อย่างที่ทราบกันดีกว่าช่วงนี้กระแสกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพหรือ Mirrorless ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนแทบจะยึดตลาดกล้อง DSLR ระดับล่างได้เกือบหมด
เป็นเหตุให้แบรนด์ผู้คว่ำหวอดในวงการ DSLR หลายเจ้าต้องกระโดดลงมาเล่นในตลาด Mirrorless กันมากขึ้นไล่ตั้งแต่นิคอนจนมาถึงแคนนอนกับ EOS-M ที่เราจะนำมารีวิวให้ผู้อ่านได้รับทราบกันในวันนี้พร้อมพาทัวร์ทดสอบกล้องกันแบบถึงพริกถึงขิง
การออกแบบ
สำหรับ EOS-M รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจากแคนนอนเป็นรุ่นที่มาพร้อมเลนส์สองตัวได้แก่ เลนส์ 18-55 f3.5-5.6 และเลนส์ 22 f2.0 พร้อมแฟลช Speedlite 90EX ที่ถือเป็นไฟแฟลชหัวกล้องขนาดใหญ่ มาพร้อม Guide Number 30'
แป้นบริเวณหน้าสัมผัสกับเมาท์เลนส์ใช้ส่วนประกอบเป็นอะลูมิเนียม
เมื่อประกบกับเลนส์ 22 f2.0 สามารถใส่กระเป๋ากางเกงได้แบบไม่เกะกะ
ด้านวัสดุที่ใช้ผลิต EOS-M แคนนอนเลือกใช้อะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบหลักทั้งเลนส์คิทที่ให้มาและบอดี้ทำให้งานประกอบแข็งแรงจับแล้วรู้สึกไม่เบาโหวงเหวงและบอบบางเหมือน DSLR รุ่นล่างของแคนนอนหลายๆ รุ่น โดยน้ำหนักรวมอยู่ที่ 81 กรัม มียางกันลื่นบริเวณมือจับ พร้อมขนาดตัวเครื่องเพียง 65 x 25.5 x 90 มิลลิเมตร เมื่อประกบกับเลนส์ 22 f2.0 สามารถใส่กระเป๋ากางเกงพกพาไปไหนได้สะดวกสบาย
ในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อที่สะดุดตาทีมงานไซเบอร์บิซมากที่สุดคงเป็นช่องต่อไมโครโฟนจากภายนอก (รองรับไมโครโฟนสเตอริโอ) พร้อมช่อง HDMI Out และ A/V Out ทั่วไป
ช่อง Mic in ทำให้สาวก EOS Movie สามารถเชื่อมต่อ Wireless Microphone ได้อย่างง่ายดาย
ในส่วนจอภาพด้านหลังเป็นจอ TFT ขนาด 3 นิ้วบนความละเอียด 1.04 ล้่านจุด รองรับมัลติทัช สามารถซูมภาพได้ด้วยสองนิ้วจีบเข้าออก รวมถึงการถ่ายภาพแบบ Touch Shutter และสามารถโฟกัสผ่านการสัมผัสบนหน้าจอได้
และในเมื่อหน้าจอสามารถสัมผัสได้เรื่องของการปรับแต่งและปุ่มกดคำสั่งต่างๆ จะถูกติดตั้งมาน้อยลง เพราะผู้ใช้สามารถสัมผัสหน้าจอเพื่อปรับแต่งค่าต่างๆ แทน ตรงนี้ถือว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือสามารถปรับค่าต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้นรวมถึงสามารถเลือกจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็วขึ้น ส่วนข้อเสียคือเมื่อถ่ายกลางแจ้ง แดดจัดๆ จอมองไม่เห็น กดปรับค่ายาก เพราะต้องใช้ปุ่มกดที่ให้มาน้อยช่วยปรับแต่งค่าต่างๆ ทำให้การถ่ายภาพช้าลง
