xs
xsm
sm
md
lg

“ปลัดพลังงาน”ถกคลังจ่อลดหย่อนภาษีฯหนุนติดโซลาร์ฯพร้อมทบทวนบทบาทกองทุนอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์ ถกคลังหวังใช้กลไกการลดหย่อนภาษีฯนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาหนุนประชาชนและธุรกิจติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ติดตั้งโซลาร์ฯ ลดรายจ่าย คาดสรุปใน 6 เดือน พร้อมทบทวนบทบาทกองทุนอนุรักษ์ใหม่ เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 200 เมกะวัตต์

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้วางแนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยได้มีการหารือร่วมกับกรมสรรพกร กระทรวงการคลังที่จะดำเนินมาตรการใช้กลไกภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามาสนับสนุนการลดหย่อนให้กับประชาชน ธุรกิจ ที่มีการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน รวมถึงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) โดยจะเร่งให้ได้ข้อยุติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในการดำเนินการภายในไม่เกิน 6 เดือน

“ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)กำลังจัดทำรายละเอียดอยู่ ขณะเดียวกันเราก็มองในส่วนของอาคารภาครัฐเองผมมองการติดโซลาร์ฯ จะต้องมีงบผูกพันในการซ่อมบำรุงที่ผ่านมาจึงมีปัญหาถูกทิ้ง การซ่อมบำรุงเองราชการก็ไม่ถนัดเรื่องนี้จึงมีแนวคิดที่จะเป็นการดำเนินงานรูปแบบ การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามามีส่วนร่วม(Third Party Access) เพื่อดึงเอกชนมาร่วมพัฒนาแล้วขายไฟให้ราชการเพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้า ส่วนนี้ก็ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณกลาง ปรึกษากรมธนารักษ์ หารือกับการไฟฟ้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอหลักการเข้าครม.ในการที่จะมาดำเนินการต่อไป คาดว่าก็จะเสนอได้ราว 3- 6 เดือนนี้” นายประเสริฐกล่าว

นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะมีการทบทวนบทบาทของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานใหม่เพื่อให้สอดรับกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนไปและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้เงิน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์การดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงกติกาต่างๆ ที่มีอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่โดยเฉพาะการขอรับเงินสนับสนุนฯปัจจุบันที่กำหนดส่งเสริมใน 7 กลุ่มงาน ระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เป็นต้นโดยจะเร่งดำเนินการใน 3-6เดือน

นายประเสริฐยังกล่าวถึงโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 ว่า ยังคงเดินหน้าต่อไปแต่จะกำหนดจากพื้นที่เป็นหลักเพื่อมีการเพราะปลูกพืชพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่และมุ่งเน้นการใช้ไฟฟ้าในชุมชนเป็นสำคัญเหลือจึงจะจำหน่ายเข้าระบบ โดยกำลังขอควมเห็นจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน โดยเบื้องต้นจะนำร่อง 200 เมกะวัตต์ (MW) โดยภาพจะชัดเจนภายใน 6 เดือน

ส่วนกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 จำนวน 5,000 เมกะวัตต์(MW)ที่ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม บริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ยื่นเรื่องฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมานั้นรวมถึงมีรายอื่นๆ ทางกระทรวงฯเตรียมที่จะทำหนังสือถึงศาลปกครองเพื่อที่จะเป็นข้อสังเกตุให้เห็นถึงความจำเป็นเนื่องจากจะกระทบต่อการลงทุนหากต้องมีปัญหาทั้งหมดและล่าช้าออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น