xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มปตท.เร่งหาพันธมิตรเสริมแกร่ง ‘PTTGC-IRPC’ส่อหนัก!ปิโตรเคมีฟื้นช้า ORลุ้นสรุปลงทุนF&B-โรงแรมปลายปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • 1. •*สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น:
  • 2. •*ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศหารือกับอิสราเอลเพื่อวางแผนโจมตีอิหร่าน:
  • 3. •*การโจมตีอิหร่านเป็นการตอบโต้การโจมตีทางอากาศอิสราเอลเมื่อต้นเดือนตุลาคม:
  • 4. •*เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความกังวลว่าอาจเกิดสงครามในภูมิภาค:


สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางได้ความรุนแรงมากขึ้นเมื่อผู้นำสหรัฐฯออกมาประกาศว่าได้หารือร่วมกับอิสราเอลเพื่อวางแผนเตรียมโจมตีอิหร่านเพื่อเป็นการตอบโต้หลังจากอิสราเอลโดนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะยานพุ่งสูงขึ้นมาอีกครั้ง

จากเหตุการณ์กล่าว ทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะบานปลายและยากต่อการควบคุม หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันโลกได้ นั่นหมายถึงราคาน้ำมันอาจจะพุ่งไปที่ระดับ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กระทบในวงกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆตามมา

จากความขัดแย้งดังกล่าว บมจ.ปตท. (PTT)เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือกับปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานโดยมีการสำรองน้ำมันและการจัดหาน้ำมันดิบจากหลายๆแหล่งผ่านบริษัทปตท.เทรดดิ้ง และอื่นๆ เช่นเดียวกับบริษัทย่อย

โดยธุรกิจในกลุ่มปตท.ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นคงหนีไม่พ้น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน แต่ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ คือ ธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจไฟฟ้า โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้ ปตท.มีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร โดยมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมถือหุ้นในธุรกิจที่ปตท.ไม่ชำนาญหรืออาจตัดขายออกไปเลย เพื่อที่จะทุ่มเทสรรพกำลังไปทำธุรกิจเป้าหมายที่มีอนาคตที่ดีกว่า


ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ได้ประกาศวิสัยทัศน์ และมอบหมายให้บริษัทย่อยในเครือปตท.ไปเร่งทบทวนการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อประเมินว่ายังเป็นโครงการที่ต้องทำต่อไปหรือจะหยุดแค่นี้ แล้วหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหรือร่วมลงทุนเพื่อสร้างเข้มแข็งในธุรกิจเหล่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ ปตท.ยังเปิดกว้างดึงพันธมิตรที่มีความเจ้มแข็งเข้ามาร่วมถือหุ้นในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นไม่ว่าจะเป็น บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ปตท.ถือหุ้นอยู่ 45.03% บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปตท.ถือหุ้น 45.18 % และบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ปตท.ถือหุ้น 45.05 %

ทำให้ช่วงนี้ บรรดาFlagship ในกลุ่มปตท.เริ่มTake action ออกมาเป็นรูปธรรมกันบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็น บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) หรือแม้แต่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ.(PTTEP)


ปตท.สผ.ตัดการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมที่เม็กซิโก

เริ่มจาก ปตท.สผ. มีการบริหาร
จัดการการลงทุน (Portfolio Rationalization) เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ความสำคัญธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม( E&P )ในประเทศเป้าหมายทั้งไทย มาเลเซีย และประเทศแถบตะวันออกกลางอย่างโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้นจะเห็นปตท.สผ.ได้ทยอยขายการลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในประเทศที่ไม่ใช่เป้าหมายไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย แคนาดา และบราซิล เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 บริษัท PTTEP Mexico E&P Limited, S. de R.L. de C.V.ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดที่สัดส่วนร้อยละ 16.67 ในโครงการเม็กซิโก แปลง 29(2.4) ที่ประเทศเม็กซิโกให้แก่บริษัท เรปซอล เอ็กซ์พลอเรชั่น เม็กซิโก( REPSOL EXPLORACIÓN MÉXICO, S.A. DE C.V. )ซึ่งเป็นOperator โครงการอยู่แล้ว คาดว่าดีลซื้อขายจะมีผลสมบูรณ์ภายในปี2567