สำหรับปุ่มกดปรับค่าด้านข้าหน้าจอประกอบด้วย วงแหวนหมุนปรับค่าที่สามารถกดขึ้นลงซ้ายขวาแทนคำสั่งดังต่อไปนี้
กดขึ้น - ตั้งเวลา, เลือกลักษณะการถ่ายภาพ
กดซ้าย - ล็อคค่าแสง
กดล่าง - ลบภาพ
กดขวา - ชดเชยแสง +/-
ตรงกลาง - ปุ่ม set และเรียก Quick Menu
ถัดขึ้นไปด้านบนจะเป็นปุ่มเข้าสู่หน้า Menu ตั้งค่าแบบละเอียดพร้อมปุ่มพรีวิวภาพ ส่วนด้านล่างเป็นปุ่ม INFO ไว้ดูรายละเอียดของภาพที่ถ่ายรวมถึงปรับการแสดงผลหน้าจอเป็นรูปแบบต่างๆ
มาที่ด้านบนของตัวกล้องจากซ้ายจะเป็นช่องไมโครโฟนซ้าย-ขวา (สเตอริโอ) ถัดมาเป็น Hot Shoe สำหรับใส่แฟลชและอุปกรณ์เสริมต่างๆ
ด้านขวาจะเป็นที่อยู่ของปุ่มปิด-เปิดกล้อง (เปิดกล้องทิ้งไว้และไม่ได้ใช่งานกล้องจะมีระบบ Auto Shut Down) ถัดมาในส่วนของปุ่มชัตเตอร์จะมีวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพ 3 โหมดได้แก่ โหมด Auto แบบอัจฉริยะ โหมดถ่ายภาพปกติและโหมดถ่ายวิดีโอ EOS Movie
*มาถึงส่วนนี้หลายคนอาจสงสัยว่าวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพมีให้แค่นี้เองเหรอ แล้วพวกโหมด Manual โหมดสำเร็จรูปอยู่ไหน ทีมงานขอบอกว่ามีครับ ให้เลื่อนวงแหวนไปที่โหมดถ่ายภาพปกติก่อน สังเกตที่หน้าจอบริเวณซ้ายบน จะมีสัญลักษณ์โหมดถ่ายภาพที่เลือกใช้ในปัจจุบันปรากฏขึ้น สัมผัสลงไปจะเข้าสู่เมนูเลือกโหมดถ่ายภาพที่ซ่อนอยู่ดังนี้*
หน้าแรก จะมีโหมด M (Manual) Av (ปรับรูรับแสง) Tv (ปรับความเร็วชัตเตอร์) P (โปรแกรม)
หน้าสอง-สาม จะเป็นส่วนของโหมดสำเร็จรูปไล่ตั้งแต่ CA ถ่ายภาพบุคคล Landscape มาโคร-โคสอัพ ภาพกีฬา (Stop Action) ภาพบุคคลกลางคืน Handheld Night Shot (ถ่ายภาพวิวกลางคืนแบบไม่ใช้ขาตั้งกล้อง) และ HDR Backlight
มาในส่วนประกอบรอบตัวเครื่องสุดท้ายก่อนเข้าสู่เรื่องของสเปก จะเป็นช่องใส่แบตเตอรีและการ์ดความจำที่อยู่ด้านล่างตัวเครื่อง โดยแบตเตอรีที่ใช้จะเป็นรุ่น LP-E12 ขนาด 875mAh ส่วนการ์ดความจำที่รองรับได้แก่ SD memory card, SDHC memory card และ SDXC memory card พร้อมรองรับมาตราฐาน UHS-I
สเปก
Canon EOS-M จัดอยู่ในกล้องประเภทไร้กระจกสะท้อนภาพ (Mirrorless) หรือที่ทางแคนนอนเรียก "Digital single-lens non-reflex" มาพร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ CMOS 18 ล้านพิกเซล APS-C (22.3 x 14.9 มิลลิเมตร) บนชิปประมวลผลภาพ DIGIC 5 รองรับเมาท์เลนส์ EF-M และสามารถใส่เลนส์ EF จาก DSLR ได้โดยใช้ Mount Adapter EF-EOS M
