ช่วงนี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสกำลังเกิดขึ้นในทุกวงการไอทีไม่เว้นแม้แต่กล้องดิจิตอลถ่ายภาพ DSLR ที่ในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซได้รับ Canon EOS 650D ที่มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจอ LCD แบบสัมผัสรุ่นแรกของโลกในหมวดกล้อง DSLR พร้อมการเปลี่ยนแปลงอัปเกรดฟีเจอร์ใหม่หมดด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 27,900 บาท (พร้อมเลนส์ EF-S 18-55 IS II)
การออกแบบ
สำหรับ Canon EOS 650D ชุดที่ทีมงานได้รับมาทดสอบคือชุดกล้องพร้อมเลนส์ EF-S 18-135 f/3.5-5.6 IS STM รุ่นใหม่ที่มาพร้อม Stepping Motor ทำให้โฟกัสเงียบ และไม่มีเสียงมอเตอร์โฟกัสเข้าสู่ไมค์เวลาถ่ายวิดีโอเหมือนเลนส์รุ่นก่อน
มาที่บอดี้จะมีสีดำสีเดียว และวัสดุที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก ในส่วนกริปจะหุ้มยางกันลื่นไว้ โดยน้ำหนักของ EOS 650D เฉพาะบอดี้จะอยู่ที่ 520 กรัมแต่เมื่อรวมเลนส์ EF-S 18-135 เข้าไปด้วย (ตามชุดที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ) จะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
มาดูรอบตัวเครื่อง จากด้านหน้าสุดนอกจะเป็นเมาท์ที่ในภาพสวมเลนส์ EF-S 18-135 ไว้ โดยด้านกริปจับถือจะมีการหุ้มยางกันลื่นไว้พร้อมช่อง IR ด้านบนกริปจะเป็นปุ่มชัตเตอร์และถัดมาตรงบอดี้กล้องด้านบนสุดจะเป็นไฟช่วยโฟกัส
อีกด้าน (ภาพประกอบที่่ 2) จะมีปุ่มถอดเปลี่ยนเลนส์อยู่ใต้ชื่อรุ่น EOS 650D ที่บริเวณด้านข้างจะเป็นปุ่มเปิดไฟแฟลชหัวกล้อง ส่วนด้านล่างจะเป็นปุ่มเช็คระยะชัดลึกชัดตื้น
ส่วนด้านหลังกล้องจะเป็นจอ LCD Clear View II ขนาด 3 นิ้ว (ความละเอียดถึง 1.04 ล้านจุด) เป็นจอสัมผัสแบบ Multi-touch (ใช้ 2 นิ้วจีบเข้าและถ่างออกเพื่อซูมภาพเข้าออกได้) และสามารถปรับมุมมองรับชมได้หลายองศารวมถึงพับจอเก็บและหมุนจอถ่ายตัวเองได้
นอกจากนั้นด้านข้างจอยังเป็นส่วนควบคุมการทำงานตามแบบฉบับแคนอนพร้อมปุ่มถ่ายวิดีโอที่แยกออกมารวมกับปุ่มเปิด-ปิด Live View (สามารถกดถ่ายวิดีโอได้เมื่ออยู่ในโหมดวิดีโอ ส่วนโหมดถ่ายภาพปกติจะเป็นการเปิด-ปิด Live View) พร้อมช่องมองภาพ Optical แบบ DSLR ทั่วไป
มาที่ส่วนเชื่อมต่อและพอร์ตรอบๆ กล้อง EOS 650D กันบ้างเริ่มจากขวามือจะเป็นช่องใส่เมมโมรี่ SD Card (SDHC, SDXC, UHS-1) และช่องติดตั้งสายคล้องคอจุดที่ 1
ด้านซ้ายจากบนสุดจะเป็นจุดติดตั้งสายคล้องคอจุดที่ 2 ถัดลงมาจะเป็นช่อง A/V Out Digital, HDMI, ช่องต่อสายลั่นชัตเตอร์และช่องเสียบไมโครโฟนขนาด 3.5 มิลลิเมตรมาตรฐาน
