Acer Aspire S7 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของโน้ตบุ๊กหน้าจอทัชสกรีนที่รองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดของเอเซอร์ ด้วยการออกโน้ตบุ๊กที่เป็นรุ่นเรือธง ที่ผสมผสานความเป็นอัลตร้าบุ๊กไฮบริดกับหน้าจอสัมผัส ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ราคารุ่นที่แพงที่สุดจึงดีดขึ้นไปอยู่ที่ 59,900 บาทตามไปด้วย
แต่ประสิทธิภาพที่ได้เมื่อเทียบกับราคาของ Aspire S7 ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี จากซีพียู 3rd Gen Core i7 กับ RAM ที่ให้มา 4 GB และหน่วยเก็บข้อมูลแบบ SSD 256 GB ที่ถือว่าเป็นเครื่องที่มีสเปกระดับสูงในตลาดขณะนี้ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของเครื่องจึงค่อนข้างเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือนักธุรกิจที่ต้องการทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพทุกที่ทุกเวลา
การออกแบบ
ถ้ามองว่า Aspire S7 ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่เอเซอร์ออกแบบมาได้ดีที่สุดก็น่าจะใช้คำนั้นได้ จากการนำวัสดุอย่างกระจกกอลิล่ากลาส ที่มีความแข็งแรง และป้องกันรอยขีดข่วนได้มาใช้เป็นวัสดุพื้นผิวภายนอก ผสมกับแมกนีเซียมอัลลอย และอะลูมิเนียมที่โครงเครื่องเพื่อให้มีความแข็งแรง ส่งผลให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักอยู่ที่ 1.26 กิโลกรัม ขนาดรอบตัว 323 x 233 x 11.9 มิลลิเมตร
โดยภายนอกตัวเครื่องด้านหน้าจะมีเพียงโลโก้ เอเซอร์ ที่จะติดไฟเมื่อมีการเปิดเครื่องพาดอยู่กึ่งกลางด้านซ้ายเท่านั้น พื้นที่ส่วนที่เหลือถูกปล่อยว่างไว้ด้วยพื้นสีขาว เพื่อให้ดูเรียบหรู โดยในจุดนี้บริเวณตรงขอบที่เชื่อมต่อกับฐานเครื่องจะมี ไฟสัญลักษณ์ แสดงว่าเครื่องเปิดอยู่ หรือมีการชาร์จไฟอยู่
ด้านหลังเครื่องจะใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีขาวคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยแต่ละมุมจะมียางยื่นออกมาเพื่อให้ตัวเครื่องเกาะกับพื้นผิว และป้องกันรอยที่หลังเครื่องขณะใช้งานไปในตัว ซึ่งบริเวณส่วนหน้าทางฝั่งซ้าย และขวาจะมีแถบลำโพงซ่อนอยู่ด้วย ส่วนบริเวณหลังเครื่องจะเป็นแถบสำหรับพัดลมระบายอากาศ ที่ตรงกึ่งกลางจะมีรายละเอียดเลข Serial เครื่องและสัญลักษณ์วินโดวส์ 8
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับหน้าจอทัชสกรีนที่รองรับสัมผัสได้ 10 จุด ขนาด 13.3 นิ้ว ในสัดส่วน 16 : 9 ความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 1,920 x 1080p โดยมีกล้องเว็บแคมความละเอียด 1,280 x 720 พิกเซล ไมโครโฟน และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสงอยู่บริเวณขอบบน ส่วนขอบล่างจะมีตราสัญลักษณ์ Acer วางพาดอยู่กึ่งกลาง
จุดเด่นของ Aspire S7 คือผู้ใช้สามารถพับหน้าจอลงไปในแนวนอน 180 องศาได้ ทั้งยังมีโหมดการหมุนหน้าจอไปในแนวต่างๆ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานโหมดทัชสกรีนได้อย่างลงตัว โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดมุมมองส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว
