xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”โต้”สุรเชษฐ์”รถไฟฟ้า 20 บาท ทำแล้ว ทำจริงนำร่อง"สีแดง-สีม่วง" ก.ย.68 ขยายใช้ได้ทุกสายทุกสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สุริยะ โต้ สุรเชษฐ์ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ทำจริง ทำได้ และทำมาแล้วในเส้นทางสีแดง สีม่วง
  • • การดำเนินการรอ พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ มีผลบังคับใช้เดือน กันยายน 2568 เพื่อให้ใช้ได้ทุกสายทุกสี
  • • เงินอุดหนุนมาจาก กองทุนอนุรักษ์พลังงาน และ เก็บค่าธรรมเนียมรถส่วนตัวเข้าเมือง
  • • นโยบายนี้แยกต่างหากจากการซื้อคืนสัมปทาน


“สุริยะ”โต้”สุรเชษฐ์” นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ทำจริง ทำได้ ทำมาแล้วสีแดง สีม่วง รอพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ก.ย.68 ใช้ทุกสายทุกสี เงินอุดหนุนมาจาก กองทุนอนุรักษ์พลังงานและเก็บรถส่วนตัวเข้าเมืองและเป็นคนละส่วนกับซื้อคืนสัมปทาน

วันที่ 13 กันยายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงในรัฐสภา กรณี นาย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคประชาชน อภิปรายเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม เรื่อง นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า ประเด็นที่นายสุรเชษฐ์ ได้อภิปรายไว้นั้น มีหลายส่วนเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน คิดไปเอง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และบิดเบือน ทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิด การที่บอกว่านโยบายนี้ไม่สามารถกระทำได้นั้น ขอสะท้อนถึงหลักคิดผู้บริหารองค์กรที่ดีต้องยึดหลักทุกปัญหาต้องมีคำตอบ ต่างกับผู้บริหารองค์กรที่มีปัญหาที่มองว่า ทุกคำตอบมีปัญหา นี่คือหลักคิดที่ยึดถือ ทุกปัญหาแก้ไขได้ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรค แต่ก็มั่นใจว่า สามารถหาคำตอบและทำให้สำเร็จได้

ขอยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท รัฐบาลทำแน่และทำไปแล้ว ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ดำเนินการใน 2 ส่วนคือ ส่วนที่รัฐบาลดำเนินการเดินรถเอง คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต และสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน ก็ดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน และส่วนที่รัฐบาลให้สัมปทานแก่เอกชนเดินรถ ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่ง 2 เดือน กระทรวงคมนาคมสามารถทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ในสายสีแดงและสายสีม่วงได้ทันที

ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่มีสัญญาสัมปทาน จำเป็นจะต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือประมาณเดือน ก.ย. 2568 จะครอบคลุมในทุกสายทุกสี

ส่วนแนวคิดการสร้างรถไฟฟ้า ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 ตอนนั้นตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครั้งแรก ได้หารือกับนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า ต้องการให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และมีราคาเหมาะสม ทดแทนการใช้รถส่วนตัวที่มีปริมาณมากและไม่มีทางที่จะสร้างถนนเพื่อตอบสนองได้ทัน จึงได้วางแผนก่อสร้างรถไฟฟ้า 14 สาย ระยะทางรวม 514 กม. ขึ้น และในยุครัฐบาลทักษิณก็สามารถผลักดันการก่อสร้างโ๕รงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ - หัวลำโพงได้สำเร็จในปี 2547

นายสุริยะกล่าวว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าหลายๆสาย ก่อสร้างแล้วเสร็จ ปัจจัยต่อไปคือ ค่าโดยสาร กระทรวงจึงเดินหน้านโยบาย 20 บาทตลอดสาย เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างต่อเนื่อง

"รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างแน่นอน ในเดือน ก.ย. 2568 และเป็นคนละส่วนกับการซื้อคืนสัมปทานจากเอกชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องศึกษาในรายละเอียด และประเด็นนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม ส่วนที่ฝ่ายค้านถามว่าจะเอาจากไหนมาอุดหนุนนั้น ขอเรียนว่า หลักคิดที่ดำเนินการอยู่และจะทำต่อไปคือ การเอาเงินจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.บริหารระบบตั๋วร่วมฯ และหากจะตอบคำถามนี้ให้ชัดเจน ในความเป็นจริงยังมีเงินจากหลายส่วน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษีจากประชาชน โดยสามารถขอจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการขอเงินจากผู้ขับรถส่วนตัวและผู้ที่ขับรถเข้ามาในบริเวณที่จราจรติดขัดมาใช้ ไม่ต้องใช้ภาษีสนับสนุน" นายสุริยะกล่าว

และ ขอยืนยันว่า รัฐบาลทำนโยบายนี้ได้จริง ทำได้ ทำเร็ว ทำให้เห็นมาแล้ว และจะทำต่อไป ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น