ด้านบนจะเป็น Hot Shoe พร้อมไมโครโฟนสเตอริโอที่แคนนอนออกแบบใหม่มาให้รับเสียงได้ดีกว่าเดิม ถัดไปทางด้านขวาจะเป็นวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพและปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง/เปลี่ยนโหมดวิดีโอ พร้อมปุ่มลัดปรับ ISO
ส่วนด้านล่างจะเป็นช่องยึดติดขากล้องและส่วนของแบตเตอรี โดยกล้อง EOS 650D ใช้แบตเตอรีรหัส LP-E8
สเปก
Canon EOS 650D เป็นกล้อง DSLR สามารถถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงสุด 18 ล้านพิกเซลที่อัตรา (เซนเซอร์รับภาพเป็น CMOS) รองรับ Canon EF/EF-S lenses สามารถถ่าย RAW File โดยขนาดไฟล์อยู่ที่ประมาณ 20-27MB สำหรับ RAW File และ JPEG อยู่ที่ประมาณ 6-9MB
ด้านระบบออโต้โฟกัสจะเป็น 9 จุดที่สามารถโฟกัส Cross-Type ได้ทั้งหมดทำให้โฟกัสได้รวดเร็วด้วยระบบ Hybrid AF หรืออธิบายก็คือรวม Contrast AF กับ Phase AF เข้าด้วยกันและเพิ่มความเร็วในการออโต้โฟกัสผ่าน Live View ได้เร็วขึ้น และยิ่งเมื่อใช้ผ่านช่องมองภาพจากการทดสอบจะทำได้เร็วมากขึ้นกว่าซีรีย์ก่อนหน้า
นอกจากนั้น 650D ยังรวมระบบ Face Tracking ทำให้โฟกัสติดตามวัตถุจากใบหน้าได้แม่นยำขึ้น และด้วยการที่จอใน 650D เป็นแบบสัมผัส ทำให้สามารถใช้งาน Touch Shutter และ Touch Focus ได้รวดเร็วมากขึ้น
มาที่การถ่ายวิดีโอในรุ่นนี้ แคนนอนปรับปรุงหลายส่วนมาก โดยเฉพาะเรื่องเลนส์ที่ออกแบบใหม่เป็น STM ทำให้โฟกัสเงียบลงมาก พร้อมใส่ Servo AF เข้ามาในโหมดวิดีโอด้วย
ส่วนฟีเจอร์การถ่ายภาพนิ่งที่เพิ่มเข้ามาและสามารถเข้าใช้งานได้ทันทีจากวงแหวนโหมดภาพในรุ่นนี้ถือว่าตอบสนองผู้ใช้ทั่วไปได้ดี ตั้งแต่การใส่โหมด Handheld Night Scene ที่ช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยทำได้ดีขึ้นปราศจากภาพสั่นไหว และอีกโหมดภาพที่น่าสนใจคือ HDR Backlight control สำหรับการถ่ายภาพย้อนแสงแล้วต้องการรายละเอียดของภาพทุกส่วนอยู่ครบ ตามภาพประกอบด้านบน
ภาพตัวอย่างการเปิดใช้ Handheld Night Scene ในที่แสงน้อยมาก
ส่วนการเข้าสู่ 2 โหมดที่กล่าวไปนั้นทำได้ง่ายเพียงแค่หมุนวงแหวนปรับโหมดถ่ายภาพด้านบนกล้องโดยไม่ต้องเข้าหน้าเมนูปรับแต่งอะไรให้วุ่นวาย
ในส่วนค่าความไวแสงที่ให้มากับกล้อง EOS 650D จะเริ่มต้นที่ 100 สูงสุดที่ 25,600 โดย ISO ที่ใช้งานได้จริงควรไม่เกิน 3,200 ส่วนถ้าฉุกเฉินจำเป็นต้องดัน ISO ให้สูงมากควรไม่เกิน 6,400 เพราะที่ค่า ISO 12,800-25,600 ภาพที่ได้อาจไม่ดีนัก ยกเว้นจะใช้แค่โพสต์ขึ้น Social Network
