xs
xsm
sm
md
lg

Review: Nikon D800 เจ๋งข้ามปีกับมหึมาพิกเซล 36.3 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เปิดตัวมาได้ 1 ปีเต็มสำหรับ Nikon D800 แต่ดูเหมือนกระแสความร้อนแรงของเซ็นเซอร์ระดับ 36.3 ล้านพิกเซลยังคงวนเวียนอยากให้โปรยูสเซอร์และสื่อมวลชนได้ทดสอบประสิทธิภาพความเจ๋งกันข้ามปี ซึ่งในวันนี้ก็ถือเป็นโชคดีของทีมงานไซเบอร์บิซที่ได้แย่งชิงว่าที่กล้องพิกเซลมหาศาลอย่าง Nikon D800 มาทดสอบและรีวิวให้ทุกท่านได้ชมกันในวันนี้ เพื่อพิสูจน์จำนวนพิกเซล 36.3 ล้านว่าจะใช้งานจริงได้ยอดเยี่ยมและมีประะโยชน์แค่ไหน

การออกแบบ




ผ่านมา 1 ปีหลายคนคงทราบแล้วว่า Nikon D800 ถูกพัฒนามาแทนที่ D700 ที่จัดอยู่ในกลุ่มกล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex) มืออาชีพระดับพรีเมียมที่มีราคาเฉพาะบอดี้เกือบ 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นในเรื่องวัสดุงานประกอบ นิคอนยังคงคอนเซปกล้องที่สามารถลุยทุกสภาวะแวดล้อม

บอดี้ทั้งหมดทำด้วยวัสดุแมกนิเซียมอัลลอยด์พร้อมซีลยางกันฝุ่นกันน้ำทุกส่วน ทำให้กล้อง Nikon D800 สามารถลุยฝนหรือสภาพฝุ่นทรายเพื่อเก็บภาพได้อย่างไม่ต้องกังวล

ในส่วนขนาดตัวกล้องอยู่ที่ 146 x 123 x 82 มิลลิเมตรพร้อมน้ำหนัก 900 กรัม




ในส่วนจอภาพแสดงผล LCD TFT ด้านหลังมีขนาด 3.2 นิ้วความละเอียดประมาณ 921,000 จุด พร้อมช่องทองภาพ Optical Viewfider ครอบคลุมการมองเห็น 100% สำหรับการถ่ายในโหมดฟูลเฟรม (FX) ส่วนถ้าถ่ายที่ครอปเซ็นเซอร์ DX จะครอบคลุมการมองเห็นเพียง 97%

สำหรับปุ่มคำสั่งด้านหลังกล้องยังคงจัดวางมาตามแบบของนิคอนรุ่นใหญ่พร้อมก้านสวิตซ์เปลี่ยนสลับโหมดถ่ายภาพกับวิดีโอและปุ่มเปิดปิด Live View ตรงกลาง



มาถึงส่วนบนของกล้องนอกจากปุ่มคำสั่งและวงแหวนปรับรูปแบบการถ่าย ISO คุณภาพไฟล์ ไปถึงช่อง Hot Shoe แล้ว ด้านขวาจะเป็นตำแหน่งของจอ LCD ขนาดเล็กเพื่อบอกข้อมูลการถ่ายภาพและปุ่มเปลี่ยน Mode ถ่ายภาพ (M, P, S, A) พร้อมปุ่มบันทึกวิดีโอ (มีวงกลมสีแดงตรงกลาง) และปุ่มชดเชยแสง




มาดูในส่วนช่องใส่การ์ดความจำที่สามารถใช้ได้ทั้งแบบ SD Card (รองรับ SDHC, SDXC รองรับ UHS-I) และแบบ Type I CompactFlash พร้อมระบบปรับการใช้งานเมื่อใส่การ์ดความจำพร้อมกันทั้งสองรูปแบบ โดยสามารถสั่งแยกให้การ์ดหนึ่งเก็บไฟล์ RAW และการ์ดสองเก็บ JPEG ไฟล์หรือจะตั้งให้เป็นการแบ็กอัพข้อมูลจากการ์ดหลักก็ได้



