xs
xsm
sm
md
lg

Review : Dell Latitude 10 แท็บเล็ตวินโดวส์ 8 แข็งแกร่งดุจหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




หลังจากเดลล์พยายามเข็นสินค้าตระกูลอึดอย่าง Latitude ให้มีความเบาบางแต่ยังจับตลาดองค์กรเหมือนเดิม วันนี้ก็ถึงคิวของแท็บเล็ตพลังวินโดวส์ 8 ในชื่อ Dell Latitude 10 กับขนาดหน้าจอ 10.1 นิ้วที่มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบและงานประกอบจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ที่ถูกยางกันลื่นครอบไว้ ทำให้ตัวเครื่องมีความแข็งแรงมากถึงขนาดปล่อยตกจากที่สูงระดับอกก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายใดๆ ให้แก่ Latitude 10 ได้

การออกแบบและพอร์ตเชื่อมต่อ



อย่างที่จั่วหัวไว้ด้านบนว่าวัสดุผลิต Dell Latitude 10 มาจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ที่ถูกยางกันลื่นครอบไว้ทั้งบอดี้ อีกทั้งเมื่อบวกกับหน้าจอขนาด 10.1 นิ้ว (ความละเอียด 1,366x768 พิกเซล) แบบ IPS LCD รองรับมัลติทัช 5 จุด พร้อมวัสดุผลิตจอตีตรา Corning Gorilla Glass ก็ถือเป็นเสียงการันตีถึงความแข็งแรงของ Latitude 10 โดยเฉพาะหน้าจอที่ป้องกันรอยขูดขีดได้อย่างดี และมาพร้อมปุ่มโฮมสำหรับกดเข้า Start Screen



ในส่วนขนาดตัวเครื่อง Dell Latitude 10 อยู่ที่ 274 x 176.6 x 10.5 มิลลิเมตร น้ำหนัก 658 กรัม แบตเตอรีสามารถถอดเปลี่ยนเป็นแบบ 4 เซลล์ได้ แต่จะทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักมากถึง 820 กรัม



มาที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ 2 ข้าง พร้อมกล้องดิจิตอล 8 ล้านพิกเซล และ LED แฟลช ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล




สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่องเริ่มจากด้านล่างสุดจะเป็นที่อยู่ของไฟแสดงสถานะแบตเตอรีเมื่อกำลังชาร์จไฟอยู่ ถัดมาเป็นพอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมและเชื่อมต่อ Adapter ชาร์จไฟบ้านที่ให้มาแบบรูปที่สอง

ส่วนช่อง MicroUSB ถือเป็นพอร์ตเด่นที่ทำให้สามารถชาร์จไฟผ่าน USB ได้ ซึ่งทางเดลล์ได้กล่าวถึงการติดตั้งพอร์ตดังกล่าวร่วมกับ Latitude 10 ไว้ว่า "จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถชาร์จไฟได้จากทุกแหล่ง ไม่เว้นแต่ชาร์จไฟจากคอมพิวเตอร์ด้วยกันเอง รวมถึง Power Bank ขนาดใหญ่และพอร์ต USB ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ได้" แต่การชาร์จไฟผ่านพอร์ตลักษณะนี้จะช้ากว่าชาร์จผ่าน Adapter ไฟบ้านหลายเท่า



มาที่ด้านขวาของตัวเครื่องจะเป็นพอร์ต MiniHDMI ถัดมาจะเป็นพอร์ต USB 2.0 1 พอร์ตและช่องเสียบ Headset/หูฟัง



ส่วนด้านซ้ายจะเป็นที่อยู่ของปุ่มเพิ่ม-ลด ระดับเสียงและช่องใส่สายคล้องป้องกันขโมย




และด้านบนจากซ้ายของภาพจะเป็นปุ่มคำสั่งล็อกการหมุนของหน้าจอแบบอัตโนมัติ ถัดมาเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่องพร้อมไฟแสดงสถานะทำงาน ช่องอ่านการ์ด SD และสุดท้ายบริเวณรูตรงกลาง 2 รูจะเป็นไมโครโฟนรับเสียงสำหรับใช้วิดีโอคอลล์

สเปกและฟีเจอร์



ด้านสเปก Dell Latitude 10 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลยอดฮิตที่เลือกใช้บนแท็บเล็ตวินโดวส์ 8 (x86) คือ Intel Atom Z2760 Dual Core ความเร็ว 1.80GHz พร้อมแรม 2GB DDR2 SDRAM (800MHz)

ในส่วนกราฟิกเป็นออนบอร์ด Intel Graphics Media Accelerator แบบเดียวกับแท็บเล็ตพลัง Atom รุ่นอื่นๆ ส่วนวินโดวส์ 8 ที่เลือกใช้จะเป็นรุ่น Pro เพราะทางเดลล์ต้องการให้สามารถใช้งานในรูปแบบองค์กรได้ เช่นการสร้าง Remote Computer เป็นต้น

