ถือเป็นกล้องประเภท Mirrorless อีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากเหล่าตากล้องที่ชื่นชอบกล้อง M4/3 เป็นอย่างมากสำหรับ Panasonic "LUMIX" ที่ปัจจุบันเดินทางมาถึงรุ่น GF3 กับคุณสมบัติเด่นคือมีความเบากว่ารุ่น GF2 เดิมถึง 15% (น้ำหนัก GF3 อยู่ที่ประมาณ 319-475 กรัมรวมแบตเตอรีและเลนส์) พร้อมการปรับปรุงฟังก์ชันใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Design and Specifications
สำหรับกล้อง Panasonic LUMIX GF3 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะมาพร้อมเลนส์ 14 f2.5 โดยสเปกของกล้องหลักๆ คือ เซนเซอร์รับภาพ Micro Four Third 4/3 "Live MOS" ที่รองรับความละเอียดภาพสูงสุด 12.1 ล้านพิกเซลบนหน่วยประมวลผลภาพ Venus Engine จากพานาโซนิค สามารถถ่ายภาพที่อัตราส่วน 4:3 - 3:2 - 16:9 และ 1:1 ส่วนการรองรับเลนส์สามารถใช้งานร่วมกับเลนส์ M4/3 ทุกประเภท อีกทั้งยังรองรับเลนส์ Four Thirds ผ่าน Adapter (DMW-MA1PP) และสามารถใช้ร่วมกับเลนส์ 3 มิติได้เช่นกัน
ในส่วนการรองรับไฟล์ภาพจะรองรับได้ตั้งแต่ RAW Files - MPO (3D) Files และตัวกล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่อง (Continuous) ได้สูงสุดที่ความเร็ว 3.2 เฟรมต่อวินาทีแบบปิด Live View ส่วนถ้าเปิด Live View จะมีความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 2.6 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น
สำหรับความเร็วชัตเตอร์ที่กล้องรองรับจะสามารถถ่ายได้ตั้งแต่ ชัตเตอร์ B (Bulb) 60-1/4000 วินาที พร้อม White Balance ที่สามารถปรับแต่งแบบ Kelvin ได้ตั้งแต่ 2500 - 10000 K
ในส่วนจุดโฟกัสของกล้องรุ่นนี้จะมีมาให้สูงสุดที่ 23 จุด พร้อมระบบ Manual focus - Face Detection - AF Tracking และสามารถโฟกัสเป็นกลุ่มผ่านระบบ TouchAF บนหน้าจอ Live View ได้
มาที่ด้านหลังของตัวกล้องจะเป็นในส่วนหน้าจอ Live View ขนาด 3 นิ้วแบบ Touchscreen ที่มีความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 460,000 dots ถัดมาด้านข้างจะเป็นวงล้อที่สามารถหมุนปรับเพื่อใช้ปรับค่ารูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์ (แบบเดียวกับ Sony NEX Sereis) นอกจากนั้นในวงล้อยังมีปุ่มคำสั่งที่สามารถกดสั่งงานได้ ประกอบด้วย ด้านบนจะเป็นปุ่มปรับชดเชยแสง ด้านซ้ายจะเป็นปุ่มปรับระบบโฟกัส ด้านขวาเป็นปุ่มปรับ White Balance ด้านล่างจะเป็นปุ่มปรับตั้งเวลาถ่ายและระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง และตรงกลางจะเป็นปุ่มเรียกหน้าเมนูตั้งค่ากล้องขึ้นมารวมถึงใช้เป็นเหมือนปุ่มรับคำสั่ง (Enter) ด้วย
