xs
xsm
sm
md
lg

ทดสอบโฟกัสเทพประทาน Canon EOS 70D เขาเกิดมาเพื่องานวิดีโอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ปัญหาหนึ่งที่เกิดกับผู้ใช้งาน Live View ในกล้อง DSLR ก็คือเรื่องระบบออโต้โฟกัสที่ช้าและทำงานไม่ลื่นไหล โดยเฉพาะการถ่ายวิดีโอด้วย DSLR ผ่าน Live View ที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมในทุกวงการทั้งมืออาชีพถึงมือสมัครเล่น

วันนี้แคนนอนมีทางออกสำหรับปัญหาออโต้โฟกัสผ่าน Live View เหล่านั้นกับเทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกกับโปรดักส์ใหม่ล่าสุดอย่าง EOS 70D แต่ก่อนจะไปรับชมรายละเอียดความเทพของระบบออโต้โฟกัสรุ่นใหม่นี้ มารับชมรายละเอียดปลีกย่อยของ EOS 70D กันก่อน

การออกแบบและสเปก




Canon EOS 70D เกิดขึ้นมาแทนที่รุ่นเก๋า EOS 60D ที่เคยโด่งดังเมื่อสมัยก่อน โดยรูปลักษณ์ถูกผลิตขึ้นจากอะลูมิเนียมและโพลีคาร์บอเนตหุ้มยางเกือบทั้งบอดี้ทำให้การจับถือจะกระชับมือและตัวกล้องมีน้ำหนักประมาณ 755 กรัม มาพร้อมหน้าจอสัมผัส Vari Angle LCD ปรับเปลี่ยนองศาได้ขนาด 3.2 นิ้วพร้อมเทคโนโลยี Clear View II รองรับเลนส์ Canon EF และ EF-S (EF Mount)



ด้านสเปกกล้องจะมาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ APS-C CMOS (22.5x15.0 มิลลิเมตร) ผนวกเทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF รายแรกของโลก หน่วยประมวลผลภาพ DIGIC 5+ ความละเอียดภาพอยู่ที่ 20.2 ล้านพิกเซล (5,472x3,648 พิกเซล อัตราส่วน 3:2) รองรับการถ่าย RAW File, JPEG และ RAW+JPEG

สำหรับค่าความไวแสง (ISO) จะรองรับ 100-12,800 ส่วนในโหมดวิดีโอรองรับ ISO สูงสุด 6,400 ระบบออโต้โฟกัส 19 จุดสามารถโฟกัสแบบ Cross-type ได้ทั้ง 19 จุด พร้อมรองรับการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 7 เฟรมต่อวินาที และความเร็วชัตเตอร์สูงสุดอยู่ที่ 1/8,000 วินาที



มาดูในส่วนสเปกการถ่ายวิดีโอ (EOS Movie) จะรองรับความละเอียดสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซลที่ความเร็ว 25 เฟรมต่อวินาที ส่วนความละเอียด 1,280x720 พิกเซลจะรองรับความเร็วเฟรมต่อวินาทีสูงถึง 50 เฟรมต่อวินาที รวมถึงระบบกล้องยังรองรับการถ่ายที่ความละเอียด ALL-I และ IPB โดย ALL-I จะใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเยอะกว่า IPB เนื่องจาก ALL-I จะเก็บภาพจริงทั้ง 25 เฟรม เวลาตัดต่อวิดีโอจะทำได้ง่าย แต่ IPB จะใช้การบีบอัดข้อมูลตามแบบของแคนนอนทำให้ไฟล์มีขนาดเล็ก

โดยความยาวของวิดีโอที่สามารถบันทึกได้ต่อการกดชัตเตอร์หนึ่งครั้งอยู่ที่ 29 นาทีตามแบบฉบับของแคนนอน