ในส่วนขนาดภาพที่รองรับในอัตราส่วน 3:2 ใหญ่สุดจะอยู่ที่ 17.90 ล้านพิกเซล (5184 x 3456 พิกเซล) เล็กสุดอยู่ที่ขนาด 720x480 พิกเซล และ 2.50 ล้านพิกเซล โดยขนาดความใหญ่ของไฟล์ RAW จะอยู่ที่ 29.1MB (14-bit Canon original) โดยประมาณ ส่วน JPEG อยู่ที่ประมาณ 11.9MB
ด้านระบบออโต้โฟกัสมี AF Point อยู่ที่ 31 จุดรองรับ ServoAF และเป็นออโต้โฟกัสบนเทคโนโลยี Hybrid CMOS AF (Face+Tracking, Flexi Zone- Multi, FlexiZone-Single) พร้อมรองรับการวัดแสงแบบ Evaluative metering, Partial metering, Spot metering, Center-weighted average metering แบบเดียวกับ DSLR ของแคนนอน พร้อมความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ 4.3 ภาพต่อวินาที
ส่วนค่าความไวแสงจะเริ่มต้นที่ 100-12,800 และความเร็วชัตเตอร์ที่รองรับจะเริ่มตั้งแต่ชัตเตอร์ B (Bulb) - 1/4,000 วินาที พร้อม X-Sync ที่ 1/200 วินาที
สุดท้ายสำหรับสเปกวิดีโอ (EOS Movie) รองรับความละเอียดสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซล ที่ความเร็วเฟรท 25p (ขนาดไฟล์ประมาณ 330MB ต่อนาที) ในรูปแบบไฟล์ MPEG-4 AVC/H.264 (.MOV) ส่วนที่ความละเอียด 1,280x720 พิกเซลจะสามารถตั้งความเร็วเฟรมได้ถึง 50p
จุดขายและฟีเจอร์
ช่วงหลังมานี้จะเห็นว่าแคนนอนเริ่มเพิ่มฟีเจอร์จบหลังกล้องใหม่ๆ เข้ามาตลอดเพื่อลดช่องว่างในเรื่องการโปรเซสไฟล์หลังกล้องให้สมบูรณ์และทัดเทียมกับคู่แข่ง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่มีมาตั้งแต่ 650D และมักถูกซ่อนอยู่ในหน้าเมนูด้านในก็คือ Creative filters ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถตกแต่งภาพด้วยเอ็ฟเฟ็กต์ต่างๆ เช่น Toy Camera หรือทำภาพสีน้ำได้
ผลลัพธ์จากการตกแต่งภาพด้วยฟีเจอร์ Creative filters - Toy Camera จากหลังกล้อง EOS-M
และด้วยความสามารถในเรื่องหน้าจอของ EOS-M ที่สัมผัสได้ ทำให้การพรีวิวรูปภาพสามารถทำได้ง่ายขึ้นเพียงแตะรูปที่ต้องการรับชมเพื่อพรีวิว และการขยายภาพแบบ 100% ก็สามารถทำได้ด้วยใช้สองนิ้วจีบหรือถ่างเข้าออก ส่วนการปาดนิ้วไปซ้ายหรือขวาก็จะสามารถเลื่อนดูภาพถัดไปหรือย้อนหลังได้
ทดสอบประสิทธิภาพ
ก่อนจะเข้าสู่การทดสอบประสิทธิภาพกับ Canon EOS-M วันนี้ผม @dorapenguin หนึ่งในทีมไซเบอร์บิซจะขอเกริ่นก่อนว่า ส่วนนี้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทดสอบประสิทธิภาพใหม่จากเดิมที่เราจะเน้นวิชาการและวิเคราะห์หาผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละภาพเปลี่ยนเป็นการออกทริปถ่ายภาพจริงๆ ประหนึ่งทีมงานซื้อกล้องมาใช้งานออกทริปเองแล้วบอกเล่าแบบเป็นกันเองอย่างตรงไปตรงมา เพื่อการทดสอบจะได้เข้าถึงความเป็นยูสเซอร์มากยิ่งขึ้น
