อาจเป็นเพราะผลตอบรับในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 และไฮบริดโน้ตบุ๊กอยู่ในทิศทางที่ดีสำหรับเมืองไทย เพราะล่าสุดไมโครซอฟท์ประเทศไทยก็ขอกระโดดเข้าร่วมวงนำแท็บเล็ตวินโดวส์ที่ทุกคนเฝ้ารออย่าง Surface มาเปิดขายทำตลาดในไทยตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนถึง 2 รุ่นได้แก่ Surface RT และ Surface Pro
ถึงแม้ Surface จะเข้าไทยช้าไปเกือบปี แต่เพราะความเป็นไมโครซอฟท์ฮาร์ดแวร์เพื่อไมโครซอฟท์ ซอฟต์แวร์โดยเฉพาะก็สามารถสร้างพลังเสียงเรียกผู้สนใจให้มาต่อแถวเข้าคิวซื้อได้อย่างไม่ยากนัก
แต่ก่อนจะเข้าสู่บทความรีวิวทีมไซเบอร์บิซอยากขอทำความเข้าใจลายน์สินค้า Surface ที่มีการแบ่งขายเป็น 2 รุ่นกันสับสนกันก่อน
สำหรับ Surface รุ่นแรกจะต่อท้ายด้วยคำว่า RT (ไมโครซอฟท์ให้คำจำกัดความว่า แท็บเล็ตที่ทำงานได้เหมือนแล็ปท็อป) หมายถึงเป็นรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผล ARM แบบเดียวกับแอนดรอยด์และไอโอเอสแท็บเล็ต ไม่สามารถติดตั้งโปรแกรมใดๆ ได้นอกเสียจากโปรแกรมที่มาจาก Windows Store
โดยรุ่น RT จะมาพร้อม Microsoft Office Home and Student 2013 แถมมากับระบบฟรีๆ รวมไปถึงแบตเตอรีที่สามารถใช้งานได้ยาวนาน 8 ชั่วโมงกับน้ำหนักและความบางสูสีแอนดรอยด์และไอโอเอสแท็บเล็ต
มาถึงรุ่นที่ 2 กับ Surface Pro (ไมโครซอฟท์ให้คำจำกัดความว่า แล็ปท็อปที่มาในรูปแบบแท็บเล็ต) ใช้หน่วยประมวลผล x86 (Core i5) เป็นส่วนขับเคลื่อนหลักพร้อมวินโดวส์ 8 ตัวเดียวกับที่ติดตั้งบนพีซีเดสก์ท็อป
ทำให้ Surface Pro จะสามารถติดตั้งโปรแกรมทั้งจาก Desktop (Windows 7-8) และจาก Windows Store ได้แบเดียวกับการใช้งานผ่านโน้ตบุ๊กหรือพีซี รวมถึงประสิทธิภาพสำหรับรุ่น Pro จะสูงกว่า RT แต่ก็ต้องแลกด้วยอายุแบตเตอรีที่สั้นกว่าครึ่งต่อครึ่ง
เมื่อเข้าใจการแบ่งรุ่นของ Surface กันแล้วต่อไปก็จะเป็นส่วนของบทความรีวิว โดยทีมงานไซเบอร์บิซได้รับ Surface Pro ขนาดความจุ 128GB มาทดสอบ
การออกแบบและพอร์ตเชื่อมต่อ
Surface Pro เป็นแท็บเล็ตที่ใช้วัสดุแมกนีเซียมอัลลอยที่จดสิทธิบัตรในชื่อ VaporMg สีไทเทเนียมเข้ม เป็นส่วนประกอบหลัก โดยน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 906 กรัม หนา 13.5 มิลลิเมตร ด้านหลังส่วนล่างจะเป็น Kickstand (เปิดและปิดได้) สำหรับตั้งเครื่อง
ในส่วนหน้าจอมีขนาด 10.6 นิ้ว แบบ ClearType Full HD ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล หน้าจอเป็นแบบสัมผัสมัลติทัช 10 จุดพร้อมกล้องหน้าหลัง LifeCam HD ความละเอียด 720p ที่มาพร้อมไมโครโฟน
มาถึงจุดขายเด่นของ Surface ที่ทุกคนรอคอย สิ่งนั้นก็คือ Cover ที่สามารถใช้เป็นคีย์บอร์ด ทัชแพดและเป็นฝาปิดแท็บเล็ตป้องกันรอยขีดข่วนบริเวณหน้าจอได้ โดยทางไมโครซอฟท์แบ่ง Cover เป็น 2 ประเภทคือ Type Cover (แป้นคียบอร์ดเป็นคีย์กดเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป) และ Touch Cover (แป้นคีย์ใช้เทคโนโลยีใหม่)
แน่นอนว่าแค่เห็นภาพประกอบด้านบนก็พอตัดสินใจได้แล้วว่า ทีมงานไซเบอร์บิซต้องเลือก Touch Cover มาเจาะลึกถึงรูปแบบการใช้งานที่ถือว่าแปลกแหวกแนวสุดในเวลานี้