นอกจากนั้น EOS 70D ยังรองรับ WiFi สำหรับใช้ส่งภาพไปยังสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือใช้สมาร์ทโฟนเป็นรีโมท โฟกัส กดชัตเตอร์กล้อง




อีกทั้งยังมาพร้อมฟังก์ชันในการปรับแต่ง Front/Back Focus ปุ่มกดต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ RAW Image Processing สำหรับผู้ใช้กล้องใจร้อนอยากรีบใช้งานภาพที่ถ่ายจาก RAW File เพื่อนำไปให้ลูกค้าชม Sample ก่อน รวมไปถึงโหมด Crearive filters ก็มีมาให้ใน EOS 70D ด้วยเช่นกัน

ในส่วนสเปกกล้องอื่นๆ สามารถเข้าไปติดตามรับชมได้จาก http://www.usa.canon.com/cusa/consumer/products/cameras/slr_cameras/eos_70d#Specifications



กลับมาในเรื่องพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดต่างๆ รอบตัวกล้องกันบ้าง เริ่มจากข้างซ้ายของกล้องจะเป็นพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ เริ่มจากบนสุด MIC (ไมโครโฟน) ช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมของแคนนอน ถัดลงมาด้านล่างเป็น HDMI และ A/V OUT Digital ที่สามารถเป็น miniUSB สำหรับดึงข้อมูลภาพร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้



มาที่ด้านบนของกล้องหลักๆ จะเป็นวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพที่ต้องกดปุ่มสีดำตรงกลางค้างไว้ก่อนถึงจะหมุนปรับโหมดถ่ายภาพได้ พร้อมสวิตซ์ปิด-เปิดกล้อง ส่วนด้านขวาจะเป็นจอ LCD บอกรายละเอียดของค่ากล้องต่างๆ พร้อมปุ่มปรับ Auto Focus, Drive, ISO, ส่วนวัดแสงและปุ่มเปิดไฟจอ LCD เวลาใช้งานกลางคืน ส่วนปุ่มกดที่อยู่ติดกับวงล้อหมุนปรับค่ากล้องคือ ปุ่มปรับออโต้โฟกัส



ในส่วนช่องมองภาพ Eye-level SLR (with fixed pentaprism) รองรับขอบเขตภาพ 98% โดยสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในช่องมองภาพก็คือสามารถดูวัดระดับความลาดเอียงของกล้องได้ (ต้องเปิดใช้งานในหน้าเมนูก่อน)



มาถึงด้านหลังของกล้องจะประกอบด้วยส่วนหลักคือหน้าจอ LCD แบบสัมผัสทำให้ปุ่มกดด้านหลังถูกลดลงเหลือเฉพาะปุ่มคำสั่งสำคัญ เช่น MENU, IFO, สวิตซ์เปลี่ยนโหมดวิดีโอ-ภาพนิ่ง, ปุ่ม Q เปิด Quick Menu, ปุ่มพรีวิวภาพ, ปุ่มลบภาพ-พรีวิวภาพ, ปุ่มซูมภาพในโหมดพรีวิวภาพ (สามารถใช้เป็นปุ่มล็อคค่าแสงและอื่นๆ ได้), ปุ่ม Start/Stop สำหรับกดเพื่อบันทึกหรือหยุดบันทึกวิดีโอ (แต่ถ้าอยู่ในโหมดภาพนิ่งจะทำหน้าที่เปิด-ปิดการใช้งาน Live View) และสุดท้ายวงแหวนปรับค่ากล้อง เนื่องจากเป็นกล้องรุ่นกลางทำให้มีวงแหวนปรับค่ากล้องมาให้ 2 วงคือด้านหลังกับสันบนกล้อง

ส่วนปุ่มคำสั่งอื่นสามารถใช้งานผ่านการสัมผัสจากหน้าจอได้



สุดท้ายสำหรับการ์ดความจำที่รองรับ SD card, SDHC card, SDXC memory card และยังรองรับการ์ดความจำรุ่นใหม่บนมาตรฐาน UHS-I ด้วย

