xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

Update - Review : Tele System TS8511 เนวิเกเตอร์จากอิตาลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Tele System TS8511 เนวิเกเตอร์จากอิตาลี
Update!!! Tele System TS8511 เป็นจีพีเอสเนวิเกเตอร์แบบพกพารุ่นล่าสุดที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 แม้ยี่ห้อจะดูใหม่สำหรับคนไทย ชื่อฟังแล้วไม่คุ้นหู แต่ในตลาดโลก Tele System เป็นผู้เล่นที่มีชื่อเสียงมากรายหนึ่งทีเดียว

Tele System TS8511 เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศอิตาลี มาพร้อมจอภาพขนาด 4.3 นิ้ว ดีไซน์สวย สไตล์แฟชัน เปลี่ยนกรอบได้ ใช้ชิป Centrality (SiRF) Atlas-III 396MHz ที่รวม CPU และ GPS ไว้บนชิปตัวเดียวกัน รับสัญญาณได้สูงสุด 22 ช่อง ประมวลผลรวดเร็วและแม่นยำ ใช้ซอฟต์แวร์นำทาง iGO amigo ประสิทธิภาพสูง มีอินเตอร์เฟสสวยงาม สีสันสดใส ดูเข้าใจและใช้งานง่าย แสดงผลได้ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ มีเสียงนำทางเป็นภาษาไทย ตัวแผนที่ดิจิตอลใช้ของ Tele Atlas ที่เคลมจุดสนใจ (POI) เอาไว้มากกว่า 600,000 จุด นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชันเพื่อการเดินทางและความบันเทิงเพิ่มเติมมาในตัวด้วย สนนราคาค่าตัวอยู่ที่ 11,800 บาท พร้อมรับประกันสินค้า 1 ปีเต็ม และอัพเดทแผนที่ฟรี 2 ปี

ดีไซน์ล้ำ นำแฟชัน

ดีไซน์แฟชั่น เปลี่ยนกรอบได้ จอ 4.3 นิ้ว
Tele System TS8511 มีดีไซน์ที่สวย มีลูกเล่นให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนกรอบจอภาพได้ เหมือนมีเครื่องใหม่ใช้ทุกวัน มี 3 สีให้เลือกใช้ คือ ดำ, ขาว และแดง ด้านหน้า มีจอ TFT LCD แบบทัชสกรีนขนาด 4.3 นิ้ว 480 x 272 พิกเซลประกบอยู่ มีแบรนด์ Tele System แสดงไว้ที่ด้านล่าง มีชื่อรุ่น TS8511 ที่มุมบนขวา และไฟแสดงสถานะที่มุมล่างซ้าย
(รูป 1) ด้านบน, (รูป 2) ด้านล่าง, (รูป 3) ด้านซ้าย, (รูป 4) ด้านขวา
ด้านบนของตัวเครื่องมีแค่ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ด้านล่างโล่งๆ ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็โล่งๆเช่นกัน เพราะพอร์ตต่างๆถูกรวมเอาไว้ทางด้านขวาทั้งหมด ได้แก่ ช่องเสียบสาย USB ไว้สำหรับอัพเดทข้อมูลกับพีซี, ช่องเสียบเมมโมรี่การ์ดแบบ SD / MMC (สูงสุด 4GB) และช่องเสียบหูฟัง
ด้านหลัง
พลิกมาทางด้านหลัง มีช่องลำโพงอยู่ตรงมุมบนด้านซ้ายของตัวเครื่อง มีช่องเสียบปากกาสไตลัสอยู่ตรงมุมบนด้านขวา และปุ่มรีเซ็ตอยู่ตรงมุมล่างซ้าย

iGO amigo สุดยอดซอฟต์แวร์นำทาง

iGO amigo กราฟิกสวยงาม มีมิติชัดเจน คำนวณเส้นทางได้ 4 แบบ
iGO amigo เป็นซอฟต์แวร์นำทางตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทย มีคอมมูนิตี้เป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจน มีความสามารถหลากหลาย กราฟิกสวยงาม ใช้งานง่าย และไม่ซับซ้อน