ลองมาสำรวจช่องเชื่อมต่อที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายกันบ้างเริ่มจากช่องแรกจะเป็นช่องเชื่อมต่อไมโครโฟนภายนอก (MIC) ขนาด 3.5 มิลลิมเมตรสำหรับงานวิดีโอ ถัดลงมาจะเป็นพอร์ต SuperSpeed USB 3.0 และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรเพื่อใช้มอนิเตอร์เสียงสำหรับงานวิดีโอ สุดท้ายเป็นช่อง HDMI



สำหรับแบตเตอรีจะใช้เป็นรุ่นรหัส EN-EL15 และรองรับการเชื่อมต่อ Grip รุ่น MB-D12

36.3 ล้านพิกเซล มีประโยชน์?

Nikon D800 ขับเคลื่อนด้วยเซ็นเซอร์รับภาพ CMOS ฟูลเฟรม (FX-Format) ขนาด 35.9x24.0 มิลลิเมตร รองรับขนาดภาพสูงสุด 7,360 x 4,912 พิกเซล (36.3 ล้านพิกเซล) บนหน่วยประมวลผลภาพ EXPEED 3 และ RAW แบบ 14 บิต

ซึ่งด้วยจำนวนพิกเซลที่สูงมากทำให้นิคอนนำไปต่อยอดเรื่องระบบครอปเซ็นเซอร์เพื่อประโยชน์ ดังต่อไปนี้




1. เพิ่มกำลังเลนส์ให้ซูมเข้าหาวัตถุได้ใกล้ขึ้นตามภาพตัวอย่างด้านบน โดยเฉพาะในโหมดวิดีโอที่ระบบครอปเซ็นเซอร์จะช่วยซูมภาพจากระยะเลนส์ปกติให้ใกล้ยิ่งขึ้น เช่น ที่ระยะเลนส์ 85มม. (FX) เมื่อเปิดครอปเซ็นเซอร์ DX จะได้ระยะถึง 127 มม.

2. ทำให้ผู้ใช้ที่มีเลนส์ DX ของนิคอนสามารถนำมาใช้งานร่วมกับ D800 ได้โดยจะเหลือขนาดภาพประมาณ 15 ล้านพิกเซลซึ่งเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน

3. ถ้าถ่ายภาพที่เอาท์พุต 36.3 ล้านพิกเซลเต็มๆ ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ได้

และนอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถนำภาพขนาด 36.3 ล้านพิกเซลมาครอป ตกแต่ง จัดองค์ประกอบใหม่ภายหลังได้โดยไม่เสียคุณภาพไฟล์มากนัก ลองดูการทดสอบจากภาพด้านล่าง

โดยทีมงานเลือกถ่ายที่ระยะปกติฟูลเฟรมได้ขนาดภาพ 7,360 x 4,912 พิกเซล จากนั้นจึงใช้ซอฟต์แวร์ครอปภาพ จัดองค์ประกอบใหม่และได้ผลลัพธ์ตามรูปถัดไป


ภาพนี้ถ่ายที่ฟอร์แมต FX 36 ล้านพิกเซล แล้วใช้ซอฟต์แวร์ครอป จัดองค์ประกอบภาพใหม่อีกครั้ง

D800Flickr-3

ภาพผลลัพธ์ที่ได้จาก 7,360 x 4,912 พิกเซลทีมงานครอปโดยซอฟต์แวร์แล้วเหลือ 4,184x2,793 พิกเซล เท่ากับประมาณ 11.6 ล้านพิกเซล ถือว่าไฟล์เอาท์พุตที่ถูกครอปอย่างหนักหน่วงยังใช้งานระดับออกสื่อสิ่งพิมพ์ได้ ถึงแม้ภาพจะมีขนาดเล็กลงเป็นเท่าตัวก็ตาม