มาดูกันที่คีย์บอร์ดที่เป็นแบบชิกเล็ต มีไฟ LED อยู่ใต้แป้นทำให้สามารถใช้งานในเวลากลางคืนได้อย่างสบายๆ และขนาดปุ่มกดถือว่าทำออกมาได้เป็นมาตรฐาน เสียอยู่จุดเดียวคือการที่ปรับลดขนาดปุ่ม CapsLock ลงเหลือส่วนเดียวแล้วแทนที่ด้วยปุ่มเปลี่ยนภาษา ทำให้ในความเคยชินเวลาใช้งานจากที่เลื่อนนิ้วไปเปลี่ยนภาษาที่มุมซ้ายบน กลับต้องระวังตัวและเปลี่ยนมากดตรงข้างปุ่ม CapsLock แทน
ส่วนการกดปุ่มฟังก์ชัน (Fn) ต่างๆของคีย์บอร์ดจะย้ายมาอยู่ในแถวตัวอักษร Q W E R T Y U I O แทน โดยไล่กันตั้งแต่การเปิดปิดการเชื่อมต่อไวเลส กดเข้าสู่โหมดพักเครื่อง สลับหน้าจอ ปิดหน้าจอ ปิดการใช้งานทัชแพด ปิดเสียง เพิ่ม-ลด ความสว่างไฟคีย์บอร์ด และหมุนหน้าจอ ส่วนการปรับเพิ่ม-ลด เสียงและความสว่างหน้าจอจะอยู่ที่บริเวณปุ่มลูกศร
ในส่วนของทัชแพด รองรับการใช้งานแบบมัลติทัช กล่าวคือสามารถใช้ 2 นิ้วในการเลื่อนหน้าจอ ใช้ 3 นิ้วเลื่อนเปลี่ยนภาพ ส่วนการกดปุ่มคลิกเมาส์ซ้ายขวานั้นสามารถกดลงไปบริเวณขอบล่างได้ทันที ซึ่งในการใช้งานถือว่าการรับสัมผัสค่อนข้างดี เพียงแต่บริเวณขอบของทัชแพดจะค่อนข้างคม ทำให้ต้องระมัดระวังในการใช้งานเล็กน้อย
ส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆจะอยู่ทางฝั่งซ้ายและขวาของเครื่อง ไล่กันจากทางฝั่งซ้ายคือมีช่องเสียบสายชาร์จ ช่องเสียบไฟสำรอง พอร์ต MicroHDMI ช่องเสียบหูฟัง และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ฝั่งขวาจะมีเพียงพอร์ตยูเอสบี 3.0 2 พอร์ต และการ์ดรีดเดอร์เท่านั้น อย่างไรก็ตามในกล่องยังมีอุปกรณ์สำหรับต่อพ่วงสาย VGA เข้ากับ MicroHDMI และ Lan เข้ากับยูเอสบีให้ใช้กันด้วย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ในการใช้งานวินโดวส์ 8 อย่างที่รู้กันว่าจะมีหน้าอินเตอร์เฟสรวมการแสดงผลแบบ Live Title ไว้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกให้แสดงผลเฉพาะแอปพลิเคชันที่ต้องการ (pin) ซึ่งโดยปกติแล้ว โปรแกรมที่มากับตัวเครื่องถึงจะมีการอัปเดตข้อมูลแสดงในหน้านี้ แต่ถ้าเป็นโปรแกรมอื่นๆก็จะแสดงผลเพียงแค่ไอค่อนสำหรับเรียกใช้งาน
แอปฯที่ให้มาพร้อมกับวินโดวส์ 8 ที่ิพิเศษเพิ่มขึ้นมาคงเป็นเกีี่ยวกับพยากรณ์สภาพอากาศ ที่มีให้เลือกใช้ 2 ส่วนด้วยกันคือที่ฝั่งมากับวินโดวส์ และที่เอเซอร์ใส่มาให้ ซึ่งรูปแบบการแสดงผลก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ชอบแบบไหนมากกว่ากัน
การจัดการอีเมล ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีจากแอปฯที่ให้มา สามารถเรียกอ่าน ส่งต่อ ตอบอีเมลได้ทันที รวมถึงการเรียกดูไฟล์แนบ ถ้าเป็นไฟล์ในตระกูลออฟฟิศ ก็สามารถเรียกใช้งานแบบออนไลน์ หรือจะโหลดมาดูจากโปรแกรมที่ติดตั้งในตัวเครื่องก็ได้
Tunein เป็นโปรแกรมฟังวิทยุออนไลน์จากทั่วทุกมุมโลก โดยจะมีหัวข้อหลักๆให้เลือกคือ เพลง กีฬา ข่าว รายการสนทนา เลือกตามภาษา หรือจะใส่ช่อง Podcast ที่สนใจลงไปเพื่อเปิดฟังก็ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีวิทยุเพลงไทยเข้าไปให้บริการอยู่เพียงแต่ว่ายังไม่ครบทุกคลื่น ทั้งนี้ในการใช้งานสามารถใช้ปุ่มควบคุมมัลติมีเดียควบคุมการเล่นได้ทันที