โดย Touch Cover (ราคาขายแยกอยู่ที่ 4,090 บาท) เป็นคีย์บอร์ดผิวเรียบ มีความบางเพียง 3.25 มิลลิเมตร สามารถรับรู้แรงกดได้ ทำให้แป้นคีย์สามารถเรียนรู้ว่าตอนนี้ผู้ใช้กำลังพิมพ์ตัวอักษรหรือวางพักมือไว้ อีกทั้งการกดลงบนแป้นตัวอักษรก็ไม่จำเป็นต้องออกแรงกดเหมือนคีย์บอร์ดทั่วไป เพราะเพียงแค่จิ้มนิ้วเบาๆ ลงไปที่แป้นคีย์ ระบบก็จะรับรู้และส่งผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวอักษรที่พิมพ์ลงไป
ในส่วนทัชแพดก็มีหลักการทำงานแบบเดียวกับส่วนของแป้นพิมพ์ โดยทัชแพดของ Touch Cover จะเป็นแบบคาปาซิทีฟ และการเชื่อมต่อ Touch Cover กับ Surface ทำได้โดยนำ Touch Cover มาดูดติด (เป็นแม่เหล็ก) กับบริเวณพอร์ตเชื่อมต่อด้านใต้เครื่อง (ตามรูปประกอบด้านบน) เท่านั้น
ลักษณะของ Touch Cover เมื่อประกบกับ Surface แล้วจะสามารถใช้เป็นทั้ง Cover เพื่อปกป้องหน้าจอและเมื่อเปิดออกมา พร้อมกาง Kickstand หลัง Surface ออกจะกลายเป็นโน้ตบุ๊กขนาดย่อมทันที
มาถึงช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง จากซ้ายของตัวเครื่องจะเป็นส่วนของช่องเชื่อมต่อหูฟัง/Headset ขนาด 3.5 มิลลิเมตร ถัดไปเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียง และสุดท้ายเป็นพอร์ต USB 3.0 จำนวน 1 ช่อง
สำหรับพอร์ต USB ใน Surface Pro สามารถเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์ภายนอกหรือแฟลชไดร์ฟเพื่อใช้ถ่ายโอนข้อมูลได้แบบโน้ตบุ๊กวินโดวส์ทั่วไป
มาที่ด้านขวาของตัวเครื่อง จากซ้ายมือสุดจะเป็นช่อง Mini Display Port สำหรับเชื่อมต่อออกจอมินิเตอร์ภายนอกหรือหาอุปกรณ์แปลงพอร์ต Mini Display Port เป็นเอาท์พุตอื่นๆ เช่น VGA, HDMI ได้จาก Microsoft Store หรือตัวแทนจำหน่าย
ถัดมาที่เห็นเป็นจุดสีทอง 5 จุดนั่นคือที่เชื่อมต่อกับอะแดปเตอร์ไฟบ้าน
ส่วนด้านบนของ Surface จะเป็นปุ่ม ปิด-เปิด-Sleep-Awake เครื่องพร้อมไมโครโฟนรับเสียงสำหรับใช้งานวิดีโอคอลล์
มาดูที่ปากกา Digirizer (Surface Pen) ที่แถมให้มากับ Surface Pro เท่านั้น จะเป็นของ Wacom สามารถรับรู้แรงกดได้หลายระดับ
สุดท้ายมาดูที่อะแดปเตอร์ไฟบ้านที่มาพร้อมความพิเศษตรงที่มีการติดตั้งพอร์ต USB สำหรับใช้ชาร์จไฟให้กับฮาร์ดแวร์ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน Power Bank คีย์บอร์ด เมาส์ และอื่นๆ ช่วยให้ไม่ต้องไปรบกวนพอร์ตที่มากับ Surface ที่มีอยู่แค่พอร์ตเดียว
สเปกและฟีเจอร์เด่น
มาตรวจสเปก Surface Pro จะมาพร้อมซีพียู Intel 3rd Gen Core i5-3317U (2 คอร์ 4 Thread) ความเร็ว 1.70GHz กราฟิก Intel HD Graphics 4000 พร้อมแรม Dual Channel ขนาด 4GB รองรับปากกา Surface Pen และหน้าจอสัมผัส 10 จุด พร้อมติดตั้งวินโดวส์ 8 Pro 64 บิตมาให้ภายใน
ในส่วนเนื้อที่เก็บข้อมูลที่หลายสงสัยว่าสเปก 128GB จะมีพื้นที่ใช้งานจริงเหลือให้เท่าใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่า ระบบมีการกันส่วนของระบบปฏิบัติการไว้ ทำให้มีพื้นที่เหลือใช้งานประมาณ 109GB เท่านั้น
สำหรับสเปกอื่นๆ ของ Surface Pro ในส่วนของระบบเครือข่ายเน็ตเวิร์ก WiFi ของ Marvell รุ่น AVASTAR 350N รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n บลูทูธ 4.0 Low Energy และเซนเซอร์ที่ติดตั้งมาใน Surface Pro จะมีตั้งแต่ เซนเซอร์วัดแสงสว่างรอบข้าง, Accelerometer, ไจโรสโคป และเข็มทิศ