โดยการทดสอบกล้อง EOS-M ในบทความนี้ทีมงานได้ออกทริปเที่ยวไล่ตั้งแต่ เพชรบุรี ปราณบุรีและไปจบที่สวนผึ้ง ราชบุรี เป็นเวลากว่า 4 วัน 500 กว่ากิโลเมตรกับกล้อง Canon EOS-M
หลังจากได้รับกล้องจากทีมแคนนอนมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยมากที่สุดก็คือเรื่องค่าความไวแสงกับสัญญาณรบกวนที่ทีมงานอยากรู้ว่าแคนนอนจะจัดการได้ดีเหมือนกล้อง DSLR หรือไม่ จึงไม่รอช้าเริ่มทดสอบเป็นส่วนแรกกับ ISO โหดๆ ถึง 6,400 กับ 12,800 ประกบเลนส์คิท 18-135 ผลที่ได้คือ
ภาพที่ได้อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ และคิดอยู่แล้วว่าถึงอย่างไร Noise ก็ต้องมามากมายที่ค่าความไวแสงสูงขนาดนี้อยู่แล้ว เพราะด้วยขนาดเซ็นเซอร์ APS-C และรูปแบบกล้องได้แค่นี้ก็โอเคแล้ว อยากได้ดีกว่านี้คงต้องหันไปฟูลเฟรมแล้วล่ะ
จบเรื่องความสงสัยเรื่อง Noise ไว้สักครู่แล้วออกเดินทางสู่ปราณบุรี ที่นี่เป็นเมืองติดทะเล อากาศดีใช้ได้ แต่ติดในเรื่องการเดินทางที่ค่อนข้างเข้าถึงยากเพราะแต่ละสถานที่สำคัญอยู่ไกลกัน แต่ก็คงไม่ลำบากอะไรมากถ้าผู้อ่านมีรถยนต์ส่วนตัว
ถึงปราณบุรีผมเข้าสู่ที่พักติดทะเล ระหว่างทางเดินไปห้องพักในมือผมก็ถือกล้อง EOS-M ไว้พร้อมเสียงบ่นในใจเล็กน้อยว่ากล้องจับถือยากมากเพราะไม่มีกริปยื่นออกมาเหมือนคู่แข่งอย่าง Sony NEX แต่ด้วยวัสดุที่แคนนอนเลือกใช้แบบอะลูมิเนียมก็ต้องขอชมเชยว่างานดูแข็งแรงและมั่นคงดี
เดินอยู่สักครู่ผมก็เหลือบไปเห็นนกเกาะอยู่ที่ระเบียงโรงแรม แต่เหมือนเลนส์ 18-55 จะไม่อำนวยความสะดวกในเรื่องการซูมเท่าไร ก็เลยต้องใช้วิธีย่องเข้าไปเบาๆ และใช้วิธีการยิงภาพด้วยระบบ Touch Shutter จากจอ โอ้..ผมเห็นข้อดีของจอสัมผัสแล้ว
แต่ก็อดหาข้อติติงไม่ได้เพราะผมเคยใช้ Sony NEX อยู่แล้วจอสามารถพับเปลี่ยนองศาได้ พอมาใช้ EOS-M พับจอไม่ได้แล้วหงุดหงิดพอสมควรเมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่สามารถก้มมองจอภาพได้ เพราะในมุมองศาที่ผมถ่ายนกตัวนั้นค่อนข้างต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้ผมต้องจิ้มถ่ายจอแบบกะมั่วๆ เองซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็โอเคใช้ได้