ด้านการถ่ายวิดีโอจะรองรับความละเอียดสูงสุด 1080p ที่ความเร็ว 30p/25p/24p ส่วนที่ 720p จะมีความเร็วให้เลือกคือ 50p/60p และบันทึกไฟล์ในรูปแบบ MOV พร้อมสามารถปรับ ISO ได้ตั้งแต่ 100-6,400
สุดท้ายในส่วนความเร็วชัตเตอร์ที่รองรับใน 650D จะเริ่มที่ Bulb (B) 30 วินาที และสูงสุดที่ 1/4,000 วินาที (X-Sync ที่ 1/200 วินาที)
สำหรับสเปกเพิ่มเติม >กดที่นี่<
ก่อนเริ่มทดสอบ
ความจริงแล้วทีมงานได้รับ EOS 650D มาพร้อมกับเลนส์ EF-S 18-135 f/3.5-5.6 IS STM ที่เป็นเลนส์คิทกับ EF 40mm f/2.8 STM ที่แคนนอนภูมิใจนำเสนอมาก เพราะฉะนั้นทีมงานจะแบ่งการทดสอบดังต่อไปนี้
- ในส่วนของภาพนิ่งทีมงานจะเลือกใช้ชุด EOS 650D + EF 40mm f/2.8 STM
- ส่วนการทดสอบถ่ายวิดีโอทีมงานจะเลือกใช้ชุด EOS 650D + EF-S 18-135 f/3.5-5.6 IS STM เป็นชุดทดสอบ
โดยก่อนจะเข้าสู่บททดสอบลองมารับชมตัวเลนส์ EF 40mm f/2.8 STM เมื่อประกบกับ Canon EOS 650D จะเห็นว่าตัวเลนส์มีขนาดเล็ก เมื่อประกบกับกล้องแล้วน้ำหนักเบาพกพาสะดวก โดยระยะมาโครของเลนส์ตัวนี้อยู่ที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ไม่มีกันสั่น แต่โฟกัสเป็น STM
ทดสอบถ่ายภาพนิ่ง EOS 650D + EF 40mm f/2.8 STM
ยอมรับครับว่าครั้งแรกที่จับ EOS 650D + 40mm Pancake ตัวนี้ ผมประทับใจมากเพราะเรื่องน้ำหนักที่เบา ใส่คู่กล้องพกพาสะดวกมาก ในขณะที่ระยะเลนส์ 40mm เมื่อมาเจอตัวคูณ 1.6 แล้วสามารถใช้ถ่ายภาพแนวสตรีทได้โดนใจกว่าเลนส์ 35mm อย่างมาก (ระยะเลนส์มันโดนกว่าในมุมมองของผม) แต่ปัญหาที่ผมพบเจอกับคนที่ชอบรีดแฉกแสงจากการถ่าย Landscape อย่างผมก็คือ แฉกแสงออกยากมาก แถมถ่ายย้อนแสงดีไม่ดีจะเจอแฉกแสงประหลาดๆ แบบภาพด้านบน กว่าจะหายก็ปาไปที่ F22 สุดๆ ไปเลย
อีกเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเลนส์ 40mm f/2.8 STM เมื่อบังเอิญเปิดรูรับแสงกว้างสุด f/2.8 แล้วถ่ายย้อนแสงแบบโหดๆ อาจเจออาการภาพฟุ้งดังภาพด้านบนพร้อม CA (Chromatic Aberrations) เกิดขึ้นบ้าง
มาที่การถ่ายภาพ Landscape สเกลเล็กๆ อย่างสวนย่อมที่ ม.บูรพา บางแสน ผมตั้งค่ารูรับแสง F/11 ISO Auto พบว่าภาพที่ได้มีอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งความคมชัดและสีสัน รายละเอียด มิติภาพทำได้ดี
ขยับมาถ่ายในที่แสงน้อยกับ ISO 1,250 ที่ f/2.8 พบว่าถึงแม้จะดูที่ 100% ภาพที่ได้ยังคมชัดอยู่
