xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังปัจจัยลบเพียบ-แนะเจรจาสหรัฐฯ สินค้าไทยลดภาษีเหลือ 20-15%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองประธาน ส.อ.ท.ประเมิน 8 ปัจจัยลบท้าทายเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ แนะเร่งเจรจา 2 อัตรา สินค้าไทยลดเหลือ 20-25% ส่วนสินค้าจีนผ่านไทย 40% ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ข้อพิพาทชายแดน การเมืองในประเทศกดดัน แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจลดพึ่งพิงต่างชาติ พร้อมให้ความสำคัญ "ไบโอโคโนมี" ต้องทุ่มงบพัฒนาและแก้กฎหมายให้ครบวงจรเสริมศักยภาพการส่งออกสู่ตลาดโลก


นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงาน ibusiness Forum DECODE 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 แม้จะมีแนวโน้มที่ดีจากการส่งออกที่ขยายตัว 14.9% มูลค่าการลงทุนใหม่ที่พุ่งขึ้นเกือบ 97% แต่ยังกดดันด้วยภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 4% ขณะที่ในส่วนของภาคการส่งออกที่ขยายตัวสูงเกิดจากการเร่งการส่งออกเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ทำให้ครึ่งปีหลังอาจจะพลิกกลับมาติดลบได้

ส่วนภาพรวมและปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบและต้องจับตามองในครึ่งหลังของปี 2568 คือ

1. มาตรการภาษีการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ถูกยกมาเป็นความกังวลลำดับต้นๆ เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเราคาดหวังว่าการเจรจาจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นบวกมากกว่านี้ แต่ขนาดเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ใหญ่มากพอที่เมื่อลดภาษีให้สหรัฐฯ จำนวนมากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อ GDP ของสหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบทางการเมืองและประเด็นความมั่นคงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็อยู่ในจุดที่ล่อแหลมการอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการเจรจา

เราเคยเจอกับดักรายได้ในประเทศไทย การที่ไม่มีสินค้านวัตกรรม ทำสินค้าแบบรับจ้างผลิต ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก ชี้ชัดว่าเรามีโอกาสเจอปัญหาแบบนี้กระทบเรื่อยๆ ถ้าประเทศไทยไม่ขยับเขยื้อนให้ความมีตัวตนมันหนีออกมาเราจะลำบาก เพราะประเทศไทยพึ่งพิงต่างประเทศ 80% เรามีการส่งออกเป็นมูลค่า 60% ของจีดีพี ท่องเที่ยวประมาณ 20% นั่นเท่ากับว่า 70-80% เราต้องพึ่งต่างชาติ ขณะที่เราไม่มีนวัตกรรมอะไรเป็นของตัวเอง นอกจากการท่องเที่ยวแล้วเราไม่มีอะไรเลย นี่แหละคือเรื่องที่น่ากลัว

ประเทศที่มีการเจรจาเรียบร้อยแล้วเช่นอังกฤษ ถึงแม้จะเป็นมิตรมาก สุดท้ายก็ยังโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม 25% ไทยโดนเยอะกว่านั้น ส่วนของด้านจีนโดนสูงมาก อะลูมิเนียม +50% ภาพใหญ่โดนไปถึง 55% เวียดนามขนาดโดนทุกอย่าง

"การเจรจาอะไรที่เป็นสินค้าไทยอย่างแท้จริงอยากให้เหลือต่ำๆ 20-25% ให้ต่ำๆ ไปเลย ส่วนสินค้าที่เข้ามาประกอบในไทยแต่ใช้วัสดุจากจีน ควรขึ้นไปเลย 40% ก็ได้แล้วอยากได้ภาษี 2 รูปแบบนี้ และส่งข้อมูลให้ทีมเจรจาไปแล้ว"

สำหรับผลกระทบสินค้าไทยจะมีทั้งเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ แต่ส่วนใหญ่เสี่ยงสูง ประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบเยอะมากจากการเก็บภาษีของทรัมป์ในรอบนี้ เสี่ยงกับมูลค่าส่งออกไม่มาก อาทิ เชื้อเพลิง 

2. ปัญหาสินค้าทุ่มตลาดและการสวมสิทธิ์ อะไรที่จีนทำได้เราจะเหนื่อย เราต้องมองจีนเป็นตลาดไม่ใช่คู่แข่ง คนพันกว่าล้านคนเราจะมีข้อได้เปรียบได้อย่างไรบ้างไทยอยู่ในจุดที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ สินค้าหลายรายการเราส่งออกไปสหรัฐฯ เยอะ ส่วนสินค้าที่เรานำเข้าจากจีนก็มีมูลค่าไม่สูงนัก เราเทียบเคียงกับการสวมสิทธิ์ จะพบสหรัฐฯ เราส่งออกไปเยอะ ทั้งสมาร์ทโฟน การประมวลผลต่างๆ เครื่องปรับอากาศ ถ้าโดนภาษีจะได้รับผลกระทบ ขณะที่สินค้าส่วนนี้นำเข้าจากจีนเยอะเหมือนกัน

"หลายเคสมีการส่งออกและจับผิดการสวมสิทธิ์ ซึ่งสหรัฐฯ มีหน่วยงานที่คอยจับตาเรื่องนี้อยู่แล้ว เราอย่าประมาทว่าเราทำอะไรแล้วเขาไม่รู้ พอเรากังวลว่าไม่ได้ส่งออกแล้วหยุดนำเข้าจากจีน ก็ยังไม่มั่นใจว่าการลดการเกินดุลสหรัฐฯ แล้วเราจะลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือไม่"

