ในที่สุดตลาดโน้ตบุ๊ก และเน็ตบุ๊กก็เริ่มกลับมาขยับตัวอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอินเทลที่ออกซีพียู Atom รุ่นใหม่ ขณะที่ทางฝั่ง AMD ก็เริ่มมีผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมไปถึงหลายๆแบรนด์เริ่มนำซีพียูของ AMD Athlon Neo เข้ามาใช้ในตลาดเน็ตบุ๊กมากขึ้น
แน่นอนว่าที่กล่าวถึง AMD เพราะ Fujitsu LifeBook P3010 เป็นเน็ตบุ๊กอีกรุ่นหนึ่งที่ใช้ ซีพียูดังกล่าว แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะเน็ตบุ๊กรุ่นนี้ยังมาพร้อมการ์ดจอแยก ช่วยให้ประสิทธิภาพในการประมวลภาพสูงขึ้นไปอีกระดับ ภายใต้รูปทรงเน็ตบุ๊กที่ขนาดกำลังดีพกพาสะดวก
โดยกลุ่มเป้าหมายของตลาดเน็ตบุ๊ก ก็ยังคงเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการหาคอมม์ที่พกพาสะดวกในการใช้งานเป็นเครื่องที่ 2 อยู่เช่นเดิม เนื่องจากความสามารถบางประการ ไม่สามารถใช้งานในเน็ตบุ๊กได้ นอกจากผู้ใช้งานจะใช้เพียงแค่พิมพ์งาน เล่นอินเทอร์เน็ตเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่แน่ๆเครื่องรุ่นนี้ประมวลผลไฟล์บลูเรย์ได้แบบสบายๆ
Design Of Fujitsu LifeBook P3010
แม้ว่ารูปทรงของเครื่องจะไม่แตกต่างจากเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาดมากนัก แต่ด้วยสีที่ร้อนแรงอย่างสีแดงตัดขอบเงินทำให้ช่วยขับ LifeBook P3010 ให้ดูโดดเด่นขึ้นมาทันที รวมไปถึงโลโก้แบรนด์อย่างฟูจิตสึ ที่ถือว่าเป็นแบรนด์ที่สินค้ามีราคาสูงกว่าปกติทั่วไป
ตัวเครื่องส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติกคุณภาพสูง เพื่อช่วยลดความหนักของตัวเครื่อง โดยขนาดของเครื่องอยู่ที่ 285 x 209 x 26.4-30.2 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่แบบ 3 เซลล์ วางจำหน่าย 2 สี คือ แดง และ ดำ
เริ่มจาก ด้านหน้าฝาหลัง ที่ถูกออกแบบมาอย่างเรียบง่ายในสีแดงเข้ม ทำให้ดึงดูดสายตาผู้คนพอสมควร มีโลโก้ "Fujitsu" สีเทาวางวาดอยู่ตรงกลางบน ส่วนมุมซ้ายล่างมีสัญลักษณ์ของฟูจิตสึสีเงินติดอยู่เช่นกัน นอกจากนี้บริเวณขอบของเครื่องยังมีแถบอะลูมิเนียมสีเงินครอบอยู่ทั้งหมด ทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาบริเวณตรงกลางจะพบกับกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็นหน้าจอ Back-Light LED ขนาด 11.6 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด WXGA (1366 x 768 พิกเซล) แสดงผลไวด์สกรีนในอัตราส่วน 16 : 9 ใต้จอตรองกึ่งกลางมีชื่อยี่ห้อ "Fujitsu" สีเงินติดอยู่ตามปกติ
ส่วนของข้อพับมีลักษณะเป็นตัวยึดสีดำติดกับตัวเครื่องทั้งมุมซ้ายและขวา เมื่อลองขยับเปิด-ปิดหน้าจอลักษณะแน่นแข็งแรงเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้สามารถกางหน้าจอได้สูงสุดประมาณ 130 องศา บริเวณเหนือยคีย์บอร์ดฝั่งซ้าย มีตัวอักษรระบุชื่อรุ่นคือ "Lifebook P Series" ติดอยู่ ส่วนตรงกลางที่เห็นเป็นที่อยู่ของแบตเตอรี มุมบนขวาเป็นปุ่มเปิดเครื่อง
