xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย นริพทะพันธุ์”ติดเทอร์โบ ลุยงานขับเคลื่อนนโยบาย10ข้อทันที ดูแลครบ“เกษตรกร-ผู้บริโภค-ผู้ประกอบการ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนจาก "นายเศรษฐา ทวีสิน" ไปเป็น "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร"
  • • มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายกระทรวงหลายตำแหน่ง
  • • "นายพิชัย นริพทะพันธุ์" ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


หลังจากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล จาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” มาเป็นรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีการปรับเปลี่ยนหลายกระทรวง หลายตำแหน่ง โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจบขบวนการแล้ว นายพิชัยได้เริ่มทำงานทันที เริ่มจากการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 16 ก.ย.2567 และแถลงนโยบายการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงพาณิชย์

นายพิชัยระบุว่า มีความมั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์จะเป็นกระทรวงสำคัญกระทรวงหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี และมั่นใจในทีมงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ทั้งเก่งและมีความสามารถ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนงานทำได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย
โดยนโยบายในการทำงาน ได้กำหนดไว้ 10 ข้อ เหมือนกับรัฐบาลที่มีโยบายในการขับเคลื่อนประเทศจำนวน 10 ข้อ ซึ่งนโยบายที่ว่า ได้นำนโยบายในสมัยนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและควรสานต่อ มาใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และบวกกับนโยบายใหม่ของตนเองที่ได้เพิ่มเข้าไป

เปิดนโยบาย 10 ข้อทำทันที
สำหรับนโยบายแรก จะให้ความสำคัญกับการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส โดยจะเดินหน้าลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ขอเวลาอีกนิด จะมีความชัดเจน และจะเร่งสานต่อการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ
2.บริหารความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยจะให้ความสำคัญกับการดูแลทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน และทุกฝ่ายอยู่ได้ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มากเกินไป หรือเสียมากเกินไป แต่ทุกอย่างจะต้องสมดุล ได้ร่วมกัน เสียร่วมกัน เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อได้

3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนสินค้าเกษตร สินค้า SME ออกสู่ตลาดต่างประเทศ หลังจากที่ผ่านมา มีการประสานงานกัน ร่วมมือกัน สามารถผลักดันสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ผลไม้ และสินค้าของ SME ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ ก็จะทำต่อและเข้มข้นมากขึ้น
4.การแก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย โดยจะทำการกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัย เพราะวันนี้โลกเปลี่ยน กติกาโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องและทันเกม ซึ่งที่ผ่านมา การปรับปรุงแก้ไข อยู่ในขั้นตอนอยู่แล้ว จะเร่งให้เร็วขึ้น

5.การขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่จะให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก เกษตรกร จะมีมาตรการที่ช่วยสนับสนุนคนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

6.การผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยช่วง 7 เดือนปี 2567 เพิ่ม 3.8% ต้องหาทางผลักดันให้เพิ่มอีก และเร่งเจรจา FTA ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูกการลงทุนและขยายการค้า

7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ เพื่อขยายการค้าของไทยออกสู่ตลาดโลก และกำลังมี FTA ฉบับใหม่ ที่ใกล้จะสำเร็จ ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ

8.การพานักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมา มีบริษัทไทยออกไปลงทุนต่างประเทศแล้วเป็นจำนวนมาก อยากให้มีการออกไปลงทุนเพิ่มขึ้นอีก

9.การปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย เพราะการส่งออกสินค้าแบบเดิม เป็นการกินบุญเก่า ต้องมุ่งไปสู่การผลิตและส่งออกสินค้าใหม่ ๆ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่เติบโตการขยายตัวของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ ชิป สมาร์ทต่าง ๆ

10.การส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้ารักษ์โลก เพราะโลกระวังเรื่องนี้ ต้องตื่นตัว

เปิดกว้างคนมีไอเดียเสนอแผนงาน
นายพิชัยยังแสดงความมั่นใจในทีมพาณิชย์ โดยย้ำว่า ด้วยศักยภาพของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีความรู้ ความสามารถ จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่กำหนดไว้ทั้งหมดไปสู่ความสำเร็จได้ และยังมั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยนำพาการค้า การลงทุนของประเทศให้ก้าวหน้าได้ต่อไป และนอกจากนโยบายที่ได้ให้ไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน จากนี้ไป ใครมีไอเดียดี ๆ มีวิธีคิดดี ๆ จะเปิดโอกาสให้เข้ามาพูดคุย เพราะห้อง เปิดตลอด อยากมาก็มาได้
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นายพิชัย ไม่ได้ถือยศ ถือตัว และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น ฟังข้อเสนอแนะ ที่เห็นว่า จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงพาณิชย์