ไหนๆ จอสามารถบิดเปลี่ยนองศาได้แล้ว ก็เลยขอทดสอบถ่ายมุมต่ำ ณ ชายหาดบางแสนยามเย็นแบบไฟล์ JPEG เพียวๆ ไม่ตกแต่งพบว่ากล้องเก็บไดดามิกของแสง สี และคอนทราสต์ได้อย่างน่าสนใจ และทำให้แฟนนิคอนอย่างผมร้องว้าวทันที โดยเฉพาะเรื่องการวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพทำได้แม่นยำกว่ารุ่นก่อนๆ มาก
มาที่การถ่ายระยะใกล้/มาโคร ตั้ง f/2.8 กับระยะ fix 40mm จะเห็นว่าภาพจะออกโทนนุ่มๆ ไม่คมบาดใจนัก แต่ก็ถือว่าทำได้ดีถ้ามองจากรูปร่างและการออกแบบกระจกเลนส์ที่เล็กมากเหมือนเลนส์คอมแพกต์แต่คุณภาพสูงกว่า
กลับมาดูการถ่ายภาพเพื่อโชว์เรื่องการจัดการ Dynamic ภาพจากหน่วยประมวลผลในกล้องกันบ้าง โดยภาพนี้ตอนเล็งถ่ายจาก Live View ส่วนที่มืดจะดำสนิทกว่านี้ เพราะภาพนี้ความจริงแล้วทีมงานชดเชยแสงให้ติดลบ 2 แต่ทันทีที่ผมกดชัตเตอร์ลงไป แล้วดูภาพพรีวิวพบว่า ภาพถูกปรับแต่งเพิ่มน้ำหนักของแสงส่วนที่มืดให้สว่างเล็กน้อยตามภาพประกอบด้านบน
Gallery ภาพ
ชมภาพทั้งหมดแบบเต็มความละเอียด >กดที่นี่<
สรุปสำหรับชุดกล้อง EOS 650D + EF 40mm f/2.8 STM ยอมรับครับว่าให้คุณภาพที่ดีในแง่คุณภาพงานถ่ายภาพ แต่เรื่องโฟกัสอาจค่อนข้างช้า ตรงส่วนนี้อาจเป็นเพราะระบบมอเตอร์ STM ที่เน้นโฟกัสแบบเงียบทำให้การเคลื่อนตัวจะไม่พริ้วไหวเหมือนพวก USM เวลาถ่ายภาพที่เคลื่อนไหวเร็ว EF 40mm สอบตกทันที แต่ถ้าใช้สำหรับถ่ายภาพทั่วไปถือว่า STM ก็โฟกัสไม่ได้ช้าจนน่าเกลียด
ในส่วนสไตล์ภาพที่ได้จากเลนส์ EF40mm STM นี้จะออกแนวนุ่มๆ เก็บรายละเอียดได้พอดี ไม่คมชัดมาก ส่วนการใช้ถ่ายวิดีโอสามารถใช้งานได้แต่จะไม่มีระบบ IS กันสั่นมาให้
ด้านตัวกล้อง EOS 650D ถือว่าเป็นการเกิดใหม่ของ DSLR แคนนอนในยุคนี้เพราะการตอบสนองทำได้ดี โดยเฉพาะออโต้โฟกัสที่เร็วและฉลาดขึ้น แม่นยำขึ้นโดยเฉพาะระบบตรวจจับใบหน้าและ Object tracking ทำได้ดีแต่ก็ยังมีแอบหวืดบ้างเมื่อโฟกัสผ่าน Live View ในที่แสงน้อย โดยเฉพาะหน้าจอสัมผัสที่ทำให้การปรับแต่งกล้องทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงปุ่ม Q ที่กดใช้งานได้ง่ายและหลากหลาย ซึ่งช่วยให้การปรับแต่งค่ากล้องไม่ต้องเข้าไปยุ่งในส่วนของ Setting menu เลย
มาที่การทดสอบถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 1080p โดยเลนส์ EF-S 18-135 f/3.5-5.6 IS STM ในสภาพแสงน้อยเพื่อทดสอบความแม่นยำพบว่า อยู่ในเกณฑ์ปานกลางเพราะโฟกัสช้าไม่ทันใจแต่ก็แลกมาด้วยเสียงโฟกัสที่เงียบจากเทคโนโลยี STM ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ถ้าต้องถ่ายภาพที่ต้องใช้ความรวดเร็วคงต้องมองหาเลนส์ USM จะดีกว่า
ด้านเสียงที่แคนนอนออกแบบไมโครโฟนใหม่เป็นสเตอริโอถือว่าให้เสียงที่ดีมาก