คุณสมบัติเด่นของ iGO amigo คือ มีโปรแกรมสอนการใช้งานในตัว เหมาะอย่างยิ่งสำหรับมือใหม่ ช่วยให้เรียนรู้และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว, มีการแสดงภาพรวมของเส้นทางที่มีการคำนวณใน 4 รูปแบบ คือ เส้นทางที่เร็วที่สุด, เส้นทางที่สั้นที่สุด, เส้นทางที่ประหยัดน้ำมันที่สุด และเส้นทางที่ไปได้ง่ายที่สุด, มีฟังก์ชันแนะนำช่องทางการขับขี่
คีย์บอร์ดเสมือน สลับภาษาไทย-อังกฤษ และโหมดฉุกเฉิน
มี On-Screen Keyboard สำหรับป้อนข้อมูลด้วยการแตะที่หน้าจอ, สามารถสลับคีย์ภาษาไทย-อังกฤษ, มีระบบทำนายคำที่ต้องการพิมพ์ล่วงหน้า, มีการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับค้นหาสถานที่และคำนวณเส้นทางที่ต้องใช้เป็นประจำ และมีฟังก์ชัน “ฉุกเฉิน” สำหรับแนะนำสถานที่กรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น ตำแหน่งที่เกิดเหตุ, สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด, โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด, อู่ซ่อมรถที่ใกล้ที่สุด และตู้เอทีเอ็มที่ใกล้ที่สุด

Tele Atlas แผนที่ดิจิตอลความละเอียดสูง

Tele Atlas เป็นแผนที่ดิจิตอลอันดับต้นๆของเมืองไทย มีคอมมูนิตี้ที่คอยสนับสนุนเรื่องการอัปเดตสถานที่ (POI) และถนนหนทางต่างๆ แผนที่ประเทศไทยของ Tele Atlas เป็นแผนที่ดิจิตอลที่มีรายละเอียดของข้อมูลสูง มี POI บันทึกอยู่มากกว่า 600,000 จุดตามที่บริษัทได้เคลมตัวเลขไว้ นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นแผนที่ที่อัปเดตที่สุดในปัจจุบัน ไม่ว่าถนนปิดซ่อม ถนนเปิดใหม่ ร้านไหนปิดไปแล้ว ร้านไหนเปิดใหม่ ข้อมูลเหล่านี้จะอัพเดทตลอดเวลา ดังนั้นจึงเชื่อมั่นได้ในความสด ความถูกต้อง และความแม่นยำของตัวแผนที่ ทั้งยังสนับสนุนความสามารถอื่นๆ เช่น แนะนำเส้นทางแบบเลี้ยวต่อเลี้ยว แนะนำเลนการขับขี่ที่เหมาะสม และการแสดงภาพแบบ 3 มิติด้วย

ค้นหาสถานที่ปลายทาง ไม่ง่ายไม่ยาก

เปิดเครื่องขึ้นมา เครื่องจะใช้เวลาในการบูตระบบอยู่ประมาณ 1-2 นาที และใช้เวลาในการจับสัญญาณ GPS อยู่ประมาณ 3-10 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