โหมดถ่ายภาพที่เลือกใช้ก็คือออโต้ทั้งหมด 1/2000sec, ISO800, f5.6 ส่วนภาพล่างแถม Crop 100% ให้ดู Noise แบบ RAW File
ถ่ายภาพนกเสร็จเช็คอินเข้าห้องพักเรียบร้อยก็ได้เวลาลงไปเยือนหาดทรายปราณบุรีสักหน่อย พร้อมเปลี่ยนเลนส์ไปใช้ 22 มิลลิเมตร f2 ยิงภาพโขดหินที่เต็มไปด้วยมอส (หรือสิ่งใดผมก็ไม่ทราบได้) ที่ f2.0 แบบมุมตรงพบว่าภาพที่ได้คมชัดใช้ได้ แต่โฟกัสของเลนส์ 22 มม. ช้ามาก รวมถึงลองเปลี่ยนไปใช้เลนส์ 18-55 ก็โฟกัสแบบโค้สอัพช้าเช่นกัน ส่วนนี้เดาว่าเกิดจากมอเตอร์ STM (มอเตอร์เงียบ) แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นตอนทดสอบ 650D
โหมดถ่ายภาพโค้สอัพสำเร็จรูป 1/250sec, ISO100, f2 ส่วนภาพล่างแถม Crop 100% ให้ดู Noise แบบ RAW File เรียบเนียนเลยทีเดียว
ขึ้นจากหาดทรายขับรถออกไปทางอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ ขับไปตามทางเรื่อยๆ จนไปเกือบสุดทางก็พบสถานที่หนึ่งเป็นบ้านอยู่หลังเขากับแสงแดดจัดๆ ช่วงบ่ายเหมาะแก่การทดสอบภาพ Landscape f-stop สูงๆ รีดเค้นความคมชัดจากเลนส์มาก จึงไม่รอช้ารีบจอดรถข้างทางแล้วออกไปถ่ายภาพทดสอบกันก่อนแสงจะหมดไป
โหมดถ่ายภาพ Av 1/125sec, ISO100, f9 ส่วนภาพเป็น Crop 100% ถือว่าความคมชัดค่อนข้างดีมาก แต่เหมือนภาพติดฟุ้งๆ หน่อย
จบทริปวันแรกเข้าสู่วันที่สองกับทริปเพชรบุรี เริ่มต้นวันที่สอง ณ "ถ้ำเขาหลวง" เพื่อทดสอบการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย โดยผมปล่อยให้กล้องจัดการ ISO เอง (ตั้ง ISO Max ในเมนูไว้ที่ 100-3,200 ซึ่งถือเป็นช่วงที่กำลังดี) เพราะตั้งออโต้ไว้ จะปรับก็เพียงแค่รูรับแสงเท่านั้น (Av Mode)
เริ่มภาพแรกกับมุมมหาชนที่ ISO 1,600 กับความเร็วชัตเตอร์ 1/80 วินาที
ภาพที่สองเน้นทาง Landscape สภาพแสงน้อยมากจนต้องตั้ง ISO แบบ Manual ที่ 6,400 กับความเร็วชัตเตอร์ 1/80 วินาที ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ในมุมมองปกติ ไม่ใช่ครอป 100% ถือว่าน่าพอใจ ภาพยังคงคมชัด และรายละเอียดในส่วนมืดถูก Boost ขึ้นด้วยเทคโนโลยีกล้อง
ลองเปลี่ยนไปใช้เลนส์ 22 มิลลิเมตรกับ f2 ที่ค่า ISO 1,600 บนความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที ผมรู้สึกว่าเลนส์ 22 มิลลิเมตรที่แถมมาในชุดให้คุณภาพความคมที่ดีกว่า 18-55 ที่ชอบออกแนวฟุ้งๆ เล็กน้อย
สุดท้ายกับภาพที่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหารีวิวและบังเอิญผมเห็นว่ามีสาระและประโยชน์น่าถ่ายมาให้ท่านผู้อ่านได้ฉุกคิดกัน
