แทบไม่ต้องอธิบายถึงการมาของแท็บเล็ต 7 นิ้วจากเอซุสในชื่อ "fonepad" เพราะทันทีที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยกับราคา 7,990 - 9,500 บาทตามความจุ พร้อมความสามารถในการใช้โทรศัพท์และเล่นดาต้าอินเตอร์เน็ต 3G ได้ทุกเครือข่ายก็สร้างความสนใจให้กับพี่น้องชาวไทยให้อยากรู้จักกับ ASUS fonepad กันเป็นทิวแถว
และวันนี้ ASUS fonepad ก็มาอยู่ในมือทีมงานไซเบอร์บิซและเราพร้อมจะมาแกะกล่องรีวิวกันแล้ว
การออกแบบ
ถึงแม้ราคาค่าตัว fonepad จะไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทแต่วัสดุที่ใช้รอบตัวเครื่องเป็นผิวโลหะสี Titanium Gray เนื้อดี พร้อมหน้าจอ IPS แบบ LED ขนาด 7 นิ้ว (ความละเอียด 1,280x800 พิกเซล 213ppi) ที่ให้มุมมองภาพ 178 องศา มาพร้อมกล้องหน้าความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล (720p) ส่วนกล้องหลังให้ความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 196.4 x 120.1 x 10.4 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนักเพียงแค่ 340 กรัมเท่านั้น
ส่วนปุ่มกดบนหน้าจอต่างๆ จะไม่มีมาให้เพราะใช้ปุ่มจากจำลองจากแอนดรอยด์ 4.1 ในการสั่งงานทั้งหมด หมดปัญหาเรื่องปุ่มกดมีปัญหาเมื่อใช้เป็นเวลานาน
มาถึงเรื่องการใส่ซิมโทรศัพท์และช่องการ์ด MicroSD ซึ่งถูกติดตั้งไว้ที่ด้านบนของแท็บเล็ต และมีฝาปิดไว้ ต้องใช้มือดันฝาปิดออกก่อนและจะพบกับช่องใส่ ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ Micro SIM และช่องใส่การ์ดความจำ MicroSD (รองรับความจุสูงสุด 32GB)
ด้านช่องเชื่อมต่อรอบตัวเครื่องเริ่มจากด้านล่างของเครื่องจะเป็นพอร์ต MicroUSB และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร พร้อมช่องลำโพงบริเวณด้านซ้ายที่ต้องขอบอกว่า "ให้เสียงดังฟังชัดเลยทีเดียว"
ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องจะเป็นปุ่มปิดเปิด/Sleep-Awake และด้านล่างเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง
สเปก
มาถึงเรื่องสเปก ASUS fonepad จะใช้ชิปประมวลผลบนสถาปัตยกรรม x86 กับ Intel Atom Z2460 ความเร็ว 1.6 GHz เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก (แต่รุ่นที่ขายในไทยถ้าทีมงานสำรวจมาไม่ผิดพลาดจะเป็นรุ่นความเร็วแค่ 1.2GHz) พร้อมแรมขนาด 1GB กราฟิกชิปเป็น PowerVR SGX 540 รองรับซิมการ์ดโทรศัพท์ 3G ความถี่ 850/900/1900/2100MHz ส่วน 2G EDGE/GSM ความถี่ 850/900/1800/1900MHz พร้อมอัตรารับส่งข้อมูลดาวน์โหลดสูงสุด 21Mbps ส่วนอัปโหลดสูงสุด 5.76Mbps
ด้านเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่รองรับได้แก่ GPS & Glonass,G-Sensor, E-compass, Proximity และ Ambient Light Sensor
ในส่วนระบบไร้สายต่างๆ ที่ให้มากับ fonepad จะมี WiFi 802.11 b/g/n และ Bluetooth เวอร์ชัน 3.0 พร้อมแบตเตอรีภายใน (ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้) ขนาด 16Wh