ส่วนข้อติดก็มีบ้างเมื่ออยู่ในโหมดถ่ายวิดีโอหรือโหมดถ่ายภาพนิ่งแต่เปิดใช้ Live View ก็คือโฟกัสจะช้าลงเล็กน้อย และในโหมดวิดีโอถ้าปล่อยให้กล้องออโต้โฟกัสเอง มีโอกาสเกิด Out Focus สูงและดึงโฟกัสกลับมาได้ยากมาก ส่วนถ้าเปิด Servo AF เมื่อถ่ายวิดีโออาจเจออาการโฟกัสติ้นไปมาถ้าเราไม่ล็อคโฟกัสไว้ระหว่างถ่าย (อาการนี้เป็นทุกกล้องแต่ EOS 650D โฟกัสจะกระชากมากกว่าบางแบรนด์ที่ถึงแม้โฟกัสจะดิ้นแต่จะเป็นไปอย่างนุ่มนวลและกลับคืนมาได้นุ่มนวลเนียนกว่าจนแทบไม่รู้สึก)
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
สำหรับราคาค่าตัว Canon EOS 650D จะเริ่มตั้งแต่ 27,900 - 40,900 ตามชุดเลนส์ที่ให้มา ส่วนเลนส์ Canon EF 40mm f/2.8 STM มีราคอยู่ที่ 6,900 บาท ซึ่งก็นับว่าเป็นราคาที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ทางแคนนอนใส่เข้ามา
โดยสิ่งที่โดดเด่นเอาใจกลุ่มผู้ใช้มือใหม่ได้ดีที่สุดก็คือหน้าจอสัมผัสที่ทำให้การปรับแต่งตัวกล้องที่ทำได้ง่ายขึ้น แถมหน้าจอเป็น Multi-touch ยังสามารถพรีวิวรูปหลังกล้องแบบ 100% ได้ด้วยนิ้วมือแบบเดียวกับสมาร์ทโฟนแทนการกดปุ่มแบบเดิมๆ ที่ทำได้ช้ามาก
ในส่วนอื่น EOS 650D สอบผ่านทั้งหมด และถือเป็นกล้องที่ถ่ายสนุกมากตัวหนึ่งเพราะการปรับแต่งต่างๆ ทำได้ง่าย การเข้าโหมดต่างๆ ทำได้ผ่านวงแหวนด้านบนทั้งหมด ส่วนถ้าจะเข้าไปปรับแต่ง ISO โฟกัสก็ทำได้ผ่านหน้าจอสัมผัส ส่วนการถ่ายวิดีโอก็ยังคงเป็นจุดเด่นของแคนนอนและทำได้ดีพอประมาณในรุ่นนี้
ใครกำลังมองหากล้องราคากลางๆ เพื่อใช้งานทั่วไปรวมถึงใช้งานวิดีโอไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สั้น รายการทีวีออนไลน์ EOS 650D ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดในกล้อง DSLR ระดับเดียวกัน ณ ตอนนี้
มาที่เรื่องเลนส์ 40mm f2.8 STM ถือว่าแคนนอนออกแบบมาได้ยอดเยี่ยมมากเพราะขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาใส่กระเป๋ากางเกงได้ แต่ทั้งนี้ถ้าถามถึงเรื่องประสิทธิภาพที่ได้ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เหมาะแก่การถ่ายภาพสตรีทหรือภาพบุคคล แต่จะค่อนไปแนวสตรีทมากกว่า เพราะด้วยขนาดที่เล็ก รูรับแสงกว้างพอประมาณ เมื่อติดกับกล้องโดยเฉพาะรุ่น 650D นี้แล้วกล้องเบามากจนเดินถ่ายภาพตามท้องถนนได้ทั้งวันไม่เบื่อ ในขณะที่โบเก้ถ้าตั้งใจจะรีดเค้นออกมาจริงๆ ก็อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ไม่กลมสวยชัดเจนนัก ส่วนย้อนแสงหนักๆ อาจเจอปัญหาแสงฟุ้งต้องปรับ F ให้แคบๆ ไว้
Company Related Link :
Canon
CyberBiz Social