xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

Review : Lenovo ThinkPad X1 จูบจอกอริลลากับบอดี้แข็งดั่งหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ในช่วงที่โน้ตบุ๊กกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จะเห็นว่าบรรดาผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหลากหลายแบรนด์มักจะมีการนำรุ่นโน้ตบุ๊กที่เคยวางขายไปแล้วมาปรับสเปกบนโครงสร้างเดิม (Minor Change) อยู่บ่อยครั้ง จนเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมาทางทีมงานก็ได้รับโน้ตบุ๊กจากแบรนด์เลอโนโวมาหนึ่งรุ่น ในชื่อ "ThinkPad X1" ที่ทางเลอโนโวคุยว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่โดดเด่นเรื่องความแข็งแรง และ X1 ก็เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้านการออกแบบและสเปกใหม่ทั้งหมดให้เหมาะแก่การพกพาเพื่อตอบโจทย์โน้ตบุ๊กเพื่อนักธุรกิจ

Design & Specifications





โดยในด้านภาพลักษณ์ภายนอกของ ThinkPad X1 ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องวัสดุที่ใช้ผลิตบอดี้จะเป็นคาบอนไฟเบอร์ผสมแมกนีเซียมด้วยพื้นผิวแบบ Rock Solid (จับและถือกระชับมือไม่ลื่น) ซึ่งตัวเครื่องมาพร้อมหน้าจอ Gorilla Glass จาก Corning ขนาด 13.3 นิ้ว (1,366x768 พิกเซล) และตัวเครื่องมีความหนาประมาณ 16 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนัก 1.69 กิโลกรัม






ในส่วนคีย์บอร์ดจะยังคงเอกลักษณ์ของเลอโนโวมาตั้งแต่สมัยไอบีเอ็มคือมี Trackpoint กลางแผงคีย์บอร์ด และแผงคีย์บอร์ดยังสามารถกันน้ำได้ (Spill Resistant) เพราะมีช่องระบายน้ำออก 2 ช่องตามรูปประกอบด้านบนพร้อมไฟ Backlit สามารถใช้งานในเวลากลางคืนได้



ด้านปุ่มฟังก์ชันต่างๆ จะถูกติดตั้งอยู่ด้านข้างขวาของแป้นคีย์บอร์ดประกอบด้วยปุ่มเปิด-ปิดตัวเครื่อง ปุ่มเรียกซอฟท์แวร์ ThinkVantage ปุ่มปิด-เปิดไมโครโฟน ปุ่มเพิ่มลดระดับเสียง และสุดท้ายปุ่มเปิด-ปิดลำโพง



มาที่ช่องเชื่อมต่อต่างๆ รอบตัวเครื่อง จะประกอบด้วย จากข้างซ้ายของตัวเครื่อง ได้แก่ ช่องระบายความร้อน - ช่องเชื่อมต่อเฮดเซ็ทและ USB2.0 อย่างละ 1 พอร์ต



ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องจากซ้ายมือจะเป็นสวิตซ์เปิด-ปิดระบบไวเลสทั้งหมด - ช่องระบายความร้อน ช่องอ่านการ์ดหน่วยความจำ (อ่านได้ทั้ง SD, MMC, SDHC และ SDXC) และช่องใส่ฮาร์ดไดร์ฟที่ผู้ใช้สามารถอัปเกรดเพิ่มได้



และด้านหลังของตัวเครื่องจะประกอบด้วยจากซ้ายมือ พอร์ตแลน RJ45 - ช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ที่สามารถอัปเกรดเพิ่มได้ - พอร์ต USB 3.0 - พอร์ต HDMI - Display Port - พอร์ต USB/eSATA - ช่องเชื่อมต่อ Adapter และช่องใส่สายคล้องป้องกันขโมย



สำหรับด้านล่างของตัวเครื่อง จะเห็นว่าทางเลอโนโวไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถอัปเกรดอุปกรณ์ภายในได้เอง (นอกจากใส่ Slice Battery เพิ่ม) โดยแบตเตอรีที่มากับตัวเครื่องจะถูกเก็บอยู่ภายใน และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในช่องระบายความร้อนด้านหลังจะมีตะแกรงครอบมาเพื่อป้องกันฝุ่นละอองลอดเข้าไปในเมนบอร์ดโน้ตบุ๊ก พร้อมลำโพงที่ออกแบบมาให้ใช้ควบคู่กับซอฟท์แวร์ Dolby Home Theater v4 เพื่อเพิ่มกำลังเสียง