มาดูกันในส่วนของคีย์บอร์ดบ้าง ต้องยอมรับว่า LifeBook P3010 มีขนาดปุ่มคีย์บอร์ดที่เรียกได้ว่าใหญ่เมื่อเทียบกับเน็ตบุ๊กทั่วๆ ไป ซึ่งด้วยความใหญ่ของคีย์ตัวอักษรทำให้ปุ่มอื่นๆ จำเป็นต้องมีขนาดเล็กลงตามไปด้วย แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่อย่างใด (เครื่องที่วางขายจริงมีสกรีนภาษาไทยบนคีย์บอร์ดครับ)
ตัวแผงคีย์บอร์ดทั้งหมดจะเป็นสีดำ สกรีนด้วยตัวอักษรสีขาวและสีฟ้าสำหรับ Fn การรับสัมผัสของปุ่มอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถพิมพ์สัมผัสได้อย่างลื่นนิ้ว ตัวปุ่มมีลักษณะแบนใหญ่ ไม่ต้องออกแรงกดมากเกินไป
ในส่วนของทัชแพดถูกแบ่งส่วนด้วยลักษณะนูนต่ำลงไปจากตัวเครื่อง ซึ่งผิวสัมผัสยังคงเป็นพลาสติกเช่นเดิม และด้วยความที่ปุ่มคลิกเมาส์ซ้าย-ขวา ที่เป็นอะลูมิเนียมสีเงินมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้พื้นที่ในการควบคุมมีขนาดเล็กลงไปด้วย เมื่อใช้งานในเวลานานจึงเมื่อยนิ้วพอสมควร
ถัดลงมาทางมุมซ้ายล่างของเครื่องจะเป็นที่อยู่ของไฟแสดงสถานะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเปิดเครื่อง สถานะแบตเตอรี การทำงานของฮาร์ดดิสก์ ปุ่ม CapsLock และ Scroll Lock โดยไฟส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้า ส่วนกรณีแบตเตอรีใกล้หมด หรือกำลังชาร์จไฟจะเป็นสีส้ม
เมื่อพลิกดูด้านหลังเครื่องก็จะพบกับช่องระบายอากาศขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง พร้อมพัดลมระบายอากาศออกทางฝั่งซ้ายของเครื่อง ส่วนบนเป็นที่อยู่ของแบตเตอรีขนาด 6 เซลล์ ซึ่งในส่วนของแบตเตอรีจะมีความหนามากกว่าปกติ ช่วยยกให้บริเวณจอสูงขึ้นนิดหน่อย
ที่น่าสนใจคือภายใต้ช่องใส่แบตเตอรี มีช่องเสียบซิมการ์ดไว้ให้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งนี้คาดว่าจะเป็นออปชันเสริมในการใช้งานมากกว่า
Input and Output Ports
เริ่มจากด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดมีช่องเสียบสายชาร์จ, พอร์ดต่อ VGA-Out, รูระบายอากาศ และพอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต ทางด้านขวา มีช่องเสียบสายแลน, ช่องล็อกตัวเครื่อง, พอร์ตยูเอสบีอีก 2 พอร์ต, ช่องเสียบไมโครโฟน, ช่องเสียบหูฟัง และการ์ดรีดเดอร์แบบ 4-1 ส่วนด้านหน้ามีเพียงปุ่มเปิด-ปิดไวเลสสีเทาอยู่บริเวณไฟแสดงสถานะเท่านั้น
ส่วนการเชื่อมต่ออื่นๆ นอกจากพอร์ตต่างๆ นั้นประกอบไปด้วยการเชื่อมต่อแบบไวเลส แลน ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n และ บลูทูธ 2.1+EDR
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Performance And Benchmark
ทีนี้มาดูกันในส่วนของประสิทธิภาพต้องถือว่าเป็นรุ่นแรกที่ใช้ซีพียู AMD Athlon Neo ในอ้อมมือของทีมงานก็ว่าได้ รวมทั้งยังมีจุดน่าสนใจในส่วนของการ์ดจอที่มีแยกมาให้ด้วย ทำให้เชื่อว่าประสิทธิภาพเหนือกว่าเน็ตบุ๊กทั่วๆไปในท้องตลาดแน่นอน