สำหรับสเปกอื่นๆ Latitude 10 จะมาพร้อมการรองรับ WiFi a/b/g/n, Bluetooth, หน่วยเก็บข้อมูล eMMC ขนาด 64GB และ Dell Data Protection Access สำหรับป้องกันข้อมูลสูญหาย




อีกทั้ง Dell Latitude 10 ยังมาพร้อม GPS ตรวจจับพิกัดจาก Broadcom GNSS Geolocation ทำให้ผู้ใช้สามารถประยุกต์ใช้กับแอปฯ ตรวจจับพิกัดต่างๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ แอปฯ ช่วยเหลือเมื่อต้องการอัปเดตระบบให้ทันสมัยในชื่อ Dell Backup and Recovery ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถอัปเดตเฟริมแวร์ระบบได้อย่างง่าย

ส่วนแอปฯ ช่วยเหลืออื่นๆ ทางเดลล์ไม่ได้แถมมาให้กับวินโดวส์ แต่ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลและซื้อได้จาก Windows Store อย่างเช่นแอปฯ CyberLink YourCam ที่ต้องหาซื้อมาใช้เองถึงจะสามารถใช้งานฟีเจอร์กล้องได้เต็มสูบ

ทดสอบประสิทธิภาพ


3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 678 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,366x768 + Shader Model 3


3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 425 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 163 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 135 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 915 คะแนน ที่ความละเอียด 1,366x768 พิกเซล


Cinebench R11.5 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดภาพ คะแนนจะอยู่ที่ 0.44pts ส่วน OpenGL ไม่สามารถทดสอบได้


PCMark 7 คะแนนรวมที่ได้คือ 1,481 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Lightweight score = 1,006 คะแนน Productivity score = 621 คะแนน Creativity score = 3,092 คะแนน Entertainment score = 1,074 คะแนน Computation score = 3,808 คะแนน และ System storage score = 3,183 คะแนน


HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟหลักจะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 40.3 MB/s ที่ Random access 1.2ms


Windows 8 Score




ส่วนการทดสอบใช้งานจริง ทีมงานได้มีโอกาสดาวน์โหลด Adobe Photoshop CS2 มาใช้งานฟรีๆ พร้อมทดสอบเล่นเว็บที่มีแฟลชหนักๆ อย่างเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ พร้อมกับเปิดยูทูป 720p คู่ไปอีกหนึ่งหน้าต่างด้วยพบว่า ทำงานได้ลื่นไหลในส่วนของพื้นที่ทำงาน แต่พื้นที่แสดงยูทูปกระตุกและค้างไปในที่สุด ซึ่งตรงส่วนนี้น่าจะมาจากซีพียูทำงานไม่ทัน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของ Atom เพราะไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้งานหนักขนาดนี้

แต่สำหรับการใช้งานแอปฯ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่เกิน 4-5 หน้าต่างสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหล รวมถึง Adobe Photoshop CS2 สำหรับการตกแต่ง-ครอปภาพก็ทำได้ดีไม่มีอาการสะดุด





มาในเรื่องการทดสอบกล้องด้านหลัง 8 ล้านพิกเซลที่ยังคงใช้ชุดฮาร์ดแวร์จากอินเทลเหมือนแท็บเล็ตวินโดวส์ 8 รุ่นอื่นๆ คุณภาพของภาพที่ได้ก็ยังคงเดิม อยู่ในเกณฑ์ "แค่พอใช้ เป็นได้แค่กล้องแก้ขัดเวลาจำเป็นต้องใช้เท่านั้น" เพราะไฟล์ภาพที่ออกมายังมีความผิดเพี้ยนของสีและสัญญาณรบกวนค่อนข้างมาก



ส่วนกล้องหน้า 2 ล้านพิกเซลใช้จริงที่ 1080p ก็ถือว่าทำได้ดีในที่แสงมาก ใช้วิดีโอคอลล์ได้ไม่มีปัญหา ส่วนแสงน้อยให้คุณภาพค่อนข้างแย่ แต่ความลื่นไหลอยู่ในเกณฑ์ดี



ในส่วนการบันทึกวิดีโอ FullHD 1080p ก็เหมือนที่เคยทดสอบไป คุณภาพ ความคมชัดใช้ได้ แต่ไม่ค่อยลื่นไหล โดยเฟรมเรทต่อวินาทีอยู่แค่ 22-23fps เท่านั้น แถมเสียงที่บันทึกได้ค่อนข้างเบาพอสมควร



สุดท้ายกับการทดสอบความแข็งแรงของตัวเครื่องและหน้าจอด้วยการทดลองทำตกจากที่สูงประมาณเอวและทดสอบใช้มีดขีดข่วนหน้าจอพบว่าไม่สามารถทำให้ตัวเครื่องเกิดความเสียหายใดๆ ได้

ส่วนการทดสอบแบตเตอรี Stock 2 เซลล์ ติดมากับตัวเครื่องต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง อยู่ที่ประมาณ 5-6 ชั่วโมงสำหรับใช้งานทั่วไป (พิมพ์งาน, เล่น WiFi Internet, ฟังเพลง) แต่ถ้าดูยูทูปและเปิดหน้าจอเสียงดังสุดจะมีอายุใช้งานแค่ประมาณ 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต

จุดขายสำคัญของ Dell Latitude 10 อยู่ที่การเป็นแท็บเล็ตองค์กรเน้นความแข็งแรง ทนทาน ตกกระแทกไม่พังง่ายๆ ซึ่ง Latitude 10 ทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่เดลล์ตั้งไว้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สามารถใช้งานในรูปแบบองค์กรที่ต้องบุกป่าฝ่าดงได้โดยไม่ต้องกังวลว่าแท็บเล็ตจะเสียหาย แถมยังสามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรีที่มีความจุมากกว่าตัวที่แถมมาได้ด้วย หรือจะใช้ USB เชื่อมต่อแฟลชไดร์ฟก็สามารถทำได้

นอกจากนั้นจุดขายที่ Latitude 10 มีไม่เหมือนใครก็คือ พอร์ตชาร์จไฟแบบ MicroUSB ที่สามารถเสียบชาร์จในรถยนต์ระหว่างเดินทางได้ จุดนี้ถือว่าเป็นความคิดที่เยี่ยมยอดของเดลล์เพราะเท่ากับว่าผู้ใช้สามารถชาร์จไฟ Latitude 10 ได้ด้วย Power Bank ที่มีกำลังไฟมากๆ หรือจากรถยนต์และคอมพิวเตอร์ที่มีพอร์ต USB ด้วยกันเองเวลาฉุกเฉิน

แต่ใช่ว่า Dell Latitude 10 จะมีแต่ข้อดี เพราะข้อเสียเท่าที่ทีมงานได้ทดสอบจากแท็บเล็ตตัวเทสต์ก็คือ แบตเตอรีติดตัวเครื่องใช้งานได้ไม่ถึงวัน แถมถ้าใช้งานหนักมีอายุสั้นมากอย่างน่าตกใจ (ถ้าอยากได้แบตเตอรีชาร์จแล้วใช้ได้นานๆ ต้องลงทุนซื้อแบตเตอรีเสริมเอง) รวมถึงวินโดวส์ 8 ที่ให้มาเป็นแบบเพียวๆ ไม่มี Built-in Apps ติดตั้งมาให้เหมือนแบรนด์อื่น ถ้าผู้ใช้อยากได้ต้องลงทุนหาซื้อจาก Windows Store เอง

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

สำหรับราคา Dell Latitude 10 อยู่ที่ 22,900 บาท ซึ่งถ้ามองในฐานะของผู้บริโภคทั่วไปก็นับว่าราคาค่อนข้างสูงเนื่องจาก วินโดวส์ 8 ที่ติดตั้งมาให้เป็นแบบเพียวๆ ไร้ Built-in Apps แถมหน่วยประมวลผลที่เลือกใช้แค่ ATOM ที่ไม่เหมาะกับใช้งานหนักๆ เช่น ตกแต่งภาพ เปิดแอปพลิเคชันหลายๆ ตัวพร้อมกัน หรือเล่นเกมที่อยู่ใน Windows Store ก็อาจแค่เพียงเล่นได้ แต่ไม่ลื่นไหล

แต่ถ้าผู้ใช้ต้องการนำมาใช้งานร่วมกับองค์กร์ทั้งทำ Remote Desktop หรือใช้พิมพ์งาน ครอปรูปขนาดไม่ใหญ่ หรืออัปโหลดไฟล์ขึ้นเว็บไซต์ Dell Latitude 10 สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้อย่างดี และจะเหมาะขึ้นไปอย่างมากถ้าใช้งานด้านเอกสาร แก้ไขไฟล์ต่างๆ นอกสถานที่เป็นหลัก เพราะด้วยความแข็งแรงที่เป็นจุดขายจะทำให้คุณประทับใจมากเวลาที่คุณต้องรีบไปงานนอกสถานที่ คุณสามารถโยนเจ้า Latitude 10 ไว้หลังเบาะรถแบบไม่ต้องสนใจใยดี แล้วรีบบึ่งรถไปงานได้ทันที ต่างจากแท็บเล็ตทั่วไปที่ต้องทะนุถนอมค่อยๆ เก็บในซองกันกระแทกให้เสียเวลาอย่างมาก อีกทั้งด้วยการติดตั้งวินโดวส์ 8 Pro แบบเดียวกับพีซีรวมถึงตัวเครื่องมาพร้อมพอร์ต USB และบลูทูธ ทำให้สามารถนำเมาส์ คีย์บอร์ดแบบไร้สายและมีสายมาเชื่อมต่อใช้งานได้แบบเดียวกับโน้ตบุ๊กด้วย

Company Related Link :
Dell






กำลังโหลดความคิดเห็น