ถอดรหัส Dual Pixel CMOS AF และทดสอบประสิทธิภาพ

เดิมทีเทคโนโลยีในระบบออโต้โฟกัสของกล้องดิจิตอลจะมี 2 รูปแบบได้แก่ Phase AF (Phase Auto Focus) และ Contrast AF (Contrast Auto Focus) ซึ่งมีหลักการทำงานง่ายๆ ก็คือ


การทำงานของ Phase AF / ภาพจากอินเตอร์เน็ต

Phase AF จะเป็นระบบออโต้โฟกัสที่พบได้เมื่อทำการโฟกัสและถ่ายภาพจากช่องมองภาพ (ออปติคอล วิวไฟน์เดอร์ใน DSLR) ซึ่งรับภาพจากเลนส์และสะท้อนกับกระจกสะท้อนภาพ จากนั้นแสงจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนและยิงมาที่เซ็นเซอร์ออโต้โฟกัส (AF Sensor) ซึ่งเมื่อผู้ใช้กล้องกดชัตเตอร์ลงครึ่งเพื่อโฟกัสภาพ แสงทั้ง 2 ส่วนที่แยกจากกันจะวิ่งเข้าหากันเพื่อหาความสมดุลย์ แน่นอนว่าถ้าแสง 2 ส่วนไม่เท่ากัน ก็แสดงว่าโฟกัสพลาด ระบบก็เพียงสั่งดึงระยะเลนส์ใหม่จนแสงทั้ง 2 ส่วนทับกันพอดี ภาพก็จะชัด


การทำงานของ Contrast AF / ภาพจากอินเตอร์เน็ต

แตกต่างจาก Contrast AF ที่จะถูกเรียกใช้เมื่อโฟกัสและถ่ายภาพจาก Live View (เช่นกล้องดิจิตอลคอมแพกต์หรือ Mirrorless) ซึ่งไม่มีเซ็นเซอร์ออโต้โฟกัสเข้ามาช่วยเพราะแสงจากเลนส์ส่งตรงมายังเซ็นเซอร์รับภาพ (ภาพปรากฏที่จอ LCD ด้านหลังแบบเรียลไทม์) เพราะฉะนั้นการทำออโต้โฟกัสบนเทคโนโยีนี้จะใช้หลักการหมุนชิ้นเลนส์จากระยะไกลสุดมาระยะใกล้สุดเพื่อหาจุดโฟกัสจากภาพที่เซ็นเซอร์รับภาพสร้างขึ้น โดยระหว่างที่เลนส์กำลังหมุนวืดไปมานั้น ถ้าภาพชัดสุดที่บริเวณใด บริเวณนั้นจะเกิดคอนทราสต์ที่สูง ระบบก็จะเข้าใจว่าบริเวณนั้นเข้าโฟกัสแล้ว ทำให้การทำออโต้โฟกัสแบบ Contrast AF มีความแม่นยำกว่า Phase AF

แต่ปัญหาของ Contrast AF ก็มีมากพอสมควร โดยเฉพาะความเชื่องช้าในการจับจุดโฟกัสที่ต่ำกว่า Phase AF และยิ่งแสงน้อยการจับโฟกัสยิ่งช้าและความแม่นยำลดลงมาก เนื่องจากการโฟกัสรูปแบบนี้จะต้องคำนวณจุดโฟกัสที่ชัดจากภาพผ่านเซ็นเซอร์รับภาพโดยระบบต้องหมุนเลนส์และเก็บข้อมูล Contrast ของภาพไว้แล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบกันว่าส่วนใดของภาพที่ Contrast สูงสุด ส่วนนั้นคือระยะโฟกัสที่ถูกต้องที่เลนส์จะเคลื่อนระยะไปหา แต่ทั้งนี้เมื่ออยู่ในที่แสงน้อย Contrast ภาพที่เกิดขึ้นจะต่ำ ระบบจะจับโฟกัสที่ถูกต้องได้ยากทำให้ต้องมีการหมุนเลนส์หาระยะหลายครั้ง (อาการโฟกัสวืดวาด เข้าๆออกๆ ของเลนส์) กว่าจะหาจุดคมชัดได้

