ต้องยอมรับว่า LG G2 ถือเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ที่เรียกชื่อเสียงให้แบรนด์แอลจีกลับมาได้อย่างงดงาม ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพเครื่อง ที่แอลจีใช้แนวคิดจากการรับฟังผู้ใช้และนำไปพัฒนาจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ไปจนถึงเรื่องของราคาวางจำหน่ายที่กลายเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ในระดับราคาที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกัน
จุดเด่นหลักของ G2 คงหนีไม่พ้นในแง่ของประสิทธิภาพของตัวเครื่องจากหน่วยประมวลผล Snapdragon 800 ที่ถือเป็นไฮเอนด์ซีพียูที่หลายค่ายยอมรับในเวลานี้ รวมไปถึงการพัฒนาตัวระบบปฏิบัติการให้มีความสเถียร นำมาใส่เทคโนโลยีของแอลจีเข้าไปเสริมจุดแข็งในแง่ของแบตเตอรี และหน้าจอ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ
การออกแบบและสเปก
ในแง่ของการออกแบบ แอลจีถือเป็นรายแรกที่มีการปรับดีไซน์ทั้งตัวเครื่องด้วยแนวคิดใหม่ ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้ใช้ ให้สามารถใช้งานมือถือขนาดหน้าจอ 5 นิ้วได้จากมือข้างเดียว จึงทำให้ออกมาเป็นดีไซน์ของ G2 ที่บริเวณหลังเครื่องจะมีความโค้งรับกับนิ้วมือ
ในส่วนของวัสดุแม้จะใช้เป็นพลาสติกคุณภาพสูง แต่ก็ได้มีการทำลายแบบไมโครแพทเทิร์นให้คล้ายกับกระเบื้องเซรามิค เพื่อความสวยงามของทั้งเครื่องสีดำและสีขาว โดยมีขนาดรอบตัว138.5 x 70.9 x 8.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 143 กรัม
ด้านหน้า - ที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นหน้าจอขนาด 5.2 นิ้ว แบบ True HD IPS ความละเอียด1920 x 1080 พิกเซล ที่แอลจีชูว่าให้สีสรรสมจริงและคมชัดที่สุดในตลาดสมาร์ทโฟนระดับเดียวกัน ซึ่งน่าสนใจตรงที่บริเวณขอบหน้าจอทำออกมาได้แคบจนไม่ทำให้รู้สึกว่าเครื่องมีขนาดใหญ่เกินไป
ขณะที่ส่วนบนหน้าจอจะมี ช่องลำโพงสนทนาที่ใช้อะลูมิเนียมสีเงินวางเป็นแนวอยู่ ข้างๆมีเซ็นเซอร์วัดแสง ตรวจจับใบหน้า กล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล แต่สามารถบันทึกวิดีโอความละเอียด 1080p ได้ ส่วนล่างหน้าจอมีเพียงโลโก้แอลจีเท่านั้น เนื่องจากปุ่มกดทั้งหมดถูกใส่เข้าไปไว้ข้างหน้าหน้าจอสัมผัส
ด้านหลัง - อย่างที่บอกไปว่าแอลจีมีการสกรีนลายเซรามิคลงบนพื้นหลังด้วย ทำให้ตัวเครื่องดูเงาๆ ซึ่งในส่วนของหลังเครื่องก็มีจุดที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดของเครื่องคือ ปุ่มควบคุมที่แอลจีเรียกว่า 'Rear Key' ที่เป็นการนำปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และเพิ่มลดระดับเสียงมาไว้บริเวณหลังเครื่องแทน ใช้สามารถใช้นิ้วชี้กดใช้งานขณะถือเครื่องด้วยมือข้างเดียวได้ทันที