ส่วนปุ่มสามเหลี่ยมสีเขียวที่ติดตั้งเหนือวงล้อจะเป็นปุ่มกดไว้แสดงภาพตัวอย่างทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ส่วนด้านล่างที่มีตัวอักษรว่า Q.Menu/Fn จะเป็นปุ่มไว้เรียกเมนูลัดขึ้นมาในโหมดถ่ายภาพ ส่วนเมื่ออยู่ในโหมดพรีวิวภาพปุ่มดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการลบภาพออก
กลับมาด้านบนของตัวกล้องจะประกอบด้วยจากซ้าย จะเป็นช่องไมโครโฟน ลำโพง แฟลช Built-in ปุ่ม iA สำหรับกดเข้าใช้โหมดอัตโนมัติอัจฉริยะแบบเร่งด่วน ปุ่มชัตเตอร์ สวิตซ์เปิด-ปิด และปุ่มกดเพื่อบันทึกวิดีโอที่สามารถกดเพื่อบันทึกวิดีโอได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในโหมดใดก็ตาม
สำหรับ Built-in แฟลชหรือ "แฟลชหัวกล้อง" จะมีค่าไกด์นัมเบอร์อยู่ที่ 6.3 เป็นระบบแฟลชแบบ TTL สามารถตั้งการใช้งานได้ทั้ง Auto และ Manual และรองรับ Sync Mode เช่น Red-eye reduction หรือ Slow Sync โดยเมื่อตัวกล้องเปิดใช้งานแฟลชหัวกล้องชัตเตอร์สปีดของกล้องสูงสุดที่สามารถถ่ายได้จะถูกลดมาอยู่ที่ 1/160 วินาที
และในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ จะอยู่ที่บริเวณด้านขวาของตัวกล้องประกอบด้วย พอร์ต HDMI และพอร์ตพิเศษสำหรับเชื่อมต่อสาย Audio/Video และ USB 2.0 Port
Menu Screen
เนื่องจาก LUMIX GF3 เน้นการทำงานบนหน้าจอแบบสัมผัสทำให้การสั่งงานเมนูต่างๆ โดยการปรับโหมดถ่ายภาพจะทำได้โดยนำนิ้วไปสัมผัสบริเวณไอคอนสีแดงมุมซ้ายบน โดยโหมดกล้องจะมีให้เลือกตั้งแต่ Program AE - Aperture priority AE - Shutter priority AE - Manual - iAuto - iAuto Plus - Creative Control - Scene และสามารถปรับแต่งรวมผสานโหมดต่างๆ ได้ถึง 3 Custom Menu
นอกจากนั้นยังมี Q.Menu (Quick Menu) ที่เป็นปุ่มรวมการตั้งค่าตัวกล้องที่จำเป็นในการถ่ายภาพไว้ เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถเข้าใช้การปรับแต่งค่ากล้องได้อย่างรวดเร็วกว่าการเข้าไปหาเมนูต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกล้อง โดย Q.Menu ผู้ใช้สามารถปรับเลือกคำสั่งที่ต้องการใช้งานได้เองดังตัวอย่างจากวิดีโอด้านบน
Movie Record
สำหรับโหมดถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง Full HD 1080p AVCHD จะรองรับขนาดภาพ FullHD 1920 x 1080@60i ที่บิตเรต 17Mbps และ 13Mbps ส่วน HD จะมีขนาด 1280x720@60p ที่บิตเรต 17Mbps และ 13Mbps
และอีกหนึ่งโหมดคือ Motion JPEG ที่จะมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า AVCHD สำหรับงานเว็บไซต์ โดยความละเอียดที่รองรับสำหรับโหมดนี้คือ HD 1280 x 720, 30fps และ QVGA ที่ความละเอียด 320 x 240, 30fps และ VGA ที่ความละเอียด 640 x 480, 30fps
