xs
xsm
sm
md
lg

ปิดดีล”สีส้ม”รฟม.-BEMเซ็นสัญญา 1.2 แสนล้าน’สุริยะ’สั่งเร่งเปิดด้านตะวันออกต้นปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดดีล”สีส้ม”รฟม.เซ็นสัญญา 1.2 แสนล้านบาท พร้อมออก NTP เริ่มงานในก.ค.นี้’สุริยะ’เร่งเปิดเดินรถด้านตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี”ปี 71 เป็นของขวัญปีใหม่ร่วมนโยบาย 20 บาท เปิดตลอดสายปี 73 คาดผู้โดยสาร 4 แสนคน/วัน ด้าน BEM ลุยซื้อรถ 32 ขบวน รฟม.เน้นก่อสร้า งปลอดภัยสูงสุด ไม่กระทบโบราณสถาน-สิ่งแวดล้อม

วันที่ 18 ก.ค. 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดย เอกชน ได้วางหลักประกันสัญญาให้กับรฟม.เป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท ตามเงื่อนไขเรียบร้อย

นายสุริยะกล่าวว่า วันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่ง BEM จะเข้าดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดย รฟม.จะเร่งออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนก.ค.นี้ ประเมินว่าจะเกิดการแจ้งแรงงานไม่ต่ำกว่า 30,000 คน มีการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่จะทำให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสูง และทราบว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้โครงการนี้เต็มจำนวน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นโครงการและเอกชนที่เข้ามาลงทุน

ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ตนจึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ส่วนเส้นทางด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนซึ่งได้มีการเจรจากัน ตั้งเป้าหมายให้เสร็จภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเปิดเดินรถ เป็นของขวัญปีใหม่ ปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป


@ก.ค.นี้ชงครม.เคาะ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ย้ำ“สายสีส้ม”ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

นายสุริยะกล่าวว่า ตามการศึกษาคาดว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการด้านตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คน-เที่ยวต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 400,000 คน-เที่ยวต่อวัน เมื่อให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ซึ่งกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 สูงสุด 42 บาท ตามสัญญา ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ตลอดสายแน่นอน โดยภายในเดือนก.ค.นี้จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอสภาฯเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ นี้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการอัตราค่าโดยสารระบบรางทั้งหมด โดยมีการจัดตั้งกองทุนฯ ที่นำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานและส่วนแบ่งรายได้ของรฟม.เข้ามาช่วยอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสาร ไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด

“ประชาชนจะได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีส้มในราคา ไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ซึ่งแนวเส้นทาง สามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล”


นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้เชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนให้ครบวงจร บรรเทาความเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ากว่า 3 ปี อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการก่อสร้างและบริหารโครงการรถไฟฟ้า บริษัทมั่นใจมั่นใจว่า จะสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุลวงตามเป้าหมาย และเปิดให้บริการประชาชนอย่างเร็วที่สุด

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร BEM กล่าวว่า หลังได้หนังสือเริ่มงาน จะเร่งออกแบบระบบ ด้านตะวันออก และคาดว่าภายใน 1-2 เดือนเข้าพื้นที่ก่อสร้างด้านตะวันตกเพื่อดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และภายในปีนี้จะดำเนินการสั่งซื้อขบวนรถจำนวน 32 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ (96 ตู้) ส่วนจะเป็นรถยี่ห้อใดขึ้นกับการประมูลจัดซื้อต่อไป สำหรับเงินลงทุนโครงการรวมประเมินอยู่ที่ 120,000 ล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารกรุงเทพ

ทั้งนี้ งานโยธาด้านตะวันออกที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ปัจจุบัน รฟม.ต้องรับภาระค่าบำรุงรักษาประมาณ 41 ล้านบาทต่อเดือนนั้น นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวว่า บริษัท คาดว่าจะเข้ารับมอบพื้นที่เพื่อติดตั้งระบบในช่วงเดือนเม.ย. 2569 ซึ่งจะรับผิดชอบการดูแลรักษาไปด้วย


นายวิทยาพันธุ์มงคลรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ)รักษาการแทนผู้ว่าการรฟม.กล่าวว่ารฟม.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานครมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมเพื่อส่งมอบการเดินทางที่เชื่อมโยงครอบคลุมและสะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็วโดยที่ผ่านมารฟม.ได้ดำเนินงานคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562จนแล้วเสร็จและคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16กรกฎาคม 2567ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกฯดังกล่าวโดยมี BEMเป็นผู้ชนะการคัดเลือกโดยหลังจากนี้รฟม.จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEMเริ่มงานก่อสร้างทั้งนี้ในเบื้องต้นรฟม.มีแผนที่จะเร่งรัดเปิดให้บริการทั้งส่วนตะวันออกฯได้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2571และส่วนตะวันตกฯก่อนเดือนพฤศจิกายน 2573


ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEM มีความพร้อมในการดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาทันที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกฯ นั้น คาดว่าจะสามารถเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดขบวนรถมาให้บริการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ และในส่วนตะวันตกฯ BEM มีจุดแข็งคือพันธมิตรอย่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานโยธาและการจัดหาระบบไฟฟ้า มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างจะไม่มีปัญหาอุปสรรค และจะเปิดให้บริการได้ภายใน 6 ปี คาดว่าจะคุ้มทุนใน6-7 ปี ขณะที่คาดว่าเมื่อเปิดเดินรถสายสีส้มด้านตะวันออกจะมีผู้โดยสารสายสีส้มประมาณ 80% ที่เชื่อมเข้า สู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)


กำลังโหลดความคิดเห็น