นอกจากนี้ก็จะมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชแอลดีอี ซึ่งรองรับการถ่ายภาพวิดีโอความละเอียด 1080p ที่ 60 fps และแอลจียังชูจุดเด่นในแง่ของระบบกันสั่นที่แอลจีมั่นใจว่าดีที่สุดในท้องตลาดเช่นเดียวกัน ส่วนแบตเตอรีภายในจะอยู่ที่ 3,000 mAh และไม่สามารถถอดฝาหลังได้
ด้านขวา - ถูกปล่อยว่างไว้ ด้านบน - มีเพียงช่องไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน และพอร์ตอินฟาเรด
ด้านซ้าย - จะมีช่องใส่ไมโครซิมการ์ด ซึ่งจะมีรูสำหรับใช้เข็มจิ้มถาดรองซิมออกมา ด้านล่าง - เป็นที่อยู่ของช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ลำโพงสเตอริโอ และพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
สำหรับสเปกภายในของ LG G2 ใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM8974 Snapdragon 800 ที่เป็นควอดคอร์ความเร็ว 2.26 GHz มีกราฟิกการ์ด Adreno 330 RAM 2 GB มีพื้นที่เก็บข้อมูลให้ 32 GB (ไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้) ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2.2 (JellyBean)
รองรับการเชื่อมต่อ 3G 850/900/1900/2100 ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 42 Mbps อัปโหลดสูงสุด 21 Mbps MHz ไวไฟมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n/ac สามารถใช้งาน Wi-Fi Direct DLNA แชร์สกรีน NFC จีพีเอส บลูทูธ 4.0 และอินฟาเรด
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
จุดที่โดดเด่นรองลงมาจากในแง่ของการออกแบบเครื่อง ก็คือในแง่ของการใช้งาน โดยในช่วงเริ่มต้นหลายคนที่ซื้อมาใช้อาจจะไม่ค่อยชินกับการต้องนำนิ้วชี้ ไปกดปุ่มเปิด-ปิดหน้าจอบริเวณหลังเครื่อง แต่แอลจีทำให้ง่ายขึ้นด้วยการเพิ่มระบบ ‘Knock On’ ช่วยให้ผู้ใช้ สามารถใช้นิ้วเคาะสัมผัสที่หน้าจอ 2 ทีเพื่อทำการเปิด-ปิดหน้าจอได้ทันที สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในกรณีที่วางเครื่องไว้บนโต๊ะ ก็ไม่จำเป็นต้องหยิบเครื่องขึ้นมาเพื่อกดเปิดหน้าจอแต่อย่างไร
ถัดมาในส่วนของการใช้งานทั่วไปอินเตอร์เฟส ก็จะยังคงรูปแบบเดิมมาจากรุ่นก่อนหน้าอย่าง LG Optimus G หรือ G Pro แต่มีการนำมาปรับปรุงให้ลื่นไหลมากขึ้น โดยยังคงหน้าปลดล็อกที่ใช้นิ้วลากบริเวณส่วนใดของหน้าจอก็ได้ พร้อมกับไอค่อนลัดสำหรับเรียกใช้งานแอปฯ
เมื่อปลดล็อกเข้ามาก็จะพบกับวิตเจ็ตพยากรณ์อากาศซึ่งมีการนำระบบตรวจจับการเอียงเครื่องมาใช้ประกอบกับเอฟแอนิเมชันให้การแสดงผลด้วย ส่วนอื่นๆก็ยังคงเป็นหน้าต่างให้ผู้ใช้เลือกนำไอค่อนลัด หรือวิตเจ็ตต่างๆมาใส่ ตามความต้องการ
Quick Slide ถือเป็นอีกรูปแบบการอำนวยความสะดวกในการใช้งานแอปพลิเคชันอย่าง การรับชมวิดีโอ ใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ โทรศัพท์ ดูข้อความ ปฏิทิน อีเมล บันทึก จัดการไฟล์ เครื่องคิดเลข และระบบคำสั่งเสียง ด้วยหน้าต่างเล็ก ที่สามารถเลื่อนไปมาได้ แต่ทั้งนี้สามารถเปิดใช้งานได้พร้อมกัน 2 แอปฯเท่านั้น
