xs
xsm
sm
md
lg

Review : Fujitsu LifeBook UH900 เล็กพกพาง่ายแต่แพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




UH900 ถือเป็นโน้ตบุ๊กแบบพกพาที่ฟูจติสึ ทำออกมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนที่ต้องการเครื่องขนาดเล็กในการใช้งานที่พกพาไปได้ง่ายๆ แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาด แน่นอนว่าเนื่องจากเครื่องมีขนาดเล็กทำให้ราคายังคงสูงอยู่ด้วยราคาเปิดตัว 49,900 บาท

Design Of Fujitsu LifeBook UH900



ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดเล็ก ทำให้จุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้อยู่ที่ดีไซน์เป็นสำคัญ จากขนาดรอบตัวเพียง 204 x 106 x 23 มิลลิเมตร มองผ่านๆหลายท่านในวงการคงนึกถึง โซนี Vaio P ที่ทางโซนีวางขายไปเมื่อปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าจำกันได้ทางฟูจิตสึเองก็เคยวางจำหน่ายโน้ตบุ๊กขนาดเล็กคือ "Fujitsu Lifebook U2010 เน็ตบุ๊กทัชสกรีนตัวจิ๋ว" มาก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ UH900 มีขนาดเล็กและบางมากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใส่กระเป๋าหลังกางเกงได้เลยทีเดียว (ใส่แล้วอย่านั่งทับนะครับ)



ด้านหน้า - ถูกออกแบบมาให้เรียบๆ แต่แฝงไปด้วยความหรูหรา จากโลโก้แบรนด์อย่างฟูจิตสึ บริเวณมุมซ้ายล่างของตัวเครื่อง ซึ่งมีวางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 3 สี คือ สีดำ (Mocha Black) สีแดง (Fiery Red) และสีทอง (Vintage Gold in glossy finish) ล้อมด้วยกรอบสีเงินรอบตัวเครื่อง



เปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับ หน้าจอทัชสกรีนขนาด 5.6 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800 พิกเซล ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าขนาดตัวอักษรจะเล็กเกินไป เพราะทางฟูจิตสึได้ติดปุ่มสำหรับขยายหน้าจอมาให้ผู้ใช้งานด้วย



นอกจากปุ่มขยายหน้าจอแล้ว ยังมีปุ่ม ECO สำหรับกดเพื่อเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน A เป็นปุ่มลัดที่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ด้วยตนเอง ส่วนทางฝั่งขวาของหน้าจอ มีกล้องเว็บแคมความละเอียด VGA และปุ่มเลื่อนขึ้น-ลง



ส่วนของข้อต่อระหว่างหน้าจอกับตัวเครื่องถูกยึดเพียงบริเวณซ้ายและขวาของเครื่องเท่านั้น ซึ่งเท่าที่สังเกตุและทดลองใช้พบว่า ค่อนข้างเปราะบางตามขนาดของตัวเครื่อง แต่ถึงอย่างไรภายในยังคงใช้โลหะเป็นข้อต่อยึดอยู่เช่นดี



แถบควบคุมบริเวณใต้หน้าจอประกอบไปด้วยปุ่มเมาส์ซ้าย-ขวา อยู่บริเวณมุมซ้ายตรงตัวอักษณระบุว่าเครื่องนี้มี "Bluetooth" ถัดมาเป็นไฟแสดงสถานะต่างๆ ปุ่มเปิดเครื่อง ทางมุมขวามีสติกเกอร์ระบุว่าใช้ซีพียูของอินเทล และระบบปฏิบัติการวินโดวส์เซเว่น ส่วนที่เห็นเป็นปุ่มสี่เหลี่ยม คือเมาส์พอยเตอร์ ใช้ในการควบคุมเมาส์นั่นเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดของโน้ตบุ๊กขนาดเล็กเห็นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากคีย์บอร์ด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าจากขนาดของตัวเครื่อง ทำให้ปุ่มคีย์บอร์ดถูกลดขนาดลงมา ทำให้ผู้ที่มีนิ้วใหญ่ๆ อาจใช้งานได้ค่อนข้างลำบาก



ถ้าสังเกตจากรูปจะพบว่า ขนาดปุ่มที่เป็นตัวอักษรจะถูกทำให้ใหญ่กว่าปุ่มอื่นๆ พอสมควรเพื่อทีจะให้ใช้งานได้สะดวก แต่ถึงกระนั้นขนาดของปุ่มก็ยังเล็กเกินไปอยู่ดี โดยในกรณีที่ผู้ใช้พิมพ์แบบใช้นิ้วจิ้ม ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าใช้การพิมพ์แบบสัมผัสคงต้องปรับสภาพนิ้วให้เคยชินกับคีย์บอร์ดกันอยู่พักใหญ่ๆ แน่นอนว่าเครื่องที่จำหน่ายมีการสกรีนภาษาไทยให้แน่นอน