นอกจากนั้นตัวเครื่องยังมาพร้อมระบบ Wind Cut สำหรับตัดเสียงลมที่รบกวนไมโครโฟนขณะถ่ายวิดีโอได้ด้วย โดยผู้ใช้สามารถตั้งระบบ Wind Cut ได้ตั้งแต่ Low/Standard/High
อีกทั้งผู้ใช้ยังสามารถถ่ายวิดีโอด้วยโหมด Creative Control ได้ **เพียงแต่ในเอ็ฟเฟ็ก Miniature Effect การถ่ายวิดีโอจะลดสเปกเฟรมเรทให้เหลือ 10 เฟรมต่อวินาทีและไม่มีการบันทึกเสียง ซึ่งเมื่อเล่นกับเฟรมเรทปกติที่ 25/30 เฟรมต่อวินาทีภาพที่ได้จะเร็วมากตามตัวอย่างด้านล่าง**
Panasonic Lumix DMC-GF3 AVCHD Test
Panasonic Lumix DMC-GF3 Motion JPEG 720p Test
Miniature Effect Movie Recor at 30fps Play
Creative Mode
Expressive
Retro
High Key
Sepia
High Dynamic
Miniature Effect
ทดสอบประสิทธิภาพ
ISO Test
**สำหรับค่าความไวแสงที่สามารถปรับได้ในกล้อง LUMIX GF3 จะเริ่มตั้งแต่ 160 - 200 - 400 - 800 - 1600 - 3200 - 6400 - Auto ISO และ Intelligent ISO**
ทดสอบ Noise เมื่อดันค่าความไวแสงสูงๆ สำหรับการทดสอบแรกถ่ายเป็น JPEG จากกล้องและใช้ Venus Engine ช่วยเรื่องการลบสัญญาณรบกวนพบว่าการจัดการสัญญาณรบกวนทำได้ดีพอสมควร โดยดูได้จาก ISO 1600 ที่ถึงแม้จะมี Noise ที่บริเวณแสงไปไม่ถึง แต่ส่วนที่เป็นส่วนสว่างพบว่า Noise ที่ได้น้อยพอสมควร
ส่วนการทดสอบที่ 2 เป็นภาพจากต้นฉบับที่เป็นไฟล์ RAW และไม่ผ่านการประมวบผลภาพใดๆ ยกเว้นมาแปลงเป็น JPEG ด้วยโปรแกรม SILKYPIX Developer Studio 3.1 พบว่าถึงแม้จะได้รายละเอียดภาพที่คมชัดกว่าแต่ Noise ที่ได้ที่ระดับ 1600-6400 นั้นมากพอสมควร
ทดสอบภาคสนามกับเลนส์คิท 14 f2.5
มาที่การทดสอบแรกเรื่องความคมชัดของภาพ โดยภาพที่เลือกมานั้นตั้งโหมดถ่ายเป็น Manual ดัน F-stop ไปที่ 10 ISO-160 และความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่ 160 พบว่าภาพที่ได้ถ้ามองภาพรวมถือว่ามีความคมชัด สีเขียวของใบหญ้ามีความสดมาก แต่เมื่อมาดูที่ภาพครอป 100% รายละเอียดของภาพอาจยังไม่คมชัด 100% แต่เรื่องสีสันถือว่าจัดจ้านมาก
ลองเปลี่ยนมาใช้ Scene Mode กับโหมด Flower และทีมงานปล่อยให้กล้องจัดการค่าทุกอย่างอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้น่าเสียดายตรงเลนส์คิทที่ติดมากับกล้องเป็นระยะ 14 ทำให้การถ่ายมาโครยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่ดีนัก
จากนั้นลองเปลี่ยนเป็นโหมด Portrait แบบอัตโนมัติดูบ้าง โดยกล้องจัดการเรื่องค่า F-Stop อยู่ที่ 2.8 ISO-160 และความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่ 1/1000 วินาที