ส่วนระบบปฏิบัติการที่ใช้จะเป็นแอนดรอยด์ 4.1.2 Jelly Bean
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง
ด้านสเปกกล้องสามารถถ่ายภาพได้ที่ความละเอียด 2,048x1,536 พิกเซล พร้อมฟิลเตอร์เอ็ฟเฟ็กต์และสามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด HD 720p
สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูล สำหรับโมเดลที่ทีมงานไซเบอร์บิซได้รับมารีวิวจะมีขนาด 32GB ตามสเปก แต่เมื่อเช็คพื้นที่ใช้งานได้จริงๆ จะเหลืออยู่ที่ 24GB
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ASUS fonepad ขับเคลื่อนด้วยแอนดรอยด์ 4.1 Jelly Bean และครอบด้วย UI WaveShare เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจากเอซุสหลายรุ่นที่ดูๆ ไปแล้วก็คล้ายกันทั้งหมด
แต่ไม้ตายเด็ดของ fonepad นั้นอยู่ที่พร้อมแอปพลิเคชันและระบบจัดการของเอซุสที่ถูกติดตั้งมาอย่างเต็มระบบ และทีมงานไซเบอร์บิซจะนำมาเจาะลึกให้ชมกันดังต่อไปนี้
Power Saver หรือระบบประหยัดพลังงานแบบอัจฉริยะ ที่จะช่วยจัดสรรพลังงานเพื่อยืดอายุแบตเตอรีให้ใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด รวมไปถึงสามารถตั้งค่าการใช้พลังงาน แสงสว่างหน้าจอ หรือระบบแจ้งเตือนต่างๆ เพื่อประหยัดพลังงานได้
โดยจากการทดสอบเปิดใช้งานโหมดดังกล่าวตลอดทั้งวัน จากผลทดสอบด้านบนแบบเน้นแชต เล่นเกม เปิดหน้าจอค้างดาวน์โหลไฟล์เอกสารต่างๆ เป็นหลัก พบว่า สามารถใช้งานได้ยาวนาน 13 ชั่วโมง 52 นาที จนขึดแบตเตอรีเหลือประมาณ 11% ซึ่งถือว่าสามารถใช้งานทั้งวันได้อย่างสบาย
Instant Dictionary ในส่วนของ Notifications (แถบแจ้งเตือน) ข้างๆ Power Saver จะเห็นว่ามีปุ่มเปิด-ปิด ส่วนของพจนานุกรม (Instant Dictionary) อยู่ ซึ่งเมื่อกดเปิดใช้งาน ระบบจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ fonepad สามารถนำนิ้วจิ้มเพื่อป้ายข้อความที่ต้องการแปลความหมายได้ทันที
เช่นจากตัวอย่่างด้านบน ทีมงานป้ายประโยคภาษาจีนจากหน้าเว็บบราวเซอร์ โดยเมื่อป้ายเพื่อเลือกข้อความที่ต้องการจะแปลเสร็จ ระบบจะแปลประโยคนั้นออกมาให้ตามภาษาที่เราเลือกไว้
โดยระบบ Instant Dictionary จะสามารถแปลข้อความหรือประโยคจากหน้าเว็บไซต์และอีเมล์ได้พร้อมรองรับภาษาไทยและอ่านออกเสียงได้ด้วย
อีกหนึ่งความพิเศษของ fonepad ก็คือความสามารถในการใช้งานแอปฯ แบบซ้อนหน้าต่างกันได้ โดยวิธีการใช้งานก็คือกดที่ปุ่มลูกศรชี้ขึ้นที่บริเวณด้านล่างสุด (นับจากปุ่มโฮมไปขวาปุ่มที่ 2) จากนั้นจะมีแอปฯ ให้เลือกใช้งานเช่น BuddyBuzz, Audio Wizrd โดยเมื่อผู้ใช้กดเลือกแอปฯ ที่ต้องการแล้ว แอปฯ ที่เลือกจะย่อหน้าต่างลงและเปิดทับหน้าแอปฯ หลักที่ใช้งานอยู่ โดยผู้ใช้สามารถสลับการทำงานของแอปฯ ต่างๆ ได้
เช่นจากตัวอย่าง ทีมงานเปิดแอป พจนานุกรมและ Facebook ไว้พร้อมกับเล่นเว็บบราวเซอร์พร้อมๆ กันทั้งหมด
