กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ “โชน ปุยเปีย” เจ้าของแบรนด์ Shone Puipia ดึงเสน่ห์ผ้า GI ไทย ผ้าไหมยกดอกลำพูนและผ้าตีนจกแม่แจ่ม มาออกแบบและตัดชุดให้กับ “แมนเนเกน พิส” รูปปั้นเด็กฉี่สัญลักษณ์ประจำกรุงบรัสเซลส์ และได้ส่งมอบให้นำไปใส่แล้ว มั่นใจช่วยสร้างชื่อเสียงผ้า GI ไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น
น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ดึงนักออกแบบรุ่นใหม่สายเลือดไทย โชน ปุยเปีย เจ้าของแบรนด์ Shone Puipia จบการศึกษามาจาก Royal Academy of Fine Arts Antwerp สถาบันแฟชั่นชั้นนำของเบลเยียม มาออกแบบชุดให้กับประติมากรรมแมนเนเกน พิส รูปปั้นเด็กฉี่ สัญลักษณ์ประจำเมืองบรัสเซลส์ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเบลเยียม และได้จัดพิธีมอบอย่างเป็นทางการให้แก่แสำนักงานเขตบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการจัดแสดงเครื่องแต่งกายให้กับประติมากรรมแมนเนแกน พิส เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2568 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ภายใต้การสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ในการร่วมจัดกิจกรรมและประสานงานหน่วยงานประจำเมืองที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่อัตลักษณ์สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเฉพาะกลุ่มผ้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลก สร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทยในตลาดสากล และส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
ทั้งนี้ ในการออกแบบโชนได้ดึงอัตลักษณ์และนำเสนอเสน่ห์ความงามของผ้า GI ไทย 2 ชนิด คือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน และผ้าตีนจกแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ ทันสมัย ซ่อนอารมณ์ขันไว้ในการออกแบบชุดในลักษณะเลิกกระโปรงขึ้น พร้อมแนวคิด “ยิงกระต่าย เด็ดดอกไม้ (Spot the Rabbit, Pick the Flower)” รวมถึงถ่ายทอดความลื่นไหลของเพศสภาพโดยให้แมนเนแกน พิส สัญลักษณ์เด็กฉี่ผู้ชายสวมใส่ชุดกางเกงกระโปรงและเสื้อที่ตกแต่งด้วยโบ ซึ่งเป็นการสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศและความลื่นไหลของเพศสภาพ ผ่านงานดีไซน์ได้อย่างลงตัว
ปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 234 รายการ โดยเป็นผ้า GI ไทยทั้งสิ้น 17 รายการ สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 1,500 ล้านบาท โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการยกระดับภาพลักษณ์ผ้าไทยและสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผ้า GI ไทยให้สูงขึ้น นำมาสู่การมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน