โน้ตบุ๊กกับเรื่องความร้อนที่แผ่ออกมาระหว่างใช้งานเป็นของคู่กันมานาน และหลายแบรนด์ผู้ผลิตก็พยายามออกแบบให้ตัวโน้ตบุ๊กสามารถถ่ายเทความร้อนให้ดีขึ้น
ซึ่งก็ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กที่เอซุสส่งให้ทีมงานทดสอบวันนี้ในชื่อรุ่น K53S ที่เน้นจุดขายหลักในเรื่องการเลือกใช้วัสดุเป็นเมทาลิค อลูมิเนียม และออกแบบให้การถ่ายเทความร้อนบริเวณจุดพักมือทำได้ดีขึ้น เป็นผลให้แม้ขณะใช้งาน Full Load ตัวบอดี้ด้านแป้นคีย์บอร์ดจะเย็น ไม่รบกวนการใช้งานของผู้ใช้
อีกทั้งทางเอซุสได้จัดให้ K53S อยู่ในกลุ่ม Versatile Performance (K53 Series) หรือกลุ่มที่เน้นการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้ตัวเครื่องใส่กราฟิกชิปแยกมาให้
สำหรับ K53 Series ทางเอซุสแยกขายเป็น 3 รุ่นตามความเร็วหน่วยประมวลผลได้แก่
- Intel Core i7 2630QM Processor
- Intel Core i5 2410M Processor
- Intel Core i3 2310M Processor
ซึ่งรุ่นที่ทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ได้รับมาจะเป็นรุ่น "Intel Core i3 2310M Processor"
การออกแบบและสเปก ASUS K53S
สำหรับการออกแบบ ASUS K53S อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าตัวเครื่องส่วนใหญ่ใช้วัสดุเป็น "เมทาลิค อลูมิเนียม" และมีพื้นผิวเป็นเมทาลิค (ดูรูปตัวอย่างที่ 2 ด้านบน) ทำให้จับหรือถือแนบตัวแล้วไม่ลื่นหลุดมือง่ายๆ
สำหรับน้ำหนักของ K53S จะอยู่ที่ประมาณ 2.6 กิโลกรัม โดยมีความหนาตัวเครื่องอยู่ที่ประมาณ 2.8-3.4 เซนติเมตร
ในส่วนคีย์บอร์ดจะเป็น Chiclet Keyboard มาพร้อม Num Pad และเหนือคีย์บอร์ดขึ้นไปจะเป็นส่วนของลำโพง Altec Lansing
ส่วนของ "ทัชแพด" นอกจากปุ่มแทนการคลิกซ้าย-ขวาแล้ว ตัวทัชแพดยังมาพร้อมระบบ Palm Proof ซึ่งเป็นระบบประมวลผลการสัมผัสของเรากับทัชแพดว่ากำลังพิมพ์งานแล้วข้อมือไปโดน (เคอร์เซอร์จะล็อคอัตโนมัติและไม่ขยับ) หรือตั้งใจนำนิ้วไปสัมผัสเพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์เมาส์
มาที่ด้านหลังของตัวเครื่อง นอกจากส่วนของแบตเตอรีที่ให้มาเป็น 6 เซลล์ 5,200 mAh แล้ว บริเวณด้านล่าง ทางเอซุสยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถขันสกรูและถอดฝาออกเพื่ออัปเกรดแรมและฮาร์ดดิสก์เพิ่มเติมได้ทีหลัง
กลับมาที่พอร์ตเชื่อมต่อรอบๆ ตัวเครื่อง ASUS K53S บริเวณด้านขวาของตัวเครื่อง จากซ้ายของภาพจะประกอบด้วย ช่องเชื่อมต่อหูฟังและไมโครโฟนขนาด 3.5 มิลลิเมตร - USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง - ไดร์ฟดีวีดี และสุดท้ายเป็นช่องคล้องสายล็อคกันขโมย
มาที่บริเวณด้านซ้ายของตัวเครื่อง จากซ้ายของภาพจะประกอบด้วย ช่องระบายความร้อนภายในตัวเครื่อง - ช่องเชื่อมต่อ Adapter ไฟบ้าน - พอร์ตแลน RJ-45 (รองรับความเร็วรับ-ส่งข้อมูล 10/100/1000Mbps) - พอร์ต D-Sub (VGA Out) - พอร์ต HDMI และสุดท้าย USB 2.0 อีก 1 พอร์ต
สุดท้ายบริเวณด้านหน้าซ้าย (ถัดลงไปใต้ท้องเครื่อง) จะเป็นช่องอ่านการ์ดความจำที่รองรับตั้งแต่ MMC/SD Card/Memory Stick
ในส่วนของสเปกเครื่อง K53S รุ่นที่ได้รับมาทดสอบจะใส่หน่วยประมวลผล Intel Core i3-2310M ความเร็ว 2.10GHz ที่มีจำนวนคอร์ประมวลผลอยู่ที่ 2 คอร์ 4 Threads ส่วนชิปเซ็ทที่ใช้จะเป็น Intel HM65 และไบออสที่ใช้จะเป็น AMI (American Megatrends Inc.) ส่วนหน่วยความจำ (แรม) จะอยู่ที่ 4GB (2GBx2 Dual Channel) แบบ DDR3
ด้านกราฟิกชิปที่บรรจุมาใน ASUS K53S จะมี 2 รูปแบบได่แก่ Intel HD Graphics (Power Save Mode) และ NVIDIA GeForce GT520M (Gaming Mode) ที่ให้หน่วยความจำมา 1GB โดยในส่วนการสับเปลี่ยนกราฟิกจะใช้ NVIDIA Optimus เป็นตัวควบคุมหลัก