สเปก

จบในเรื่องเซ็นเซอร์ไปแล้ว มาถึงเรื่องสเปกปลีกย่อยกันบ้าง สำหรับ Nikon D800 ระรองรับเลนส์เมาท์ F ทั้ง DX และ FX ทั้งหมด โดยการถ่ายภาพต่อเนื่องจะทำได้ที่ความเร็วสูงสุด 4-5 เฟรมต่อวินาทีบนโฟกัสสูงสุด 51 จุด รองรับระบบโฟกัสแบบออโตโฟกัสจุดเดียว, ออโตโฟกัสแบบปรับเปลี่ยนพื้นที่โฟกัส 9, 21 หรือ 51 จุด, การติดตามระยะโฟกัส 3 มิติ และออโตโฟกัสแบบเลือกพื้นที่โฟกัสอัตโนมัติ

ด้านชัตเตอร์รองรับความเร็วสูงสุด 1/8000 วินาที สามารถซิงค์แฟลชที่ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/250 วินาที ส่วนค่าความไวแสง (ISO) ที่รองรับจะอยู่ที่ 100-6,400 สามารถดรอป ISO ลงต่ำสุดที่ 50 และดัน ISO สูงสุดที่ 25,600




ในส่วนวิดีโอ D-Movie ใน D800 นิคอนจัดเต็มมาก เพราะนอกจากความละเอียดที่ถ่ายได้ถึง 1080@30p แบบเนียนๆ พร้อมช่องต่อไมโครโฟนภายนอกแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถนำหูฟังมาเสียบฟังมอนิเตอร์เสียงที่บันทึกพร้อมดูบาร์ระดับความดังเสียงที่หน้าจอได้ทันที หมดปัญหาต้องคอยลุ้นว่าเรื่องเสียงหายเวลาบันทึกวิดีโอ



และที่ขาดไม่ได้สำหรับฟีเจอร์คู่กล้องท็อปๆ อย่าง D800 จะมาพร้อมโหมดถ่ายภาพ Time Lapse ที่สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพได้ละเอียดพอสมควร โดยภาพที่ออกมาจากโหมดนี้จะถูกรวมเป็นภาพเคลื่อนไหวให้อัตโนมัติพร้อมพอร์ตออกมาเป็นไฟล์ MOV ทันที



สุดท้ายสำหรับเหล่ามืออาชีพที่ต้องการความรวดเร็วในการตกแต่ง แปลงไฟล์ภาพเพื่อส่งงานต่อให้ลูกค้าภายในเวลานั้น ใน D800 ก็ยังจัดเต็มฟีเจอร์ Retouch Menu มาให้แบบเดียวกับนิคอนทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น RAW Processing, ครอปภาพ รีไซต์ภาพ ไปถึงตัดย่อภาพก็สามารถทำได้จากหลังกล้องอย่างรวดเร็วผ่านหน้าเมนูนี้

สำหรับสเปกกล้อง Nikon D800 ฉบับเต็มสามารถกดรับชมได้จาก >ลิงก์นี้<

ทดสอบประสิทธิภาพ



เนื่องจาก Nikon D800 มีขนาดภาพค่อนข้างใหญ่มาก โดยไฟล์ JPEG มีขนาดถึง 25MB ในขณะที่ไฟล์ RAW จะตกไฟล์ละประมาณ 70-78MB แน่นอนว่าขนาดไฟล์มหึมาขนาดนี้ภาระจึงตกไปอยู่ที่ผู้ใช้ที่ต้องหาการ์ดความจำความเร็วสูงมาใช้ อย่างผมในฐานะผู้ทดสอบเองเลือกใช้การ์ด SONY UHS-I อ่านเขียนที่ความเร็วประมาณ 45-50MB ต่อวินาที ยังถือว่าทำงานได้ค่อนข้างช้าสำหรับ RAW File แบบไม่บีบอัด (ส่วน JPEG เร็วผ่านฉลุย) ไปถึงเมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วคอมพิวเตอร์โปรเซสไฟล์ก็ควรต้องเป็นพวก Multi Core พวก Core i5 Core i7 และแรมควรมี 4GB ขึ้นไปถึงจะทำงานได้ลื่นไหล