ติดเทอร์โบลุยงาน
หลังจากที่ได้แถลงนโยบายการทำงานแล้ว นายพิชัย ได้เริ่มลุยงานทันที ด้วยการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการจัดส่งถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ได้เตรียมร่วมมือกับห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านวัสดุก่อสร้าง จัดโปรโมชันลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ สินค้าทำความสะอาด เพื่อดูแลหลังน้ำลด และจะจัดธงฟ้าราคาประหยัดเข้าไปเปิดจุดจำหน่าย รวมไปถึงโมบายธงฟ้า เข้าไปยังแหล่งชุมชนที่ห่างไกลด้วย
ขณะเดียวกัน ได้เริ่มแผนลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบต้นทุน เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค และเตรียมการเรื่องการปรับลดราคาสินค้าที่จะมีต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนเร่งเพิ่มรายได้ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME และสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ โดยในส่วนของสินค้าเกษตร มีการดำเนินการเชิงรุก คำนวณล่วงหน้าว่าแต่ละเดือนจะมีผลผลิตอะไรออกมา และมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรให้สินค้าเกษตรราคาสูงขึ้นตามที่ต้องการ

นายพิชัยย้ำว่า ที่ผ่านมา สินค้าเกษตรหลัก ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ราคาสูงขึ้นมาก ทำลายสถิติ โดยข้าวหอมมะลิราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเจ้าราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี ข้าวเหนียว สูงสุดในรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ น้ำยาง ราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาพืชเกษตรอื่นก็ราคาสูงขึ้นทั้งสับปะรด กระเทียม หอมแดง ผลไม้ ก็มีราคาสูงขึ้นกว่าทุกปี มูลค่าเศรษฐกิจของพืชเกษตรหลัก ผลไม้ พืช 3 หัว เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 23% ทำให้เกษตรกรกว่า 7.4 ล้านครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น 196,536 ล้านบาท เกือบ 200,000 ล้านบาท จากที่การทำการตลาดล่วงหน้าให้ได้ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น และจะทำต่อเนื่อง
ในด้านการขับเคลื่อนการค้า และสร้างโอกาสส่งออก นายพิชัย บอกว่า จากนี้จะให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ได้เพิ่มมากขึ้น โดยปีที่แล้ว เข้ามาลงทุนแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ปีนี้อยากให้เพิ่มอีกหลายแสนล้านและถึงหนึ่งล้านล้าน เพราะการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ จะมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย อาทิ Smart Home , Smart TV , ระบบ AI และ Data Center ซึ่งจะเป็น New-S-Curve หรือคลื่นลูกใหม่ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทั้งการจ้างงาน การส่งออก
ป้องกันสินค้าไร้คุณภาพขายในไทย
สำหรับเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME มีความกังวล โดยเฉพาะสินค้าจากต่างประเทศ ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ นายพิชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน กระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 28 หน่วยงานมาร่วมประชุมกันหาทางออกไปแล้ว มีเป้าหมายป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานสากลและไม่ปลอดภัยกับประชาชนเข้ามา โดยจะใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ทั้งการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานอาหารและยา มาตรการทางภาษี เช่น การจัดเก็บ VAT ในสินค้านำเข้า การจะกำหนดให้แพลตฟอร์ม e-commerce ต่างประเทศต้องมาจัดตั้งเป็นบริษัทในประเทศไทย และยังจะเร่งปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อให้สามารถเข้าไปจัดระเบียบด้านมาตรฐานสินค้า

นอกจากนี้ จะเร่งสร้างศักยภาพให้กับ SME ให้ใช้ประโยชน์ จาก e-commerce และเร่งสนับสนุนพัฒนาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย รวมทั้งจะมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ด้วย

จับมือเอกชนดันส่งออก-ลงทุน
ต่อมานายพิชัย ได้ปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์การค้าและการส่งออกของไทย” ในงานสัมมนาใหญ่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 โดยได้ยืนยันที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน พร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำการค้า การลงทุน เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ โดยในด้านการส่งออก จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการเปิดตลาดการค้า สร้างโอกาสทางการค้า รวมไปถึงการผลักดันให้เอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 10 ข้อที่จะดำเนินการ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยินดีต้อนรับภาคเอกชนทุกท่าน เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น และทุกข้อเสนอแนะ ที่จะมาร่วมมือกันสร้างโอกาสให้กับประเทศและคนไทย