ลองมาใช้โหมด Aperture Priority ปรับค่ารูรับแสงไปที่ต่ำสุด 2.5 พร้อมดัน ISO ไปที่ 800 เพื่อต้องการชัตเตอร์สปีดที่เร็วเพื่อจับภาพผีเสื้อในอากาศแบบครึ้มฟ้าครึ้มฝน ทำให้ทีมงานได้ชัตเตอร์สปีดที่ 1/1300 วินาที ในขณะภาพที่ถ่ายออกมาก็ไม่มี Noise รบกวนแต่อย่างใด แถมสีสันที่ได้จากกล้องแบบเพียวๆ นั้นน่าจะถูกใจพวกชอบสีสันจัดจ้านเสียจริงๆ
กลับมาทดสอบเรื่องการถ่ายภาพย้อนแสงโดยใช้คุณสมบัติ Intelligent D-range Control โดยภาพดังกล่าวทีมงานดัน F-Stop ไปสูงสุดที่ 22 บน ISO ที่ตั้งเป็น Intelligent ISO พร้อมชดเชยแสง -0.7 step เปลี่ยนการวัดแสงเป็น Pattern บริเวณตึกตัดกับส่วนของฟ้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายออกมากล้องได้ควบคุมในส่วนของไดนามิกแสงให้ส่วนตึกให้ไม่มืดเกินไปและยังเห็นรายละเอียดของวัตถุที่อยู่ย้อนแสงอยู่
จากนั้นลองเปลี่ยนมาทดสอบการถ่ายภาพด้วยแสงจากในร้านขนมกันบ้าง โดยทีมงานได้ตั้ง Scene Mode เป็น Food และ ISO อยู่ที่ 640 ที่ค่ารูรับแสง 2.5 และชัตเตอร์สปีด 1/60 วินาที พบว่าในโหมด Food ตัวเอนจิ้นภาพจะช่วยเร่งในส่วนความเข้มของสีและคอนทราสต์ให้สูงขึ้น เพื่อให้อาหารมีสัสันสวยงามขึ้น
สุดท้ายลองมาทดสอบเรื่องการจัดการ Noise เมื่อเปิดหน้ากล้องนานๆ โดยทีมงานตั้งโหมดถ่ายภาพเป็น Manual ปรับค่า F-Stop อยู่ที่ 22 และ ISO อยู่ที่ 160 ส่วนความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่ 10 วินาที
Trick : Bounce Flash ด้วยแฟลชหัวกล้อง
ถือเป็น Trick ที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับกล้อง LUMIX GF3 คือแฟลชสามารถใช้มือกดเปลี่ยนองศาเพื่อใช้ Bounce แฟลชขึ้นเพดานหรือแผ่นสะท้อนแสงต่างๆ ได้ (เหมือนรูปประกอบด้านบน) โดยวิธีทำคือ
อันดับแรกให้เปิดหัวแฟลชขึ้นมา จะเห็นว่าก้านแฟลชและฐานแฟลชมีระยะและพื้นที่ค่อนข้างมาก จากนั้นให้ใช้นิ้วกลางหรือจะใช้นิ้วตามที่ถนัดกดที่ก้านแฟลชลงมา (ตามรูปประกอบ) ส่วนมือด้านขวาใช้กดชัตเตอร์เพียงเท่านี้ผู้ใช้ก็สามารถ Bounce แฟลชขึ้นเพดานได้แบบง่ายๆ
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายโดยการ Bounce แฟลชขึ้นเพดานและสะท้อนกระดาษสีขาว
ส่วนอายุการใช้งานกล้องต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 300-340 รูปโดยประมาณ ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก ผู้ใช้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูปเยอะๆ อาจต้องหาแบตเตอรีสำรองติดตัวไว้
สรุป
สำหรับกล้อง Panasonic LUMIX GF3 ถือเป็นกล้องไร้กระจกสะท้อนภาพแบบ M4/3 ที่กลับมาพร้อมขนาดที่เล็กและเบากว่าเดิมมาก โดยในชุดที่ทีมงานได้รับมาทดสอบซึ่งมาพร้อมเลนส์แพนเค้กขนาด 14 มิลลิเมตร ทำให้กล้องยิ่งมีขนาดเล็กและพกพาใส่กระเป๋าเสื้อได้สบายๆ