เมื่อจับสัญญาณได้ว่าเราอยู่ตรงจุดไหนแล้ว ก็จะแสดงหน้าจอแรกขึ้นมา เป็นหน้าจอเมนูหลัก ด้านซ้ายเป็นแผนที่ขนาดย่อ ด้านขวาเป็นปุ่ม 3 ปุ่ม ได้แก่ ปุ่มค้นหาสถานที่ปลายทาง ปุ่มทางของฉัน (ถ้ายังไม่เลือกปลายทาง ปุ่มนี้จะใช้งานไม่ได้) และปุ่มเพิ่มเติม สำหรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ
เมนูหลัก
การค้นหาสถานที่ปลายทาง สามารถทำได้ 5 วิธี คือค้นหาจากที่อยู่, ค้นจากสถานที่ ซึ่งถูกจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่เอาไว้อย่างชัดเจน, ค้นหาจากแผนที่, ค้นหาจากรายการโปรด (Favorites) และสุดท้ายค้นหาจากประวัติ (History)
ค้นหาสถานที่ปลายทางได้ 5 วิธี เน้นป้อนข้อมูลจากคีย์บอร์ดเป็นหลัก
1) ค้นหาจากที่อยู่ วิธีนี้เอาไว้ค้นหาสถานที่ปลายทางในกรณีที่เรารู้ที่อยู่ของสถานที่นั้น ข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ก็คือจังหวัด, อำเภอ หรือตำบล อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีถนน, ซอย และเลขที่บ้าน เป็นออปชันเสริม ยิ่งเรารู้ละเอียดมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งหาสถานที่ปลายทางที่ต้องการเจอได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และจากจุดนี้เราสามารถให้เครื่องแสดงรายชื่อสถานที่ใกล้เคียงขึ้นมาให้เลือกได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถแยกแสดงเฉพาะบางหมวดได้ ไม่เช่นนั้นจะหาสถานที่ปลายทางได้ง่ายกว่านี้อีก
ค้นหาสถานที่ปลายทางจากที่อยู่
2) ค้นหาจากสถานที่ วิธีนี้เราแค่ต้องรู้ความต้องการของเราว่าต้องการไปที่ไหน เช่น อยากไปช้อปปิ้ง ก็เข้าไปค้นหาในหมวดช้อปปิ้ง หรือถ้ารู้ชื่อสถานที่ช้อปปิ้ง เช่น สยามพารากอน ก็สามารถหาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีจุดที่น่าสังเกต เช่น มีการใช้คำแปลกๆมาตั้งชื่อหมวด เช่น “อัฒจันทร์” หรือ “เส้นทางแข่ง” เป็นต้น ทำให้เข้าใจยาก, มีการใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาตั้งชื่อหมวด เช่น “โตโยต้า” และ “Toyota” ทำให้เกิดความสับสน, หมวดย่อยบางหมวดที่ควรมีก็ยังไม่มี เช่น “เซ็นทรัล”, การตั้งชื่อสถานที่บางส่วนไม่มีนัยสำคัญ ทำให้สับสน เช่น ปั๊มน้ำมัน ที่ใช้ชื่อบริษัทมาตั้งเป็นชื่อ POI แทนที่จะเป็นยี่ห้อและสถานที่ตั้ง อย่าง “ปตท จตุจักร” เป็นต้น ทำให้เข้าใจยาก, บางหมวดก็เกินจำเป็น ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและสับสน เช่น “หาด” ซึ่งน่าจะซ้ำกับ “แหล่งท่องเที่ยว” เป็นต้น
ค้นหาสถานที่ปลายทางจากประเภทสถานที่และชื่อสถานที่
หมวดของสถานที่ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 18 หมวดหลัก โดยแต่ละหมวดหลักก็จะมีหมวดย่อยลงไปอีกระดับหนึ่ง ทั้ง 18 หมวด ได้แก่ การขนส่ง, การสื่อสาร, การเงิน, การแพทย์, กีฬา, ชุมชน, ช้อปปิ้ง, ตัวแทนจำหน่าย/ซ่อมรถ, ที่จอดรถ, ที่พัก, ธุรกิจ, ปั๊มน้ำมัน, พักผ่อน, ร้านอาหาร, สนามบิน, เช่ารถ, แหล่งท่องเที่ยว และรายการโปรด (Favorites)

3) ค้นหาจากแผนที่ สำหรับค้นหาสถานที่ปลายทางที่เรารู้จุดที่ตั้งบนแผนที่ชัดเจน วิธีนี้คงต้องเป็นคนพื้นที่หน่อย ถ้าเป็นชาวต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยบางคน คงไม่รู้หรอกว่า “เขาค้อ” อยู่ตรงจุดไหนของประเทศไทย
ค้นหาสถานที่ปลายทางจากแผนที่
เราลองเลือกที่พัทยา สังเกตุตรงมุมบนด้านขวาจะมีปุ่ม “ตัวเลือกอื่น” ปุ่มนี้เอาไว้ใช้ค้นหาสถานที่ในบริเวณที่ใกล้กับจุดที่เรากำหนดไว้บนแผนที่ “ค้นหาเมือง” คือค้นหาเมืองที่อยู่ใกล้ๆกับจุดที่เรากำหนด; “สถานที่บริเวณเคอร์เซอร์” คือค้นหาสถานที่ที่อยู่รอบๆบริเวณเคอร์เซอร์ กระนั้นก็ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะมันไม่สามารถค้นหาสถานที่โดยแบ่งตามหมวดได้ ดังนั้นกรณีที่เรารู้ที่อยู่หรือชื่อสถานที่ที่แน่นอน วิธีที่ 1 หรือ 2 จะเหมาะสมกว่า