มาในส่วนสเปกของ Lenovo ThinkPad X1 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะใช้หน่วยประมวลผล Intel Core i5 2520M (Sandy Bridge) ความเร็ว 2.50GHz ที่มีจำนวนคอร์อยู่ที่ 2 คอร์ 4 Threads และมีระบบ vPro ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ระบบรักษาความปลอดภัยระดับฮาร์ดแวร์ แนบท้ายมาด้วย โดยในส่วนของแรมจะอยู่ที่ 4GB แบบ DDR3 และกราฟฟิกชิปจะเป็น Intel HD Graphics 3000

Highlight of ThinkPad X1

ตกไม่พัง


คลิปวิดีโอทดสอบการปล่อย Lenovo ThinkPad X1 ตกลงพื้้นขณะทำงานในระยะประมาณเข่า

เป็นคุณสมบัติที่ทางเลอโนโวชูเป็นจุดเด่นของรุ่น ThinkPad X1 อย่างมาก โดยทางเลอโนโวเครมว่าระยะตกปลอดภัยในการตกสัมผัสพื้น (ระหว่างตัวเครื่องทำงาน) 100% จะอยู่ที่ 50-160 เซนติเมตรโดยประมาณ แต่จากการทดสอบของทีมงานด้วยระยะตกประมาณเข่าถึงพื้นและจากลำตัวถึงพื้นประมาณ 3-4 ครั้ง พบว่า ในครั้งที่ 1-2 ตัวเครื่องยังคงทำได้ได้ปกติ แต่ในครั้งที่ 3 เมื่อทีมงานโยนลงพื้นกลับพบว่าตัวเครื่องดับ กดปุ่มเปิดไม่มีการตอบสนอง ต้องมีการรื้อเครื่องออกมาและพบว่าขั้วแบตเตอรีที่บรรจุภายในหลวม ซึ่งเมื่อใส่และประกอบกลับเข้าไปก็สามารถใช้งานได้ปกติจนการทดสอบครั้งที่ 4 เสร็จสิ้นไปด้วยดี

Gorilla Glass จอแข็งแรง กอริลลาคอนเฟิร์ม




คลิปวิดีโอแสดงความสามารถของ Gorilla Glass

เป็นฤกษ์งามยามดีที่มีโอกาสได้เห็น Gorilla Glass ขนาดใหญ่บนหน้าจอโน้ตบุ๊ก และสำหรับหน้าจอของ ThinkPad X1 ก็มีคุณสมบัติของหน้าจอ Gorilla Glass มาแบบเต็ม 100% ทั้งเรื่องความแข็งแรงและกันรอยขีดข่วนตามคลิปด้านบน อีกทั้งเมื่อจอมาประกอบกับโครงสร้างบอดี้แมกนีเซียมด้วยแล้วทำให้ความแข็งแรงของหน้าจออยู่ในระดับสูงทีเดียว

นอกจากจุดเด่นทั้ง 2 ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ตัวเครื่องยังมาพร้อม Intel WiDi สำหรับการส่งสัญญาณภาพและเสียงไร้สายความละเอียดสูงออกไปยังจอ LCD/LED ได้ด้วย

อีกทั้ง ThinkPad X1 ยังมาพร้อมระบบการชาร์จไฟ RapidCharge ที่ช่วยให้การชาร์จไฟเต็ม 80% สามารถทำได้โดยใช้เวลาแค่ 30 นาทีเท่านั้น

Software

Power Manager





ซอฟท์แวร์ Power Manager จะใช้ในการจัดสรรพลังงานในตัวเครื่องและสามารถใช้คำนวณเวลาการใช้งานโน้ตบุ๊กใน 1 รอบชาร์จได้ด้วย นอกจากนั้นในตัวซอฟท์แวร์ยังมาพร้อมฟังก์ชัน Lenovo Turbo Boost ที่ช่วยในการบูตความเร็วตัวเครื่องให้สูงกว่าค่ามาตรฐาน