7Digital Music Store เป็นแอปพลิเคชันที่เรียกได้ว่าเป็นคลังเพลงออนไลน์ ผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นหาชื่อเพลง ศิลปิน พร้อมโหลดฟังแบบออนไลน์ได้ทันที หรือจะเลือกดาวน์โหลด (มีค่าใช้จ่าย) มาเก็บไว้ในเครื่องก็ได้
Acer Explorer เป็นแอปฯสำหรับเข้าไปเช็คข้อมูลข่าวสาร หรือการแนะนำแอปฯที่น่าใช้งานจากทางเอเซอร์ โดยผู้ใช้สามารถกดเข้าไปในแต่ละแอปฯ เพื่อเข้าสู่ Store และดาวน์โหลดมาใช้งานบนโน้ตบุ๊กได้ทันที
NewsXpresso แอปฯรวบรวมข่าวสารที่ผู้ใช้งานสนใจ โดยเมื่อเข้าใช้งานโปรแกรมครั้งแรก จะมีหัวข้อให้เลือกตามที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับการเงิน การเมือง บันเทิง เทคโนโลยี กีฬา สุขภาพ ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการซิงค์ข้อมูลกับเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ของผู้ใช้มาแสดงผลด้วย
แม้ว่าแอปฯก่อนหน้าจะสามารถใช้แสดงผลเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ได้แล้ว แต่เอเซอร์ก็ยังมี Social Jogger มาให้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก Linkin ยูทูป และทวิตเตอร์ให้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการแสดงผลของตัว Social Jogger ทำออกมาได้ค่อนข้างดี แถมยังใช้โพสต์สถานะจากตรงนี้ได้ทันที
ในส่วนของการตั้งค่าเป็นไปตามรูปแบบการตั้งค่ามาตรฐานของวินโดวส์ 8 คือใช้ปรับแต่งการตั้งค่าส่วนบุคคล ผู้ใช้ การแจ้งเตือน ระบบค้นหา การใช้งานร่วมกัน ทั่วไป สิทธิส่วนบุคคล อุปกรณ์ การเชื่่อมต่อไร้สาย ความง่ายในการเข้าถึง ซิงค์ข้อมูล ตั้งโฮมกรุ๊ป และระบบอัปเดต
มาดูกันในส่วนของฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เอเซอร์ได้มีการรวมระบบ Clear Fi เดิมที่ใช้แชร์พวกรูปภาพ วิดีโอ เพลงผ่านระบบ DLNA ให้กลายมาอยู่ภายใต้ชื่อใหม่คือ Acer Cloud ที่นอกจากจะใช้แชร์ในระบบ DLNA ได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ฝากข้อมูล โดยผู้ใช้สามารถนำเครื่องที่ไม่ใช่แบรนด์เอเซอร์เข้ามาร่วมใช้งานได้ 8 เครื่อง และเครื่องในแบรนด์เอเซอร์ 32 เครื่อง
ตัวช่องเสียบยูเอสบี ก็มีความสามารถในการใช้เป็นที่ชาร์จให้แก่อุปกรณ์พกพาต่างๆได้ แม้ว่าตัวเครื่องจะไม่ได้เปิดใช้งาน ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งได้ว่าจะให้ระบบนี้ทำงานไปจนกว่าแบตเตอรี่จะเหลือต่ำกว่ากี่ %
นอกจากนี้ ด้วยความที่ปุ่มเปิด ปิด เครื่องดันไปอยู่ด้านข้าง ซึ่งเป็นจุดที่ง่ายต่อการกระทบกระเทือน หรือมือไปพลาดสัมผัสได้ง่ายๆ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้เข้าไปตั้งว่าเมื่อกดปุ่ม จะให้เครื่องล็อกหน้าจอ เข้าสู่โหมดพักเครื่อง รีสตาต หรือปิดเครื่องก็ได้
ระบบ Acer Backup Manager ก็ยังมีมาให้ใช้งานกันเหมือนเดิม โดยความสามารถในรุ่นนี้จะเลือกสำรองข้อมูลเฉพาะไฟล์ จำลองไดร์ฟ ไมเกรดไฟล์ และใช้ล้างไฟล์ที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานเพื่อให้มีพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น
สุดท้ายระบบเสียงของ Aspire S7 ที่มาพร้อมกับ Dolby Home Theater 4 ถือว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี เสียงดังชัดเจน และมีความเป็นสเตอริโออยู่ด้วย ทั้งนี้ในการตั้งค่าที่มากับเครื่องจะมีเพียงรูปแบบ ภาพยนตร์ ดนตรี และเกม เท่านั้น ซึ่งถ้าผู้ใช้ต้องการตั้งเอง และเซฟค่าเก็บไว้ก็สามารถทำได้