4) ค้นหาจากรายการโปรด (Favorites) ซึ่งเราได้บันทึกไว้จากการค้นหาสถานที่ต่างๆตามข้อ 1-3 หรือสถานที่ซึ่งไม่มีอยู่ในฐานข้อมูล
ค้นหาสถานที่ปลายทางจาก Favorite
5) ค้นหาจากประวัติ (History) คือสถานที่ที่เราเคยให้เครื่องนำทางไปมาแล้ว หรือยังไม่เคยไปจริงๆแต่เครื่องได้เคยคำนวณเส้นทางไว้แล้ว สถานที่ปลายทางดังกล่าวจะถูกเก็บไว้ใน History โดยอัตโนมัติ
ค้นหาสถานที่ปลายทางจาก History
คำนวณเส้นทาง ยังมีแปลกๆให้เห็น

สมมุติว่าเราได้สถานที่ปลายทางแล้ว ไม่ว่าจะค้นหาสถานที่ปลายทางด้วยวิธีใดก็ตาม ระบบจะคำนวณเส้นทางให้โดยอัตโนมัติทันทีที่เราคลิก “เลือก” เมื่อคำนวณเสร็จก็จะแสดงหน้าจอเตรียมพร้อมสำหรับการนำทางขึ้นมา

ในการคำนวณเส้นทางในหลายๆเส้นทางที่ได้ทดลอง พบว่ามีหลายๆครั้งที่เส้นทางที่คำนวณได้ยังไม่เหมาะสม เข้าข่ายทางที่ควรไปไม่ไป ทางไม่ควรไปกลับจะไปเสียนี่ เช่น ทางที่ยังสร้างไม่เสร็จอย่างพุทธมณฑลสาย 1 และการพาเราวิ่งสวนเลนไป เดอะมอลล์ บางกะปิ เป็นต้น
คำนวณเส้นทางเสร็จแล้ว แสดงหน้าจอเตรียมพร้อมนำทาง
ที่หน้าเตรียมพร้อม เมื่อคลิกปุ่ม “ตัวเลือกอื่น” จะมีปุ่ม 3 ปุ่มขึ้นมาให้เลือก “เส้นทางอื่น” สำหรับแสดงเส้นทางที่คำนวณด้วยวิธีอื่นๆ คือเส้นทางที่เร็วที่สุด, สั้นที่สุด, คุ้มค่าที่สุด และง่ายที่สุด; “สถานที่บริเวณปลายทาง” สำหรับแสดงรายชื่อสถานที่ที่อยู่ในบริเวณนั้น
ที่หน้าจอเตรียมพร้อม มีออปชั่นเสริมให้เราสามารถค้นหาสถานที่ใกล้เคียง และดูเส้นทางที่คำนวณด้วยวิธีอื่นๆได้
“เพิ่มปลายทางในรายการโปรด” สำหรับเพิ่มสถานที่ปลายทางเข้า Favorite; “การตั้งค่าเส้นทาง” สำหรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณเส้นทาง
(รูปบน) แสดงสถานที่ใกล้เคียง, (รูปล่าง) เปลี่ยนวิธีคำนวณเส้นทางใหม่
การนำทาง อยู่ในระดับยอดเยี่ยม

คลิกที่ปุ่ม “ไป” ก็จะเข้าสู่กระบวนการนำทาง และแสดงหน้าจอนำทางขึ้นมา เสียงนำทางเป็นภาษาไทย น้ำเสียงชัดเจน แนะนำเส้นทางได้ในระยะที่เหมาะสม และในจุดที่เหมาะสม หมายความว่าถ้าเราฟังเสียงนำทางอย่างเดียว โดยไม่ดูจอภาพก็ยังสามารถขับไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ ยิ่งถ้าได้ดูจอภาพด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเข้าใจได้อย่างรวดเร็วแทบจะในทันที