และนี่คือเทคโนโลยีในระบบออโต้โฟกัสของกล้องดิจิตอลแบบดั้งเดิม

มาถึงเทคโนโลยีออโต้โฟกัสในปัจจุบันกันบ้าง เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้ Digital SLR ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอ ทำภาพยนตร์สั้นผ่าน Live View ไปถึงตลาด Mirrorless (กล้องไร้กระจกสะท้อนภาพ ใช้การมองภาพผ่าน Live View เป็นหลัก) กำลังเติบโต ทำให้เทคโนโลยี Contrast AF ไม่เพียงพอต่อการใช้งานเพราะทำงานเชื่องช้าเกินไป ครั้นเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างระบบไฮบริด Phase AF และ Contrast AF เพื่อเพิ่มความเร็วในการออโต้โฟกัสผ่าน Live View ก็ยังไม่รวดเร็วและแม่นยำพอ โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับการถ่ายวิดีโอย้งทำงานได้ไม่ดีนัก หลายคนจึงแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการปิดระบบออโต้โฟกัสแล้วใช้มือหมุนโฟกัสเลนส์เองเมื่อถ่ายวิดีโอ ซึ่งนับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะบุคคล

แต่ปัจจุบันแคนนอนได้คิดค้นเทคโนโลยีออโต้โฟกัสสำหรับ Live View ขึ้นใหม่ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องความรวดเร็วและแม่นยำของระบบออโต้โฟกัสแบบดั้งเดิม พร้อมเปิดตัวครั้งแรกใน EOS 70D ในชื่อ Dual Pixel CMOS AF



ด้วยหลักการออกแบบที่แคนนอนคิดเพิ่ม Photodiode (ตัวแปลงสัญญาณแสงเป็นไฟฟ้า) จาก 1 เป็น 2 ตัว (Dual Pixel) ให้ครอบคลุมพื้นที่ 80% ของเซ็นเซอร์รับภาพทั้งหมด พร้อมเพิ่มความสามารถให้บริเวณ Dual Pixel สามารถโฟกัสตามหลักของ Phase AF ที่แต่เดิมมีอยู่เฉพาะใน AF Sensor ในช่องมองภาพแบบออปติคอลผ่านกระจกสะท้อนเท่านั้น



หลักการโฟกัสบน Dual Pixel CMOS AF จะเหมือน Phase AF ทุกประการ โดย Photodiode A และ B จะรับภาพเหมือนตาซ้ายขวาของเรา จากนั้นเมื่อเรากดชัตเตอร์ลงเพื่อโฟกัส Photodiode A และ B จะคำนวณหาค่าความสมดุลย์ โดยจะสั่งให้เลนส์กล้อง (ปัจจุบันมีเลนส์จากแคนนอน 103 รุ่นที่รองรับกับระบบดังกล่าว) หมุนหาระยะจากค่าแสงที่รับได้ จน Photodiode A และ B สมดุลย์กัน แน่นอนว่าด้วยวิธีการโฟกัสรูปแบบนี้สิ่งที่ได้กลับมาก็คือระบบโฟกัสที่รวดเร็วและแม่นยำกว่าระบบเดิมถึง 30% ในโหมด Live View และการถ่ายติดตามวัตถุ ไปถึงการใช้โหมด Movie Servo AF ทำได้ลื่นไหล รวดเร็ว มากขึ้น การถือกล้องถ่ายวิดีโอแบบ Handheld จับโฟกัสได้แม่นยำขึ้นแบบเดียวกับการโฟกัสผ่านช่องมองภาพออปติคอลผ่านกระจกสะท้อนภาพ