จบทริปถ่ายภาพถ้ำเขาหลวงกับสภาพแสงน้อย ยอมรับว่า EOS-M ให้ประสิทธิภาพที่ดีโดยเฉพาะคุณภาพไฟล์ที่จากการลองได้เพียง 3 วันก็แทบหลงรักและฟันธงได้ทันทีว่า EOS-M เป็นมิร์เรอร์เลสที่มีคุณภาพอยู่ระดับบนๆ ของตลาดยกเว้นเรื่องการควบคุมที่ผมขอพูดในส่วนต่อไปแล้วกัน
และก่อนจากถ้ำเขาหลวงบังเอิญผมเดินไปพบเจอเจ้าจ๋อกำลังนั่งทำหน้าตาฮาๆ อยู่ก็เลยถือโอกาสทดสอบการถ่ายภาพส่วนบุคคลด้วยโหมดสำเร็จรูปแบบอัตโนมัติเสียเลย
โหมดถ่ายภาพสำเร็จรูป - ภาพส่วนบุคคล ISO 100 ชัตเตอร์ 1/80 วินาที f/5.6
หลังจากผมออกจากถ้ำเขาหลวงช่วงเวลาประมาณ 11 โมงเช้าก็ถึงเวลาที่จะมุ่งหน้าไปทะเลรับลมเย็นกันบ้าง เดินทางถึงหาดเจ้าสำราญ ด้วยเส้นทางวิบากเล็กน้อย จอดรถข้างทางและลงไปเก็บภาพในช่วงเวลาที่แดดจัดจนทำให้ผมมองเห็นข้อเสียของ EOS-M เต็มๆ ในเรื่องการปรับตั้งค่าด้วยการสัมผัสหน้าจอกับสภาพมองหน้าจอไม่เห็นเพราะแสงแดด จนต้องหันไปพึ่งปุ่มคำสั่งแบบกดที่อยู่ข้างๆ หน้าจอ ซึ่งกดเข้าใช้งานยากมาก เพราะให้ปุ่มคำสั่งมาน้อย ก็เลยต้องพยายามเอามือป้องจอภาพและค่อยๆ กดจนเลือกโหมดและค่าที่ต้องการได้
กว่าจะถ่ายภาพ "หาดเจ้าสำราญ" นี้ได้ก็ใช้เวลาอยู่หลายนาที : Av Mode, 1/3200 วินาที, ISO 100 ระยะเลนส์ 18 มิลลิเมตร
หน้ามืดกับแสงแดดจ้าในช่วงกลางวันไปแล้ว ก็กลับมาโรงแรม หาอาหารกิน และนอน มาถึงเช้าวันต่อไปผมได้แอบขึ้นไปบนอุทยานประวัติศาตร์พระนครคีรี(เขาวัง) แบบรีบๆ เพราะต้องขับรถไปต่อที่ราชบุรีอีก ก็เลยมองๆ หาภาพ Landscape ตามที่ตั้งใจไว้เพื่อรีดความสามารถของเลนส์กล้องอีกครั้ง เพราะแสงให้และหลายอย่างลงตัวก็เลยได้ภาพนี้มา
Av Mode, 1/50 วินาที, ISO 100, f14 ระยะเลนส์ 18 มิลลิเมตร
Av Mode, 1/60 วินาที, ISO 100, f13 ระยะเลนส์ 29 มิลลิเมตร
รีบลงจากเขาวังขึ้นรถมุ่งหน้าสู่ราชบุรี อ.สวนผึ้ง ขับลัดเลาะไปตามเขาเรื่อยเปื่อยมุ่งหน้าไปทางน้ำตกเก้าชั้นเข้าพักรีสอร์ท ระหว่างทางถือเป็นโชคของผมที่ได้พบปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงามดังภาพ
ภาพนี้เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที เนื่องจากผมอยู่ในโหมด Av ค้างไว้ตั้งแต่เพชรบุรี และรู้สึกได้ทันทีว่าภาพนี้ต้องอันเดอร์สิถึงสวย ก็เลยรีบปรับรูรับแสงให้แคบลงมาที่ f/13 จากนั้นใช้ชดเชยแสงไปทางลบให้ติดอันเดอร์ก่อนจะบรรจุรัวชัตเตอร์ที่ความเร็ว 1/1,000 วินาทีไปอย่างต่อเนื่องแล้วค่อยมาหาภาพที่ดีที่สุดทีหลัง
ผลลัพธ์ที่ได้สวยงามถูกใจผมและไม่นานฟ้ากลับมาเป็นปกติ มองออกไปรอบข้างรู้สึกอิจฉาคนที่นี่เสียจริง...