มาถึงจุดเด่นที่สำคัญของ Surface Pro อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่ารุ่น Pro จะสามารถติดตั้ง Desktop Apps จากวินโดวส์รุ่นเก่าๆ ได้ ซึ่งจากการทดลองติดตั้งแอปฯ Adobe Photoshop CS2 ที่ออกจำหน่ายเมื่อหลายปีแล้ว พบว่าสามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา
ทดสอบประสิทธิภาพ
3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 6,639 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,366x768 + Shader Model 3
3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 4,888 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,641 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 2,043 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 2,997 คะแนน ที่ความละเอียด 1,366x768 พิกเซล
PCMark 7 คะแนนรวมที่ได้คือ 4,708 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Lightweight score = 3,114 คะแนน Productivity score = 2,214 คะแนน Creativity score = 9,091 คะแนน Entertainment score = 3,399 คะแนน Computation score = 16,055 คะแนน และ System storage score = 5,157 คะแนน
Cinebench R11.5 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.39pts ส่วน OpenGL มีคะแนนอยู่ที่ 14.20 fps
HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบหน่วยเก็บข้อมูล จะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 329.6 MB/s ที่ Random access 0.1ms
มาถึงทดสอบการใช้งานแบบหลายหน้าต่างกันบ้าง เริ่มจากเปิดภาพยนตร์ mkv บลูเรย์ขนาดไฟล์ประมาณ 43GB ควบคู่ไปกับการเล่นเว็บไซต์จาก IE 10 พบว่าซีพียูโหลดงานเพียงแค่ครึ่งเดียวจากทุกคอร์ ทำให้สามารถใช้งานอื่นๆ ได้อีก รวมไปถึงความลื่นไหลที่อยู่ในเกณฑ์ดี ใช้งานหนักๆ ได้ไม่มีปัญหา
ส่วนการทดสอบเล่นเกมพบว่าสามารถทำได้แบบเดียวกับโน้ตบุ๊กทั่วไป เพียงแต่ว่าด้วยสเปกกราฟิกชิป Intel HD Graphics 4000 ทำให้เล่นเกมใหม่ๆ ที่มาพร้อมกราฟิกหนักๆ ได้ไม่ดีนัก แต่สำหรับเกมที่มาจาก Windows Store ส่วนใหญ่จะเล่นได้ไม่มีปัญหา
สุดท้ายกับการทดสอบปากกา เนื่องจากผมเองก็วาดรูปได้ไม่สวยนัก จึงขอทดสอบประเด็นเรื่องแรงกด โดยผลลัพธ์ที่ออกมาก็ค่อนข้างพึงพอใจ ความไวของปากกาเมื่อลากเส้นลงไปแล้วทำได้ดีและรวดเร็ว ไม่มีอาการสะดุด แรงกดที่แสดงออกมาถือว่าใช้ได้
แต่หน้าจอของ Surface Pro ค่อนข้างลื่นอาจทำให้การลากปากกาจะรู้สึกแปลกต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยก่อนใช้งานเล็กน้อย
และประเด็นเรื่องแบตเตอรีสำหรับ Surface Pro มีอายุแบตเตอรีต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งที่ประมาณ 5 ชั่วโมงกว่าสำหรับการใช้งานปกติ พิมพ์งาน เล่นอินเตอร์เน็ต ฟังเพลง
ส่วนกล้องเว็บแคมที่หลายคนสงสัยว่าถ้าตั้ง Surface ด้วย Kickstand ภาพจะเอียงไหม ส่วนนี้ทดสอบแล้วไม่เกิดอาการดังกล่าวเพราะกล้องมีการติดตั้งให้รับกับองศา Surface เมื่อกาง Kickstand ออก
ส่วนคุณภาพทั้งกล้องหน้าและหลังถือว่าไม่มีความคมชัดพอจะนำมาใช้งานได้จริงๆ ยกเว้นใช้ถ่ายภาพหรือวิดีโอแค่นำไปใช้งานชั่วคราว หรือใช้เวลาคับขันเท่านั้น ทีมงานจึงขอยกไม่อยู่ในลิสต์ทดสอบ
ตอบจุดขายหรือไม่/ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