ลองดูวิดีโอผลลัพธ์ของเทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF จากวิดีโอด้านล่างนี้ ซึ่งผม @dorapenguin ได้ทดสอบให้ชมกันแบบละเอียด



จากวิดีโอจะเห็นว่า ปกติสำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอทำรายการด้วย DSLR คนเดียว เป็นเรื่องยากมากที่จะตั้งกล้อง DSLR ให้ถ่ายภาพเราอย่างแม่นยำไม่มีอาการหลุดโฟกัส โดยเฉพาะถ้าพื้นหลังเป็นสีขาว บางครั้งเพียงแค่โยกหน้านิดเดียว โฟกัสก็หวืดหลุดไปแล้ว แต่กับ EOS 70D ที่ใช้เทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF จะเห็นว่าไม่มีอาการดังกล่าวให้หงุดหงิดเลย แถมเรื่องโฟกัสผ่านหน้าจอสัมผัสก็ทำได้ดีอย่างน่าประทับใจมาก

สรุปสั้นๆ ครับว่า EOS 70D รวมถึงกล้องรุ่นต่อไปของแคนนอนที่จะมาพร้อมเทคโนโลยี Dual Pixel CMOS AF ณ ปัจจุบันถือว่ายอดเยี่ยมและน่าจะทำให้ EOS Movie ของแคนนอนยังคงอยู่ในบัลลังก์กล้อง DSLR ที่สามารถถ่ายวิดีโอได้ดีที่สุดในตอนนี้


ขนาดไฟล์ภาพหนึ่งภาพทั้ง RAW และ JPEG

จบเรื่องของวิดีโอไปแล้ว เราลองมาดูในเรื่องประสิทธิภาพของภาพนิ่งกันบ้าง

ISO70DTest

เริ่มจากการทดสอบ ISO สำหรับภาพนิ่งจะเห็นว่า EOS 70D มีคุณภาพไฟล์ที่ไม่หวือหวาไปกว่ากล้อง DSLR APS-C รุ่นใหม่ๆ ของแคนนอน ค่า ISO ที่หวังผลได้ตั้งแต่ ISO 100-3,200 ส่วน ISO ตั้งแต่ 6,400 ขึ้นไปจะมี Noise เกิดขึ้นให้เห็นขัดตาบ้างแต่ใช้งานได้ ถ้ามาทำ Noise Reduction เพิ่ม ส่วน ISO 12,800 ไว้ใช้แก้ขัดเวลาจำเป็นจะดีกว่า

70D-2-2

เช่นภาพนี้ถ่ายที่ค่า ISO 6,400 แบบ RAW และใช้ DPP ของแคนนอนลด Noise ลงไปพอสมควร ไฟล์ที่ได้ก็ถือว่าโอเคไม่ผิดหวังเหมือนตอนผมได้ทดสอบ EOS 100D

70D-4-2

ในส่วนเรื่องโทนสี แสง และความคมชัด ภาพนี้ผมใช้เลนส์ EFS 18-135 STM คิทจากชุด EOS 70D ก็ถือว่าพอใจ ยิ่งเรื่อง Touch Shutter จากภาพนี้ถือว่าทำได้แม่นยำและรวดเร็วดีครับ

70D-6-2


ส่วนภาพนี้ถ่ายโดยใช้ ISO 800 ความเร็วชัตเตอร์ 1/2,000 วินาทีเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของนกทั้งสองที่กำลังบินตี(หรือเล่น)กันอยู่ โดยผมตั้งใจจะทดสอบความรวดเร็วของโฟกัสแบบ Dual Pixel บน Live View ผนวก Touch Shutter เพราะผมวางกล้องกับพื้นในมุมที่เอื้อมกดปุ่มชัตเตอร์ตรงสันกล้องแล้วเอวอาจบิดได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้หายห่วงครับ เร็ว แรง โฟกัสแม่นได้สมราคาคุยแคนนอนมาก จนผมรู้สึกว่าต่อไป Optical Viewfinder คงไม่มีค่าแล้วยกเว้นถ่ายในที่แสงน้อยมากๆ จริงๆ Optical Viewfinder ยังทำงานได้ดีกว่า