การเรียกใช้งาน Quick Slide ทำได้ง่ายที่สุดด้วยการเปิดไอค่อน QSlide ในแถบการแจ้งเตือน ก็จะมีการเพิ่มแถบสำหรับเรียกใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีให้เลือกใช้งานอย่าง Quick Memo และ Quick Remote ให้ใช้งานกันด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีแถบปรับความสว่างหน้าจอ และปรับเสียงให้เลือกปรับด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของแถบการตั้งค่าลัด ก็จะมีรูปแบบการตั้งค่าแทบทั้งหมดให้กดใช้งานจากแถบการแจ้งเตือนได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิด เสียง ดาต้า ไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส NFC หมุนจอ ซิงค์ ไวไฟฮ็อตสป็อต แชร์หน้าจอ โหมดประหยัดพลังงาน โหมดใช้งานบนเครื่องบิน แน่นอนว่าสามารถเลือกให้เหลือเฉพาะไอค่อนที่ใช้งานบ่อยก็ได้เช่นเดียวกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่แอลจี เพิ่มมาเพื่ออำนวยความสะดวกก็คือ การที่ตัวเครื่องสามารถค้นพบได้ว่ามีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่างเช่นกรณีที่เสียบหูฟัง ก็จะมีไอค่อนลัดสำหรับเลือกใช้งานแอปฯฟังเพลง ดูวิดีโอ ยูทิวบ์ โทรศัพท์ (สามารถตั้งเพิ่มเองได้) กรณีเสียบสายชาร์จ ต้องการให้รันแอปฯใดก็ได้เช่นเดียวกัน
ถัดมาก็ถือการแสดงผลบนคล้ายแชทบ็อกซ์ เด้งขึ้นมาบนหน้าจอหลัก ทั้งการแสดงข้อความสั้น หรือกรณีที่มีการเปิดใช้งานแอปฯอย่างเว็บเบราว์เซอร์ เฟซบุ๊ก แล้วมีสายโทรเข้า ก็จะขึ้นเป็นกล่องเล็กๆแสดงรายละเอียดสายโทรเข้าพร้อมปุ่มรับสาย วางสายให้กดได้ทันที
ในส่วนของแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ในเครื่อง จะประกอบไปด้วย แอปฯมาตรฐานจากกูเกิล เพิ่มเติมด้วย กล้อง ตารางงาน แก้ไขวิดีโอ อัลบั้มภาพ ข้อความ เครื่องคิดเลข นาฬิกาปลุก โทรศัพท์ สมุดบันทึก บันทึกเสียง ปฏิทิน เพลง รายชื่อ วิดีโอ วิทยุFM ตัวอัปเดตเครื่อง
พยากรณ์อากาศ เว็บเบราว์เซอร์ปกติ โครม ระบบสำรองข้อมูล Life Square รีโมท คำสั่งเสียง ตัวจัดการไฟล์ พจนานุกรม โปรแกรมอ่านเอกสารออฟฟิศ ระบบแปลภาษา ตัวแนะนำแอปฯ Smart World
ตัว Life Square จะเปรียบเหมือนแอปฯรวมการแสดงผลข้อมูลทั้งการโทร ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าแอปฯเดียวเพื่ออัปเดตข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ตัว Quick Memo ก็จะทำตัวเหมือนเป็นสมุดจด ให้ผู้ใช้สามารถบันทึกข้อความลงไป ได้ทั้งการพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ด หรือจะใช้นิ้วในการวาด ซึ่งสามารถเลือกรูปแบบตัวอักษร ขนาด สี รูปแบบกระดาษ สีพื้นหลัง เมื่อบันทึกเสร็จก็สามารถแชร์ไปยังแอปฯต่างๆ หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันที
Quick Remote ถือเป็นแอปฯที่มีมาให้ตั้งแต่ G Pro โดยเน้นอำนวยความสะดวกในการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างโทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี บลูเรย์ โปรเจกเตอร์ รวมถึงเครื่องปรับอากาศ ได้จากการควบคุมของสมาร์ทโฟน
ในส่วนของโหมดโทรศัพท์ ยังคงรูปแบบเดิมๆจากเครื่องรุ่นก่อน คือมาพร้อมระบบเดาเลขหมาย มีการแสดงผลชื่อ หมายเลข ปุ่มพักสาย ดูรายชื่อ วางสาย เรียกปุ่มกด เปิดลำโพง ปิดเสียง ใช้งานบลูทูธ ตามปกติ
การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ เนื่องจากมีมาให้เลือกใข้งานเบราว์เซอร์ของแอนดรอยด์เอง และโครม ทำให้มีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ การประมวลผลถือว่าทำได้ค่อนข้างเร็วจากทั้งซีพียู แรมที่ให้มา รวมกับหน้าจอ ทำให้การท่องเว็บทำได้ค่อนข้างน่าประทับใจ
ที่น่าสนใจคือในส่วนของเว็บเบราว์เซอร์ปกติ จะมีฟังก์ชัน Capture Plus มาให้ใช้ในการบันทึกภาพหน้าเว็บเพจในแนวยาว แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถบันทึกหน้าเว็บไซต์ที่ยาวมากเกินไปได้ อย่างเช่นหน้าเว็บผู้จัดการจะขึ้นว่าหน่วยความจำไม่เพียงพอ
LG Backup เป็นระบบสำรองข้อมูลที่ผู้ใช้สามารถตั้งเวลาได้ โดยจะเลือกสำรองข้อมูลได้ทั้งหน้าจอ ข้อมูลส่วนตัว ไฟล์มีเดีย แอปฯ และการตั้งค่า ซึ่งเมื่อแบคอัปทิ้งไว้ แล้วก็จะถ่ายโอนไปยังเครื่องอื่น หรือเรียกคืนข้อมูลได้ทันที
โหมดกล้องถ่ายภาพที่ให้มาถือว่าค่อนข้างใช้งานง่าย กล่าวคือมีโหมดถ่ายภาพให้เลือกใช้ทั้งถ่ายภาพปกติ ถ่ายภาพแล้วลบวัตถุที่เคลื่อนไหว ถ่ายภาพชดเชยแสง พาโนราม่า ภาพต่อเนื่อง บิวตี้ช็อต กล้องสองตัวพร้อมกัน ภาพให้เห็นเงาเคลื่อนไหว โหมดอัตโนมัติ กีฬา และกลางคืน เช่นเดียวกับโหมดถ่ายวิดีโอที่สามารถใส่เอฟเฟกต์ได้ ถ่ายกล้องหน้าหลังพร้อมกันได้ และซูมวัตถุอัตโนมัติ
ส่วนของอินเตอร์เฟสก็จะมีปุ่มชัตเตอร์อยู่ฝั่งขวา โดยสามารถเลือกโหมดภาพนิ่ง และวิดีโอ เมื่อเข้าไปในส่วนของการตั้งค่าก็จะมีให้เลือกใช้คำสั่งถ่ายภาพด้วยเสียง ปรับแสง โหมดโฟกัส ตั้งขนาดรูป ปรับ ISO สมดุลแสงขาวต่างๆ ที่น่าสนใจคือในส่วนของการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ที่มีโหมดออดิโอซูมให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกเสียงเฉพาะจุดได้ และยังถ่ายภาพ 1080p ที่ 60 fps ได้ด้วย
อีกส่วนที่น่าสนใจคือในโหมดเครื่องเล่นมัลติมีเดียอย่างไฟล์วิดีโอ ขณะใช้งานผู้ใช้สามารถกดซูมตัววิดีโอเข้าไป พร้อมกับบันทึกภาพหน้าจอออกมาได้ทันที ช่วยให้สามารถซูมเข้าไปดูรายละเอียดในวิดีโอได้สะดวกขึ้น
มาถึงในส่วนของการตั้งค่า ซึ่งแอลจีจะมีรูปแบบให้เลือกด้วยกัน 2 แบบคือแบ่งเป็นแถบการเชื่อมต่อ เสียง หน้าจอ และทั่วไป หรืออีกแบบคือเป็นหน้ายาวให้เลื่อนแบบแอนดรอยด์รุ่นอื่นๆ ซึ่งก็จะมีเมนูให้เลือกตั้งค่าค่อนข้างเยอะ