ด้านหลัง - มีเพียงปุ่มสำหรับถอดแบตเตอรี ที่เป็นแบบ Li-ion ความจุ 1,800 mAh เมื่อถอดแบตเตอรีออกจะพบกับพัดลมระบายอากาศที่มีช่องเป่าออกทางหลังเครื่อง และช่องใส่ซิมการ์ดอยู่ (เครื่องที่ทดสอบไม่สามารถใช้งานได้ คงจะเป็นออปชันเสริม)

Input and Output Ports




ด้านซ้าย - มีเพียงช่องเสียบหูฟัง ช่องล็อกโน้ตบุ๊ก และ รูระบายอากาศเท่านั้น

ด้านขวา - มีสวิตเปิด-ปิดไวเลส รูระบายอากาศ และช่องเสียบสายชาร์จ



ด้านหน้า - ประกอบไปด้วย พอร์ตยูเอสบี รูระบายอากาศ พอร์ต HDMI พอร์ตยูเอสบี และการ์ดรีดเดอร์

ด้านหลัง - ไม่มีช่องอาไรพิเศษ

ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายจะมีทั้งไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g และบลูทูธ 2.1

Performance And Benchmark



ทางด้านประสิทธิภาพของเครื่องรุ่นนี้ น่าจะเทียบได้กับเน็ตบุ๊กทั่วๆไปในท้องตลาด โดยจากการตรวจสอบผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่า LifeBook UH900 ใช้ซีพียู Intel Atom Z530 @ 1.6 GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1596.5 MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 532MHz, L1 D-Cache 24KB, L1 I-Cache 32KB และ L2 Cache ขนาด 512KB



ส่วนของเมนบอร์ดจะเป็นของที่ทางฟูจิตสึผลิตขึ้นเอง โดยใช้ชิปเซ็ต Intel US15W ส่วนแรมที่ใส่มาในเครื่องจะเป็น DDR2 bus 667MHz ขนาด 2 GB



ทดลองใช้โปรแกรม PCMark05 ในการทดสอบ ผลคะแนนรวมอยู่ที่ 1332 คะแนน ซึ่งการที่คะแนนสูงขนาดนี้เนื่องมาจากในส่วนของฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เป็นแบบ SSD ทำให้คะแนนในส่วนดังกล่าวค่อนข้างสูง แต่เมื่อดูในส่วนของคะแนนซีพียู แรม และกราฟิกนั้น ถือว่าอยู่ในระดับปกติของเน็ตบุ๊ก



ในส่วนของการ์ดจอ ดูจากโปรแกรม GPU-Z จะเห็นว่าเป็นการ์ดจอออนบอร์ด Intel 945 Express หรือ Intel GMA 500 นั่นเอง



ส่วนการทดสอบด้วยโปรแกรม 3DMark06 คะแนนออกมาอยู่ราวๆ 40 คะแนนเท่านั้น ดังนั้นอย่าคาดหวังอะไรมากกับเรื่องกราฟิกของเครื่องรุ่นนี้ ใช้งานทั่วๆ ไปยังพอไหว แต่อย่าคิดนำไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูงมาเปิดนะ เดียวจะหาว่าไม่เตือน



จุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เป็นแบบ SSD ของ Toshiba ขนาด 62GB อัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 0.5ms ซึ่งถือว่าเป็นระดับทั่วๆไปของ SSD ส่วนความเร็วสูงสุดในการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 63.7MB/s



มาดูถึงภาคการรับสัญญาณไวเลสกัน LifeBook UH900 ใช้ไวเลสของ Atheros AR928X รองรับมาตรฐาน 802.11 g ในการรับสัญญาณ ซึ่งจากกราฟที่ได้ออกมาจะอยู่ในระดับสูง 95 - 100% เมื่อทดลองเชื่อมต่อใช้งานทั่วไป สามารถทำงานได้ดี ไม่มีการแกว่งของสัญญาณให้เห็น

Speaker

ส่วนของลำโพงนั้นด้วยความที่เครื่องมีขนาดเล็ก จึงเน้นไปที่การเชื่อมต่อกับหูฟัง และไมโครโฟนเป็นหลัก ซึ่งซาวน์การ์ดยังคงใช้ยี่ห้อยอดนิยมอย่าง Realtek HD เช่นเดิม ส่วนเสียงจากลำโพงของตัวเครื่องนั้นถือว่า ค่อนข้างเบา โดยเสียงจะออกจากด้านข้างของตัวเครื่องทั้ง 2 ฝั่ง