ในส่วนเลนส์ที่ใช้ร่วมกับ D800 สำหรับการทดสอบครั้งนี้ได้แก่ Nikon 24-85mm f/3.5-4.5G ED VR

d800isotest

เข้าสู่การทดสอบประสิทธิภาพในแบบไซเบอร์บิซก็ต้องเริ่มด้วยการทดสอบสัญญาณรบกวนที่ค่าความไวแสงต่างๆ ซึ่งจากภาพ (ถ้ามองเห็นไว้ชัดสามารถกดเพื่อรับชมขนาด Original ได้จาก Flickr) จะเห็นว่า D800 ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่ค่าความไวแสงตั้งแต่ 50-6,400 ส่วนระดับ 8,000-25,600 ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ ใช้งานได้พอตัว แต่ถ้าจะต้องนำไปใช้้กับภาพเพื่องานพิมพ์ขนาดใหญ่คงไม่เหมาะสมเท่าไรนัก

ซึ่งจุดนี้หลายคนคงตั้งข้อสงสัยว่าทำไม ISO ของ D800 มันธรรมดา ไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ตรงจุดนี้ผมก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรเหมือนกัน ทดสอบแล้วเป็นตามนี้จริงไ แต่แค่ ISO อย่าเพิ่งตัดสินความเป็นความตายของ D800 ครับ ไปรับชมการทดสอบในหลายๆ ส่วนก่อนครับ

D800Flickr-23
D800Flickr-22

ไหนๆ ก็รู้สึกไม่ดีกับ ISO ที่มีมากับ D800 ที่ไร้จิตวิญญาณของเทคโนโลยียุคใหม่แล้ว ก็เลยขอไขข้อข้องใจกับการทดสอบภาคสนามจริงๆ ซึ่งผลที่ได้กลับแตกต่างจากผลทดสอบด้านบน และสร้างความเซอร์ไพร์สให้ผมอย่างมาก เพราะถึงภาพทั้งสองจะใช้ช่วง ISO ที่ 4,000-6,400 ซึ่งถ้าดูจากตัวทดสอบด้านบนจะเห็นว่า Noise เยอะพอตัว แต่เมื่อใช้งานจริงกลับกลายเป็นว่า Noise เยอะจริง จนผมต้องไปลบออกด้วยซอฟต์แวร์ผ่าน Lightroom 4 แต่เรื่องของมิติ สีสันและไดนามิกของเม็ดสีต่างๆ D800 ถ่ายถอดได้ดีมาก โดยเฉพาะรูปแมวที่ตอนผมถ่ายสถานทีมืดมิดพอสมควร แต่ภาพที่ออกมากลับให้ความคมชัดและมิติที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

D800Flickr-21

มาต่อภาพถ่ายกลางคืนอีกแนวนึงก็คือเปิดหน้ากล้องนานๆ เพื่อทดสอบ Noise Reduction กันบ้าง โดยภาพนี้เปิดรูรับแสง f/22 กับความเร็วชัตเตอร์ 20 วินาที ที่ค่า ISO 50 ระยะไวด์ 24 มิลลิเมตร ผลลัพธ์ที่ได้ เฟอร์เฟค สวยงาม ไม่ต้องดึง ไม่ต้องแต่งอะไรเลย มิติ สีสัน D800 เก็บมาครบ จนน่าจะเป็นกล้องที่เน้นเรื่องถ่ายสถาปัตยกรรมจริงๆ

