โหมด Best moment capture ใช้งานได้จริงสำหรับพวกชอบเก็บภาพกีฬามันๆ
- งานประกอบยอดเยี่ยม ปุ่มกดแน่นหนามาก กดแรงๆ ได้ไม่ต้องกลัวพัง
- มีเซ็นเซอร์วัดระดับความลึก ความสูง เข็มทิศ GPS ในตัว
- ฟังก์ชั่น Control Lock ที่ช่วยป้องกันการกดปุ่มคำสั่งโดยไม่ตั้งใจ
- สุดท้ายเอาเป็นว่ากล้องรุ่นนี้ผมว่าดีที่สุดในตระกูล Nikon 1 แล้ว ลืมตัวเก่าๆ ไปได้เลยถ้ารับน้ำหนักและความหนาได้
ข้อสังเกต
- เลนส์กันน้ำ AW มีให้เลือกเล่นเพียง 2 รุ่นในปัจจุบัน
- เรื่องการจัดการสัญญาณรบกวนที่ค่า ISO สูงยังทำได้ไม่ดี
- หน้าจอด้านหลังถึงแม้จะมีตัวเลือก Outdoor Display แต่เจอแสงแดดเมืองไทยยังสู้ได้ไม่ดีเท่าใด
- กล้องกันน้ำแบบนี้ต้องหมั่นตรวจเช็คซีลยางกันน้ำบ่อยๆ
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ณ ตอนนี้ราคาเปิดตัว Nikon 1 AW1 พร้อมเลนส์ 1 NIKKOR AW 11-27.5mm f/3.5-5.6 คาดว่าคงอยู่ที่ 2-3 หมื่นกว่าบาท (มีให้เลือก 3 สี ขาว เทา ดำ) แน่นอนว่าถ้าถามว่าดีไหม ผมขอตอบอย่างตรงไปตรงมากครับ คนที่ชอบท่องเที่ยวสไตล์ Outdoor Adventure ลุยๆ ที่ไม่ใช่ช่างภาพอาชีพ เลือกตัวนี้ได้เลย รับรองไม่ผิดหวัง (สิ่งที่ผมเคยวิจารณ์ว่าไม่ดีใน Nikon 1 รุ่นก่อนก็เหมือนจะถูกจุดเด่นใหม่ลบหมดแล้ว) เพราะตอนนี้กล้องราคาระดับนี้ดำน้ำได้แบบไม่ต้องพึ่งเคสกันน้ำราคาหลายหมื่นบาท แถมกันตกกระแทก 2 เมตรไปถึงอุณหภูมิติดลบได้คงหาที่ไหนไม่ได้นอกจาก Nikon 1 AW1 ในระดับราคานี้
เพราะต้องไม่ลืมว่านี่คือกล้องมิร์เรอร์เลสที่คุณภาพเทียบเท่า DSLR สามารถทำชัดลึกชัดตื้นได้ เวลานำไปถ่ายภาพใต้น้ำจะให้มิติที่ดีกว่ากล้องสมาร์ทโฟนและคอมแพกต์กันน้ำได้ที่ออกมาก่อนหน้านี้อยู่มาก
ขาลุยไม่น่าพลาดนะครับ คุณมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อ มีแคมป์ มีที่ปีนเขา มีชุดดำน้ำ กล้อง Nikon 1 AW1 ก็น่าจะเข้ากันดีกับอุปกรณ์ลุยๆ ที่คุณมีนะครับ แต่ใช้บ่อยๆ อย่าลืมเช็คพวกซีลยางกันน้ำด้วยนะครับ..
Company Related Link :
Nikon
CyberBiz Social