xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

Review : Acer Aspire TimelineX 4830TG ซีพียูแรง แบตเตอรีอึด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




หลังจากเอเซอร์เคยคลอดโน้ตบุ๊กตระกูลบางเบาเพื่อการพกพากับรุ่น TimelineX ไปก่อนหน้า มาวันนี้ทางเอเซอร์ก็ได้ฤกษ์ปล่อย TimelineX รุ่นใหม่ในชื่อ Acer Aspire TimelineX 4830TG ที่มาพร้อมหน่วยประมวลผลแซนดีบริดจ์ (Intel 2nd Generation) และกราฟิกชิปที่สามารถสลับเปลี่ยนระหว่างออนชิปและกราฟิกชิปแยกเพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น พร้อมระบบจัดสรรพลังงานที่ได้รับการออกแบบใหม่ทำให้การชาร์จแบตเตอรี 1 ครั้งจะมีอายุการใช้งานได้มากถึง 8 ชั่วโมงตามสเปกที่ทางเอเซอร์ให้มารวมถึงการผนวกฟังก์ชัน Clear.fi มาให้

Specifications and Design



ซึ่งสำหรับรูปลักษณ์ของ Acer Aspire TimelineX 4830TG วัสดุโดยรอบส่วนใหญ่จะเป็น Cobalt aluminum สีน้ำเงิน โดยขนาดความหนาของตัวเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 1 นิ้ว ในส่วนน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 2 กิโลกรัมกว่าๆ และในส่วนของหน้าจอจะมีขนาด 14 นิ้วแบบ WXGA LED backlit ความละเอียดสูงสุด 1,366x768 พิกเซล





ในส่วนของคีย์บอร์ดจะเป็น chiclet keyboard ตามสมัยนิยม โดยเหนือขึ้นไปบริเวณแผงคีย์บอร์ดจะเป็นในส่วนของลำโพง 2 ตัว (ซ้ายขวา) ถัดไปด้านขวาจะเป็นปุ่ม P สำหรับกดเพื่อเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน และสุดท้ายในส่วนของทัชแพดจะมีลักษณะคล้ายกับโน้ตบุ๊กตระกูล Aspire รุ่นก่อนหน้า



มาที่ช่องเชื่อมต่อและปุ่มสั่งงานรอบๆ ตัวเครื่อง ที่บริเวณด้านหน้าจากซ้ายมือจะเป็นไฟแสดงสถานะแบตเตอรีที่สามารถกดเพื่อเช็คสถานะของแบตเตอรีที่เหลืออยู่ ถัดมาจะเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานของตัวเครื่อง ฮาร์ดไดร์ฟและ Wireless LAN จากนั้นจะเป็นช่องอ่านการ์ด ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้ง MMC, SD, XD, และ MMC



ส่วนด้านซ้ายของตัวเครื่องจากซ้ายมือจะเป็นช่องคล้องสายล็อคโน้ตบุ๊ก ถัดมาจะเป็นช่องระบายความร้อนจากภายในของตัวเครื่องและพอร์ต Ethernet RJ-45 จากนั้นจะเป็นพอร์ต D-Sub สำหรับเชื่อมต่อกับจอมอนิเตอร์ภายนอกพร้อม HDMI และปิดท้ายด้วยพอร์ต USB 3.0 (SuperSpeed) 1 พอร์ต



สำหรับด้านขวาของตัวเครื่องจากซ้ายจะประกอบด้วย ช่องเชื่อมต่อหูฟังและ SPDIF ในช่องเดียว ถัดมาจะเป็นช่องเชื่อมต่อไมโครโฟน พอร์ตยูเอสบี 2 ช่อง ไดร์ฟดีวีดีมัลติ และช่องเชื่อมต่อ Adapter



ส่วนด้านล่างจะเห็นว่าแบตเตอรีสำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นนี้จะถูก Built-in อยู่ด้านในไม่สามารถถอดออกหรือเปลี่ยนได้ อีกทั้งถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าบริเวณด้านล่างในตำแหน่งล่างซ้ายและล่างขวายังมีลำโพงขยายเสียงอีก 2 ตัวซ่อนอยู่นอกเหนือจากลำโพงขยายเสียงด้านบนโน้ตบุ๊กทั้ง 2 ตัวด้วย




สำหรับสเปกภายใน Acer Aspire TimelineX 4830TG จะประกอบด้วย หน่วยประมวลผล Intel Core i7 2620M ความเร็ว 2.70GHz (เมื่อเปิดใช้งาน Turbo Boost จะสามารถทำความเร็วได้สูงสุดที่ 3.4GHz) พร้อมแคชขนาด 4MB และมาพร้อมจำนวนคอร์ทำงาน 2 คอร์ 4 Threads ในส่วนของหน่วยความจำจะมีขนาด 4GB (DDR3)

ในส่วนระบบกราฟิกภายในตัวเครื่อง หลักๆ จะถูกควบคุมการทำงานโดย NVIDIA Optimus ที่มาพร้อมกราฟิกชิปแยกและออนชิป ได้แก่ NVIDIA GeForce GT540M และ Intel HD Graphics 3000 โดยผู้ใช้สามารถเลือกและสลับการทำงานของกราฟิกชิปทั้ง 2 ตัวได้ผ่าน NVIDIA Control Panel

ทดสอบประสิทธิภาพ


3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 5,512 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,280x768 + Shader Model 3


3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 3,842 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,252 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 1,528 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 3,819 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล


PCMark Vantage สามารถทำคะแนนรวมได้ที่ 6,864 คะแนน แบ่งเป็น Memories Score = 4,128 คะแนน, TV and Movies Score = 4,527 คะแนน, Gaming Score = 4,460 คะแนน, Music Score = 7,009 คะแนน, Communications Score = 9,639 คะแนน, Productivity Score = 5,071 คะแนน และ HDD Score = 3,703 คะแนน


Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 3.10pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 8.59fps


HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟความจุ 750GB ผ่านพอร์ต SATA II จะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 74.6 MB/s ที่ Random access 19.4ms


x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้

encoded 1442 frames, 59.25 fps, 3901.21 kb/s
encoded 1442 frames, 59.64 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 59.75 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 59.22 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 16.61 fps, 3971.51 kb/s
encoded 1442 frames, 16.56 fps, 3971.14 kb/s
encoded 1442 frames, 16.57 fps, 3971.09 kb/s
encoded 1442 frames, 16.56 fps, 3970.59 kb/s


Hyper Pi - 32M ทดสอบการคำนวณค่าพาย 32 ล้านครั้ง โดยผลการทดสอบที่แสดงออกมาจะใช้เวลาทั้งสิ้น 19.36 นาที (สำหรับค่าของคอร์แรก)



Video Encode มาที่การทดสอบในส่วนของการแปลงไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง 1080p (ความยาว 9 นาที) จากฟอร์แม็ต MP4 H.264 ไปสู่ฟอร์แม็ต MP4 สำหรับ iPad ผลที่ได้ จะใช้เวลาแปลงไฟล์ทั้งสิ้นเพียง 5.02 นาที ผนวกเปิดใช้คุณสมบัติ NVIDIA CUDA

SiSoftware Sandra


Processor Arithmetic - มีคะแนนในส่วน Dhrystone ALU อยู่ที่ 62.42GIPS ส่วนคะแนนใน Whetstone FPU จะอยู่ที่ 38GFLOPS


Memory Bandwidth - มีคะแนนในส่วน Integer Memory Bandwidth อยู่ที่ 9.413GB/s ส่วนคะแนนใน Float Memory Bandwidth จะอยู่ที่ 9.400GB/s


Multi-Core Efficiency - มีคะแนนในส่วน Inter-Core Bandwidth อยู่ที่ 26.976GB/s ส่วนคะแนนใน Inter-Core Latencyจะอยู่ที่ 37ns



สำหรับการทดสอบรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง 1080p ที่เข้ารหัส MPEG4AVC (Blu-Ray Format) ด้วยโปรแกรมอย่าง ArcSoft TotalMedia Theatre 5 และเปิดใช้การ์ดประมวลผลกราฟิก 3 มิติในการช่วยประมวลผลวิดีโอ ผลทดสอบที่ได้คือ การรับชมวิดีโอความละเอียดสูงในรูปแบบ MPEG4AVC จะบริโภคหน่วยประมวลผลประมาณ 30-40% เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้ยังสามารถรันโปรแกรมอื่นๆ พร้อมกับรับชมภาพยนตร์ 1080p ที่เข้ารหัส MPEG4AVC ได้อย่างไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะค้างแต่อย่างใด

Games Performance




สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในส่วนของการเล่นเกม ทางทีมงานได้ทำการทดสอบด้วยเกมที่ไม่กินสเปกหนักอย่าง Street Fighter IV และเกมที่กินสเปกหนักอย่าง Final Fantasy XIV พบว่าทั้ง 2 เกมสามารถดึงประสิทธิภาพกราฟิกชิป NVIDIA GeForce GT540M ออกมาได้ไม่ดีนัก เพราะระบบ Optimus จาก NVIDIA ตัดการทำงานของกราฟิกได้ไม่ดี เช่น บางครั้งตั้งให้รัน High Performance ไว้แล้ว แต่เครื่องกลับเลือกใช้ Intel HD แทนทำให้คะแนนตรงส่วนนี้ทีมงานไม่สามารถบอกได้เลยว่าเป็นคะแนนของกราฟิกตัวใดในเครื่อง