นอกจากนี้ ความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงเรามีอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมต่ำกว่า 60% อยู่น้อยมากไม่ถึง 10 อุตสาหกรรม ที่เหลือจะเป็นพวกที่สูงกว่าทั้งนั้น เรามีสัญญาณนี้มานานเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ดี การผลิตสินค้าไม่ได้ต่างไปจากจีน เวียดนาม เรียกได้ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันเราต่ำลง

3. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (อิสราเอล-อิหร่าน) ความกังวลด้านเชื้อเพลิง ประเทศไทยมีข้อดีอย่างหนึ่งว่ามีสำรองอยู่พอสมควร เป็นเรื่องของนโยบายความมั่นคงสามารถที่จะมีการบริหารจัดการการสำรองลดผลกระทบด้านราคา ก็คือเราจัดการได้ดีไม่เหมือนสมัยอิรักกับคูเวตสงครามเกิดขึ้นกระทบต่อราคาทันที เพราะสำรองเราต่ำ แต่ตอนนี้สำรองเรามีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงมากขึ้น


4. ปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เรื่องของชายแดนไทย-กัมพูชากระทบเศรษฐกิจกว่าแสนล้าน เมื่อมีการปิดด่านก็มีผลกระทบ เรามีการเรียกร้องรัฐบาลให้ลดผลกระทบโดยการไปควบคุมตัวที่ผิดกฎหมาย สแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ กาสิโน ไปล็อกเรื่องนี้เอาไว้ แต่เรื่องการค้าขายทั่วไปให้เปิด อันนี้ลองเจรจาดู เพราะทางกัมพูชาก็เสียหายประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของเขา ผมคิดว่าในการเจรจาเราเอาสินค้ามาคุยกัน แล้วคุมความมั่นคงด้านอื่นแทน เราก็มองประเด็นนี้แล้วเสนอเข้าไป

5. ภาวะหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่พุ่งสูง หนี้ภาคครัวเรือนเกิน 80% มาพักใหญ่แล้ว เมื่อก่อนที่เกินมามันยังโตอยู่มันมีอนาคตส่งออกได้ คนกังวลหนี้ครัวเรือนน้อยเพราะยังมีรายได้ในอนาคต (ฟิวเจอร์อินคัม) แต่ตอนนี้มันไม่มีรายได้ สิ่งที่น่ากลัวคือมันจะเกิด NPL หลักๆ ก็เป็นบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต เป็นเรื่องของการใช้เงินล่วงหน้าทั้งนั้น เพราะมีความมั่นใจว่าในอนาคตจะมีรายได้เข้ามา แต่เมื่อไม่มีรายได้เข้ามาก็ไม่สามารถผ่อนชำระได้ เมื่อมีหนี้เสียมา รัฐบาล และ กกร. แบงก์ชาติ พยายามเจรจามาตรการต่างๆ ให้เบาบางลง

ส่วนภาระหนี้ธุรกิจที่พุ่งสูง การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นเรื่องของจำนวน อันนี้เป็นโจทย์ในการปรับตัวโดยเฉพาะ SME เพื่อให้มีการเพิ่มคุณภาพที่มากขึ้นกว่าจำนวนในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกโดยใช้เทคโนโลยี และดิจิทัล AI เราต้องก้าวข้ามผ่านตัวนี้เพื่อให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นแพงขึ้น แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมของเรายังมีปัญหาเรื่องทักษะอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการจีนสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเข้าสู่จุดคุ้มทุนได้ภายใน 8 เดือน แต่ในทางกลับกันในโรงงานไทยใช้เครื่องจักรเดียวกันแต่กลับเข้าสู่จุดคุ้มทุนใน 3 ปี ระยะเวลามันต่างกันมากกับการลงทุน เราต้องพยายามเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านนี้

6. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องของไบโอโคโนมี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมาก ตำแหน่งที่เราตั้งอยู่เป็นจุดที่ประเทศไทยปักหมุดอยู่บนโลก ไม่มีใครแย่งได้ แต่ประเทศไทยยังใช้ประโยชน์มันน้อยมากไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป หรือสหรัฐฯ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบภายในประเทศที่มีข้อได้เปรียบให้มากขึ้น

"วันนี้รัฐบาลต้องใส่งบประมาณไบโอเทคโนโลยี ใส่ไปเลยเป็นแสนล้านก็ได้ แต่ใส่ให้ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก เพราะไบโอฯ เป็นการทำเรื่องเกษตรกรรมเกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับคนไทยกว่าครึ่งของประเทศ ประเทศไทยจะได้ไม่ต้องปลูกพืชที่มันมีมูลค่าต่ำ แต่เป็นการเน้นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง สมาร์ทฟาร์มมิ่งมันเป็นซัปพลายไซส์ ซึ่งมีความต้องการมากในตลาดโลก รวมถึงการแก้กฎหมายใหม่ให้สอดคล้อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน"

7. แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปเยอะ ซึ่งจากที่ตัวเองมีเพื่อนเป็นชาวจีนเยอะ ได้คุยกันเบื้องต้นพบว่าคนจีนกังวลเรื่องความปลอดภัย กลัวคนจีนในไทย ไม่ได้กลัวคนไทย รัฐบาลจึงต้องสื่อสารเยอะขึ้นผ่านช่องทางที่กระจายไปในวงกว้างมากที่สุด

8. ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ จะต้องรีบเคลียร์ให้จบ เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภายนอกสูงมาก หากภายในยังควบคุมให้นิ่งไม่ได้จะลำบาก และจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น