xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.คาดมูลค่าส่งออกเสียหาย 8-9 แสนล้าน หลังสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% เหตุไทยเสียเปรียบทั้งเวียดนาม มาเลย์ อินโดฯ จี้รัฐเร่งเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยไทยเสียเปรียบเชิงการแข่งขัน หลังสหรัฐฯ แจ้งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เบื้องต้นกระทบผู้ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯทั้งอาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วนฯ คาดมูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยสูงถึง 8-9 แสนล้านบาท เตรียมเรียก 47 คลัสเตอร์ประชุมประเมินผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และจัดทำมาตรการรองรับ พร้อมจี้รัฐเดินหน้าเจรจาสหรัฐฯ ด่วนหวังลดภาษีต่ำกว่า 36%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สูงกว่าที่ภาคเอกชนประเมินไว้ และสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม (20%) อินโดนีเซีย (32%) และมาเลเซีย (25%) สะท้อนว่าไทยกำลังเสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน

ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม คาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท

“แม้ว่าข้อเสนอแรกของไทยจะถูกส่งไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม และมีการลงนามในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ซึ่งอาจสวนทางกับประกาศของสหรัฐฯ ที่แจ้งมา ขณะนี้ไทยได้ส่งข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปนั้นยังไม่มีการตอบกลับมา แต่เชื่อว่าหากสหรัฐฯ ได้พิจารณาอีกครั้งในข้อเสนอเพิ่มเติมใหม่นี้ น่าจะมีผลไปในทิศทางบวก” นายเกรียงไกรกล่าวเสริม

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ส.อ.ท.จึงจะมีการประชุมเร่งด่วนภายในร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ก่อน เพื่อประเมินผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และจัดทำมาตรการรองรับที่เหมาะสม หลังจากนั้น ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะรีบเร่งประชุมร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการตั้งรับต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น