สเปกและทดสอบประสิทธิภาพ
สำหรับสเปกภายในของเครื่อง Acer Aspire S7 มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล 3rd Gen Intel Core i7-3517U ในรุ่นราคาสูงสุด ความเร็ว 1.9 GHz ทำงานแบบ 2 Core 4 Threads เมื่อใช้งานเครื่องทั่วๆไป ความเร็วจะปรับลงมาอยู่ที่ราว 799 MHz แต่ถ้าอยู่ในโหมด Turbo Boost จะขึ้นไปอยู่ที่ราว 2.8 GHz ทั้งนี้ถ้าลดระดับราคาเครื่องลงมาก็จะเป็นเครื่องที่ใช้ซีพียู Core i5 แทน
ขนาดของ L1 D-Cache อยู่ที่ 32 KB x2 เช่นเดียวกับ L1 I-Cache ส่วน L2 Cache อยู่ที่ 256 KB x2 และ L3 Cache อยู่ที่ 4 MB ตัวเมนบอร์ดเป็นรุ่น Storm ใช้ชิปเซ็ต Ivy Bridge โดยมี Southbridge HM77 ขณะที่ RAM ที่ให้มาเป็น DDR3 ขนาด 4 GB 800MHz โดยใช้การ์ดจอออนบอร์ด Intel HD 4000
ด้านชุด WiFi ที่ติดตั้งมาจะใช้ Atheros MD222 มาตรฐาน 802.11 a/g/n พร้อม Bluetooth 4.0 และในส่วนที่จัดเก็บข้อมูลจะใช้เป็น SSD ขนาด 256GB
PCMark05 แบ่งเป็น CPU 9,022 คะแนน Memory 10,452 คะแนน Graphics 2,640 คะแนน ส่วนคะแนนฮาร์ดดิสก์ไม่สามารถประมวลผลออกมาได้ ทำให้ไม่ได้คะแนนรวม
PCMark 7 คะแนนรวมที่ได้คือ 4,506 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Lightweight score = 2,807 คะแนน Productivity score = 2,153 คะแนน Creativity score = 8,562 คะแนน Entertainment score = 3,274 คะแนน Computation score = 16,456 คะแนน และ System storage score = 4,650 คะแนน
3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 8,375 คะแนน บนความละเอียดหน้าจอ 1,024 x 768 + Shader Model 3
3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 4,979 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,632 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 2,092 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 3,284 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280 x 1,024 พิกเซล
3DMark Vantage ได้คะแนนรวม P3189 คะแนน แบ่งเป็น GPU 2631 คะแนน และ CPU 8,784 คะแนน
Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.74pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 15.58fps
x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้
HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟหลักจะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 872.8 MB/s ที่ Random access 0.2ms
HDTune Pro ทดสอบอัตราการรับส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 813.2 MB/s ใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูล 0.212 ms โดยใช้ SSD ของอินเทลที่ความจุ 256 GB
ความสามารถของ USB 3.0 ทำให้สามารถโอนย้ายไฟล์ที่ความเร็วประมาณ 91 MB/s เมื่อทดลองใช้ย้ายไฟล์กับ External HD ที่รองรับ USB 3.0 ด้วยกัน
คะแนนจาก Windows 8 Score ได้รวมที่ 5.2 คะแนน