และแล้วผมก็ถึงที่พักแบบธรรมชาติสุดๆ ในราคาไม่แพงนัก ที่นี่ผมได้ลองภาพ Landscape อีกครั้งแต่ในครั้งนี้ทดลองตั้งเป็นโหมดสำเร็จรูป HDR Backlight ดูพบว่าผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจเพราะสมดุลภาพที่ได้ทั้งโทนมืดและสว่างสม่ำเสมอกัน รายละเอียดภาพอยู่ครบทั้งหมด ดังภาพประกอบด้านบน
Macro Mode, 1/250 วินาที, ISO 800, f5.6 ระยะเลนส์ 55 มิลลิเมตร
และด้วยที่พักอยู่ติดกับธรรมชาติมากทำให้ผมได้มีโอกาสเห็นผีเสื้อและแมลงสัตว์ปีกบินไปมา กระโดดไปมาอยู่รอบๆ ผมจึงมีโอกาสได้ถ่ายเจ้าแมลงปอด้วยเลนส์คิท จากนั้นนำมาครอปอีกทีผ่าน Lightroom ผลลัพธ์ที่ได้ก็ถือว่าน่าพอใจแต่ผมก็ยังติดใจเมื่อซูม 100% แล้วพบกับอาการภาพฟุ้งๆ เล็กน้อยเมื่อถ่ายด้วยเลนส์คิท 18-55
เช็คอินที่พักอีกครั้ง จากนั้นขับรถไปยังน้ำตกเก้าชั้นจากที่พักเพียง 500 เมตรเพื่อหวังไปถ่ายภาพน้ำตกสวยๆ แบบไม่ใช่ ND Filter (ฟิลเตอร์ลดแสง) ไปถึงต้องผิดหวังเล็กน้อยเพราะคนเยอะมากถึงมากที่สุดจนแทบไม่มีที่ยืนก็เลยต้องพับขาตั้งกล้องเก็บและอาศัยความเล็กของ EOS-M จัดแจงจัดท่าวางบนโขดหิน ปรับรูรับแสง f29 (อยู่ในโหมด M) ให้แคบสุดเพื่อทำให้สปีดชัตเตอร์วิ่งต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมดรอป ISO ลงมาต่ำสุดที่ 100 ระยะเลนส์ 47 มิลลิเมตร ได้ความเร็วชัตเตอร์ 0.4 วินาที
จบจากน้ำตกเก้าชั้นก็ถึงเวลาต้องร่ำลากันกับภาพสุดท้ายในช่วงเวลาเช้าตรู่ ณ อ.สวนผึ้ง แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ ส่วนใครอยากรับชมภาพทั้งหมดอีกครั้งแบบเต็มความละเอียดเพื่อเช็คคุณภาพไฟล์สามารถเข้าไปรับชมได้ที่ http://www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157632638037656/
ส่วนการทดสอบถ่ายวิดีโอ 1080p พบว่าสามารถใช้งานได้ทั้งโหมดอัตโนมัติและ Manual แบบปรับรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์และค่าความไวแสงได้เอง แถมการใช้งานร่วมกับไมโครโฟนข้างนอก ในส่วนเมนูตั้งค่าจะมี Bar เสียงที่สามารถปรับ Output Level ได้ (ดูการทดสอบได้จากคลิปด้านบนส่วนสุดท้ายที่เป็นคนนั่งพูดอยู่ ส่วนนั้นเราซิงค์กับ Wireless Microphone Sony UWP-V1 ให้เสียงที่ดังฟังชัดไม่ต้องไปมิกซ์เพิ่มภายหลัง)