ซึ่งถ้าดูแล้วก็จะมีโหมดที่น่าสนใจอยู่อย่างเช่น Quient Mode ให้ผู้ใช้ตั้งเวลาปิดการแจ้งเตือน ซึ่งสามารถตั้งได้ว่าถ้ามีหมายเลขใดโทรเข้ามาค่อยมีเสียงเป็นต้น หรือแม้แต่การตั้งปุ่มกดบนหน้าจอ ที่สามารถปรับเลือกได้เอง รวมถึงเลือกสีได้ด้วย
ระบบตรวจจับใบหน้าขณะใช้งานหน้าจออย่าง Smart Screen หรือ Smart Video ก็มีมาให้ใช้ หรือแม้แต่การตั้งค่าการแจ้งเตือนของไฟ LED ที่สามารถดูได้ว่าการแสดงสีไหนหมายถึงการแจ้งเตือนอะไร รวมไปถึงเลือกปิดการแจ้งเตือนบางชนิดก็ได้เช่นกัน
สุดท้ายในส่วนของ Gestures โหมดจะเป็นแหล่งรวมการเปิดใช้งานฟังก์ชันอย่าง Knock On การรับสายโดยนำโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหู เมื่อโทรศัพท์เคลื่อนไหวแล้วเสียงเบาลง คว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียงเรียกเข้า และอื่นๆ ส่วนในการเชื่อมต่อสายยูเอสบี ก็จะมีให้เลือกรูปแบบการเชื่อมต่อด้วย
ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 17,415 คะแนน และ 33,328 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 2,810 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 1,023 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 ได้ 57.4 fps Nenamark2 58.4 fps An3dBench 7,569 คะแนน และ An3dBenchXL 43,492 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 3,884 คะแนน CPU 12,869 คะแนน Disk 6,341 คะแนน Memory 2,783 คะแนน 2D Graphics 3,170 คะแนน และ 3D Graphics 1,478 คะแนน
ส่วนการทดสอบ CF-Bench และ 3D Mark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
จุดขาย
- หน้าจอ IPS 5.2 นิ้ว ความละเอียด 1080p แบบขอบบาง ที่ช่วยให้เครื่องดูเล็กลง
- ตัวรอมทำออกมาได้สเถียรและช่วยให้แบตฯอึดมาก
- กล้องพร้อมระบบกันสั่น ที่ช่วยให้ถ่ายภาพและวิดีโอได้ง่ายขึ้น
- ปุ่ม Rear Key และ ฟังก์ชัน Knock ที่ช่วยให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติมได้ แต่ในตัวเครื่องมีให้มา 32 GB
- พื้นที่หน้าจอบริเวณขอบล่างถูกกินไปด้วยแถบ 3 ปุ่มหลัก
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
สิ่งที่ G2 ทำได้น่าประทับใจนอกเหนือไปจากประสิทธิภาพของตัวเครื่องโดยรวมที่ดีแล้ว คงหนีไม่พ้นการที่แอลจี ตั้งราคาจำหน่ายเครื่องที่มีหน่วยความจำ 32GB เพียง 19,900 บาท ทำให้กลายเป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ที่คุ้มค่ามากที่สุดในเวลานี้
จุดที่ทำให้ประทับใจ G2 มีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วนหลักๆคือ หน้าจอสวย แบตอึด ความสเถียรของเครื่อง และระบบกันสั่นในกล้อง ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นสำคัญที่ควรมีในสมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก แต่ก็น่าเสียดายที่ตัวเครื่องทำมาให้ไม่สามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม และถอดเปลี่ยนแบตเตอรีได้ไม่งั้นจะครบเครื่องมากกว่านี้
Company Related Links :
LG