xs
xsm
sm
md
lg

ทุบ HANA หนีหุ้นเพิ่มทุนขายถูก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เป็นหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยอดนิยมอีกตัวหนึ่ง และราคาไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง แต่หลังประกาศจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 80.487 ล้านหุ้น กลายเป็นชนวนให้เกิดการเทขายหุ้น จนราคาร่วงลงแรง

HANA ประกาศก่อนเปิดการซื้อขายหุ้นวันอังคารที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา แจ้งถึงการนำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 80.487 ล้านหุ้น เสนอขายให้บุคคลในวงจำกัด ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันรวม 25 ราย ในราคาหุ้นละ 57บาท โดยเป็นราคาที่คำนวณเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันทำการ พร้อมมีส่วนลด

ก่อนหน้าที่จะประกาศนำหุ้นเพิ่มทุนจัดสรรให้นักลงทุนสถาบัน ราคาหุ้น HANA ได้ปรับตัวลงหลายวันติดต่อ เหมือนมีอินไซเดอร์หรือมีคนรู้ข้อมูลวงใน และเทขายหุ้นล่วงหน้า ซึ่งเมื่อมีการแจ้งข่าวให้นักลงทุนทั่วไปรับรู้ข้อมูล หุ้นจึงถูกถล่มขายอีกระลอก

และถูกถล่มขายตั้งแต่เปิดการซื้อขายในวันอังคารที่ 17 ตุลาคม จนราคาลงมาปิดที่ 57.50 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือลดลง 7.26% มูลค่าซื้อขาย 4,087.56 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดประจำวัน

การนำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 10% ของทุนจดทะเบียนขายในราคา 57 บาท กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการถล่มหุ้น HANA เพราะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างราคาที่ซื้อขายบนกระดานกับราคาหุ้นเพิ่มทุน โดยหุ้นเพิ่มทุนขายในราคาต่ำกว่า จึงเกิดผลกระทบในเชิงจิตวิทยา กระตุ้นการเทขายหุ้น

HANA เพิ่งสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 12 เดือน ในระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทะยานขึ้นไปที่ 66.25 บาท และเคยสร้างจุดต่ำสุดที่ 32.75 บาท แต่หลังจากนั้นฟื้นตัวขึ้นมาต่อเนื่อง

หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับสู่ความคึกคักหลายสัปดาห์แล้ว โดยได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และตลาดยังมีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หันมาเชียร์หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนกันพักใหญ่

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่ผันผวนกลายเป็นปัจจัยชี้นำราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วน โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ความน่าสนใจหุ้นชิ้นส่วนลดลง แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการเก็งกำไรหุ้นกลุ่มนี้

แต่มักมีปัจจัยแทรกซ้อนหุ้นชิ้นส่วนในแต่ละตัว โดยปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หุ้นบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA หุ้นพี่ใหญ่ในกลุ่มชิ้นส่วนได้มีการทำรายการซื้อขายนักลงทุนรายใหญ่ หรือบิ๊กล็อต จำนวน 110 ล้านหุ้น ในราคาระหว่าง 94-96 บาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม DELTA ในไต้หวัน ได้ขายหุ้นออกผ่านรายการบิ๊กล็อต จำนวน 89 ล้านหุ้น และยังมีรายการบิ๊กล็อตที่ไม่รู้ผู้ซื้อผู้ขายอีก 21 ล้านหุ้น ซึ่งการซื้อขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาบนกระดาน ทำให้หุ้น DELTA ถูกถล่มขายตามมาทันที

วันที่ 2 ตุลาคม หลังนักลงทุนรับรู้ข้อมูลการทำบิ๊กล็อต จึงเทขายหุ้น DELTA ทำให้ราคาทรุดหนัก โดยปิดซื้อขายที่ 82.75 บาท ลดลง 21.25 บาท หรือลดลง 20.43% ในวันเดียว

และวันนี้ DELTA ยังไม่ฟื้นคืนกลับเหนือระดับราคา 100 บาท

HANA กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกับ DELTA ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 21,515 รายกำลังตกสวรรค์

เพราะราคาหุ้น HANA ทำท่าจะไปได้ดี มีโอกาสสร้างจุดสูงสุดใหม่ภายใต้แรงกระตุ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว แต่การนำหุ้นเพิ่มทุนจำนวนกว่า 80 ล้านหุ้น ขายนักลงทุนสถาบันในราคาเพียง 57 บาท ทำให้ทิศทางราคาหุ้น HANA เกิดการสะดุด

จุดสูงสุดใหม่ของ HANA จะต้องถอยหลังมาเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้ง เพราะหุ้นเพิ่มทุนที่ขายต่ำกว่าราคาบนกระดานนี่แหละ








กำลังโหลดความคิดเห็น