โครงการเม็กซิโก แปลง 29(2.4) เป็นโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ ตั้งอยู่บริเวณน้ำลึก (Deepwater) นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของอ่าวเม็กซิโก ซึ่งปตท.สผ. ได้เริ่มลงทุนในประเทศเม็กซิโกตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์การขยายลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง โดยปตท.สผ. มีโครงการสำรวจปิโตรเลียมนอกชายฝั่งในประเทศเม็กซิโก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเม็กซิโกแปลง 29 และโครงการเม็กซิโกแปลง 12

ปตท.สผ.ยังมีโครงการอื่นๆที่พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อไป เช่น โครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture andStorage: CCS) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่มีส่วนช่วยให้กลุ่มปตท.บรรลุเป้าหมายNet Zero ในปีค.ศ.2050 ดังนั้นจึงมอบหมายให้ปตท.สผ.เป็นหัวหอกในการพัฒนาการลงทุน

ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีแผนลงทุนนำร่องโครงการCCS ในแหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID)ภายใยสิ้นปีนี้ มูลค่าการลงทุนราว 1.44 หมื่นล้านบาท เป็นการนำคาร์บอนอัดกลับไปในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้มีการผลิตในแหล่งอาทิตย์ เบื้องต้นจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี และโครงการ CCS ที่แหล่งลัง เลอบาห์ ในมาเลเซีย เอสเค 410บี ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนFIDในปีนี้เช่นกัน โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 2.1ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

ปตท.สผ. ยังได้ร่วมลงทุน50%ในบริษัท TotalEnergies Renewables Seagreen Holdco (TERSH) จากกลุ่มบริษัท TotalEnergies SE ในโครงการซีกรีน ออฟชอร์ วินด์ฟาร์ม ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 1.1 กิกะวัตต์ นับเป็นก้าวสำคัญของ ปตท.สผ. ในการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานสะอาดรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (New Business for Energy Transition)

โดยปตท.สผ. จะใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการนอกชายฝั่งที่มีอยู่ ต่อยอดสู่การพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดอื่นๆในอนาคตด้วย เช่น กรีนไฮโดรเจน ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เป็นการนำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาใช้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจน


 ORเดินหน้ารุกธุรกิจอาหาร&เครื่องดื่ม

ส่วนบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ขานรับนโยบายทบทวนและปรับปรุงการลงทุน (Revisit investment portfolio)ของบริษัทแม่ โดยประกาศยุติการลงทุนปิดร้านเท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken)ที่มีอยู่ 97 แห่งเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากเปิดดำเนินการมา9ปี ตัดภาระการขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนยุติการลงทุนธุรกิจอื่นเพิ่มต่อจาก Texas Chicken แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรใหม่เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ F&B คาดว่าจะมีความชัดเจนภายไตรมาส4/2567

ส่วนความคืบหน้าการทำธุรกิจโรงแรมภายในสถานีบริการน้ำมันPTT Station เพื่อตอบโตทย์ผู้เดินทางนั้น ล่าสุดคณะกรรมการOR ได้ให้ฝ่ายบริหารไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างความรอบคอบไม่ว่าจะเป็นสภาพตลาดการแข่งขัน ภาวะเศรษฐกิจและพาร์ทเนอร์ที่เลือก รวมทั้งLocation ต้องมีความเหมาะสมด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอบอร์ดฯในไตรมาส4 ปีนี้ โดยOR จะเป็นผู้ลงทุนก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะให้ดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนต่อไป

ทั้งนี้การรุกธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเสริมความงาม และขยายการลงทุนธุรกิจF&B เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจNon oilให้ได้ 50%ภายในปี2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 30% และ70%เป็นธุรกิจ Mobility โดย ORยังคงให้ความสำคัญในธุรกิจ Mobility ที่เป็นิธุรกิจหลัก

