เอเอฟพี - จำนวนนักวิจัยที่ได้รับกัมมันตภาพรังสีจากอุบัติเหตุในห้องทดลองนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มเป็น 30 ราย โดยสาเหตุใหญ่เกิดจากวิธีจัดการปัญหาที่ผิดพลาด เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นแถลงวันนี้ (27)
อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (23) ที่ห้องทดลองในเมืองโทไกมุระ ซึ่งห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 120 กิโลเมตร ขณะเกิดเหตุมีนักวิทยาศาสตร์ 55 คนทำงานอยู่ภายในห้องทดลอง
ในเบื้องต้น สำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งญี่ปุ่น (JAEA) แถลงว่า ความผิดพลาดระหว่างการทดลองยิงลำแสงโปรตอนไปยังทองคำทำให้นักวิจัย 6 รายได้รับกัมมันตภาพรังสี แต่ได้แถลงเพิ่มเติมเมื่อเย็นวานนี้ (26) ว่ายังมีผู้เกี่ยวข้องได้รับรังสีเพิ่มเติมอีก 24 คน
นักวิทยาศาสตร์ 2 รายได้รับกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 1.7 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งเทียบเท่ากับการฉายรังสีเอ็กซ์ (x-ray) ในปริมาณเข้มข้นเพื่อการวินิจฉัยโรค
“ไม่มีนักวิจัยคนใดจำเป็นต้องรับการรักษา” โฆษก เจเออีเอแถลง
คณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี (ICRP) แนะนำว่าปริมาณรังสีที่บุคคลทั่วไปได้รับไม่ควรเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี แต่การได้รับรังสีไม่เกิน 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อปีก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
เจเออีเอเปิดเผยว่า สาเหตุที่กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลน่าจะเกิดจากปัญหาทางเทคนิคซึ่งทำให้ความร้อนสูงเกินไป นอกจากนี้คนงานยังใช้พัดลมเป่าหวังลดความเข้มข้นของรังสีภายในห้องทดลองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้รังสีรั่วไหลจากห้องทดลองออกสู่บรรยากาศภายนอก
โฆษกเจเออีเอชี้ว่า พัดลมไม่สมควรถูกนำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้
“เราไม่ทราบว่าทำไมพวกเขาถึงเปิดพัดลม แต่เข้าใจว่าคนงานที่เกี่ยวข้องคงตัดสินใจผิดพลาด”
ความปลอดภัยนิวเคลียร์กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมเมืองปลาดิบ หลังเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อปี 2011 จนทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบ 25 ปี