มาถึงจุดขายหลักของ fonepad ก็คือความสามารถในการโทรศัพท์ที่ทำได้ทั้งแบบนำแท็บเล็ตมาแนบหูหรือใช้ Bluetooth Headset รวมถึงสามารถบล็อกเบอร์โทรที่ไม่อยากรับสายได้ ผ่านแอปฯ พลิเคชันที่ชื่อว่า Block List
มาดูในส่วนของแอปฯ แนวตกแต่งรูปที่เอซุสใส่มาใน fonepad ค่อนข้างครอบคลุม เริ่มตั้งแต่ ASUS Story ที่สามารถนำภาพถ่ายมาใส่ข้อความ เรียบเรียงเป็นเรื่องราวไปถึง Photo Editor ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถตกแต่งภาพถ่ายไม่ว่าจะเป็น ทำหน้าเด้ง หน้าใส ปรับแสง สี ใส่ฟิลเตอร์เอ็ฟเฟ็กต์ได้อย่างง่ายดาย
หรือถ้าอยากจะทำ To Do List ไปถึงจดโน้ต ข้อความสั้นๆ ก็สามารถทำได้ผ่านแอปฯ ที่ชื่อว่า To Do List และ Sticky Memo ส่วนถ้าอยากหาแอปฯ จัดการอีบุ๊กดีๆ หรือหาสโตร์รวมหนังสือให้อ่าน เอซุสก็ได้จัดการติดตั้งแอปฯ ที่ชื่อว่า My Library กับ Zinio มาคอยบริการ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปหามาติดตั้งเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นอกจากนั้นถ้าผู้ใช้ไม่ถูกใจกับสีสันที่จอ IPS จากเอซุสแสดงออกมาก็สามารถปรับแต่งได้ตามความพอใจกับแอปฯ ASUS Splendid พร้อมแอปฯ สำรองข้อมูลเวลาระบบล่มกับ App Backup หรือถ้าอยากล็อคแอปฯ ด้วยรหัสผ่านกันคนกดเข้าใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็สามารถจัดการได้ด้วย App Locker
ส่วนถ้าใครสนใจอยากมี Cloud Storage ไว้เก็บข้อมูลส่วนตัวเพื่อใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ เอซุสก็ได้ติดตั้ง ASUS Webstorage ไว้พร้อมพื้นที่ Cloud ฟรี 5GB แบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ
สุดท้ายกับ AudioWizard ที่ทำงานร่วมกับซอร์ฟแวร์ Maxx Audio ที่ผู้ใช้สามารถปรับแต่งเสียงได้ตามการใช้งาน
ทดสอบประสิทธิภาพ
Nenamark 1 = 59.5fps
Nenamark 2 = 36.8fps
Quadrant Standart = 3,657 คะแนน
VELLAMO Metal = 544 คะแนน
AnTuTu v3 = 10,602 คะแนน
รองรับมัลติทัช = 10 จุดพร้อมกัน
ในส่วนการทดสอบเล่นเกมพบว่า ถ้ามองจากสเปกระดับดูอัลคอร์ควรจะเล่นเกม เช่น Subway Suface หรือ Minion Rush: Despicable Me ได้ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เกิดกับ ASUS fonepad ก็คือการเล่นเกมหลายเกมพบอาการ crash เด้งออกบ่อยมาก และเกมบางเกมสามารถเล่นได้ลื่นไหลในรอบแรก แต่พอกดเข้าเล่นในรอบที่สองจะพบอาการกระตุกจนเกมเด้งออกเองอยู่บ่อยครั้ง
แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ลามมาถึงบรรดาแอปฯ จำนวนมากที่ติดตั้งไม่ได้ หรือบางแอปฯ ติดตั้งได้แต่เมื่อกดเข้าใช้งานจะเกิดอาการปิดตัวเองไปดื้อๆ ปัญหาเหล่านี้ใช่ว่าทีมงานไซเบอร์บิซจะพบเจอเพียงทีมเดียว แต่จากการสำรวจสื่อต่างประเทศพบว่าแท็บเล็ต ASUS fonepad จากหลายประเทศทั่วโลกพบเจอปัญหาดังกล่าวกันมากมาย
ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนทางเอซุสก็เพิ่งส่งอัปเดตเฟริมแวร์ใหม่ และทีมงานก็ลองทดสอบอีกครั้งพบว่าในส่วนของแอปฯ ค้างและเด้งออกเจอน้อยลง แต่ก็ยังเจออยู่บ้าง ต้องรอการแก้ไขต่อไป...