จุดขาย ASUS K53S
- จุดขายหลักของ ASUS K53S คงอยู่ในเรื่อง IceCool Technology ที่เน้นเรื่องการออกแบบให้จุดพักมือใต้แป้นคีย์บอร์ดไม่มีความร้อนแผ่ออกมาระหว่างใช้งาน นอกจากนั้นในเรื่องวัสดุเป็นเมทาลิค อลูมิเนียมมีการทำลายทำให้จับถือกระชับมือ
- นอกจากนั้นตัวเครื่องยังมาพร้อมระบบ Power4Gear ที่จะช่วยในการจัดสรรพลังงานตัวเครื่องได้อย่างอัตโนมัติ
ทดสอบประสิทธิภาพ
3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 8,504 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,280x768 + Shader Model 3
3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 5,190 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 2,074 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 1,952 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 2,522 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล
3DMark 11 คะแนนรวมทดสอบที่ได้คือ 571 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Graphics Score = 508 คะแนน Physics Score = 2,383 คะแนน และ Combined Score = 475 คะแนน
PCMark 7 คะแนนรวมที่ได้คือ 1,670 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Lightweight score = 1,558 คะแนน Productivity score = 1,102 คะแนน Creativity score = 2,092 คะแนน Entertainment score = 1,741 คะแนน Computation score = 2,143 คะแนน และ System storage score = 1,484 คะแนน
Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 1.53pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 15.50fps
HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟจะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 61.5 MB/s ที่ Random access 18.8ms
x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้
encoded 1442 frames, 38.28 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 38.49 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 34.80 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 32.36 fps, 3901.21 kb/s
encoded 1442 frames, 10.76 fps, 3971.95 kb/s
encoded 1442 frames, 10.74 fps, 3970.69 kb/s
encoded 1442 frames, 9.51 fps, 3970.66 kb/s
encoded 1442 frames, 10.17 fps, 3970.29 kb/s
Hyper Pi - 32M ทดสอบการคำนวณค่าพาย 32 ล้านครั้ง โดยผลการทดสอบที่แสดงออกมาจะใช้เวลาทั้งสิ้น 23.39 นาที (สำหรับค่าของคอร์แรก)
SiSoftware Sandra
Processor Arithmetic - มีคะแนนในส่วน Dhrystone ALU อยู่ที่ 40.85GIPS ส่วนคะแนนใน Whetstone FPU จะอยู่ที่ 24.89GFLOPS
Processor Multi-Media - มีคะแนนในส่วน Multi-Media Integer อยู่ที่ 59.46MPix/s ส่วนคะแนนใน Multi-Media Float จะอยู่ที่ 45.63MPix/s
Multi-Core Efficiency - มีคะแนนในส่วน Inter-Core Bandwidth อยู่ที่ 19.048GB/s ส่วนคะแนนใน Inter-Core Latencyจะอยู่ที่ 50ns
Memory Bandwidth - มีคะแนนในส่วน Integer Memory Bandwidth อยู่ที่ 16.934GB/s ส่วนคะแนนใน Float Memory Bandwidth จะอยู่ที่ 16.997GB/s
Windows 7 Score
Games Benchmark
มาที่การทดสอบเกมออฟไลน์ 3 มิติเพื่อตอบจุดขายในส่วนกราฟิกแยกที่ติดตั้งมาในตัวเครื่อง โดยเกมแรกจะเป็น Final Fantasy XIV ที่เน้นเรื่องการใช้หน่วยประมวลผลคู่กับกราฟิกชิป โดย ASUS K53S สามารถทำคะแนนได้ 1,169 คะแนนที่ความละเอียดหน้าจอ 720p