เริ่มกันจากส่วนของซีพียูจากโปรแกรมที่คุ้นเคย CPU-Z ที่แสดงผลว่าเป็นหน่วยประมวลผล AMD Athlon Neo MV-40 โค้ดเนม Huron ซึ่งใช้เเทคโนโลยีแบบ 65 นาโนเมตร คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1596.1 MHz ส่วน FSB เกือบๆ 800 MHz, L1 D-Cache 64KB, L1 I-Cache 64KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ในส่วนของเมนบอร์ดใช้ของที่โรงงานฟูจิตสึผลิตเอง โดยเป็นรุ่น FJNBF02 ใช้ชิปเซ็ต AMD 780G/SB750 ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มาเป็นแบบ DDR2 Bus 667 MHz ขนาด 2GB จำนวนสองแถว รวมเป็นทั้งหมด 4GB
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 1935 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงของเน็ตบุ๊ก โดยสามารถทำคะแนนออกมาได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับซีพียูจากอินเมลอะตอมที่ค่าเฉลียส่วนใหญ่จะอยู่ที่พันต้นๆ-กลางๆ เท่านั้น
ด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอ โดยดูจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าใช้การ์ดจอของ ATI Radeon รุ่น HD3200 กราฟิกแรมขนาด 320 MB
หลังจากนั้นนำไปทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 600 พิกเซล ผลออกมาอยู่ที่ 1189 คะแนน เรียกได้ว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาดที่ใช้การ์ดจอออนบอร์ดจะได้อยู่ในหลักร้อยต้นๆเท่านั้น แต่ทั้งนี้คะแนนดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ของตลาดโน้ตบุ๊กทั่วไปอยู่ดี
เมื่อเห็นคะแนนออกมาในระดับดังกล่าวแล้วทีมงานไม่รอช้าที่จะจับ LifeBook P3010 ไปลองเล่นไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูง 720p ผลปรากฏออกมาว่าทำได้ลื่นไหลไม่มีที่ติ แต่อย่างไรก็ตามเครื่องรุ่นนี้ยังไม่มีพอร์ต HDMI มาให้ด้วยจึงทำให้ไม่สามารถแสดงภาพระดับบลูเรย์ออกทางจอ LCD ดังนั้นเชื่อว่านอกจากงานเอกสารทั่วไปแล้ว เครื่องรุ่นนี้ยังสามารถรองรับเกมออนไลน์ในปัจจุบันที่ไม่ใช้สเปกสูงมากนักได้อีกด้วย
มาดูกันถึงอัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มาใช้ของ Western Digital ขนาด 320GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 64.3 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 16.8 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างไวเลยทีเดียวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Atheros AR9285 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณค่อนข้างแกว่งในระดับ 70-100% แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอาการเน็ตหลุดให้เห็นขณะใช้งาน
Speaker
ในส่วนของลำโพงนั้นเป็นแบบสเตอริโอโดยตัวลำโพงนั้นจะอยู่ใต้เครื่องฝั่งหน้า ในส่วนที่เป็นส่วนเว้าขึ้นมาทำให้เสียงที่ออกมากระทบกับพื้นผิวแล้วสะท้อนขึ้นมายังผู้ใช้งาน ทำให้เสียงที่ได้ออกแนวกังวานเล็กน้อย แต่ความดังยังอยู่ในระดับปกติของโน้ตบุ๊ก ส่วนของซาวน์การ์ดยังคงเป็น RealTek HD ยอดนิยมเช่นเดิม ทำให้ไม่ต้องกังวลถึงคุณภาพเสียงกรณีต่อออกลำโพงหรือหูฟังภายนอก
Battery and Heat