จุดขาย
- แท็บเล็ตราคาประหยัดที่มาพร้อมแอปฯ Built in และฟีเจอร์มากมาย คุ้มราคา
- วัสดุ งานประกอบดีเกินราคา
- หน้าจอ HD สีสวย คมชัด
- มีกล้องหน้า HD 720p ทำวิดีโอคอลล์ได้
- แบตเตอรีอึด ยิ่งถ้าเปิดโหมด Power Saver ยิ่งใช้ได้นาน
- ตัวเครื่องขนาด 7 นิ้ว น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- รองรับ 3G ทุกเครือข่าย โทรศัพท์ได้
ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต
- ปัญหาแอปฯ เด้งออก เครื่องค้าง พบเจอบ่อยมากต้่องรออัปเดต
- กล้องหลังไม่คมชัด ใช้ได้แค่แก้ขัดเวลาจำเป็น
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ASUS fonepad เป็นแท็บเล็ตที่ดีหลายด้านทั้งเรื่องราคาไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทแต่ได้วัสดุงานประกอบที่ดี สามารถโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต 3G ได้ทุกค่าย รวมถึงแอปฯ และฟีเจอร์ที่เอซุสจัดเต็มไปถึงความลงตัวของ UI ที่ออกมาได้ดึงดูด น่าใช้งาน และประสิทธิภาพที่ถึงแม้จะไม่สูงมาก แต่ก็ใช้งานทั่วไป เข้าเว็บ เล่นโซเชียลผ่าน 3G เกม 3 มิติกราฟิกไม่หนักมากได้
แต่ทั้งนี้เนื่องจาก fonepad เลือกใช้ชิปอินเทลซึ่งถือว่ายังใหม่ในตลาดแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ก็อาจทำให้เจอปัญหาเกี่ยวกับการเข้าใช้งานแอปฯ อยู่บ้าง แน่นอนว่าเอซุสก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ รีบส่งเฟริมแวร์มาแก้ไขอยู่ตลอด แต่ก็ยังคงต้องปรับแก้อีกมากกว่าจะสมบูรณ์
เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่รีบร้อนก็รอให้เฟริมแวร์ fonepad นิ่งอีกสักนิด เพราะถ้าทางเอซุสและอินเทลขยันทำงานปรับปรุงประสิทธิภาพให้ fonepad ทำงานได้ลื่นไหลและปัญหาน้อยลงหรือแก้ปัญหาให้หมดไปได้จริงๆ ถึงวันนั้นทีมงานคงต้องขอยกให้ ASUS fonepad คือ The Best ของแท็บเล็ตราคาประหยัด เพราะคุณผู้อ่านลองคิดดู ราคาไม่เกินหมื่นบาทมีแบรนด์ไหนในปัจจุบันที่จัดฟีเจอร์และแอปฯ ช่วยเหลือต่างๆ มาให้เต็มๆ เหมือนแบรนด์นี้บ้าง เพียงแต่ตอนนี้คงต้องร้องเพลงรอเฟริมแวร์แก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหลายให้หมดไปก่อนนะ
Company Related Link :
ASUS
CyberBiz Social