ในส่วนเกมที่ดึงประสิทธิภาพกราฟิกสูงขึ้น โดยใช้ชุดคำสั่ง DirectX10 ที่ความละเอียดหน้าจอ 1,280x720 พิกเซล สามารถทำคะแนนได้เพียง 28.9fps ซึ่งถือว่าพอเล่นได้แต่ไม่ลื่นไหลนัก
ขยับมาที่การทดสอบเกมใหม่ๆ อย่าง Lost Planet 2 (ชุดทดสอบ A) กันบ้างสำหรับการทดสอบบนชุดคำสั่ง DirectX 9.0c บนความละเอียด 720p สามารถทำคะแนนเฟรมเรตได้เพียง 16.9fps ส่วนเมื่อปรับไปถึง DirectX 11 เฟรมเรตที่ได้จะตกเหลือเพียง10.3fps ซึ่งถือว่าคะแนนที่ได้ต่ำจนไม่สามารถเล่นเกมได้อย่างราบลื่น
สำหรับเกมสุดท้ายอย่าง Street Fighter 4 ทดสอบที่ความละเอียด 720p ปรับค่ากราฟิกสูงสุดทั้งหมด พบว่าสามารถทำคะแนนเฟรมเรตเฉลี่ยอยู่ที่ 56.51fps ซึ่งถือว่าพอเล่นได้
ในส่วนการทดสอบด้านมัลติมีเดียอย่างการรับชมวิดีโอความละเอียด Full HD 1080p พบว่า ASUS K53S สามารถรับชมภาพยนตร์หรือคลิปวิดีโอความละเอียดสูงได้ทุกรูปแบบ
สุดท้ายสำหรับการทดสอบเรื่องแบตเตอรีโดยเปิดใช้งานในโหมดประหยัดพลังงานจากซอฟท์แวร์ที่ให้มา สามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง
ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต
- สำหรับส่วนแรกในเรื่องการออกแบบระบบระบายความร้อนให้ถ่ายเทความร้อนได้ดีขึ้นและออกแบบให้การแผ่ความร้อนไม่รบกวนบริเวณส่วนวางมือ (อีกส่วนหนึ่งมาจากหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ที่ร้อนน้อยลง) ซึ่งจากการทดสอบถือว่า K53S ทำได้ตามคำคุย อีกทั้งเรื่องของวัสดุที่เลือกใช้ก็มีผลให้การจับถือตัวเครื่องทำได้กระชับมือ
- ในส่วนน้ำหนักตัวเครื่องและความหนาก็พอยอมรับได้ อาจหนักไปนิดถ้าต้องพกพาไปไหนไกลๆ
- ส่วนในเรื่องประสิทธิภาพก็ตอบโจทย์การเป็นโน้ตบุ๊กคระกูล Versatile Performance ได้ดี แต่ติดอยู่ที่เรื่องการเลือกใช้ NVIDIA Optimus เป็นตัวช่วยสับเปลี่ยนการทำงานของกราฟิกภายใน ที่ระหว่างการทดสอบทีมงานพบความผิดพลาดในการสับเปลี่ยนกราฟิกชิประหว่าง NVIDIA และ Intel ซึ่งมีผลให้ไม่สามารถรันเกมบางเกมได้
- นอกจากนั้นทีมงานขอตั้งข้อสังเกตอีกสองข้อเกี่ยวกับเรื่องการวางตำแหน่งช่องเสียบ Adapter จ่ายไฟที่ถูกติดตั้งอยู่บริเวณกลางสันเครื่องด้านซ้ายมือ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเกะกะมากสำหรับคนใช้เมาส์มือซ้าย
ในส่วนข้อสองถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตัวเครื่องไม่ติดตั้งพอร์ต USB 3.0 มาให้ตามสมัยนิยม ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์ต่อพ่วง USB 3.0
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
สำหรับราคา ASUS K53S รุ่น Intel Core i3 2310M รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบน่าจะมีราคาเปิดตัวอยู่ที่ราว "15,000 ถึง 19,000 บาท" ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ยอมรับได้กับความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์โน้ตบุ๊กที่รองรับการเล่นวิดีโอความละเอียดสูงทุกรูปแบบ นอกจากนั้นในเรื่องการใช้งานทั่วๆ ไป รวมถึงเล่นเกมเล็กฆ่าเวลาต่างๆ ก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งเหมาะแก่คนงบน้อยแต่อยากได้โน้ตบุ๊กที่เน้นเรื่องความบันเทิงในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองการทำงานด้านอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุมเช่นกัน
แต่สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการนำ ASUS K53S ไปเล่นเกมกราฟิกหนักๆ ทีมงานว่าคงไม่เหมาะเท่าใด และคงต้องมองหาตัวเลือกอื่นที่ดีกว่านี้
ตัวเลือกอื่น
- MSI FX420 ราคาประมาณ 19,900 บาท
- ASUS X44LY-VX010D ราคาประมาณ 15,950 บาท
Company Related Link :
ASUS