แบตเตอรี่ที่ให้มานั้นเป็นแบบ Li-ion ขนาด 4860 mAh เมื่อทดลองใช้งานในการรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง เปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด เสียงดังสุด สามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จะเห็นได้ว่าการที่มีการ์ดจอแยกเพิ่มเข้ามาทำให้ระยะเวลาการใช้งานลดลงกึ่งหนึ่งทีเดียว
หลังจากนั้นทดลองเปิดใช้งานฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% ใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาที จนแบตเตอรีเหลือ 10% ซึ่งถือว่าไม่ค่อยนานเท่าไหร่กับแบตเตอรีขนาดดังกล่าว เวลาในการชาร์จจนเต็มใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
ด้านความร้อนของเครื่องหลังจากเปิดใช้งานระยะเวลาหนึ่งความร้อนของเครื่องขึ้นไปอยู่สูงสุดที่ 76 องศาเซลเซียส ส่วนขณะใช้งานปกติอยู่ประมาณ 64 องศาเซลเซียส ความร้อนของซีพียูสูงสุดทั้ 68 องศาเซลเซียส ด้านฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ประมาณ 47 องศาเซลเซียส
บทสรุป
ด้วยความที่เป็นเน็ตบุ๊กที่หันมาใช้ซีพียูในตระกูล Neo ของ AMD ที่หลังจากทดลองใช้งานแล้วแม้ว่าความเร็วจะอยู่ที่ 1.6 GHz เท่ากัน แต่เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้มาพร้อมกับการ์ดจอ ATI 3200HD ทำให้ความรู้สึกหลังจากใช้งานพบว่าเร็วกว่าเน็ตบุ๊กทั่วไปในท้องตลาด
จากการที่เป็นแบรนด์ฟูจิตสึบวกกับปัจจัยในการใช้งานที่มากขึ้นจากการ์ดจอแยก ทำให้ราคาของเครื่องรุ่นนี้ขึ้นไปอยู่ที่ราวๆ 23,900 บาท ซึ่งถ้ามองถึงประสิทธิภาพ ขนาด ดีไซน์ ถือว่ายังอยู่ในระดับราคาที่พอรับได้ ภายใต้แบรนด์ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงต้องมองถึงจุดประสงค์ในการใช้งานเป็นหลักในการเลือกซื้ออยู่ดี เครื่องรุ่นนี้อาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาด แต่ในระดับน้ำหนักใกล้เคียงกันจากขนาดของแบตเตอรี ต้องยอมรับว่าเวลาในการใช้งานบนแบตเตอรี ค่อนข้างน้อยกว่ารุ่นอื่นๆ
ส่วนความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ แม้ว่ามีการ์ดจอแยกมาให้แต่ยังไม่มีพอร์ต HDMI มาใช้งาน ทางด้านยูเอสบีที่ให้มา 3 พอร์ตก็เพียงพอต่อการใช้งาน เชื่อมต่อไวเลส บลูทูธได้ตามมาตรฐาน ถ้าจะพิเศษอีกหน่อยตรงที่ผู้ใช้สามารถเลือกเพิ่มการใช้งานซิมการ์ดเข้าไปด้วยได้จะเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจเลยทีเดียว
สำหรับราคาเปิดตัวของ Fujitsu LifeBook P3010 อยู่ที่ 23,900 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่มาพร้อมกับลิขสิทธิ์ วินโดวส์ เซเว่น โฮม พรีเมียม
ขอชม
- ประสิทธิภาพเหนือกว่าเน็ตบุ๊กทั่วๆ ไปในตลาด
- ดีไซน์สวยงาม ตามสไตล์ ฟูจิตสึ
- คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างถนัด
ขอติ
- เนื่องจากมีการ์ดจอแยกทำให้ระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรีเทียบเท่าโน้ตบุ๊กปกติ
- ตัวเครื่องยังไม่มีพอร์ต HDMI ให้ ทั้งๆที่มีการ์ดจอแยกออกมา
- เมาส์แพดขนาดเล็ก ไม่เหมาะต่อการใช้งาน
Company Relate Link :
Fujitsu