ขอนัดหารือแบงก์ชาติฟื้นเศรษฐกิจ
ไม่เพียงแค่นั้น นายพิชัยยังระบุว่า เร็ว ๆ นี้ มีแผนที่จะนัดพบกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเสนอ 3 เรื่องให้ ธปท. ช่วยดูแลเศรษฐกิจและการส่งออก ได้แก่ 1. ขอให้ลดดอกเบี้ย เพราะขณะนี้เงินเฟ้อลดแล้ว และสหรัฐฯ ก็เตรียมลดดอกเบี้ย จึงควรปรับลง 2. แก้ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งขณะนี้ค่าเงินแข็งค่าเร็วมากเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงเดือนเดียวแข็งค่าขึ้นถึง 5-6% ผู้ส่งออกจะตาย อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีกำไรไม่สูงอย่างสินค้าเกษตรอาจจะขาดทุนได้ และ 3. ต้องการให้แบงก์ชาติเข้าดูแลการเพิ่มเม็ดเงินสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันระบบของแบงก์ชาติได้ดูดเงินออกไปมาก จนทำให้เศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแล้ว ก็จะยิ่งอยู่อย่างยากลำบาก

ลุยเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
จากนั้น เริ่มภารกิจการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ที่จะเร่งการเจรจา FTA ให้สำเร็จ และเกิดประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางการค้า โดยบินไป สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.2567 โดยได้เห็นชอบและรับรองเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน การทบทวนกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเตรียมการเจรจายกระดับความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน และแผนงานว่าด้วยมาตรฐานการค้าดิจิทัลของอาเซียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังได้มีการกำหนดทิศทางของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนใหม่ หลังปี 2568 และการดำเนินการด้านความยั่งยืน อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดการปล่อยคาร์บอน โดยทั้งหมดนี้ จะนำรายงานต่อคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และผู้นำอาเซียนในเดือน ต.ค.2567 ต่อไป
“ไทยได้เสนอให้มีการเร่งการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน หรือ DEPA เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ภาคธุรกิจในการค้าข้ามแดนที่ไร้รอยต่อในอาเซียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าสินค้าและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องให้เติบโต รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น โดยได้ผลักดันให้คณะเจรจาเร่งเจรจาให้คืบหน้าอย่างน้อย 50% ในปลายปีนี้“ นายพิชัยกล่าว
นอกจากนี้ นายพิชัยยังได้หารือกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศภาคีที่เป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาและการยกระดับความตกลง FTA อาทิ อาเซียน–จีน อาเซียน–อินเดีย และอาเซียน–แคนาดา รวมถึงจะพิจารณาแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าของอาเซียนกับประเทศภาคี อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรียุโรป รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขยายสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่รองรับรูปแบบการค้าในอนาคต อาทิ เศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนา MSME อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

รวมไปถึงการประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานฝ่ายเลขาธิการความตกลง RCEP และการรับสมาชิกใหม่ การประชุมร่วมกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยได้ผลักดันการส่งเสริมนวัตกรรม โดยใช้ AI ในการค้นหาข้อมูลการจดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เพื่อช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงฐานข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อผลักดันประเด็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเอกชน อาทิ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน
เปิดตลาดการค้าไทยในอังกฤษ
ปิดท้ายภารกิจของสัปดาห์นี้ ด้วยการนำทีมพาณิชย์บัดลัดฟ้าไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อเปิดตลาดการค้า และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะตลาดสหราชอาณาจักร เป็นตลาดที่สำคัญของไทยในยุโรป เป็นตลาดที่แยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรป (Brexit) และมีความสำคัญทั้งการเป็นตลาดส่งออก เป็นตลาดที่มีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ไทยจึงต้องบุกเจาะเป็นรายประเทศ
โดยมีภารกิจสำคัญ ที่จะดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทย เป็นจำนวนมาก อาทิ การชี้แจงโอกาสทางการค้า การลงทุน ให้กับนักธุรกิจและนักลงทุน การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ที่จะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และขยายไปสู่การทำ FTA ในอนาคต การจัดกิจกรรมโปรโมตสินค้าไทย การสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย Thailand Branding (Think Thailand Next Level) การโปรโมตร้านอาหาร Thai SELECT การประชาสัมพันธ์ Thailand Branding ร่วมกับทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้
งานที่ว่าทั้งหมดนี้ เอาจริง ๆ ผ่านมาแค่ 4-5 วัน หลังจากการแถลงนโยบายการทำงาน จะเห็นได้ว่านายพิชัย ไม่เพียงแค่ฟิต แต่ได้ติดเทอร์โบการทำงาน ทั้งเร็ว ทั้งแรง ขับเคลื่อนงานทันที และนายพิชัยยังบอกว่า จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ การดำเนินการตามนโยบายการทำงานทั้ง 10 ข้อ จะมีออกมาเรื่อย ๆ ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมาย การช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้นโยบายที่วางไว้ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เห็นผลเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น