D800Flickr-18

ลองมาดูมิติกับระยะไวด์ 24 มิลลิเมตร (FX Format) กันบ้าง เดี๋ยวจะหาว่ามิติเกิดมาจาก Depth of field ของเลนส์ ชมกันเต็มๆ เลยครับกับภาพนี้ f/10 ไม่มี DOF ที่ค่า ISO 400 ชัตเตอร์ 1/30 วินาที โอ่..ขอยืนยันคำเดิมครับ D800 เกิดมาเพื่องานสถาปัตยกรรมและภาพเน้นรายละเอียดจริงๆ ขนาดเลนส์คิทขอบเบี้ยวๆ ธรรมดายังเก็บรายละเอียดได้ขนาดนี้

D800Flickr-5
D800Flickr-6

มาทดสอบต่อในช่วงเวลากลางวันกันบ้างกับการตั้งโหมดอัตโนมัติ ISO 200 ยกถ่ายแบบไม่ต้องเล็งอะไร ภาพที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจครับ คอนทราสต์และเฉดสีของนิคอนบวกกับเซ็นเซอร์ของ D800 ค่อนข้างลงตัว

D800Flickr-12

ลองถ่ายภาพแนวสตรีทกันบ้าง ภาพนี้อัดซูม 85 มิลลิเมตรจนสุด พร้อมตั้ง ISO ไปที่ 320 ค่ารูรับแสง f/4.5 และเข้าไปตกแต่งเพิ่มใน Lightroom 4 (ลดแค่เฉดสีลงเท่านั้น) พบว่าด้วยความจัดจ้านของคอนทราสต์สร้างอารมณ์ของภาพได้ดีพอสมควร

D800Flickr-10

ส่วนภาพนี้ไม่ผ่านการตกแต่งใดทั้งสิ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าดีมาก โดยเฉพาะมิติการไล่เฉดสีที่ค่อนข้างชัดเจน ภาพคม มีความสดใสในคอนทราสต์ที่จัดจ้านแบบ Signature นิคอน

D800Flickr-13

ภาพนี้ก็เช่นกัน ถ่ายที่ระยะ 24 มิลลิเมตร ครอป 16:9 ผ่านซอฟต์แวร์ f/10 ISO 50 ให้ความคมชัดระดับดี แถมมิติของท้องฟ้าเก็บมาได้อย่างน่าประทับใจ

D800Flickr-14

ส่วนภาพนี้ลองรวมภาพแบบ HDR ผลที่ได้ค่อนข้างพอใจ

D800Flickr-4

มาทดสอบความเร็วการถ่ายภาพต่อเนื่อง ถึงแม้ D800 จะมีความเร็วชัตเตอร์ช้าเพียง 4 ภาพต่อวินาที แถมขนาดไฟล์ RAW ก็ใหญ่โตจนการ์ดความจำแรงๆ ยังบันทึกไม่ทัน แต่เมื่อลองใช้งานจริงด้วยพบว่าถึงแม้เมมจะบันทึกภาพช้า แต่กล้องจะทำบัฟเฟอร์ไว้เมื่อเรากดชัตเตอร์ต่อเนื่อง ภาพจะถูกเก็บไว้ในบัฟเฟอร์ของกล้องก่อน แล้วค่อยเขียนลงบนการ์ดความจำทีละภาพ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเทคนิคการลดช่องว่างในการถ่ายภาพต่อเนื่องกับไฟล์ขนาด 70 กว่าเมกะไบต์บนการ์ดความจำแบบ SD ที่เขียนข้อมูลได้แค่ 40 MB ต่อวินาทีเท่านั้น

สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็ก็คือภาพที่เห็นด้านบนนี้ หลังจากรัวถ่ายภาพไปมากกว่า 10 ภาพ / ISO 400/ f4.5/ 1/500 วินาที

D800Flickr-8

สุดท้ายกับภาพนี้ลองทดสอบ Process ภาพสไตล์ฟิล์มเก่า Fuji 400H+ ให้ได้อารมณ์แบบ Cinemagraph 16:9