ส่วนแผนการขยาย OR Space ที่เน้นธุรกิจค้าปลีก และติดตั้งสถานีชาร์จอีวี ขณะนี้บริษัทได้เปิดหลายแห่งแล้ว พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค โดยการเปิดOR Spaceแต่ละแห่งค่อนข้างใช้เวลาเพื่อหาทำเลและเช่าพื้นที่ระยะยาว


กลุ่มปิโตรเคมีอาการน่าเป็นห่วง

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่น่าเป็นห่วงภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและจีนยังไม่ฟื้นตัว คงหนีไม่พ้นธุรกิจปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงDown Cycle มาหลายปีแล้วและยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวใน1-2ปีข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)และบมจ. บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

จากภาวะตลาดปิโตรเคมีที่ย่ำแย่ เมื่อต้นปีนี้ IRPCตัดสินใจยกเลิกกิจการบริษัท ไอพอลิเมอร์ จำกัด (iPolymer) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่IRPCถือหุ้น55%กับบริษัทGuangzhou Saiju Performance Polymer Ltd.(GZSJ) เพื่อพัฒนาธุรกิจซื้อขายสินค้าเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ผ่านระบบอี-คอมเมอร์ซในประเทศไทย

ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายโครงการที่มีแนวโน้มว่าIRPCอาจจะถอยออกมาหรือไม่ก็พาร์ทเนอร์ที่มีความชำนาญรับธุรกิจไปดูแล อาทิ โครงการผลิตปุ๋ย โครงการผลิตและจำหน่ายผ้าไม่ถักไม่ทอ”อินโนโพลีเมด”ที่บริษัทได้ร่วมทุนกับกลุ่มปตท.เป็นต้นเนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้โครงการนี้ไม่คุ้มที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป


ส่วนบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ก็ได้รับผลกระทบจากราคาปิโตรเคมีตกต่ำ ล่าสุด 2 บริษัทย่อย คือ Vencorex France S.A.S.U (Vencorex France) และ Vencorex TDI S.A.S.U (Vencorex TDI) เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจในชั้นศาลที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 คาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3-4 เดือน

สืบเนื่องจาก Vencorex ประสบปัญหาการขาดทุนหนักมาก แม้ว่าPTTGC จะเข้าไปบริหารจัดการลดต้นทุน ก็ไม่สามารถทำให้Vencorex พลิกฟื้นขึ้นมาได้ จนต้องพึ่งกระบวนการศาลแพ่งที่ฝรั่งเศส

นอกจากนี้ PTT Asahi Chemical (PTTAC) เองก็ประสบปัญหาเช่นกัน ทำให้พันธมิตรร่วมทุน ญี่ปุ่นได้ตั้งสำรองด้อยค่าในบริษัท PTTAC ราว 9,326ล้านบาท ขณะนี้ PTTGC อยู่ระหว่างทบทวนโมเดลธุรกิจคาดพิจารณาแล้วเสร็จช่วงครึ่งปีหลัง

จากทั้ง2กรณีดังกล่าว PTTGC คาดว่าจะมีการบันทึกด้อยค่าไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็แสวงหาพันธมิตรร่วมทุน เพื่อให้บริษัทผ่านช่วงวิกฤติปิโตรเคมีนี้ไปให้ได้

ส่วนโครงการลงทุนต่างๆปตท.เอง หากมองเจาะลึกลงไปก็มีหลายโครงการที่ส่อแววจะต้องพับแผนการลงทุนไป เนื่องจากสภาพตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง และขาดความเชี่ยวชาญในธุรกิจใหม่ คาดว่าปีหน้าจะเห็นความชัดเจนว่ามีธุรกิจใดบ้างที่ปตท.ยังรักษาและพร้อมเดินหน้าต่อ ธุรกิจใดบ้างที่ไม่ใช่เป้าหมายแล้วต้องล้มเลิกไปในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น