Game Benchmark ในการทดสอบกับเกมสเปกสูงๆ อย่าง Final Fantasy XIV ได้ 582 คะแนน Lost Planet ได้ 8.6 FPS และ Heaven Benchmark v3.0 ได้ 9.4 FPS 236 คะแนน ซึ่งจากคะแนนดังกล่าว ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดีกับเครื่องที่ไม่มีการ์ดจอแยก ก็ยังสามารถเล่นเกมที่ใช้ประสิทธิภาพเครื่องสูงๆได้ เพียงแต่ถ้าจะเล่นให้ลื่นอาจต้องปรับความละเอียดให้อยู่ในระดับกลางๆ
ในส่วนของการใช้งานแบตเตอรี 4,680 mAh กับหน่วยประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน พบว่าถ้าใช้งานทั่วๆไป แบบไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และปรับความสว่างหน้าจอต่ำสุด จะใช้งานได้ราว 6 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ต ควบคู่ไปกับปรับความสว่างหน้าจอแบบปกติจะอยู่ที่ราว 4 ชั่วโมง ส่วนถ้าใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพ เปิดความสว่างหน้าจอสูงสุดจะใช้ได้ราวๆ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนความร้อนของตัวเครื่องเฉลี่ยทั่วไปจะอยู่ที่ราว 54 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามีการใช้งานซีพียูหนักๆ ก็จะขึ้นไปถึงราว 86 องศา และส่งผลให้ตัวพัดลมทำงานเร็วขึ้น และเกิดเสียงพัดลมดังออกมาอย่างชัดเจน
จุดขาย
- อัลตร้าบุ๊กที่มาพร้อมกับหน้าจอทัชสกรีน รองรับการใช้งานวินโดวส์ 8 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ด้วยความเบา ทำให้พกพาไปใช้งานได้สะดวก รวมกับระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่ที่ได้กว่า 6 ชั่วโมงถ้าใช้งานทั่วๆไป
- ประสิทธิภาพตัวเครื่องที่ใส่มาให้แบบเต็มๆทั้ง ซีพียูรุ่นแรง SSD 256GB พอร์ต USB 3.0
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ราคาสูง เมื่อเทียบกับอัลตร้าบุ๊กที่ไม่ใช่หน้าจอสัมผัส เนื่องจากเทคโนโลยีจอสัมผัสยังมีราคาสูงอยู่
- เสียงพัดลมดัง เมื่อใช้งานหนัก
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ด้วยความที่ Aspire S7 ออกมาเป็นรุ่นเรือธงของทัพหน้าในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 เอเซอร์จึงนำเอาเทคโนโลยีที่คิดว่าดีที่สุดมาใส่ และออกวางจำหน่าย ซึ่งทำให้ราคาของตัวเครื่องค่อนข้างสูง อย่างสเปกตัวเครื่องที่ได้มารีวิวอยู่ที่ 59,900 บาท แต่ถ้าลดลงเหลือ Core i5 จะลงมาอยู่ที่ 49,900 บาทในรุ่นหน้าจอ 13 นิ้ว
ที่น่าสนใจมากกว่าคือ Aspire S7 รุ่นหน้าจอ 11 นิ้ว ที่มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Core i5 และ SSD 128 GB ในราคาเริ่มต้นที่ 45,900 บาท เนื่องจากเป็นอัลตร้าบุ๊กที่มีขนาดเหมาะกับการพกพามากกว่ารุ่น 13 นิ้ว และเชื่อว่าการใช้งานพกพาส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้สเปกที่สูงที่สุด แต่เป็นระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้น บนการทำงานที่ยังลื่นไหลมากกว่า
ทั้งนี้ ถ้าผู้บริโภคยังไม่มีความต้องการใช้งานหน้าจอทัชสกรีน ในตลาดก็ยังมีอัลตร้าบุ๊กสเปกดีในราคาที่ต่ำกว่าให้เลือกค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าได้โอกาสเปลี่ยนโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ และมีงบประมาณที่เหลือเฟือ Aspire S7 ถือเป็น 1 ในตัวเลือกที่รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ได้อย่างครบเครื่อง
Company Related Links :
ACER
CyberBiz Social