ที่หน้าจอนำทาง ตรงปุ่มระยะทางสามารถเลือกได้ว่าจะให้เลือกแสดงอะไรระหว่าง ระยะทาง เวลาที่เหลือ และเวลาถึง และเมื่อแตะที่หน้าจอ เราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้แสดงแผนที่แบบ 2 มิติ หรือ 3 มิติ, จะให้ซูมใกล้ ซูมไกล หรือระยะปกติ, จะให้หน้าจอเป็นธีมกลางวันที่สีสันสดใสหรือจะให้เป็นหน้าจอกลางคืนสีดำๆก็ได้
ที่หน้าจอนำทาง สามารถปรับแต่งการแสดงผลได้
ฉันอยู่ที่ไหน? คือโหมดฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อกดปุ่มนี้ คุณจะรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหนของประเทศไทย และก็มีปุ่มสำหรับข้อมูลฉุกเฉิน ได้แก่ อู่ใกล้ๆ, สถานีตำรวจใกล้ๆ, โรงพยาบาลใกล้ๆ และตู้เอทีเอ็มใกล้ๆ
โหมดฉุกเฉิน
ที่หน้าจอนำทาง ถ้าแตะที่ปุ่มเมนู ก็จะกลับไปที่หน้าจอเมนู หรือหน้าจอแรกที่เราพบเมื่อตอนเปิดเครื่อง ปุ่มทางของฉัน ไว้ใช้แสดงภาพรวมของเส้นทาง แสดงเส้นทางในโหมดการคำนวณต่างๆ, จำลองการนำทาง และเปลี่ยนวิธีคำนวณเส้นทาง
ปุ่มทางของฉัน ไว้ใช้แสดงภาพรวมของเส้นทาง แสดงเส้นทางในโหมดการคำนวณต่างๆ, จำลองการนำทาง และเปลี่ยนวิธีคำนวณเส้นทาง
ที่หน้าจอเมนู ปุ่มเพิ่มเติม ไว้ใช้แสดงฟีเจอร์อื่นนอกเหนือจากการนำทาง เช่น เกม มีมาให้มากถึง 12 เกม สามารถดาวน์โหลดเพิ่มได้, เดินทาง ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเดินทาง เช่น เครื่องคิดเลขและเครื่องแปลงหน่วย เป็นต้น แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม, การสาธิตการใช้งาน, รับเพิ่มเติม เป็นบริการเสริมอื่นๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นกัน, ดูภาพ, ตั้งค่า สำหรับตั้งค่าการทำงานของระบบนำทาง

ในเมนูตั้งค่า เราสามารถตั้งค่าต่างๆ ได้แก่ ตั้งค่าเส้นทาง, ตั้งเสียงเตือนและคำเตือน, เลือกรูปสัญลักษณ์รถของเรา, เลือกสีกับธีม, กำหนดตำแหน่งเริ่มต้น, กำหนดภูมิภาคและภาษาที่ใช้งาน, กำหนดเนื้อหา และปุ่มเรียกใช้งานตัวช่วยตั้งค่า
กำหนดสีธีมได้ เตือนกล้องตรวจจับความเร็วได้ เปลี่ยนรูปเคอร์เซอร์ได้
การบริการหลังการขาย

การทำตลาดผลิตภัณฑ์จีพีเอสเนวิเกเตอร์ Tele System รุ่น TS8511 ในประเทศไทย จะกระทำผ่าน บริษัท กีรติตระการ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทแจ้งกับเราว่า นโยบายการบริการหลังการขายคือ รับประกันเครื่อง 1 ปี และอัปเดตแผนที่ฟรี 2 ปี ประมาณ 4-6 ครั้ง

การรับประกันเครื่อง จะเป็นแบบ Full Support หมายความว่า ถ้าอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันคือ 1 ปี เมื่อสินค้ามีปัญหา บริษัทจะเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ทันที ส่วนตัวแผนที่ Tele Atlas อัปเดตฟรี 2 ปี หรือประมาณ 4-6 ครั้ง ผ่านเว็บไซต์ www.naviextras.com หรือเว็บไซต์ Tele System และกรณีที่มีปัญหากับ SD Card ที่บรรจุโปรแกรมเสียหายหรือไม่สามารถอัปเดตแผนที่ได้ ผู้ใช้สามารถส่งการ์ดกลับไปเปลี่ยนที่บริษัทฯได้