แต่ระบบการถ่ายวิดีโอสำหรับ EOS-M จะคล้ายกับ Canon 650D มารวมถึงโฟกัส Servo ที่ยังมีหวืดวาดบ้างในบางสภาพแสง รวมถึงการโฟกัสผ่านมอเตอร์ STM ที่ค่อนข้างช้าไม่ทันใจในบางจังหวะ แต่ก็แลกมาด้วยความเงียบไม่เข้าไมโครโฟนกล้อง
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ก่อนจะพูดถึงราคาต้องขอชมเชยก่อนว่าถึงแม้แคนนอนจะกระโดดลงมาเล่นกล้องไร้กระจกสะท้อนช้ากว่าเจ้าอื่น แต่ในเรื่องคุณภาพไฟล์ที่ได้ถือว่ายอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใครแน่นอน (หายห่วงได้ครับเรื่องคุณภาพไฟล์ และอยู่แถวหน้าของตลาดมิร์เรอร์เลสได้เลย) แถมอารมณ์ภาพที่ได้จากการทดสอบจากทีมงานไซเบอร์บิซ EOS-M ให้มิติภาพและฟีลลิ่งภาพแบบเดียวกับกล้องตระกูล DSLR APS-C ของแคนนอนอย่างใดอย่างนั้น
อีกทั้งด้วยการที่แคนนอนชูเรื่อง Adapter แปลงเลนส์ EF to EOS M (มีชุดขายพร้อมกล้อง) ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้ที่มีเลนส์ DSLR ของแคนนอนอยู่แล้วสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแคนนอนอย่างมาก
แต่ก็ใช่ว่าตัว EOS-M จะไม่มีข้อเสีย ซึ่งเมื่อเทียบกับกล้องในตลาดเดียวกันในเรื่องฟีเจอร์อำนวยความสะดวกรวมถึงการออกแบบกล้องต้องยอมรับว่า EOS-M ยังสอบไม่ผ่าน โดยเฉพาะเรื่องปุ่มคำสั่งที่ตัดวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพออกให้ไปอยู่ในหน้าจอสัมผัสแทน รวมถึงปุ่มคำสั่งสำคัญอื่นๆ ที่ถูกยกไปไว้ที่หน้าจอสัมผัสเกือบทั้งหมด ส่วนนี้สร้างความไม่สะดวกสบายแก่ผู้ใช้อย่างมาก ยิ่งเมื่อใช้งานกลางแจ้งแดดจัดการปรับแต่งทำได้ยาก ส่วนผู้ใช้ DSLR อยู่แล้วและซื้อ EOS-M มาเป็นกล้องสองไว้ถ่ายแคนดิตก็แทบต้องปรับตัวปรับความคุ้นเคยใหม่หมด
อีกทั้งการที่กล้องทำงานค่อนข้างช้าทั้งโฟกัสกับเลนส์ STM รวมถึงการประมวลผลไฟล์ภาพที่อาจไม่ทันใจนักถ่ายภาพยุคใหม่นัก EOS-M อาจกลายเป็นกล้องมิร์เรอร์เลสรุ่นบุกเบิกที่แคนนอนต้องทำการบ้านให้หนักกว่านี้ในรุ่นต่อไป
ส่วนคนที่ยอมรับข้อเสียเหล่านี้ได้และมองไปถึงความสะดวกสบายในเรื่องการพกพาในขณะที่คุณภาพไฟล์ส่วนนี้ทีมงานไซเบอร์บิซยืนยันว่าเทียบกับ EOS 650D ได้เลยก็ถือว่า EOS-M เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับราคาชุดที่ทีมงานทดสอบ Canon EOS M + kit 18-55mm + 22mm + Flash Speedlite 90EX อยู่ที่ 33,900 บาท ส่วนรุ่นแถมเฉพาะเลนส์ 22 มม. กับ Adapter EF to EOS M อยู่ที่ 29,900 บาท
Company Related Link :
Canon