Lenovo ThinkVantage Toolbox



สำหรับซอฟท์แวร์ Lenovo ThinkVantage Toolbox จะเป็นเหมือนซอฟท์แวร์ไว้ตรวจสอบความผิดพลาดของระบบที่เกิดขึ้น โดยตัวซอฟท์แวร์จะทำการรายงานข้อผิดพลาดพร้อมการแก้ไขให้ผู้ใช้ทราบ





Performance Test


3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 5,570 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,280x768 + Shader Model 3


3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 3,771 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,235 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 1,504 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 3,555 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล


PCMark Vantage สามารถทำคะแนนรวมได้ที่ 11,802 คะแนน แบ่งเป็น Memories Score = 5,664 คะแนน, TV and Movies Score = 4,407 คะแนน, Gaming Score = 8,088 คะแนน, Music Score = 14,601 คะแนน, Communications Score = 13,650 คะแนน, Productivity Score = 16,583 คะแนน และ HDD Score = 25,335 คะแนน


PCMark 7 สามารถทำคะแนนรวมได้ที่ 3,750 คะแนนแบ่งเป็น Lightweight Score = 4,074 คะแนน Productivity Score = 3,699 คะแนน Creativity Score = 6,356 คะแนน Entertainment Score = 2,669 คะแนน Computation Score = 9,395 คะแนน และ System Storage = 4,685 คะแนน


Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.83pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 8.40fps


HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟที่ใส่ SSD จาก Intel มาให้ที่ความจุ 160GB จะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 161.9 MB/s ที่ Random access 0.1ms


x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้

encoded 1442 frames, 55.58 fps, 3901.21 kb/s
encoded 1442 frames, 55.92 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 55.62 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 56.02 fps, 3900.68 kb/s
encoded 1442 frames, 15.56 fps, 3971.97 kb/s
encoded 1442 frames, 15.18 fps, 3967.56 kb/s
encoded 1442 frames, 15.15 fps, 3971.37 kb/s
encoded 1442 frames, 15.21 fps, 3970.60 kb/s


Hyper Pi - 32M ทดสอบการคำนวณค่าพาย 32 ล้านครั้ง โดยผลการทดสอบที่แสดงออกมาจะใช้เวลาทั้งสิ้น 20.07 นาที (สำหรับค่าของคอร์แรก)



Video Encode มาที่การทดสอบในส่วนของการแปลงไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง 1080p (ความยาว 9 นาที) จากฟอร์แม็ต MP4 H.264 ไปสู่ฟอร์แม็ต MP4 สำหรับ iPad ผลที่ได้ จะใช้เวลาแปลงไฟล์ทั้งสิ้นเพียง 5.28 นาที

SiSoftware Sandra


Processor Arithmetic - คะแนนในส่วน Dhrystone ALU อยู่ที่ 58.27GIPS ส่วนคะแนนใน Whetstone FPU จะอยู่ที่ 35.44GFLOPS


Multi-Core Efficiency - คะแนนในส่วน Inter-Core Bandwidth อยู่ที่ 21.877GB/s ส่วนคะแนนใน Inter-Core Latency จะอยู่ที่ 28ns


Cache and Memory - มีคะแนนในส่วน Cache/Memory Bandwidth อยู่ที่ 30.070 GB/s ส่วนคะแนนใน Speed Factor จะอยู่ที่ 14.5

SiSoftware Sandra with Intel Turbo Boost 2.0 + Lenovo Turbo Boost Plus System


Processor Arithmetic - คะแนนในส่วน Dhrystone ALU อยู่ที่ 58.50GIPS ส่วนคะแนนใน Whetstone FPU จะอยู่ที่ 35.50GFLOPS


Multi-Core Efficiency - คะแนนในส่วน Inter-Core Bandwidth อยู่ที่ 22.002GB/s ส่วนคะแนนใน Inter-Core Latency จะอยู่ที่ 37ns


Cache and Memory - มีคะแนนในส่วน Cache/Memory Bandwidth อยู่ที่ 30.174 GB/s ส่วนคะแนนใน Speed Factor จะอยู่ที่ 14.5


สำหรับการทดสอบรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง 1080p ที่เข้ารหัส MPEG4AVC (Blu-Ray Format) ด้วยโปรแกรมอย่าง ArcSoft TotalMedia Theatre 5 และเปิดใช้การ์ดประมวลผลกราฟิก 3 มิติในการช่วยประมวลผลวิดีโอ สามารถทำได้อย่างราบลื่น และบริโภคหน่วยประมวลผลประมาณ 30-40% อีกทั้งการโหลดไฟล์ Blu-Ray ขนาด 37GB ก็ทำได้รวดเร็วมาก


Windows 7 Score

Battery Test

สำหรับการทดสอบแบตเตอรีทางทีมงานจะเน้นที่การทดสอบแบตเตอรีภายในอย่างเดียว โดยตั้งค่าการทดสอบด้วยโปรแกรม Power Manager ด้วยโปรไฟล์ Maximum Battery Life พบว่าสามารถใช้งานโน้ตบุ๊กต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งอยู่ที่ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าอาจน้อยไปสำหรับการใช้งานตลอดทั้งวัน (ยกเว้นผู้ใช้จะซื้อ Slice Battery มาใช้ร่วมซึ่งจะทำให้ X1 มีอายุต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งที่ประมาณ 10 ชั่วโมงกว่าๆ

สรุป

สำหรับ Lenovo ThinkPad X1 ถือเป็นโน้ตบุ๊กที่มีจุดเด่นชัดเจนในเรื่องความแข็งแรงที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งทุกค่าย และดูเหมือนว่าการออกแบบของเลอโนโวในครั้งนี้จะสามารถตอบสนองผู้ชอบพกพาโน้ตบุ๊ก เช่น นักธุรกิจ ได้อย่างดี เพราะนอกจากบอดี้ที่แข็งแรงแล้วในส่วนของการออกแบบในโน้ตบุ๊กมีน้ำหนักเบา และมีความบางจนสามารถงัดข้อกับบรรดา MacBook Air ได้อย่างยอดเยี่ยม

อีกทั้งในส่วนของประสิทธิภาพที่เลือกใช้หน่วยประมวลผล Sandy Bridge เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก พร้อมผนวกคุณสมบัติ vPro จากอินเทลมาให้ ก็ทำให้ X1 สามารถตั้งระบบรักษาความปลอดภัยระดับฮาร์ดแวร์ อย่าง Intel Anti Theft Technology ที่เป็นระบบป้องกันขโมยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทั้งนี้ด้วยการที่เลอโนโวตั้งราคาเปิดตัว X1 ไว้สูงถึง 5 หมื่นบาทเป็นต้นไป ซึ่งแน่นอนว่าถึงแม้ผู้ซื้อจะได้ระบบความแข็งแรงระดับพระกาฬมาใช้ดูสมน้ำสมเนื้อกับราคา แต่เมื่อทดสอบใช้งานจริงๆ แล้วการทำโน้ตบุ๊กตกจากที่สูง ถึงแม้บอดี้จะไม่แตกแยกเพราะความแข็งของแมกนีเซียมแต่ภายในอาจหลุดหลวมจนทำให้เครื่องเปิดไม่ติดเหมือนที่ทีมงานพบได้ ซึ่งการที่เลอโนโวพยายามผลิตฐานเครื่องเป็นแบบปิดทั้งหมดจนผู้ใช้ทั่วไปไม่สามารถถอดได้เอง (หรือถอดได้ก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว) ทำให้เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ผู้ใช้จำเป็นต้องส่งเข้าศูนย์รอเวลาซ่อมเพียงอย่างเดียวทั้งๆ ที่ความจริงแล้วปัญหาบางปัญหาแค่ขยับส่วนที่หลุดออกเล็กน้อยให้เข้าที่ก็ใช้งานได้แล้ว

ขอชม
- โครงสร้างบอดี้เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ผสมแมกนีเซียมแข็งแรง ตกจากที่สูงไม่แยกหรือแตกหัก
- หน่วยประมวลผลให้ vPro มาด้วย
- จอเป็น Gorilla Glass
- เครื่องมีความบาง น้ำหนักเบา พกพาสะดวก

ขอติ
- ราคาเปิดตัวสูง
- ฐานล่างของโน้ตบุ๊กเป็นแบบปิด เวลาเกิดปัญหาภายในเล็กๆ น้อยๆ ต้องส่งศูนย์อย่างเดียว
- แบตเตอรีภายในให้มาน้อย

Company Related Link :
Lenovo







กำลังโหลดความคิดเห็น