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต/สรุป

70D-7-2
70D-5-2
70D-1-2
70D-3-2

ถึงแม้ EOS 70D ตัวทดสอบจะอยู่ในมือของผมไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์แต่ก็สามารถสร้างความประทับใจให้ผมได้อย่างมาก เพราะเรื่องออโต้โฟกัสกับ Live View ก็เหมือนเป็นปัญหาที่ยังหาทางแก้ไขได้ยากในปัจจุบันถ้าอยากให้มันทำงานได้เร็วเหมือนโฟกัสจากช่องมองภาพ แต่แคนนอนก็แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ และถืิอเป็นการเปิดโลกให้ EOS Movie บน DSLR กลับมาสดใสและโดดเด่นกว่าคู่แข่งในปัจจุบันอย่างหาคนเทียบได้ยาก



แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ฟีเจอร์ดีๆ เหมาะกับงานถ่ายวิดีโอมากมาย แต่แคนนอนไม่ยอมทำให้ซอฟต์แวร์โดดเด่นกว่ารุ่นอื่นๆ ที่มีในปัจจุบัน ในเมื่อตัวเองรู้ดีอยู่แล้วว่า ระบบโฟกัสรุ่นใหม่นี้จะจับตลาดผู้ชื่นชอบงานถ่ายวิดีโอด้วย DSLR แต่โหมดวิดีโอที่แคนนอนให้มากลับไม่แตกต่างจาก DSLR รุ่นก่อนหน้านี้ทั้งเรื่องการจำกัดเวลาถ่ายไว้ที่ประมาณ 29 นาทีต่อคลิป ไปถึง Display ที่ยังไม่สามารถแสดง Microphone Level ได้ (จะดูทีต้องกดเข้าไปในหน้า Menu) หรือแม้แต่เรื่องความเร็วเฟรมที่ไม่ยอมใส่มาให้สามารถถ่ายได้ถึง 60 เฟรมต่อวินาทีที่ความละเอียด FullHD ไปถึงช่องเสียบหูฟังสำหรับมอนิเตอร์เสียง ถ้าแคนนอนใส่มาให้ทั้งหมดนี้คงจะดีไม่ใช่น้อย

ส่วนประสิทธิภาพของการถ่ายภาพนิ่งก็ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานกล้องแคนนอนรุ่นใหม่ตั้งแต่ EOS 650D มา และยิ่งบวกกับระบบโฟกัสใหม่นี้ด้วยแล้ว การใช้งานถ่ายภาพผ่าน Live View ไปถึง Touch Shutter สามารถทำงานได้ดีขึ้นและใช้งาน หวังผลได้จริงกว่ารุ่นก่อนหน้า

สำหรับราคาขายของ Canon EOS 70D เฉพาะบอดี้อย่างเดียวแคนนอนตั้งราคาไว้ 36,900 บาท ส่วนถ้ามาพร้อมเลนส์ EF-S 18-55 f/3.5-5.6 IS STM จะมีราคาอยู่ที่ 41,900 บาท

และถ้าเป็นรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบซึ่งมาพร้อมเลนส์ EF-S 18-135 f/3.5-5.6 IS STM จะมีราคาขายอยู่ที่ 50,900 บาท และสุดท้ายรุ่นที่มีพร้อมเลนส์ EF-S 18-200 f/3.5-5.6 IS จะมีราคาอยู่ที่ 52,900 บาท เริ่มจำหน่ายกันยายนนี้


Company Related Link :
Canon

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket





กำลังโหลดความคิดเห็น