เข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านคงตั้งความหวังกับ Surface ของทางไมโครซอฟท์ไว้สูงเนื่องจากเป็นฮาร์ดแวร์ไมโครซอฟท์เพื่อระบบของไมโครซอฟท์โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นในเรื่องการเข้ากันได้ของฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ส่วนนี้สอบผ่านไปอย่างไม่ต้องสงสัย แถมประสิทธิภาพที่ได้ยังดีกว่าโน้ตบุ๊กวินโดวส์ 8 ชั้นธุรกิจหลายตัวเลยทีเดียว
ในส่วนประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ที่ไมโครซอฟท์เลือกใช้ ส่วนนี้ทีมงานต้องขอชมอย่างมาก เพราะไมโครซอฟท์เลือกแต่ฮาร์ดแวร์รุ่นดีๆ มาใส่ใน Surface ของตน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คะแนนทดสอบหลายส่วนจะทำได้ดีกว่าไฮบริดโน้ตบู๊กรวมไปถึงโน้ตบุ๊กหลายแบรนด์ โดยเฉพาะหน่วยเก็บข้อมูล SSD ที่ให้ความเร็วสูงมากจนน่าตกใจ
ส่วน Touch Cover ที่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องแนวคิดที่ดี แต่การใช้งานจริงค่อนข้างยากเพราะคนส่วนใหญ่จะติดความรู้สึกแบบคีย์บอร์ดจริงๆ ที่เน้นการกดและสัมผัสที่มั่นคงกว่า ในขณะ Touch Cover จะเป็นความรู้สึกแบบพิมพ์ลอยๆ โล่งๆ เช่นเดียวกับพิมพ์บนหน้าจอสัมผัส แถมเวลาตั้งพิมพ์บนตักยังให้ความรู้สึกไม่แข็งแรงเหมือนเครื่องจะหลุดออกจากคียบอร์ดด้วย
แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ไมโครซอฟท์ยังมี Type Cover ที่เป็นคีย์บอร์ดและทัชแพดแบบปกติมาขายแยก ตรงส่วนนี้ก็เลยต้องฝากสำหรับผู้สนใจ Surface ว่าควรไปทดลองใช้งานส่วนของ Cover ให้มั่นใจก่อนซื้อ เพราะราคาของ Cover แต่ละประเภทไม่ใช่ถูกๆ
มาถึงราคาและความคุ้มค่า Surface Pro 128GB รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะมีค่าตัวเข้าหลัก 3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก ในขณะที่พอร์ตเชื่อมต่อกลับมีน้อย USB 3.0 มีแค่ 1 พอร์ต ช่องอ่านการ์ดรีดเดอร์ก็ไม่มีมาให้ ถ้าอยากใช้ก็ต้องหามาเชื่อมต่อเอง แถม Touch Cover ก็ราคาสูงเกือบ 5 พันบาท
แน่นอนแค่เห็นเหตุผลเหล่านี้หลายคนคงมองว่า Surface Pro คงไม่คุ้มค่าคุ้มราคานัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ทีมงานก็อยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่า
"Surface Pro ถ้ามองในเรื่องสเปกและการใช้งาน ก็คืออัลตร้าบุ๊กดีๆ หนึ่งเครื่อง (ไม่ต้องไปเทียบกับแท็บเล็ตแอนดรอยด์หรือไอโอเอสนะ เพราะมันคนละประเภทกันเลย) แต่ Surface มีขนาดเล็กกว่า พกพาสะดวกกว่า แน่นอนว่าด้วยการออกแบบและฮาร์ดแวร์ที่เลือกใช้ย่อมทำให้ราคาค่าตัวพุ่งสูง แต่ในราคาที่สูงลิ่วสิ่งที่ผู้ใช้จะได้รับก็คือ การพกพาที่สะดวกสบายแบบเดียวกับแท็บเล็ต ในขณะที่สเปกที่ให้มาก็สูงเพียงพอจะทำงานกราฟิกได้ เนื่องจากจอค่อนข้างละเอียดแบบ FullHD ไปถึงซีพียู Core i5 แรม 4GB แถมได้ความยืดหยุ่นแบบวินโดวส์อีกด้วย"
อย่างไรใครสนใจก็ลองพิจารณาดู และขอให้เทียบ Surface Pro กับอัลตร้าบุ๊กอย่าไปเหมารวมกับพวกแท็บเล็ตแท้ๆ เพราะคนตลาดกัน ส่วน Surface RT ควรเทียบกับแท็บเล็ตแอนดรอยด์หรือไอโอเอส เพราะตลาดเดียวกัน แยกความคิดเป็นแบบนี้จะทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อแท็บเล็ตได้ง่ายขึ้น
Company Related Link :
Microsoft
CyberBiz Social