Software


สำหรับซอฟท์แวร์ที่แถมมาให้กับโน้ตบุ๊กเอเซอร์ ที่ถือเป็นไม้ตายเด็ดสุดก็คงเป็นซอฟท์แวร์เสียง Dolby Home Theater V4 ที่ติดตั้งมาให้กับตัววินโดว์ ซึ่งช่วยให้เสียงที่จ่ายออกมาจากลำโพงในการรับชมภาพยนตร์ ฟังเพลง และเล่นเกม ทำได้ดีขึ้นมาก โดยที่เห็นชัดๆ ก็คือ การเปิดคุณสมบัติ Dolby Home Theater V4 จะทำให้ลำโพงทั้ง 4 ตัวรอบโน้ตบุ๊กทำงาน ซึ่งมีผลให้เสียง Surround ทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


อีกหนึ่งคุณสมบัติที่เอเซอร์พยายามเข็นให้เกิดอย่างมากกับ Clear.fi ที่เป็นเหมือนระบบสร้างเน็ตเวิร์กสำหรับไว้แชร์คอนเทนต์ต่างๆ ผ่านเน็ตเวิร์กไร้สาย แน่นอนว่าระบบนี้จะทำให้การแชร์คอนเทนต์ระหว่างสมาร์โฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊กจากเอเซอร์ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


สุดท้ายสำหรับ Acer USB Charge Manager ที่เป็นคุณสมบัติให้ผู้ใช้สามารถชาร์จแบตเตอรีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่อพ่วงยูเอสพีต่างๆ ได้แม้ตัวเครื่องจะปิด อยู่ใน Sleep Mode หรือ อยู่ใน Hibernate Mode โดยในตัวซอฟท์แวร์ Acer USB Charge Manager จะทำให้ผู้ใช้สามารถปรับเรื่องการจ่ายพลังงานสำหรับการชาร์จไฟได้ว่าจะให้ตัวเครื่องหยุดชาร์จเมื่อแบตเตอรีลดถึงกี่เปอร์เซนต์

Battery Test

ในส่วนของการทดสอบแบตเตอรี ด้วยการเปิดโหมด High Performance พร้อมใช้หน่วยประมวลผลกราฟิกจาก NVIDIA GeForce GT540M ด้วยการเปิดเล่นเว็บเพจ เกมฆ่าเวลา และเล่นไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ พบว่าจำนวนเวลาใช้งานแบตเตอรีที่สามารถทำได้ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งอยู่ที่ประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่งถึง 6 ชั่วโมง ส่วนเมื่อเปิดใช้งานโปรไฟล์ประหยัดพลังงานที่ทางเอเซอร์ให้มา แบตเตอรีจะมีเวลาการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 7-9 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเพียงพอต่อการทำงานหนึ่งวัน

สรุป

สำหรับโน้ตบุ๊ก Acer Aspire TimelineX 4830TG ก็ถือเป็นโน้ตบุ๊กในตระกูล TimelineX ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ความบางของตัวเครื่องไว้ เพียงแต่ในเรื่องของเทคโนโลยีและคุณสมบัติต่างๆ ได้รับการปรับปรุงมาค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน่วยประมวลผลที่เป็น Core i7 "Sandy Bridge" (2 คอร์ 4 Threads) รุ่นลดสเปกและบริโภคพลังงานต่ำ มีกราฟิกชิปแยกและที่สำคัญในเรื่องของลำโพงจ่ายเสียงมีการปรับปรุงให้เสียงมีความชัดเจนและมีมิติมากขึ้นจาก Timeline รุ่นเก่าๆ รวมถึงวัสดุการเก็บงานต่างๆ ก็ทำได้ดีดูน่าใช้มากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ในเรื่องของน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนเป็นเท่าตัว (2 กิโลกรัมกว่าๆ) รวมถึงถ้าผู้ใช้ต้องการใช้ TimelineX 4830TG เล่นเกมกราฟิกหนักๆ หรือทำงานที่ต้องใช้หน่วยประมวลผลหนักๆ โน้ตบุ๊กรุ่นนี้อาจยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ แต่ถึงอย่างไรถ้ามองในเรื่องคุณสมบัติและเทคโนโลยีเทียบกับราคาค่าตัว 3 หมื่นกว่าบาทก็พอจะทดแทนกับข้อติที่ทีมงานได้กล่าวไปได้อย่างแน่นอน

ขอชม
- เทียบราคาและคุณสมบัติที่ใส่มาพอยอมรับได้
- มีกราฟิกชิปแยก
- ลำโพงผนวกซอฟท์แวร์ Dolby Home Theater V4 ให้เสียงที่ดีมาก
- แบตเตอรีอึด

ขอติ
- น้ำหนักมากกว่าตระกูล Timeline อื่นๆ
- การสลับกราฟิกชิปบนระบบ NVIDIA Optimus ยังทำได้ไม่ดี

Company Related Links :
Acer





กำลังโหลดความคิดเห็น