ในส่วนภาพ Gallery อื่นสามารถรับชมได้จากข้างล่างนี้

D800Flickr-19
ISO 400/ 85mm/ 1/200sec

D800Flickr-24
ISO 6,400/ 85mm/ 1/30sec/ Process: Lightroom 4

D800Flickr-9
ISO 3,200/ 85mm/ 1/160sec/ใส่ขอบดำจากระบบกล้อง

D800Flickr-7
ISO 1,000/ 85mm/ 1/125sec

D800Flickr-1
ISO 160/ 85mm/ 1/500sec

ถ้าต้องการรับชมภาพขนาดใหญ่ 1800 พิกเซลพร้อมรายละเอียด Exif สามารถเข้าไปรับชมต่อได้ที่ http://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157634579684328/

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต/สรุป

สำหรับฟูลเฟรม DSLR ราคาเกือบแสนบาท Nikon D800 มาพร้อมจุดเด่นในเรื่องประสิทธิภาพงานถ่ายภาพที่เข้ากันดีกับงานที่ต้องเน้นรายละเอียด หรืองานสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจนมาก และถือว่านิคอนนำเอกลักษณ์ของตนมาปัดฝุ่นและอัดใส่ใหม่ใน D800 ตัวนี้

ผลที่ได้ก็คือกล้องฟูลเฟรมที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และตอบรับสาวกนิคอนได้อย่างถูกอกถูกใจแน่นอน (ยกเว้นราคาที่มิอาจเอื้อมสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ) ผู้อ่านน่าจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่โฆษณาที่ผ่านมา 1 ปีเต็มไปถึงการซอยรุ่นย่อยออกมาเป็น D800E ที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการใช้กล้อง Medium Format และสเปก 36.3 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นเสียงบอกว่า D800 ถูกออกแบบมาเพื่องานถ่ายภาพที่ต้องเน้นรายละเอียด หรือภาพสตรีทอาร์ทที่ผู้ถ่ายต้องบรรจงคิดก่อนถ่าย ไม่ใช่งานแคนดิตกดถ่ายรัวๆ หรืองานถ่ายภาพข่าวที่ต้องเน้นความรวดเร็ว เพราะ D800 ทำงานช้ามาก เนื่องจากขนาดไฟล์ที่ใหญ่มหาศาล ไปถึงสเปกถ่ายภาพต่อเนื่องที่น้อยเพียง 4-5 เฟรมต่อวินาที

อีกทั้งการที่นิคอนนำเอกลักษณ์ด้านโทนภาพ (ภาพคม คอนทราสต์จัด สีสดเข้ม) เข้ามาใส่ใน D800 จนเห็นภาพชัดเจนกว่ารุ่นก่อนๆ ก็กลายเป็นว่าถ้าผู้อ่านชอบกล้องที่โทนสีออกนุ่มนวล เน้นธรรมชาติ จืดๆ สีผิวของมนุษย์นุ่มๆ D800 คงให้สิ่งนั้นไม่ได้ หรือได้ก็ต้องอาศัยการปรับ Picture Style มากกว่าปกติหรือมาโปรเซสอีกครั้ง (ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวด้วย แต่ผมรู้สึกแบบนี้ก็เขียนไปตามความรู้สึก)

สรุปว่ากล้อง Nikon D800 ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ผู้อ่านท่านใดสนใจควรหาลองตามศูนย์ก่อนครับ อย่าเพิ่มรีบด่วนตัดสินใจ เพราะนี่คือกล้องถ่ายภาพที่มีจิตวิญญาณของ Nikon สาย Professional อยู่เต็มเปี่ยมกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา (ไม่นับ D600 ที่ทีมงานยังไม่ได้ทดสอบ) ซึ่งแน่นอนว่าถ้า D800 ถูกจริตกับคนถ่าย กล้องจะแสดงประสิทธิภาพที่น่าทึ่งออกมาได้มากมายจนอาจจะอยากไปถอย D800E ที่ให้ความคมชัดสูงกว่า แต่ต้องแลกกับความเป็นมืออาชีพที่สูงขึ้นกว่าปกติเช่นกัน

Company Related Link :
Nikon

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket





กำลังโหลดความคิดเห็น