xs
xsm
sm
md
lg

สนค.สำรวจการบริโภคผลไม้ พบคนนิยมซื้อจากตลาดมากสุด “ทุเรียน” ยังไงก็ต้องโดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ปี 68 พบนิยมซื้อจากตลาดสด ตลาดนัดมากที่สุด ตามด้วยร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต รถขาย รถเข็น ส่วนผลไม้ที่นิยมซื้อมากสุด ส้ม แตงโม กล้วย มะม่วง แต่ถ้าเป็นตามฤดูกาล ทุเรียนนำโด่ง ตามด้วยเงาะ มังคุด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เดือน พ.ค. 2568 จำนวน 3,872 ราย ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ พบว่า พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของประชาชนในภาพรวมยังคงเลือกซื้อผลไม้จากตลาดค้าปลีก อาทิ ตลาดสดและตลาดนัดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 40.58% รองลงมา คือ การซื้อผลไม้จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เกต สัดส่วน 20.89% และเป็นแหล่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากการสำรวจในปีก่อนหน้า (ปี 2567 อยู่ที่ 16.86%) ตามด้วยการเลือกซื้อจากรถขายผลไม้และรถเข็นขายผลไม้ สัดส่วน 19.94%

สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลไม้จากแหล่งต่างๆ มากที่สุด ได้แก่ ด้านความสะดวก 29.03% โดยเฉพาะจากรถขายผลไม้ ร้านสะดวกซื้อ และแพลตฟอร์มออนไลน์ รองลงมาคือ ด้านการเลือกซื้อด้วยตนเอง 26.57% ซึ่งพบมากในตลาดสด ตลาดนัด และตลาดค้าปลีก ส่วนด้านราคา อยู่ที่ 23.27% เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลไม้จากแหล่งจำหน่ายในราคาประหยัด และผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มเลือกซื้อผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตในเขตเมืองที่ให้ความสำคัญต่อความสะดวกสบายมากขึ้น

ส่วนประเภทผลไม้ที่ประชาชนนิยมมากที่สุด คือ ส้ม 9.72% ตามด้วยแตงโม 9.06% กล้วย 7.18% และมะม่วง 6.52% ในขณะที่ผลไม้ตามฤดูกาลอย่างทุเรียนได้รับความนิยมเป็นอันดับแรก 14.14% ตามด้วยเงาะ 10.48% และมังคุด 9.07% สอดคล้องกับการบริโภคจากผลการสำรวจในปี 2567 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อผลไม้แต่ละชนิดของประชาชน ได้แก่ ปัจจัยด้านรสชาติ 73.05% รองลงมาคือ ปัจจัยด้านราคา 11.96% และปัจจัยเพื่อการบำรุงสุขภาพ 10.56%

ทางด้านความนิยมในการบริโภคผลไม้ในแต่ละรูปแบบ พบว่าผลไม้ทั้งผลยังคงเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 53.93% รองลงมาคือ ผลไม้ตัดแต่งและบรรจุพร้อมรับประทาน 31.18% และผลไม้สดที่จัดชุดขายแต่ยังไม่ผ่านการตัดแต่ง 14.90% และเมื่อพิจารณาตามอายุ พบว่ากลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปียังคงนิยมการซื้อผลไม้ทั้งผลเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 75.13% สะท้อนถึงความคุ้นเคยกับรูปแบบการบริโภคแบบดั้งเดิม ขณะที่กลุ่มอายุต่ำกว่า 20-29 ปีมีแนวโน้มซื้อผลไม้ตัดแต่งพร้อมรับประทานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการพิจารณาตามกลุ่มระดับรายได้ พบว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้นมีแนวโน้มเลือกซื้อผลไม้ตัดแต่งพร้อมรับประทานเพิ่มมากขึ้น

ทางด้านความถี่และค่าใช้จ่ายในการบริโภคผลไม้ต่อเดือน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อผลไม้อย่างน้อยเดือนละครั้ง 41.09% และทุกสัปดาห์ 34.56% โดยคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วนการซื้อผลไม้ทุกวันสูงที่สุดอยู่ที่ 13.56% และซื้อทุกสัปดาห์ที่ 37.04% มากกว่าภาคอื่นที่โดยรวมมีแนวโน้มซื้อผลไม้ในลักษณะรายเดือนเป็นหลัก สะท้อนรูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเขตเมืองที่อาจให้ความสำคัญต่อความสดใหม่ ความสะดวก และการซื้อในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น และค่าใช้จ่ายของการบริโภคผลไม้ในภาพรวมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการบริโภคผลไม้ไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน แต่เมื่อพิจารณาตามกลุ่มระดับรายได้ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มใช้จ่ายในการซื้อผลไม้มากขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนถึงกำลังซื้อที่มากขึ้น และอาจรวมถึงการเลือกบริโภคผลไม้ที่มีราคาสูงขึ้นหรือเป็นผลไม้พรีเมียมมากขึ้น

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคผลไม้ของประชาชนในปี 2568 จากผลการสำรวจพบว่าในภาพรวมยังคงบริโภคผลไม้ในปริมาณใกล้เคียงกับปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 47.16% ขณะที่ประชาชนบางส่วนมีแนวโน้มบริโภคผลไม้ลดลง 17.83% และมีแนวโน้มจะบริโภคเพิ่มขึ้น 13.48% โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคผลไม้ของประชาชนมากที่สุด ได้แก่ ด้านความสะดวกในการเลือกซื้อผลไม้ 30.84% ตามด้วยด้านราคา 26.93% และด้านรายได้ 24.40% เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้ลดลง พบว่า ปัจจัยด้านรายได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุด 42.30% รองลงมาคือ ปัจจัยด้านราคา 34.74% และปัจจัยด้านความสะดวก 15.71% ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านคุณภาพ 29.44% และปัจจัยด้านราคา 29.03% ขณะที่ปัจจัยด้านรายได้มีสัดส่วนเพียง 9.88%

โดยความแตกต่างดังกล่าวอาจสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างชัดเจน โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มการบริโภคผลไม้ลดลงอาจเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือมีข้อจำกัดด้านรายได้ จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านรายได้และราคามากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคเพิ่มขึ้นมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางและสูงที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านคุณภาพมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาจำแนกตามรายได้ที่พบว่าผู้มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป มีแนวโน้มการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้น 33.33% ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท เป็นกลุ่มรายได้ที่มีแนวโน้มบริโภคผลไม้ลดลงมากที่สุด 21.56% แต่ยังพบว่ามีกลุ่มประชาชนบางส่วนที่ยังไม่สามารถประเมินแนวโน้มการบริโภคผลไม้ในปี 2568 ได้ คิดเป็น 21.54% สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของพฤติกรรมผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยที่ผันผวนบางประการ เช่น รายได้ที่ไม่แน่นอน และภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มนี้อาจส่งผลต่อภาพรวมของตลาดในระยะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น