สรุป

Tele System TS8511 เป็นเนวิเกเตอร์ที่มีดีไซน์โดดเด่น เน้นแฟชัน เปลี่ยนกรอบจอได้ ฮาร์ดแวร์ดี ใช้ชิป Centrality (SiRF) Atlas-III ที่มีประสิทธิภาพสูง หายห่วงได้เรื่องความแม่นยำ การค้นหาสถานที่ปลายทางมีความง่ายอยู่ในระดับกลาง คือไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก เหมือนๆกับเครื่องเนวิเกเตอร์ทั่วไปที่เน้นป้อนข้อมูลผ่าน Onscreen-Keyboard เป็นหลัก การคำนวณเส้นทางในบางเส้นทางยังไม่เหมาะสม ส่วนเรื่องการนำทางไม่มีปัญหา กราฟิกแผนที่มีความละเอียดดี ตรอกซอกซอยต่างๆครบถ้วน มีกราฟิก 3 มิติสวยงาม แถมถนนที่ขึ้นเขาลงเขาก็ยังมีมิติที่เหมือนจริงอีกด้วย เสียงนำทางชัดเจน เข้าใจง่าย ระยะเหมาะสม ไม่หลงทางแน่นอน

ส่วนที่เป็นปัญหาจริงๆสำหรับ Tele System TS8511 กลับอยู่ที่ฐานข้อมูล POI และเสิร์ชเอนจิ้นที่ใช้ดึงข้อมูลในฐานข้อมูลขึ้นมาแสดง แม้จำนวน POI จะเยอะมากกว่า 600,000 จุด แต่การจัดหมวดหมู่และการตั้งชื่อยังดูสับสน ขณะเดียวกันเสิร์ชเอนจิ้นยังมีความยืดหยุ่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความง่ายในการค้นสถานที่ปลายทาง รวมถึงการวางแผนเส้นทางและการคำนวณเส้นทาง ตัวอย่างเช่น เราหา “พัทยา” ไม่เจอ เพราะชื่อที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลคือ “เมืองพัทยา” หรืออีกกรณีหนึ่งคือ “พารากอน” เครื่องก็หาไม่เจอเช่นกัน เพราะในฐานข้อมูลมีแต่ “สยามพารากอน”

อีกจุดหนึ่งก็คือ ชื่อปั๊มน้ำมัน ที่ถูกตั้งชื่อโดยใช้ชื่อบริษัท แทนการตั้งชื่อตามยี่ห้อน้ำมันและสถานที่ตั้ง และไม่มีสัญลักษณ์ระบุยี่ห้อน้ำมันกำกับ ทำให้การค้นหาปั๊มน้ำมันเกิดความลำบากและสับสน

Update : ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ทีมงาน Cbiz Review ได้มีโอกาสสัมผัสกับ Tele System TS8511 เวอร์ชั่นคอมเมอร์เชียลที่วางจำหน่ายจริงในงานคอมมาร์ตฯ พบว่า ทางบริษัทผู้แทนจำหน่ายได้ทำการแก้ไขจุดบกพร่องตามที่เราแจ้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาแค่ครึ่งเดือนเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความพร้อม และความจริงใจของผู้แทนจำหน่าย TeleSystem ในประเทศไทย ตรงนี้ต้องขอชมเชยดังๆว่า รวดเร็วและยอดเยี่ยมมากๆ เชื่อว่าลูกค้าที่ซื้อ TeleSystem ไปใช้ก็จะได้รับการบริการหลังการขายที่ดีอย่างที่เราได้รับเช่นกัน

สิ่งที่ได้ทำการปรับปรุง ได้แก่ การจัดหมวดหมู่ POI ใหม่ให้เข้าใจง่ายกว่าเดิม, การแก้ไขชื่อปั๊มน้ำมันให้เป็นชื่อยี่ห้อและสถานที่ตั้ง เช่น เชลล์ ลาดพร้าว, มีการแยกหมวดหมู่ปั๊มแก๊ส LPG และ NGV อย่างชัดเจน และมีสัญลักษณ์ยี่ห้อน้ำมันแสดงบนแผนที่ ยกเว้นการปรับแก้เสิร์ชเอนจิ้นที่อยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัทแม่ที่อิตาลี

Related Links
TeleSystem
กำลังโหลดความคิดเห็น