Battery and Heat



แบตเตอรีที่ให้มาเป็น Li-ion ความจุ 1,800 mAh เมื่อทดลองเปิดใช้งานทั่วๆไป พิมพ์งาน เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ฟังเพลง ที่ความสว่างหน้าจอประมาณ 50% เสียงดังประมาณ 50% สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องประมาณ เกือบๆ 2 ชั่วโมง ขณะที่เมื่อทดลองเปิดใช้งานชมภาพยนตร์ ที่ระดับความดังเสียง 100% ความสว่างหน้าจอสูงสุด ใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เวลาในการชาร์จแบตฯ อยู่ที่ราวๆ ชั่วโมงครึ่ง เช่นเดียวกัน



ด้านการวัดความร้อนขณะใช้งานพบว่า เมื่อเปิดใช้งานหนักๆ ในระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ความร้อนของซีพียู ขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ราวๆ 64 องศาเซลเซียส ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 55 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนของ SSD อยู่ที่ 43 - 45 องศาเซลเซียส ขณะที่ความร้อนของตัวเครื่องไม่สามารถตรวจสอบได้

บทสรุป

เมื่อดูจากสเปกของเครื่องแล้ว ก็คงต้องบอกว่าเป็นมัลติทัชสกรีนเน็ตบู๊ก ที่มีหน้าจอขนาด 5.6 นิ้ว ซึ่งเหมาะกับการนำไปใช้งานที่ต้องการความสะดวกสูง ซึ่งแทบจะไม่เหมาะกับกลุ่มคอนซูเมอร์ทั่วๆไปเลย เนื่องมาจากราคาและความสามารถในการใช้งาน ดังนั้นกลุ่มของผู้ใช้ในเครื่องรุ่นนี้คือ ผู้บริหารสมัยใหม่ที่ต้องการเน็ตบุ๊กขนาดเล็กที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับโปรเจกเตอร์เพื่อพรีเซนงานได้สะดวกขึ้น

ด้านประสิทธิภาพของเน็ตบุ๊กนั้น เป็นที่รู้กันว่ามีความสามารถใช้งานได้ทั่วๆไป แต่ไม่สามารถทำงานหนักๆเฉพาะทางได้ อย่างมากก็เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งาน ใช้งานโฟโต้ชอปเล็กๆ น้อยๆ ตามสไตล์เครื่องพกพาขนาดเล็กเท่านั้น ผสมกับความเบาของเครื่องที่ประมาณ 600 กรัม ช่วยส่งให้เครื่องรุ่นนี้มีความเป็นโมบิลิตี้แบบสุดๆ

แต่ด้วยความที่มีขนาดเล็กนี้ กลับเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องของการใช้งานด้านการพิมพ์ เพราะจากสเกลของคีย์บอร์ดที่ลดลงมาให้เหมาะสมกับขนาดเครื่อง ทำให้ในการพิมพ์ต้องใช้นิ้วจิ้มๆเอา ไม่สามารถวางมือแบบคีย์บอร์ดแบบปกติได้ เพราะเมื่อใช้การพิมพ์แบบสัมผัส นิ้วจะสัมผัสติดกัน 2 ปุ่มบ่อยมากๆ ดังนั้นจึงถือเป็นข้อสำคัญของการใช้งานเครื่องรุ่นนี้ก็ว่าแต่

อีกอย่างหนึ่งคือในเรื่องของราคา ที่เปิดตัวออกมาค่อนข้างสูงที่ 49,900 บาท ดังนั้นจากยอดจำหน่ายที่ฟูจิตสึหวังไว้ที่ 100 เครื่องในปีนี้นั้น เชื่อว่าน่าจะยากพบสมควร

ขอชม
- ความเป็นโมบิลิตี้ ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา
- รองรับการเชื่อมต่อค่อนข้างครบ มีออปชันเสริมใส่ซิมการ์ดที่รองรับ 3G
- ฮาร์ดดิสก์เป็นแบบ SSD ทำให้ทำงานค่อนข้างเร็ว

ขอติ
- เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดเล็ก ทำให้คีย์บอร์ดมีขนาดเล็กเกินไปด้วย
- ระบบมัลติทัชบนหน้าจอแบบ Resistive ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

Company Relate Link :
Fujitsu

















กำลังโหลดความคิดเห็น