ในส่วนของประสิทธิภาพ LUMIX GF3 ก็ถือว่าปรับปรุงมาให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นจากรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะเรื่องเม็ดสีที่บันทึกลงบนภาพ ถึงแม้จะตั้งค่าความไวแสงสูงๆ แต่สีสันที่ออกมายังคงจัดจ้านเอาใจผู้ใช้ที่ชื่นชอบภาพสีสด คอนทราสต์จัดๆ ได้ รวมถึงระบบ iA+ ที่ทำให้การปรับแต่งค่าต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องของข้อสังเกตที่ทีมงานพบระหว่างทดสอบ LUMIX GF3 หลักๆ คงอยู่ที่เรื่อง UI ของตัวกล้องที่ออกแบบมาไม่สวยงามและระบบทัชสกรีนที่ถึงแม้จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ แต่ในเรื่องประสิทธิภาพการสัมผัสยังตอบสนองช้า ส่วนในเรื่องการจับถืออาจไม่กระชับมือ โดยเฉพาะมือคุณผู้ชาย อีกทั้งการถ่ายภาพต่อเนื่องผ่าน Live View มีความเร็วต่ำมาก รวมถึงการบันทึกเสียงในโหมดถ่ายวิดีโอยังเป็นแบบโมโน และการโฟกัสแบบ Tracking ในที่มีแสงน้อยยังมีโอกาสโฟกัสหลุดได้สูง
ซึ่งสุดท้ายแล้วสำหรับ Panasonic LUMIX GF3 กับราคาเปิดตัว 20,000 กว่าบาทและหวังสู้ศึกกับคู่แข่งอย่าง Sony NEX C3 ซึ่งถ้ามองในเรื่องคุณสมบัติแล้ว ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่าทั้ง 2 แบรนด์มีดีกันคนละส่วน อย่าง NEX C3 มีดีในเรื่องฟังก์ชันที่ล้ำหน้า GF3 อย่างมาก ส่วน GF3 เรื่องของขนาดตัวกล้องที่เล็ก พกพาสะดวกกว่า รวมถึงหน้าจอ Live View ที่ทางทีมงานว่าให้สีตรงกว่า NEX (ถ่ายเสร็จ ไฟล์ภาพสีได้ดังใจทีมงานกว่า) ซึ่งท้ายสุดแล้วคงเป็นเรื่องที่ทีมงานจะบอกได้ยากว่ากล้องตัวไหนดีกว่ากัน นอกจากผู้ใช้ต้องได้ลองสัมผัสเอง ติดใจตัวไหนก็จงเลือกตัวนั้นครับ ทีมงานก็ทำได้เพียงแค่นำเสนอบททดสอบให้ได้ชมเพียงเท่านั้น
>>รับชมภาพถ่ายทั้งหมดในรีวิวแบบขนาดใหญ่คลิก See Full Album ด้านล่างนี้<<
>>หรือรับชมภาพถ่ายจากกล้องตัวอื่นๆ ได้โดย คลิกที่นี่<<
ขอชม
- กล้องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- กล้องให้สีสันดี ภาพโดยรวมดูคมชัด
- หน้าจอเป็นแบบสัมผัส สามารถกดเลือกโฟกัสที่หน้าจอได้ทันที
- ระบบ iA+ ทำงานได้ค่อนข้างดีและมีประสิทธิภาพสูงสำหรับมือใหม่
- หัวแฟลชสามารถประยุกต์ให้สามารถ Bounce แฟลชได้
- Scene Mode ให้มาค่อนข้างเยอะ
- สามารถใช้ TouchAF ได้
- เลนส์ M4/3 ที่พานาโซนิคออกแบบ ส่วนใหญ่ค่อนข้างเล็กและเบา
ขอติ
- แบตเตอรีความจุน้อย
- ระบบสัมผัสยังตอบสนองช้า
- ชอฟต์แวร์ UI หน้าตาไม่สวยงาม
- การบันทึกวิดีโอในโหมด Miniature Effect ไม่สามารถบันทึกเสียงรวมกับภาพได้
Company Related Link :
Panasonic